พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน)
พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | พระเดชพระคุณ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 13 มีนาคม พ.ศ. 2451 (71 ปี 3 วัน ปี) |
มรณภาพ | 16 มีนาคม พ.ศ. 2522 |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 9 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดทองนพคุณ ธนบุรี |
บรรพชา | 14 มีนาคม พ.ศ. 2465 |
อุปสมบท | 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 |
พรรษา | 51 |
ตำแหน่ง | เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี เจ้าคณะภาค 4 |
พระธรรมเจดีย์ นามเดิม กี แซ่ตัน ฉายา มารชิโน เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมฝ่ายมหานิกาย เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี และเจ้าคณะภาค 4
ประวัติ
[แก้]ชาติกำเนิด
[แก้]พระธรรมเจดีย์ มีนามเดิมว่า กี แซ่ตัน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2451 ตรงกับวันแรม 7 ค่ำ เดือน 4 ปีวอก เป็นบุตรนายแสงกับนางลุ้ย ภูมิลำเนาอยู่ตำบลหนองดีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียนจบชั้นประถมบริบูรณ์จากโรงเรียนสนามจันทร์
อุปสมบท
[แก้]วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 ย้ายมาอยู่วัดทองนพคุณ และบรรพชาเป็นสามเณรในวันที่ 14 มีนาคม ศกนั้น โดยมีพระครูวิเศษศีลคุณ (ชุ่ม ติสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 โดยมีพระมงคลเทพมุนี (นวม พุทฺธสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสังวรวิมล (ชุ่ม ติสาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์ชื้อ พฺรหฺมสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า มารชิโน
การศึกษาพระปริยัติธรรม
[แก้]- พ.ศ. 2469 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
- พ.ศ. 2471 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
- พ.ศ. 2475 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค
- พ.ศ. 2479 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
- พ.ศ. 2482 สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค
- พ.ศ. 2486 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค
- พ.ศ. 2493 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค
ศาสนกิจ
[แก้]พระธรรมเจดีย์ ได้บรูณะปฏิสังขรณ์วัดทองนพคุณ และก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมหลายประการ โดยไม่เคยเรี่ยไรเงินจากประชาชน นอกจากนี้ท่านยังได้กวดขันภิกษุสามเณรในวัดให้ใส่ใจลงอุโบสถ ทำวัตรสวดมนต์ ครองจีวรให้เรียบร้อย รักษาความสะอาด อย่างเคร่งครัด รูปใดบกพร่องจะถูกลงโทษถึงปัพพาชนียกรรม ทำให้วัดเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นที่ชื่มชมของประชาชน
ต่อมาท่านยังได้รับไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดธนบุรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2512 และเป็นเจ้าคณะภาค 4 ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ จนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) ยังตรัสชมเชยว่าท่าน ได้บริหารการคณะสงฆ์อย่างมีระเบียบแบบแผน เอาใจใส่ในภารกิจ... ควรจะจำไว้เป็นแบบอย่าง
สมณศักดิ์
[แก้]- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2494 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระกิตติสารโศภน[1]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูสิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[2]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2503 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธี ศรีวิบุลนายก ตรีปิฎกธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเจดีย์ กวีวงศนายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
มรณภาพ
[แก้]พระธรรมเจดีย์ มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2522 เวลา 0.15 น. สิริอายุได้ 71 ปี 3 วัน พรรษา 51 ได้รับพระราชทานโกศโถบรรจุศพ ต่อมาเลื่อนชั้นเป็นโกศแปดหลี่ยม และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2522
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 68, ตอนที่ 74 ง, 11 ธันวาคม พ.ศ. 2494, หน้า 5,623
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอนที่ 6 ง ฉบับพิเศษ, 12 มกราคม 2500, หน้า
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 77, ตอนที่ 102 ง ฉบับพิเศษ, 14 ธันวาคม 2503, หน้า 3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 88, ตอนที่ 151 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม 2514, หน้า 2
- บรรณานุกรม
- พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน). มารชินนิพนธ์. กรุงเทพฯ : ศูนย์ไทยธิเบต, เมษายน 2551. 272 หน้า. หน้า 227-261. ISBN 978-974-05-1806-8
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์. พระธรรมเจดีย์ พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2522. 289 หน้า. ISBN 9743154884