วัดบ้านกร่าง (จังหวัดสุพรรณบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบ้านกร่าง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบ้านกร่าง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ปัจจุบันจำนวน 29 ไร่

วัดบ้านกร่างเป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2410 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2529[1] ได้รับยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อ พ.ศ. 2536 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2451 กล่าวถึงวัดบ้านกร่างว่า "พลับพลาที่พักนี้ตั้งที่ตำบลบ้านกร่าง ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ฝั่งตะวันออก ตรงกับวัดที่ชื่อเดียวกันข้าม มีพระเจดีย์กลางน้ำองค์ 1 เป็นพระเจดีย์ไม้สิบสอง อยู่ข้างจะเขื่อง ว่าเป็นที่ราษฎรประชุมกันไหว้พระทุกปี"

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถและวิหาร สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะอู่ทอง ใบเสมารอบอุโบสถมีที่มาจากการนำพระวัดกร่างพิมพ์ทรงพลใหญ่มาจำลองให้มีขนาดเท่าใบเสมา ส่วนวิหารภายในมีหลวงพ่อแก้วและพระประธาน ถัดมาเป็น มณฑป ด้านในมีรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2476 ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง (พระขุนแผน) ภายในเจดีย์ เคยพบพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์จำนวน 20–30 องค์ รวมไปถึงพระเครื่องซึ่งมีลักษณะเป็นแก้วสีเขียว[2] นอกจากนั้นยังมีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ แกะสลักจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่[3]

กรุพระขุนแผนบ้านกร่างมีชื่อเสียง เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา เชื่อกันว่าจะแคล้วคลาดคงกระพัน สันนิษฐานกันว่า น่าจะสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่อง ว่ากันว่าเป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ แล้วบรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดบ้านกร่าง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดบ้านกร่าง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-11. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.
  3. "วัดบ้านกร่าง". สำนักงานคณะสงฆ์ภาค ๑๔.
  4. "วัดบ้านกร่าง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).