ข้ามไปเนื้อหา

ฉบับร่าง:เหตุฆาตกรรมสนั่น ยิ้มประเสริฐ และบุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหตุฆาตกรรมสนั่น ยิ้มประเสริฐ และบุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์ เป็นเหตุฆาตกรรมพลเมืองดีสองคน เมื่อปี พ.ศ. 2515 ระหว่างเหตุการณ์ปล้นรถเมลล์ที่แยกจากกันในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยผู้ก่อเหตุคือ สนอง โพธิ์บาง, จำเนียร จันทรา และธนูชัย มนตรีวัต ซึ่งทั้งสามได้ก่อเหตุร่วมกันตระเวนล้วงกระเป๋าคนบนรถเมลล์สายต่างๆ[1][2]

เหตุฆาตกรรมสนั่น ยิ้มประเสริฐ และบุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์
สนอง โพธิ์บาง หนึ่งในสามผู้ก่อเหตุกำลังทำแผนประทุษกรรมในคดีฆาตกรรมบุญญฤทธิ์
สถานที่
วันที่28 เมษายน พ.ศ. 2515 เวลาประมาณ 18.00 น. และ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 เวลา 07.00 – 07.30 น.
เป้าหมายพลเมืองดีที่ขัดขวางการล้วงกระเป๋าบนรถเมลล์
ประเภทการปล้นทรัพย์,การล้วงกระเป๋า,เหตุฆ่าพลเมืองดี,การฆาตกรรม
อาวุธมีดพกปลายแหลม
ตายสนั่น ยิ้มประเสริฐ และบุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์
ผู้ก่อเหตุสนอง โพธิ์บาง
จำเนียร จันทรา
ธนูชัย มนตรีวัต
เหตุจูงใจแค้นที่พลเมืองดีขัดขวางการล้วงกระเป๋า

คดีดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นวงกว้าง ภายหลังการจับกุมผู้ก่อเหตุได้มีผู้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อ และเรียกร้องให้ลงโทษคนร้ายทั้ง 3 ในสถานหนัก[3][4][5] ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2515 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ใช้อำนาจมาตรา 17 มีคำสั่งให้ประหารชีวิตสนอง,ธนูชัย และจำเนียร ซึ่งทั้งสามถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในช่วงเย็นของวันเดียวกันที่เรือนจำกลางบางขวาง[6][7]

พื้นหลัง

[แก้]

อาชีพล้วงกระเป๋าเป็นที่นิยมแพร่หลายในกรุงเทพมาตั้งแต่ยุค 2490 เนื่องจากทำง่าย ได้ผลเร็ว ทำให้ซอยกิ่งเพชร ซอยพญานาค และซอยเจริญผลกลายเป็นแหล่งใหญ่ของนักล้วงกระเป๋า ส่วนการล้วงกระเป๋าบนรถเมลล์เป็นที่แพร่หลายเนื่องจากการหลบหนีได้ง่าย และบทลงโทษไม่รุนแรงนัก เพราะผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น หากถูกจับกุมก็ถูกส่งเข้าสถานพินิจ เพียงแค่ 2 เดือน ซึ่งแก๊งค์ล้วงกระเป๋าที่ซอยกิ่งเพชรมีการประสานงานกับแก๊งค์เล็กๆที่คลองเตย และห้วยขวาง แต่แก๊งค์ที่คลองเตย และห้วยขวาง ซึ่งไม่ใหญ่เท่าที่ซอยกิ่งเพชร และชอบก่อเหตุรุนแรง เช่น จี้รถเมลล์ จี้แท็กซี่ จี้คนเวลากลางคืน ฯลฯ ซึ่งการล้วงกระเป๋าจะทำบ้าง แต่ไม่ทำเป็นประจำเหมือนที่ซอยกิ่งเพชร[8][9][10]

แก๊งค์ของจำเนียร จันทรา

[แก้]

แก๊งค์ล้วงกระเป๋าของจำเนียร จันทรามีสมาชิกหลายคน โดยมีจำเนียรเป็นหัวหน้าแก๊งค์ โดยจะกระจายเป็นกลุ่มล้วงกระเป๋าผู้โดยสารที่กำลังจะขึ้นรถเมลล์หรือโดยสารรถเมลล์ โดยเฉพาะการล้วงกระเป๋าถือของผู้หญิงเนื่องจากเปิดง่าย วิธีการล้วงกระเป๋าคือแกล้งเดินข้างหน้าเพื่อให้เดินช้าลง แล้วพวกที่อยู่ด้านหลังจะเปิดเอาทรัพย์สินในกระเป๋า ซึ่งรายได้จากการล้วงกระเป๋าอย่างต่ำวันละ 1,000 บาท แต่แก๊งค์ของจำเนียรไม่สามารถเข้ากับแก๊งค์ล้วงกระเป๋าอื่นๆได้ เพราะถูกแก๊งค์อื่นรังเกียจ เนื่องจากแก๊งค์ของจำเนียรมีพฤติกรรมที่โหดเหี้ยม และเวลาเกิดเรื่องมักจะทำร้ายคน แตกต่างแก๊งค์อื่นๆที่เวลาเห็นท่าไม่ดีจะต้องรีบหลบหนีทันที[11][12]

แก๊งค์ของจำเนียรมักจะมั่วสุมบริเวณสุเหร่าบ้านครัวกับปากซอยพญานาค โดยในบางครั้งหลังจากได้เงินจากการล้วงกระเป๋า จะเงินเอามาซื้อเหล้าหรือสูบกัญชา เมื่อเมาได้ที่ก็จะเอามีดมากรีดแขนตนเองเพื่อแสดงความใจแน่ ซึ่งชาวบ้านในซอยพญานาคทราบพฤติกรรมของแก๊งค์ดี โดยเฉพาะจำเนียร แต่ก็ไม่มีใครกล้าต่อต้าน[13]

ครอบครัวของสนั่นและพร้อม ยิ้มประเสริฐ

[แก้]

สนั่นและพร้อม ยิ้มประเสริฐ มีบุตรด้วยกันจำนวน 5 คน ครอบครัวมีฐานะยากจน ทั้งสองประกอบอาชีพรับจ้าง โดยมีรายได้สูงสุดวันละ 20 บาท หรือบางวันก็ไม่มีรายได้เลย[14]

บุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์

[แก้]

บุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์ อายุ 22 ปี เป็นบุตรชายคนที่สองจากพี่น้องทั้งหมดสามคน เขาสำเร็จการศึกษาชั้นมศ.3 จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างกลสยาม

ระหว่างที่เขาศึกษาที่โรงเรียนช่างกลสยาม เขาเคยถูกนักล้วงกระเป๋าขโมยนาฬิกาข้อมือราโด,แหวนทองคำ และเงินสด ขณะโดยสารรถเมลล์ผ่านถนนลาดหญ้า ส่งผลให้เขามีนิสัยเกลียดนักล้วงกระเป๋า ต่อมาในปีพ.ศ. 2514 เขาได้จบการศึกษาจากโรงเรียนช่างกลสยาม เขาจึงไปทำงานที่ศูนย์โทรคมนาคม องค์การโทรศัพท์[15]

การก่อคดี

[แก้]

เหตุฆาตกรรมสนั่น ยิ้มประเสริฐ

[แก้]
สนั่น ยิ้มประเสริฐเหยื่อรายแรกของคดี

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2515 เวลาประมาณ 18.00 น. ระหว่างที่สนั่น ยิ้มประเสริฐกับพร้อม ยิ้มประเสริฐ กำลังขึ้นรถเมลล์สาย 18 ที่ป้ายรถเมลล์ใกล้ปากซอยพญานาคเพื่อเดินทางกลับบ้าน หลังจากไปทำงานรับจ้างดายหญ้าที่บ้านในตรอกยานัตถุ์ ทั้งสองสังเกตุเห็นธนูชัย,จำเนียร และสนอง กำลังล้วงกระเป๋าผู้โดยสารหญิงชราจีนคนหนึ่ง สนั่นจึงตะโกนบอกไปว่า "ไอ้น้องชาย ลื้อทำไม ทำอย่างนี้ มันไม่ดี" จำเนียรจึงกระชากคอเสื้อสนั่นลงจากรถ แล้วช่วยกันรุมทำร้ายร่างกาย จากนั้นสนองกับธนูชัยได้ใช้มีดวิ่งไล่แทงสนั่น สนั่นจึงวิ่งหนีเข้าไปในร้านก๊วยเตี๋ยวในปากซอยพญานาค แล้วร้องว่า"ผมไม่สู้ อย่าทำผม"[16] แต่ทั้งสามยังตามสนั่นเข้ามาในร้าน สนั่นจึงใช้ขวดน้ำปลาเพื่อต่อสู้กับทั้งสาม แต่เขาก็ถูกธนูชัยแทงที่หลังกับชายโครงขวาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส[17] หลังจากนั้นทั้งสามได้หลบหนีเข้าซอยพญานาคไป[18][19][20]

พร้อมจึงนำตัวสนั่นขึ้นรถสามล้อเพื่อไปที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ไม่ได้แจ้งตำรวจเนื่องจากมีเงินติดตัว 7 บาทและตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภายหลังจากนำตัวสนั่นส่งโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้สอบสวนสนั่น ก่อนจะนำตัวเข้าหลังผ่าตัดเนื่องจากเลือดท่วมปอด หลังจากนั้นแพทย์ได้นำตัวสนั่นเข้าห้องผ่าตัดเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. แต่หลังจากการผ่าตัดสนั่นได้เสียชีวิต

ภายหลังจากสนั่นเสียชีวิต ญาติของเขาได้นำศพไปตั้งสวดอภิธรรมที่วัดพระพิเรนทร์เป็นเวลา 1 คืนแล้วฌาปนกิจศพในวันถัดมา[21]

เหตุฆาตกรรมบุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์

[แก้]
บุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์เหยื่อรายที่สองของคดี

ในช่วงเช้าของวันที 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 บุญญฤทธิ์ สุวรรณวัฒน์ อายุ 22 ปี ได้ขึ้นรถเมลล์บุญผ่องจากบ้านพักที่ตรอกไวดี ต่อมาในเวลา 08.20 ระหว่างที่รถเมลล์จอดที่ป้ายหน้าภัตตาคารโอลิมเปีย เขาสังเกตุเห็นสนองกำลังเปิดกระเป๋านางสาวกิติยา ศิรินนทชาติ เขาจึงชี้ไปที่สนอง และตะโกนเตือนเธอว่า"คุณจะถูกล้วงกระเป๋า" ทำให้ทั้งสามโกรธบุญญฤทธิ์ สนองจึงบอกจำเนียรและธนูชัยให้เล่นงานบุญญฤทธิ์ จำเนียรจึงวิ่งไปปีนหน้าต่างรถเพื่อทำร้ายบุญญฤทธิ์ แต่ปีนไม่ได้เพราะรถเริ่มวิ่งออก จำเนียรจึงเปลี่ยนไปขึ้นบันไดหน้าเพื่อสกัด ส่วนสนองได้หยิบมีดพับออกจากกระเป๋ากางเกงแล้วแหวกผู้โดยสารเข้าไปหาบุญญฤทธิ์ บุญญฤทธิ์จึงแทรกผู้โดยสารไปด้านหน้ารถ แต่ก็ถูกจำเนียรจับคอเสื้อ สนองจึงแทงบุญญฤทธิ์ที่ชายโครงซ้ายจำนวน 1 แผล[22] หลังจากนั้นทั้งสามได้กระโดดลงจากรถแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน[23][24] ในเวลาเดียวกันรถเมลล์ได้จอดที่ป้ายร้านบัลเล่ต์สีลม บุญญฤทธิ์ได้เดินลงจากรถพร้อมกับเลือดที่ชุ่มหน้าอก จสต.ถวิล ศรีเพียงเอม ตำรวจจราจร สน.ลุมพินีจึงช่วยนำตัวบุญญฤทธิ์ส่งโรงพยาบาลตำรวจ แต่บุญญฤทธิ์ก็เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลในเวลา 07.00 น. ของวันถัดมา[25][26][27][28]

หลังจากบุญญฤทธิ์เสียชีวิต ญาติของเขาได้นำศพไปตั้งสวดอภิธรรมและบำเพ็ญกุศลที่วัดยานนาวาเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นฌาปนกิจศพในวันที่ 7 มิถุนายน เวลา 16.30 น. โดยมีประชาชน,เพื่อนของบุญญฤทธิ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจมาร่วมบำเพ็ญกุศล[29]

ผู้ก่อเหตุ

[แก้]

สนอง โพธิ์บาง

[แก้]
สนอง โพธิ์บาง
เกิด17 มกราคม พ.ศ. 2495
อำเภอพญาไท จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
เสียชีวิต19 มิถุนายน พ.ศ. 2515 (20 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
สุสานกุโบร์มัสยิดดารุ้ลมุห์ซีนีน
ชื่ออื่นเปี๊ยก, เปี๊ยกจ้อย
บุตร1
พิพากษาลงโทษฐานสมคบกันพยายามลักทรัพย์ และฆ่าคนตายโดยเจตนา
บทลงโทษประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ถูกจับ
10 มิถุนายน พ.ศ. 2515
จำคุกที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี

สนอง หรือ เปี๊ยก หรือ เปี๊ยกจ้อย โพธิ์บาง เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2495 ที่อำเภอพญาไท จังหวัดพระนคร ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย เขาจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วลาออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ขายของ ต่อมาสนองในวัย 16 ปี ได้รู้จักกับจำเนียร จึงเข้าร่วมแก๊งค์ล้วงกระเป๋า โดยก่อเหตุล้วงกระเป๋าเป็นครั้งแรกที่ป้ายรถเมลล์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขาเคยถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ในท้องที่พญาไทกับสามเสน และถูกจับในข้อหาซ่องโจรที่ห้วยขวาง[30][31][32]

จำเนียร จันทรา

[แก้]
จำเนียร จันทรา
เกิดป. พ.ศ. 2496
ตำบลหัวเสือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย
เสียชีวิต19 มิถุนายน พ.ศ. 2515 (19 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
สุสานกุโบร์มัสยิดดารุ้ลมุห์ซีนีน
ชื่ออื่นเนียน
การศึกษามศ. 2
ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดช่างแสง
โรงเรียนจันทร์หุ่นวิทยา
อาชีพล้วงกระเป๋า
ปีปฏิบัติงาน2511 - 2515
บุตร2
พิพากษาลงโทษฐานสมคบกันพยายามลักทรัพย์ และฆ่าคนตายโดยเจตนา
บทลงโทษประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ถูกจับ
8 มิถุนายน พ.ศ. 2515
จำคุกที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี

จำเนียร หรือเนียน จันทรา เกิดประมาณ พ.ศ. 2496 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านสองอำเภอ ตำบลหัวเสือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ บิดามารดาของเขาเป็นครูโรงเรียนประชาบาล ต่อมาหลังจากบิดาเสียชีวิต มารดาของเขาได้ลาออกจากครูกลับมาทำนา เขาจึงออกจากบ้านแล้วเดินทางมายังจังหวัดพระนครและพักอาศัยกับพระสุเทพ ทองสนิท ที่วัดช่างแสง

เขาสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 การศึกษาระดับชั้นป.7 จากโรงเรียนวัดช่างแสง ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งแถวห้วยขวาง ระหว่างศึกษาในระดับ มศ. 2 เขาไปพบกับแดง เสือสมิง นักล้วงกระเป๋า ซึ่งเขาถูกชะตากับแดงตั้งแต่ที่พบ แดงได้เปิดเผยว่าเงินที่เขาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเป็นเงินที่ได้มาจากการล้วงกระเป๋าคนบนรถเมลล์ แลชักชวนให้เขาเริ่มล้วงกระเป๋าบนรถเมลล์ เขาจึงล้วงกระเป๋าเป็นครั้งแรก โดยล้วงกระเป๋าผู้หญิงบนรถเมลล์ ที่สี่แยกสะพานควาย และได้เงินส่วนแบ่งจากแดงจำนวน 60 บาท

หลังการล้วงกระเป๋าครั้งแรก เขาจึงหนีโรงเรียนมาร่วมกับพวกล้วงกระเป๋าบนรถเมลล์ จนกระทั่งแดงถูกจับกุม และถูกคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม เขาจึงย้ายบ้านมาอยู่ที่ปากซอยพญานาค และได้รู้จักกับสนองกับธนูชัย ทั้งสามจึงร่วมกันตั้งแก๊งค์ล้วงกระเป๋าบนรถเมลล์ โดยมีจำเนียรเป็นหัวหน้าแก๊งค์[33]

เขาเคยถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ที่ห้วยขวาง และติดคุกเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 เขาถูกจับกุมที่พญาไทในข้อหาซ่องโจร และติดคุกที่เรือนจำกลางคลองเปรมเป็นเวลา 30 วัน ในปีต่อมาเขาถูกจับกุมในข้อหาซ่องโจรที่บางรัก และติดคุกที่เรือนจำกลางคลองเปรมเป็นเวลา 30 วัน แต่เขาไม่เคยถูกจับกุมในคดีล้วงกระเป๋าเลย[34] ตลอดเวลาที่ก่อเหตุเขาปิดบังการก่อคดีไม่ให้แม่รู้ โดยโกหกแม่ว่าทำงานอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย[35][36]

ธนูชัย มนตรีวัต

[แก้]
ธนูชัย มนตรีวัต
เกิดป. พ.ศ. 2496
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
เสียชีวิต19 มิถุนายน พ.ศ. 2515 (19 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
ชื่ออื่นแดง,หยิก,แดงหยิก
อาชีพค้าขาย และล้วงกระเป๋า
บุตร2
บิดามารดาอารีย์ มนตรีวัต (บิดา)
ยุพิณ มนตรีวัต (มารดา)
ญาติขุนพิชัยมนตรี (ชื่น มนตรีวัต) (ปู่)
ศรชัย มนตริวัต (อา)
พิพากษาลงโทษฐานสมคบกันพยายามลักทรัพย์ และฆ่าคนตายโดยเจตนา
บทลงโทษประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ถูกจับ
9 มิถุนายน พ.ศ. 2515
จำคุกที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี

ธนูชัย หรือ แดง หรือ หยิก หรือ แดงหยิก มนตรีวัต เกิดประมาณ พ.ศ. 2496 เขาเป็นหลานชายของพลตำรวจตรี ขุนพิชัยมนตรี (ชื่น มนตรีวัต) อดีตผู้บังคับบัญชาการตำรวจสมัย พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ [37]

ธนูชัยได้เริ่มก่อเหตุล้วงกระเป๋าตั้งแต่ 2 ปีก่อน เขาเคยถูกจับกุมในข้อหาซ่องโจรที่บางรักกับพญาไท และข้อหารับของโจรในท้องที่สน.พระโขนง 1 โดยถูกตัดสินจำคุก 1 ปี 4 เดือน[38][39][40]

การจับกุม และสอบสวน

[แก้]

หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมบุญญฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี 2 ได้สืบสวนหาตัวคนร้าย จนพบว่าผู้ก่อเหตุคือ สนอง,ธนูชัย และจำเนียร นักล้วงกระเป๋าที่ก่อเหตุในย่านถนนพระรามที่ 4 พล.ต.ต. เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ผู้บังคับบัญชาตำรวจนครบาลใต้ จึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น 3 สาย เพื่อจับกุมสนอง,จำเนียร และธนูชัย[41]

ต่อมาในวันที่ 8 มิถุนายน ตำรวจได้จับกุมจำเนียรขณะกำลังล้วงกระเป๋าที่วงเวียนปทุมวัน ในวันถัดมาตำรวจสามารถจับกุมธนูชัยได้ที่บ้านเลขที่ 31/61 ซอยโรงเจ ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท โดยธนูชัยและจำเนียรได้ให้การซักทอดว่าสนองเป็นคนฆาตกรรมบุญญฤทธิ์ ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พ.ต.อ.สถานพร วิมุกตายน ผู้กำกับการตำรวจนครบาล 7 ได้นำตำรวจได้นำตำรวจเข้าจับกุมสนองได้ที่บ้านเลขที่ 31/82 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี[42] หลังจากนั้นได้นำตัวทั้งสามมาสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งทั้งสามได้ให้การรับสารภาพทุกข้อหา โดยสนองยอมรับว่าเป็นคนแทงบุญญฤทธิ์[43][44] ต่อมาในเวลา 15.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำทั้งสามไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ โดยเริ่มจากที่หน้าภัตตาคารโอลิมเปีย ซึ่งจำเนียรกับธนูชัยล้วงกระเป๋ากิติยา ตามมาด้วยบุญญฤทธิ์เตือนให้กิตติยารู้ตัว ทั้งสามได้วิ่งตามรถเมลล์ แล้วกระโดดขึ้นไปบนรถ โดยสนองกระโดดขึ้นบันไดหลัง ส่วนธนูชัยกับจำเนียรกระโดดขึ้นบันไดหน้า หลังจากนั้นเมื่อรถเมลล์จอดที่ป้ายหน้าโรงแรมศาลาแดง สนองได้แหวกเข้าไปหาบุญญฤทธิ์จากหลังรถ จำเนียรแหวกเข้าหาจากด้านหน้า ส่วนธนูชัยลงจากรถทางบันไดหน้า ลงมายืนหน้ารถหลังจากนั้นได้ปีนหน้าต่างเข้าหาบุญญฤทธิ์ ในเวลาเดียวกันจำเนียรกับธนูชัยได้กลับคำให้การ และไม่ยอมแสดงท่าล็อคบุญญฤทธิ์เพื่อให้สนองแทง ทั้งสองอ้างว่าไม่ได้ล็อคคอบุญญฤทธิ์ เพียงแต่ช่วยให้สนองแทงเท่านั้น ส่วนสนองได้ทำท่าแทงและยอมรับว่าแทงบุญญฤทธิ์ไป 3 แผล โดยระหว่างการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ได้มีประชาชนจำนวนมากมามุงดู และตะโกนด่าด้วยความแค้น ต่อมาเวลาในเวลาประมาณ 17.00 น. การทำแผนได้เสร็จสิ้น ตำรวจจึงนำตัวทั้งสามกลับไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี 2[45]

พร้อมชี้ตัวธนูชัย

วันที่ 12 มิถุนายน เวลา 12.00 นางพร้อม ยิ้มประเสริฐ ภรรยาของสนั่นได้เข้าพบพลตำรวจโทไพบูลย์ สัมมาทิตย์ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี 2 เธอกล่าวว่าเธอเป็นภรรยาของสนั่น ยิ้มประเสริฐที่ถูกแทงเสียชีวิตที่ปากซอยพญานาค และขอดูตัวสนอง,ธนูชัยและจำเนียร คนร้ายในคดีฆาตกรรมบุญญฤทธิ์ เพราะเธอเห็นรูปของทั้งสามในหนังสือพิมพ์ และจำได้อย่างแม่นยำว่าทั้งสามเป็นคนร้ายในคดีฆาตกรรมสนั่น ตำรวจจึงให้เธอชี้ตัวทั้งสามโดยให้ทั้งสามปะปนกับผู้ต้องหาคนอื่นๆอีก 15 คน เธอเข้าไปชี้ตัวธนูชัย โดยยืนยันว่าธนูชัยเป็นคนฆ่า แต่เมื่อเธอจะชี้ตัวสนองกับจำเนียรเธอได้เป็นลมล้มลงด้วยความหวาดกลัว[46] ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฐมพยาบาลเธอ จนอาการดีขึ้น เธอบอกสาเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจว่า กลัวถูกพรรคพวกของทั้งสามล้างแค้นในภายหลัง[47] หลังจากนั้นเธอได้ชี้ตัวสนองและจำเนียรได้อย่างถูกต้อง และยืนยันทั้งสามเป็นคนร้ายที่ร่วมกันฆ่าสนั่น แต่ทั้งสามก็ยังปฎิเสธว่าไม่เคยล้วงกระเป๋าหรือทำร้ายใคร[48][49]

ในวันที่ 13 มิถุนายน เวลา 11.00 น. กิตติยาได้ปากคำกับตำรวจว่า ในวันเกิดเหตุได้ไปรอรถเมลล์ที่ป้ายหน้าภัตตาคารโอลิมเปีย ขณะขึ้นบันไดรถเมลล์ เธอได้ยินเสียงคนเตือนให้ระวังจะถูกล้วงกระเป๋า เธอจึงมองกระเป๋าของเธอ และสังเกตุเห็นกระเป๋าเปิดอยู่ แต่ซองใส่เงินยังอยู่ จึงไม่ขึ้นรถเมลล์คันดังกล่าว ซึ่งเธอไม่ทราบถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมบุญญฤทธิ์จนกระทั่งอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เธอได้ให้การอีกว่า จดจำคนร้ายทั้งสามไม่ได้ และไม่ยอมชี้ตัวทั้งสาม โดยเธอได้ให้เหตุผลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ากลัวจะถูกทั้งสามมาตามฆ่า[50]

หลังจากการสอบปากคำกิตติยา ตำรวจได้สอบปากคำพร้อมอีกครั้ง จากนั้นได้นำตัวทั้งสามมายืนปะปนกับผู้ต้องหาคนอื่น แล้วให้พร้อมชี้ตัว ซึ่งเธอสามารถชี้ตัวทั้งสามได้อย่างถูกต้อง และยืนยันว่าทั้งสามคือคนที่สังหารสามีของเธอ แต่ทั้งสามก็ยังปฎิเสธว่าไม่ได้ฆ่าสนั่น หลังจากการชี้ตัว เธอขอให้ตำรวจช่วยคุ้มกันเนื่องจากมีคนไปด้อมๆมองๆ อยู่บริเวณที่พักของเธอ พลตำรวจโทไพบูลย์ สัมมาทิตย์ ได้รับปากว่าจะจัดตำรวจไปคุ้มกัน[51] ต่อมาตำรวจได้นำนางฮู้ แซ่ฉั่ว เจ้าของร้านก๊วยเตี๋ยวในปากซอยพญานาค มาสอบปากคำ เมื่อตำรวจนำตัวมาทั้งสามมาให้เธอชี้ตัว เธอเกิดอาการหวาดกลัว และไม่ยอมชี้ตัวกับสบตาทั้งสามโดยอ้างว่าจำหน้าไม่ได้เพราะคดีเกิดขึ้นมาหลายวัน ส่วนลูกชายของเธอก็ไม่ยอมชี้ตัวเช่นกัน[52]


ต่อมาในเวลา 13.00 ของวันเดียวกัน ตำรวจได้นำตัวนายเชาวน์ ห้างเจริญ พยานในคดีปล้นฆ่าที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากเขาเห็นภาพของสนองคล้ายกับบุญยืน บุญสร้าง คนร้ายในคดีปล้นฆ่าที่ฉะเชิงเทรา เมื่อนำตัวทั้งสามมาให้เชาวน์ดู เขาปฎิเสธว่าทั้งสามไม่ใช่คนร้ายบุญยืน ต่อมาในช่วงบ่าย พลตำรวจโท มนต์ชัย พันธ์ุคงชื่นได้สั่งการให้ตำรวจให้การคุ้มครองผู้เสียหาย และพยานเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกคนร้ายที่จับไม่ได้คุกคาม และขอให้ผู้ที่เคยถูกคนร้ายล้วงกระเป๋าไปขอดูตัวคนร้ายที่จับมาได้ทุกโอกาส และหากเป็นคนร้ายคนเดียวกันขอให้แจ้งความดำเนินคดีตามกฏหมาย[53]

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวนผู้ต้องหาจนเสร็จ และปิดสำนวนเพื่อนำเสนอต่อพลตำรวจโทมนต์ชัย พันธ์คงชื่น เพื่อนำเสนอต่อหัวหน้าคณะปฎิวัติต่อไป[54]

วันที่ 14 มิถุนายน พลตำรวจโทมนต์ชัย พันธ์คงชื่น กล่าวว่าคนร้ายที่ก่อเหตุจะต้องได้รับโทษสาสมกับความผิดแน่นอน โดยจะเสนอสำนวนให้คณะปฎิวัติพิจารณาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ส่วนสาเหตุที่การเสนอสำนวนล่าช้ามาจากสำนวนคดีสนั่นที่แจ้งความในภายหลัง อย่างไรก็ตามได้เสนอรวมเป็นสำนวนการสอบสวนสำนวนเดียว[55][56] โดยพลตำรวจโทมนต์ชัย พันธ์คงชื่นได้ส่งสำนวนไปถึงคณะปฎิวัติในวันถัดมา[57]

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เวลา 15.00 น.เศษ จ้อย โพธิ์บาง แม่ของสนองได้เดินทางไปศูนย์แถลงข่าว กองบัญชาการคณะปฎิวัติ เพื่อขอพบจอมพลถนอม เนื่องจากจะขอร้องว่า ไม่ให้ประหารชีวิตสนอง ส่วนจะให้ติดคุกกี่ปี แล้วแต่จอมพลถนอมเห็นสมควร โดยเธอได้อ้างเหตุผลหลายอย่างเประกองพื่อไม่ให้สนองถูกประหารชีวิต โดยนาวาเอกนคร บุนนาค ได้รับเรื่องไว้เพื่อเสนอให้จอมพลถนอมพิจารณาต่อไป[58][59]

ปฎิกริยาในสังคม และการบริจาคเงินเยียวยา

[แก้]

หลังจากการจับกุมสนอง,จำเนียร และธนูชัย ได้มีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพลเมืองดีที่บ้านพัก และส่งจดหมายไปแสดงความเสียใจจำนวนหลายฉบับจากคนที่รู้จักและไม่รู้จัก[60][61][62][63]

จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีโดยเร็วเพราะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญประชาชยเป็นอย่างยิ่ง และมีหนังสือแสดงความเสียใจในการเสียชีวิตของบุญญฤทธิ์ และให้ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยติดต่อกับทายาทของบุญญฤทธิ์เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ 15 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2515 [64]

พลเอก ประภาส จารุเสถียร ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจการสอบสวนคนร้าย และเสนอสำนวนไปยังคณะปฎิวัติ เพื่อจะพิจารณาลงโทษต่อไป โดยเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่อุอาจและสะเทือนขวัญประชาชนอย่างรุนแรง และสร้างความโหดร้ายต่อพลเมืองดีที่ทำหน้าที่ของตน[65][66] และยังได้ส่งหนังสือร่วมแสดงความเสียใจในการเสียชีวิตของบุญญฤทธิ์ผ่านผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พร้อมทั้งมีคำสั่งให้องค์การโทรศัพท์ติดต่อช่วยเหลือครอบครัวของบุญญฤทธิ์ตามประกาศคณะปฎิวัติที่ 15 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515[67]

พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ ได้ประณามการกระทำของทั้งสามว่า เป็นพฤติการณ์อุกอาจเขย่าขวัญ และทำลายขวัญพลเมืองดีมากที่สุด ซึ่งทางดรมตำรวจถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ในฐานะอธิบดีจึงกำชับให้ตำรวจเจ้าของคดีรีบดำเนินการสอบสวนให้เสร็จโดยเร็ว และเมื่อได้สำนวนแล้ว จะรีบนำเสนอหัวหน้าคณะปฎิวัติให้พิจารณาโทษโดยด่วน[68][69]

พลตำรวจโท มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของพลเมืองดีทั้งสอง และยกย่องการกระทำของสนั่นและบุญญฤทธิ์ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีสมควรแก่การจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง ส่วนคนร้ายที่ก่อเหตุจะต้องได้รับโทษที่สาสมต่อความผิดแน่นอน[70]

กองประชาสัมพันธ์คณะปฎิวัติ แถลงประฌามการกระทำของคนร้ายว่า เป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษย์ธรรมต่อหน้าสาธารณชน และเป็นการสั่นสะเทือนขวัญประชาชนเป็นอย่างมาก ในเรื่องนี้คณะปฎิวัติได้เร่งวัดการสอบสวน และจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดโดยเร็วที่สุด[71]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

ได้มีประชาชนบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์หนังสือพิมพ์ และตำรวจในเรื่องของการเปิดเผยที่อยู่ และภาพถ่ายของพยาน โดยมีความเห็นว่าควรให้พยานเข้าไปอยู่ในห้องโดยเฉพาะที่มีช่องสำหรับดู ไม่ควรให้ผู้ต้องหาเห็นหน้าพยานได้[72][73]


การบริจาคเงินเยียวยา

[แก้]
พล.ต.ท มนต์ชัย มอบเงินให้กับครอบครัวของพลเมืองดี

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เวลา 09.45 น. พลตำรวจโทมนต์ชัย พันธ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้มอบเงินให้ครอบครัวของบุญญทธิ์ และสนั่น โดยมีนายบุญเลิศ สุวรรณวัฒน์ กับนางเพ็งจันทร์ สุวรรณวัฒน์ บิดามารดาของบุญญฤทธิ์ และนางพร้อม ยิ้มประเสริฐ ภรรยาของสนั่น เป็นผู้รับมอบ โดยพล.ต.ท. มนต์ชัยได้มอบเงินให้พร้อม,บุญเลิศ และเพ็งจันทร์ เป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท แบ่งเป็นเงินส่วนตัวของพล.ต.ท.มนต์ชัย 2,000 บาท[74][75] ส่วน 2,000 บาทเป็นเงินของ ท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ เจ้าของโรงแรมเพรสซิเดนท์ เนื่องจากเศร้าสลดจากกับการเสียชีวิตของพลเมืองดีทั้งสองคน จึงมอบให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลผ่านหนังสือพิมพ์ชาวไทย[76] นอกจากนี้พล.ต.ท. มนต์ชัย จะทำหนังสือถึงกรมตำรวจเพื่อให้ออกหนังสือชมเชยการปฎิบัติหน้าที่พลเมืองดีของสนั่น และบุญญฤทธิ์ และจะขออนุมัติให้ทางราชการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยทางราชการจะจ่ายได้ในวงเงินไม่เกิน 8,000 บาท[77]

ในเวลา 15.40 น. ของวันเดียวกัน ประชาชนไม่เปิดเผยชื่อ 9 คน ได้ฝากญาติ ไหวดี อดีตสว.จังหวัดสุรินทร์ เป็นตัวแทนนำเงินจำนวน 1,200 บาท มามอบให้พร้อม โดยระบุในจดหมายว่า พวกเขานิยมในความกล้าหาญของเธอที่กล้าชี้ตัวยืนยันความผิดของคนร้าย ซึ่งพยานคนอื่นๆไม่กล้าชี้ตัวยืนยัน หรือแม้แต่จะสบตากับคนร้ายใจเหี้ยมทั้ง 3 พวกเขาทั้ง 9 คนจึงรวบรวมเงินดังกล่าวมอบให้กับพร้อมเพื่อช่วยเหลือฐานะที่ยากจนของเธอ เพื่อจะได้ใช้เลี้ยงดูบุตรต่อไป[78][79]

ในวันมาได้มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามขอมอบเงินให้ครอบครัวยิ้มประเสริฐ และสุวรรณวัฒน์ คนละ 50 บาท พร้อมกับมีจดหมายเชิญชวนให้ประชาชน และนักศึกษา ร่วมมือกันต่อต้านคนร้ายประเภทนี้ให้หมด เพราะเป็นอันตรายต่อประชาชนอย่างยิ่ง[80]

การประหารชีวิต

[แก้]

ระหว่างที่ทั้งสามถูกคุมขังในสถานีตำรวจ โดยถูกแยกขังคนละห้องขังกัน ทั้งสามยังคงมีอารมณ์รื่นเริง พูดหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งยิงหนังยางข้ามห้องขังเล่นกันอย่างสนุกสนาน[81]

วันที่ 18 มิถุนายน 2515 พลตำรวจตรี ไพบูลย์ สัมมาทัต ได้สั่งการให้ตำรวจเพิ่มมาตรการอารักขาเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาทั้งสามฆ่าตัวตาย โดยให้ตำรวจนอนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งห้ามญาติเยี่ยม และห้ามนำหนังสือพิมพ์หรือกระดาษดินสอเข้าห้องขัง[82]

ในช่วงเช้าวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นวันที่คาดว่าทั้งสามจะถูกหัวหน้าคณะปฎิวัติสั่งให้ประหารชีวิต ญาติของทั้งสาม และประชาชนจำนวนมากได้ไปจับกลุ่มอยู่หน้าสถานีตำรวจ ญาติของทั้งสามเดินทางมาเพื่อพบหน้าและสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะที่ทั้งสามถูกประหารชีวิต ส่วนประชาชนเดินทางไปเพื่อดูหน้าทั้งสาม ซึ่งคาดว่าจะถูกหัวหน้าคณะปฎิวัติสั่งประหารในวันเดียวกัน[83][84]

ในเวลาประมาณ 10.00 - 11.00 น. สนองได้พูดคุยกับตำรวจที่ควบคุมในห้องขังว่า ไหนๆเราจะจากกันแล้วผมจะพูดคุยอย่างเปิดอกว่า "ผมทำมาแล้ว 100 กว่าราย" เมื่อตำรวจถามว่าฆ่าคนมาแล้วกี่ศพ เขาไม่ยอมตอบคำถาม แล้วตอบว่า ผมติดคุกอย่างดี 20 ปี ผมจะพยายามทำความดี เพื่อหวังได้รับอภัยโทษ[85][82]

ในเวลาประมาณ 11.00 น. จอมพลถนอม กิติขจร ได้มีคำสั่งของหัวหน้าคณะปฎิวัติ ที่ 35/2515 มีคำสั่งให้ประหารชีวิต สนอง,จำเนียร และธนูชัย โดยระบุว่าการกระทำของทั้งสามส่อให้เห็นว่าเป็นอาชญกรโดยสันดาน ไม่รู้จักละอายในความชั่วของตน และสำนึกในความดีของผู้อื่น แม้ว่าผู้ตายจะเตือนด้วยถ้อยคำสุภาพ แต่ทั้งสามก็ไม่ได้สำนึกในการกระทำผิดของตน และความหวังดีของผู้อื่น กลับรุมทำร้ายและฆ่าผู้ขัดขวาง แม้ทั้งสามจะรับสารภาพ แต่ก็เป็นเพราะจำนนต่อพยานที่รู้เห็น ณ ที่เกิดเหตุ และพฤติการณ์ที่ได้กระทำมาแล้วต่างกรรม ต่างวาระ ได้แสดงให้เห็นถึงสันดานความชั่วร้าย โหดเหี้ยมทารุณ ไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองซึ่งอยู่ระหว่างประกาศกฎอัยการศึก คำสารภาพจึงไม่มีน้ำหนักพอจะบรรเทาความผิดที่เกิดจากสันดานชั่วที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ[86][87][88]

ในเวลา 12.00 น. ประชาชนที่ทราบข่าวการประหารชีวิตที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้มารุมล้อมสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี 2 อย่างเนืองแน่น เพื่อจะขอดูหน้าทั้งสาม โดยมีประชาชนบางส่วนสามารถขึ้นไปบนโรงพัก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องขอร้องไม่ให้ขึ้นไปบนสถานีตำรวจ และกันคนที่ขึ้นไปบนสถานีตำรวจออกจากสถานีตำรวจ

นางสมคิด ลาเรือง ภรรยาของสนอง และนางจำปี ลาเรือง น้าของสมคิด ได้แอบขึ้นไปบนสถานีตำรวจ แล้วมองหาสนอง เมื่อสนองที่ถูกขังอยู่ในห้องขังเห็นทั้งสอง จึงเรียกจำปีโดยใช้คำว่า "มะ" สนองถามจำปีว่า ทำไมมีคนมาในโรงพักเป็นจำนวนมาก จำปีตอบว่า เขามาธุระเรื่องอื่น สนองได้บอกทั้งสองว่า ไม่ต้องตกใจ อย่างดีก็ 20 ปี ขอให้ช่วยเลี้ยงหลานและส่งให้เรียนหนังสือด้วยก็แล้วกัน เมื่อตำรวจกันตัวจำปีออกมา เธอก็เป็นลมไป[89][90]

เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกตัวธนูชัยจากห้องขังในสถานีตำรวจ

ในเวลา 15.00 น. พลตำรวจเอกอมร ยุกตะนันท์ ได้เบิกตัวทั้งสามออกจากห้องขัง โดยมีตำรวจคุ้มกัน ทั้งสามมีอาการตกใจ เมื่อตำรวจสวมกุญแจมือแล้วนำตัวออกจากห้องขัง ธนูชัยถามว่า"จะพาผมไปไหน ศาลยังไม่ได้ตัดสินเลย" แต่ก็ไม่มีตำรวจคนใดตอบ ระหว่างนั้นจำเนียรได้เข่าอ่อน ตำรวจจึงพยุงตัวจำเนียรมาขึ้นรถที่จอดหน้าสถานีตำรวจ ตำรวจได้นำตัวจำเนียรขึ้นรถวิทยุเบอร์ 52 ส่วนธนูชัยถูกนำตัวขึ้นรถวิทยุ เบอร์ 50 และสนองถูกนำตัวขึ้นรถวิทยุเบอร์ 51 ถัดจากนั้นได้ออกเดินทางไปยังเรือนจำกลางบางขวาง ตลอดการเดินทางจำเนียรได้มีอาการเป็นลมตลอดเวลา[91] ต่อมาในเวลา 15.30 น. รถวิทยุเบอร์ 52 ได้เสียที่สามแยกลานนาบุญ ตำรวจจึงอุ้มจำเนียรไปขึ้นรถวิทยุเบอร์ 11 แทน[92] ต่อมาในเวลา 15.35 น. ขบวนรถได้เดินทางถึงหน้าเรือนจำกลางบางขวาง[93][94]

นายสลับ วิสุธิมรรค ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวางได้สั่งการให้เตรียมการประหารชีวิต แต่นายมุ่ย จุ้ยเจริญ เพชฌฆาตเพียงคนเดียวในขณะนั้น ได้เลิกงานกลับบ้านไปแล้ว สลับจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำไปตามตัวมุ่ยกลับมา[95]

เมื่อรถเข้าถึงเรือนจำ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เรือนจำได้นำตัวทั้งสามไปยังหอรักษาการ 7 ชั้น ในเวลา 15.45 น. เรือนจำได้นิมนต์พระมหาสาย ฐานมังคโล มาเทศน์ให้ธนูชัยเพื่อให้ทราบถึงบาปบุญคุณโทษว่าด้วยการกระทำที่เป็นบาป ส่วนสนอง และจำเนียรได้ทำพิธีตามศาสนาอิสลาม โดยธนูชัยกับจำเนียรได้นั่งคอตกฟังเทศน์ เมื่อพระเทศน์จบ เจ้าหน้าที่นำน้ำเย็นไปให้ทั้งสามแต่ก็ไม่มีใครดื่ม ส่วนอาหารมื้อสุดท้ายไม่ได้จัดไว้เนื่องจากทั้งสามรับประทานมาแล้ว[96] เจ้าหน้าที่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสาม แล้วให้เขียนพินัยกรรมและจดหมาย จำเนียรได้เขียนจดหมายถึงพ่อแม่โดยมีใจความว่า"อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ตัวเองขอรับกรรมอย่างสงบ ขอให้พ่อแม่พี่น้องจงอยู่เย็นเป็นสุข และให้จัดการศพตามหลักศาสนาอิสลาม" ธนูชัยเขียนจดหมายถึงพ่อแม่และภรรยา โดยมีใจความว่า "ผมมาที่นี่ไม่รู้เลย ผมอยากเห็นหน้าแม่ ขอให้แม่ช่วยเลี้ยง และส่งลูกผมเรียนหนังสือทั้งสองคน และฝากเมียผมด้วย"[97] สนองได้เขียนจดหมายโดยมีใจความเกี่ยวกับฝากเลี้ยงลูกให้ดี อย่าให้ลูกเป็นแบบเขา ถ้ามีสามีใหม่ก็ดีใจด้วย ขอให้เป็นคนดีก็แล้วกัน ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายเขียนว่า "ผมบุญน้อย ชาติก่อนผมทำกรรมไว้มากชาตินี้จึงต้องชดใช้กรรม ศพของผมขอให้ฝังที่กุโบร์กิ่งเพชรใกล้กับจำเนียรด้วย เพราะต้องการเช่นนั้น อย่าห่วงผม อัลเลาะห์ท่านลิขิตชีวิตของผมมาเพียงเท่านี้จงทำใจให้สบาย นึกว่าผมไปรับใช้อัลเลาะห์ก็แล้วกัน"[98] อีกข้อความอีกตอนเขียนว่า "เปี๊ยกสังหรณ์ใจก่อนจะมีเรื่องแล้วว่าตายไม่เกินปีนี้ ถ้าไม่ตายตอนนี้ก็อาจตายในเรื่องอื่น"[99] ส่วนการบริจาคดวงตา ทั้งสามปฎิเสธที่จะบริจาคดวงตา[100]

หลังจากทั้งสามเขียนจดหมายเสร็จ สลับได้อ่านคำสั่งหัวหน้าคณะปฎิวัติให้ทั้งสามฟัง เมื่ออ่านจบ ธนูชัยเป็นลมตกจากเก้าอี้ และร้องเรียกหาแม่ว่า"พี่ครับ อย่าเพิ่งฆ่าผมเลยครับ ขอพบหน้าแม่ผมก่อน แม่ผมรู้จักกับผู้ใหญ่ในคณะปฎิวัติ เดี๋ยวแม่ผมมา แม่ผมกำลังไปเดินเรื่อง.. แม่ครับ แม่ช่วยผมด้วย" หลังจากนั้นทั้งสามได้กอดกัน แล้วร้องไห้ออกมา[101][102][82]

ต่อมาในเวลา 15.50 น. นายมุ่ย จุ้ยเจริญ เพชฌฆาตได้ขับจักรยานจากบ้านพักเข้าสู่เรือนจำกลางบางขวาง หลังจากนั้นในเวลา 17.25 น. เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้นำตัวจำเนียรเข้าสู่สถานที่หมดทุกข์ แล้วมัดกับหลักประหาร หลังจากนั้นมุ่ยได้ดำเนินการประหารชีวิตจำเนียร โดยใช้กระสุนจำนวน 8 นัด โดยไม่ต้องยิงซ้ำ[103][104]

การประหารชีวิตสนอง โพธิ์บาง

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้นำตัวธนูชัยไปยังสถานที่หมดทุกข์ เมื่อถึงหน้าสถานที่หมดทุกข์เขาได้กระชากผ้าผูกตาออกแล้วร้องเรียกหาแม่ กับจำเนียร เมื่อไม่ได้รับการตอบรับ เขาก็ร้องไห้ออกมาอีกครั้ง แล้วเป็นลมล้มลงกับพื้น เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงจึงประคองเขาให้ลุกขึ้น หลังจากนั้นได้พาเข้าไปในห้องประหารชีวิต โดยธนูชัยยังร้องโวยวายหาแม่ตลอดทาง[82] มุ่ยได้ประหารชีวิตธนูชัยเมื่อเวลา 17.40 น. โดยใช้กระสุนจำนวน 12 นัด และไม่ต้องยิงซ้ำ หลังจากนั้นได้นำตัวสนองมาประหารชีวิตเป็นคนสุดท้าย สนองถูกประหารชีวิตโดยมุ่ย เมื่อเวลา 17.57 น. โดยใช้กระสุนจำนวน 13 นัด[105] [106][107][108]


หลังจากการประหารชีวิตทั้งสาม ในเวลา 18.18 น. มุ่ยได้จูงจักรยานออกจากเรือนจำ เมื่อเจอผู้สื่อข่าว เขาได้ยิ้มให้ผู้สื่อข่าว พร้อมกับตอบคำถามของผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดี เขากล่าวว่า" รู้สึกเฉยๆ มีอีกก็หมดอีก ผมสู้ได้วันละร้อยกว่าศพ" จากนั้นเขาได้ถีบจักรยานออกไป[109] [110]

ปฎิกิริยาจากครอบครัวยิ้มประเสริฐ และสุวรรณวัฒน์

[แก้]

ในวันถัดจากวันประหารชีวิต เพ็งจันทร์ สุวรรณวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยรัฐ เธอกล่าวว่าเธอทราบข่าวการประหารชีวิตทั้งสามจากโทรทัศน์เมื่อวาน บุญเลิศ สามีของเธอดีใจที่คนร้ายได้รับโทษอย่างสาสม และบุญญฤทธิ์ไม่ได้ตายฟรี เหมือนกับความรู้สึกในช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ ส่วนเธอรู้สีกเฉยๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของกรรม อย่างไรก็ตามเธอจะทำบุญกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลและขออโหสิกรรม ให้กับสนอง,จำเนียร และธนูชัย ซึ่งฆ่าลูกชายของเธอ[82]

พร้อม ยิ้มประเสริฐ ภรรยาของสนั่น ซึ่งผู้สื่อข่าวไทยรัฐได้สอบถามความรู้สึกเธอหลังจากการประหารชีวิตฆาตกรทั้งสามที่ฆ่าสามีของเธอ เธอกล่าวว่า เธอดีใจที่สามีของเธอไม่ตายฟรี แม้ตอนแรกเธอจะคิดว่าคนร้ายจะลอยนวล ไม่ถูกจับกุมและลงโทษ แต่เมื่อเรื่องแดงขึ้นมาทำให้เธอรอดพ้นความลำบากไปได้ หลังจากสามีซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวถูกฆ่าตาย เพราะเธอและลูกๆได้รับความกรุณาจากหลายฝ่ายที่บริจาคช่วยเหลือเธอกับลูกเป็นเงินรวมจำนวน 7000 บาทเศษ โดยเธอได้นำเงินส่วนใหญ่ไปฝากธนาคารออมสิน กับซื้อสลากออมสินเนื่องจากเธอไม่มีความรู้พอจะเก็บเงินไว้มากๆ ซึ่งอาจเกิดอันตรายกับเธอได้จึงนำเงินไปฝากธนาคารออมสินเพื่อใช้เมื่อจำเป็น ส่วนเงินที่เหลือเล็กน้อย เธอเก็บไว้ใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนคนร้ายที่ถูกประหารไปแล้ว เธอจะทำบุญอุทิศส่วนกุศล ขออโหสิ และขอไม่จองเวรต่อไป[111]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พยาน". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 14 June 1972. p. 2.
  2. สันติ อันตระการ (14 June 1972). "อตร.บอกใบ้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 2.
  3. ประสก (13 June 1972). "คนที่พระพุทธเจ้าก็ทรงทอดทิ้ง". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. p. 12.
  4. ไว ตาทิพย์ (17 June 1972). "ภัยของคนเมืองหลวง". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. p. 16.
  5. "คนร้ายฆ่าพลเมืองดี". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 13 June 1972. p. 3.
  6. ไว ตาทิพย์ (20 June 1972). "คุณ...จะถูกล้วงกระเป๋า". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. p. 2.
  7. สันติ อันตระการ (20 June 1972). "ประชาชนต่างแซ่ซ้อง หน. ปว. ใช้มาตรการเด็ดขาดในครั้งนี้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  8. "มีพลพรรคร่วม 200 คน แบ่งเขตล่าเหยื่อ!". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 25 June 1972. p. 16.
  9. "แต่งตัวเป็นนักเรียน ใช้หญิงสาว...นกต่อ มีมีดเป็นอาวุธ". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 26 June 1972. p. 16.
  10. "พลเมืองดี..เราจะไม่สูญถ้าเราช่วยกันแบบนี้". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. 15 June 1972. p. 16.
  11. "สาวต้นเหตุเข้าพบตำรวจไม่กล้าชี้ตัว สั่งคุมใกล้ชิดเกรงจะฆ่าตัวตาย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
  12. "พยาน". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 14 June 1972. p. 2.
  13. "สาวนักบัญชี". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 15 June 1972. p. 2.
  14. "แก๊งค์ล้วงกระเป๋า". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 13 June 1972. p. 2.
  15. "ลูกเคยถูกปล้นบนรถเลยเกลียดเหล่าวายร้าย ฆาตกรให้การพยายามเลี่ยงโทษหนัก". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 12 June 1972. p. 2,16.
  16. "สาวนักบัญชี". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 15 June 1972. p. 2.
  17. "เร่งคดีฆ่า'พลเมืองดี' คณะปฎิวัติจะลงโทษ! พยานชี้ตัววายร้าย". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 13 June 1972. p. 16.
  18. "สาวต้นเหตุเข้าพบตำรวจไม่กล้าชี้ตัว สั่งคุมใกล้ชิดเกรงจะฆ่าตัวตาย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
  19. สันติ อันตระการ (14 June 1972). "อตร.บอกใบ้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 2.
  20. "ฆ่าพลเมืองดี". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 13 June 1972. p. 16.
  21. "แก๊งค์ล้วงกระเป๋า". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 13 June 1972. p. 2.
  22. "ลูกเคยถูกปล้นบนรถเลยเกลียดเหล่าวายร้าย ฆาตกรให้การพยายามเลี่ยงโทษหนัก". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 12 June 1972. p. 2.
  23. สันติ อันตระการ (12 June 1972). "เรียกร้องให้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  24. "คนร้ายแทงพลเมืองดีไปจนมุมที่ชลบุรี". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. 11 June 1972. p. 2.
  25. สันติ อันตระการ (13 June 1972). "ประภาส". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  26. "รุมฆ่าพลเมืองดี". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 11 June 1972. p. 2.
  27. "ฆาตกรฆ่าพลเมืองดีจนมุมตำรวจ". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 12 June 1972. p. 16.
  28. "สาวนักบัญชี". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 15 June 1972. p. 2.
  29. "ลูกเคยถูกปล้นบนรถเลยเกลียดเหล่าวายร้าย ฆาตกรให้การพยายามเลี่ยงโทษหนัก". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 12 June 1972. p. 2,16.
  30. สันติ อันตระการ (14 June 1972). "อตร.บอกใบ้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 2.
  31. "สาวต้นเหตุเข้าพบตำรวจไม่กล้าชี้ตัว สั่งคุมใกล้ชิดเกรงจะฆ่าตัวตาย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
  32. "พยาน". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 14 June 1972. p. 16.
  33. "สาวนักบัญชี". หนังสือพิมพ์เดลินวส์. 15 June 1972. p. 2.
  34. สันติ อันตระการ (14 June 1972). "อตร.บอกใบ้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 2.
  35. "สาวต้นเหตุเข้าพบตำรวจไม่กล้าชี้ตัว สั่งคุมใกล้ชิดเกรงจะฆ่าตัวตาย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
  36. "พยาน". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 14 June 1972. p. 2.
  37. "สาวต้นเหตุเข้าพบตำรวจไม่กล้าชี้ตัว สั่งคุมใกล้ชิดเกรงจะฆ่าตัวตาย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
  38. สันติ อันตระการ (14 June 1972). "อตร.บอกใบ้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 2.
  39. "พยาน". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 14 June 1972. p. 2.
  40. The Last Executioner Page 7
  41. "รุมฆ่าพลเมืองดี". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 11 June 1972. p. 2.
  42. สันติ อันตระการ (12 June 1972). "เรียกร้องให้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  43. "ฆาตกรฆ่าพลเมืองดีจนมุมตำรวจ". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 11 June 1972. p. 16.
  44. "คนร้ายแทงพลเมืองดีไปจนมุมที่ชลบุรี". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. 11 June 1972. p. 2.
  45. "รุมฆ่าพลเมืองดี". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 11 June 1972. p. 2.
  46. "พยาน". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 14 June 1972. p. 2.
  47. "แก๊งค์ล้วงกระเป๋า". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 13 June 1972. p. 2.
  48. สันติ อันตระการ (13 June 1972). "ประภาส". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  49. "เร่งคดีฆ่า'พลเมืองดี' คณะปฎิวัติจะลงโทษ! พยานชี้ตัววายร้าย". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 13 June 1972. p. 16.
  50. "สาวนักบัญชีเข้าพบตร.เผชิญหน้า 3 ฆาตกร แต่เกิดความกลัว...ไม่กล้าชี้ตัว". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 15 June 1972. p. 2.
  51. "สาวต้นเหตุเข้าพบตำรวจไม่กล้าชี้ตัว สั่งคุมใกล้ชิดเกรงจะฆ่าตัวตาย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
  52. สันติ อันตระการ (14 June 1972). "อตร.บอกใบ้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 2.
  53. "สาวนักบัญชี". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 15 June 1972. p. 2.
  54. "ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเตือน พลเมืองดีควรระวังตัวอย่าผลีผลาม". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
  55. "เสนอสำนวน". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 15 June 1972. p. 16.
  56. "ถนอมส่งสาร". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 15 June 1972. p. 16.
  57. "ตำรวจให้คนขับรถเมลล์คุ้มกันภัยแก่ผู้โดยสาร". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. 16 June 1972. p. 1.
  58. "อตร.ยืนยัน". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 16 June 1972. p. 16.
  59. "แม่ฆาตกร". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 17 June 1972. p. 2.
  60. สันติ อันตระการ (12 June 1972). "เรียกร้องให้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  61. "ถนอมส่งสาร". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 15 June 1972. p. 2.
  62. "พลเมืองดี..เราจะไม่สูญถ้าเราช่วยกันแบบนี้". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. 11 June 1972. p. 16.
  63. "เมีย-แม่พลเมืองดี". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 21 June 1972. p. 2.
  64. "ถนอมส่งสาร". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 15 June 1972. p. 2.
  65. สันติ อันตระการ (13 June 1972). "ประภาส". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  66. "เร่งคดีฆ่า'พลเมืองดี' คณะปฎิวัติจะลงโทษ! พยานชี้ตัววายร้าย". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 13 June 1972. p. 16.
  67. "เมีย-แม่พลเมืองดี". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 21 June 1972. p. 2.
  68. สันติ อันตระการ (14 June 1972). "อตร.บอกใบ้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 2.
  69. "อตร.ยืนยัน". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 16 June 1972. p. 16.
  70. "ถนอมส่งสาร". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 15 June 1972. p. 2.
  71. "เสนอสำนวน". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 15 June 1972. p. 16.
  72. ไว ตาทิพย์ (18 June 1972). "ความรู้สึกของคนเมืองหลวง". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. p. 2.
  73. เพชร บานแหลม (17 June 1972). "นอกจากคำตักเตือนแล้ว ก็ควรพิจารณาด้านอื่นๆด้วย". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. p. 5.
  74. สันติ อันตระการ (14 June 1972). "อตร.บอกใบ้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 2.
  75. "ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเตือน พลเมืองดีควรระวังตัวอย่าผลีผลาม". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
  76. "เสนอสำนวน". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 15 June 1972. p. 16.
  77. "ถนอมส่งสาร". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 15 June 1972. p. 2.
  78. "เสนอสำนวน". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 15 June 1972. p. 16.
  79. "อตร.ยืนยัน". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 16 June 1972. p. 16.
  80. "ถนอมส่งสาร". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 15 June 1972. p. 2.
  81. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  82. 82.0 82.1 82.2 82.3 82.4 เพชฌฆาตคนสุดท้าย, p. 63-75
  83. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  84. "ชี้ชาตา...'ขาด' 3 นักล้วงวันนี้!". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 19 June 1972. p. 2.
  85. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  86. สันติ อันตระการ (20 June 1972). "ประชาชนต่างแซ่ซ้อง หน. ปว. ใช้มาตรการเด็ดขาดในครั้งนี้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  87. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 20 June 1972. p. 16.
  88. "ยิงเป้า 3 คนร้ายที่ฆ่าพลเมืองดีแล้ว". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. 20 June 1972. p. 1.
  89. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  90. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 20 June 1972. p. 16.
  91. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 20 June 1972. p. 16.
  92. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  93. สันติ อันตระการ (20 June 1972). "ประชาชนต่างแซ่ซ้อง หน. ปว. ใช้มาตรการเด็ดขาดในครั้งนี้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  94. "เข่าทรุด...! หามเข้าหลัก". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 20 June 1972. p. 14.
  95. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  96. สันติ อันตระการ (20 June 1972). "ประชาชนต่างแซ่ซ้อง หน. ปว. ใช้มาตรการเด็ดขาดในครั้งนี้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  97. "เข่าทรุด...! หามเข้าหลัก". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 20 June 1972. p. 14.
  98. "ให้ฝังใกล้เพื่อนตาย.! บูชาพระเจ้า". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 21 June 1972. p. 16.
  99. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  100. "ยิงเป้า". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 20 June 1972. p. 2.
  101. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  102. "เข่าทรุด...! หามเข้าหลัก". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 20 June 1972. p. 14.
  103. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  104. สันติ อันตระการ (20 June 1972). "ประชาชนต่างแซ่ซ้อง หน. ปว. ใช้มาตรการเด็ดขาดในครั้งนี้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  105. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  106. สันติ อันตระการ (20 June 1972). "ประชาชนต่างแซ่ซ้อง หน. ปว. ใช้มาตรการเด็ดขาดในครั้งนี้". หนังสือพิมพ์ไทยเดลี่. p. 16.
  107. "เข่าทรุด...! หามเข้าหลัก". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 20 June 1972. p. 14.
  108. ไว ตาทิพย์ (20 June 1972). "ยิงเป้า 3 คนร้ายที่ฆ่าพลเมืองดีแล้ว". หนังสือพิมพ์สยามรัฐ. p. 16.
  109. "ประหารชีวิต". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 20 June 1972. p. 16.
  110. "ให้ฝังใกล้เพื่อนตาย.! บูชาพระเจ้า". หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย. 21 June 1972. p. 16.
  111. "เมีย-แม่พลเมืองดี". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 21 June 1972. p. 2.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • 'เชาวเรศน์ จารุบุณย์ (2549). เพชฌฆาตคนสุดท้ายเล่มที่ 1. กรุงเทพ: ดอกหญ้า 2000. ISBN 9789749244463.

ลิงก์ภายนอก

[แก้]
ก่อนหน้า
หงี ลิ้มประเสริฐ
16 มิถุนายน 2515
บุคคลที่ถูกประหารชีวิตในประเทศไทย
สนอง โพธิ์บาง,ธนูชัย มนตรีวัต และจำเนียร จันทรา
19 มิถุนายน พ.ศ. 2515
ถัดไป
ชู ภักดี และไส้ออก ชื่นบุญ
20 กรกฎาคม พ.ศ. 2515
ก่อนหน้า
หงี ลิ้มประเสริฐ และอำนวย ศรีชม
16 มิถุนายน 2515
การประหารชีวิตโดยคำสั่งพิเศษในประเทศไทย
สนอง โพธิ์บาง,ธนูชัย มนตรีวัต และจำเนียร จันทรา
19 มิถุนายน พ.ศ. 2515
ถัดไป
สมชาย หรือ ธงชัย ธรรมวัฒนะ
5 กรกฎาคม พ.ศ. 2515