เขางู
อุทยานหินเขางู ตั้งอยู่บริเวณแหล่งภูเขาหินปูน ในสวนสาธารณะเขางู ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี[1] แต่เดิมเป็นแหล่งระเบิดและย่อยหินที่สำคัญของไทยตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเป็นปูนที่มีคุณภาพดี ต่อมาทั้งภาครัฐและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิประเทศและวิวทิวทัศน์ อีกทั้งที่เขางูนี้ยังเป็นศาสนสถานอันเก่าแก่ จึงได้มีการยกเลิกสัมปทานการระเบิดและย่อยหินที่บริเวณนี้ไป หลังจากยกเลิกสัมปทาน เขางูกลายเป็นเหมืองร้าง มีสภาพทรุดโทรม ทางจังหวัดราชบุรีจึงได้พัฒนาเขางูให้เป็นสวนสาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดี ได้สร้างพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ เต็มพื้นที่หน้าผา สร้างจากการยิงแสงเลเซอร์ลงหน้าผาหิน ต่อมาได้เพิ่มการท่องเที่ยวแนวผจญภัยเข้าไปเรียกว่า "เขางู แอดเวนเจอร์ ปาร์ค" โดยมีเทศบาลตำบลเขางูเป็นผู้ดูแลรักษา
ภายในอุทยานหินเขางูแห่งนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีอยู่หลายแห่ง ซึ่งจะเป็นถ้ำที่อยู่บนภูเขามีถ้ำฤๅษี ถ้ำฝาโถและถ้ำจีน-จาม แต่ละถ้ำอยู่ไม่ไกลกัน แต่ต้องเดินขึ้นบันไดไต่เขาไปค่อนข้างสูง บริเวณรอบ ๆ ก็จะมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ภายในถ้ำต่าง ๆ นี้พบพระพุทธรูปจำหลัก หรือพระพุทธรูปที่สลักหินที่ฝาผนังถ้ำอยู่หลายองค์ ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้เป็นพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยทวารวดีเลยทีเดียว
ถ้ำในบริเวณ
[แก้]- ถ้ำฤๅษี พบพระพุทธรูปสมัยทวารวดี 2 องค์ องค์แรกประทับห้อยพระบาท (ประลัมพปาทาสนะ) พระหัตถ์ขวาอยู่ในปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) พระหัตถ์ซ้ายวางในพระเพลา ระหว่างพระบาทมีจารึกว่า ปุญกรมชฺระ ศฺรีสมาธิคุปฺต (ะ) แปลว่า พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการกระทำบุญ อีกฟากของผนังถ้ำมีพระพุทธรูปยืนปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางสมาธิอื่น ๆ อีกหลายองค์
- ถ้ำฝาโถ พบพระพุทธรูปนอนจำหลักปางมหาปรินิพพานมีประภามณฑลและลายปูนปั้นรูปต้นสาละ ด้านบนมีรูปเทพชุมนุม ผนังด้านตรงข้ามมีภาพสาวก2 องค์
- ถ้ำจีน พบพระพุทธรูปจำหลัก 2 องค์ ปางสมาธิ พระหัตถ์แสดงวิตรรกมุทรา มีร่องรอยของการพอกปูนทับ องค์ที่อยู่ใกล้ปากถ้ำมีรอยหักพัง ไม่สมบูรณ์
- ถ้ำจาม พบพบพระพุทธรูปนอนจำหลักปางมหาปรินิพพาน และภาพยมกปาฏิหาริย์ มีภาพปูนปั้นรูปต้นมะม่วง ถัดมายังพบรูปบุคคลยืนซ้อนกันและรูปพญานาคอีกด้วย
และที่ถ้ำเขางูแห่งนี้จะมีงานนมัสการเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11
พุทธสถานแต่ละถ้ำนี้ น่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เนื่องจากมีลักษณะทางศิลปกรรมมีความใกล้เคียงกัน และจากการเปรียบเทียบกับงานศิลปะอื่น ๆ ก็สามารถกำหนดช่วงเวลาของศิลปะบริเวณเขางูนี้ได้ว่า อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่13-14 นี่เองและด้วยความสมบูรณ์และจำนวนพุทธศิลป์ที่มีอยู่มากที่เขางูนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าที่ถ้ำเขางูนี้น่าจะเป็นศาสนสถานที่สำคัญของดินแดนแถบนี้ เหมือนเมืองสำคัญ ๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ
อ้างอิง
[แก้]- ผาสุข อินทราวุธ, ทวารวดี:การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี, (กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์อักษรสมัย,2542) หน้า159-164.
- พิริยะ ไกรฤกษ์,อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม1 ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19, (กรุงเทพมหานคร:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด,2544) ,หน้า 79-81
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์,ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย, (กรุงเทพมหานคร:เมืองโบราณ,2547) ,หน้า 196-199