โชเซ มูรีนโย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โชเซ มูรีนโย
มูรีนโยในปี ค.ศ. 2017
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม ฌูแซ มารียู ดุช ซังตุช โมรีญู แฟลิช
วันเกิด (1963-01-26) 26 มกราคม ค.ศ. 1963 (61 ปี)
สถานที่เกิด ซึตูบัล ประเทศโปรตุเกส
ส่วนสูง 1.75 m (5 ft 9 in)
ตำแหน่ง กองกลาง
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
1980–1982 รีอูอาวึ 16 (2)
1982–1983 บึลึเน็งซึช 16 (2)
1983–1985 เฌเด ซึซิงบรา 35 (1)
1985–1987 กูแมร์ซียูอีอิงดุชตรียา 27 (8)
รวม 94 (13)
จัดการทีม
2000 ไบฟีกา
2001–2002 อูนีเยาดึไลรีอา
2002–2004 โปร์ตู
2004–2007 เชลซี
2008–2010 อินเตอร์มิลาน
2010–2013 เรอัลมาดริด
2013–2015 เชลซี
2016–2018 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
2019–2021 ทอตนัมฮอตสเปอร์
2021–2024 โรมา
* นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น

ฌูแซ มารียู ดุช ซังตุช โมรีญู แฟลิช (โปรตุเกส: José Mário dos Santos Mourinho Félix; เกิด 26 มกราคม ค.ศ. 1963) หรือ โชเซ มูรีนโย ตามการออกเสียงในภาษาอังกฤษ[remark 1] เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลและอดีตนักฟุตบอลชาวโปรตุเกส ปัจจุบันเขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้กับสโมสรฟุตบอลโรมา ในกัลโชเซเรียอา อิตาลี สื่อมวลชนอังกฤษขนานนามเขาว่า "เดอะ สเปเชียล วัน" (The Special One) โชเซ มูรีนโย ถือเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่มากด้วยถ้วยรางวัลและเหรียญเกียรติยศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดตลอดกาล[1]

มูรีนโยเริ่มต้นอาชีพสายฟุตบอลด้วยการเป็นผู้เล่นในดิวิชัน 2 ของโปรตุเกส เขาเรียนจบวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคลิสบอนและเข้ารับการอบรมหลักสูตรการเป็นผู้ฝึกในสหราชอาณาจักร ในขณะที่อยู่ในลิสบอนเขาทำงานเป็นครูพลศึกษาและหาประสบการณ์ทำงานในด้านอื่น ๆ โดยการเป็นผู้ฝึกทีมเยาวชน แมวมอง และผู้ช่วยผู้จัดการ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1990 เขาได้รับมอบหมายให้เป็นล่ามของเซอร์บ็อบบี ร็อบสัน ในช่วงที่ร็อบสันทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมสปอร์ติงลิสบอน และสโมสรฟุตบอลโปร์ตูในโปรตุเกส และสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาในสเปน หลังจากร็อบสันจากบาร์เซโลนาไป มูรีนโยตัดสินใจอยู่ที่สโมสรเดิมโดยทำงานร่วมกับลูวี ฟัน คาล ซึ่งมาทำหน้าที่แทนร็อบสัน

มูรีนโยเริ่มงานสั้น ๆ โดยเป็นผู้จัดการให้กับไบฟีกาและอูนีเยาดึไลรีอาซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยสามารถพาไลรีอาไปอยู่อันดับที่ 5 ของลีกซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่ทีมเคยทำได้ มูรีนโยกลับไปอยู่กับโปร์ตูช่วงต้นปี ค.ศ. 2002 ในตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกและนำทีมชนะปรีไมราลีกา โปรตุเกสลีกคัพ และยูฟ่ายูโรปาลีกในปี ค.ศ. 2003 ในฤดูกาลถัดมาเขาสามารถนำทีมชนะโปรตุเกสซูเปอร์คัพ พาโปร์ตูถึงยอดของลีกเป็นครั้งที่สอง และได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดของฟุตบอลสโมสรยุโรปซึ่งก็คือการครองตำแหน่งแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก หลังจากย้ายไปเชลซีในปีถัดมาเขายังส่งให้เชลซีเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งที่สองในรอบ 50 ปีด้วยคะแนนสูงถึง 95 คะแนน ร่วมกับการครองแชมป์ลีกคัพในฤดูกาลเดียวกัน ในปีที่สองมูรีนโยยังคงพาเชลซีไปถึงจุดสูงสุดของพรีเมียร์ลีก และสามารถพาสโมสรไปชนะเอฟเอคัพและลีกคัพในช่วงฤดูกาล 2006-07 มูรีนโยออกจากเชลซีในเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 ท่ามกลางข่าวปัญหาความแตกแยกระหว่างตัวเองกับโรมัน อับราโมวิช เจ้าของสโมสร[2]

หลังจากย้ายไปอินเตอร์มิลานซึ่งเป็นสโมสรในลีกเซเรียอาในปี ค.ศ. 2008 ภายในสามเดือนมูรีนโยก็ได้สร้างเกียรติให้กับสโมสรอิตาลีแห่งนี้โดยพาทีมชนะการแข่งขันอิตาเลียนซูเปอร์คัพ และจบฤดูกาลด้วยการครองแชมป์ลีกเซเรียอา ในฤดูกาล 2009-10 อินเตอร์มิลานกลายเป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่สามารถทำเทรบเบิล โดยชนะเซเรียอา อิตาลีคัพ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ซึ่งอินเตอร์มิลานไม่สามารถชนะการแข่งขันหลังสุดนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 เขาเป็นหนึ่งในผู้ฝึกห้าคนที่สามารถทำให้สโมสรฟุตบอลสองทีมสามารถครองถ้วยยุโรป[3] โดยอีกสี่คนที่เหลือคือ แอนสท์ ฮัพเพิล, อ็อทท์มาร์ ฮิทซ์เฟ็ลท์, ยุพพ์ ไฮน์เคส และการ์โล อันเชลอตตี และได้รับรางวัลผู้ฝึกยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่าในปี ค.ศ. 2010[4] จากนั้นเขาเซ็นสัญญากับเรอัลมาดริดในปี ค.ศ. 2010 และนำทีมชนะโกปาเดลเรย์ในฤดูกาลแรก ในปีต่อมาเขายังพาทีมครองแชมป์ลาลิกา ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้ฝึกคนที่ห้าถัดจากทอมิสลัฟ อีวิช, แอนสท์ ฮัพเพิล, โจวันนี ตราปัตโตนี และเอริก เคเริตส์ ที่ได้สามารถเอาชนะลีกฟุตบอลได้อย่างน้อยในสี่ประเทศคือ โปรตุเกส อังกฤษ อิตาลี และสเปน[5][6] หลังจากออกจากเรอัลมาดริดในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 มูรีนโยกลับไปอังกฤษเพื่อจัดการเชลซีเป็นครั้งที่สองซึ่งในระหว่างนั้นก็สามารถพาทีมชนะลีกคัพได้อีกครั้ง แต่การทำงานกับเชลซีก็มาถึงจุดสิ้นสุดในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2015 หลังจากมีผลงานย่ำแย่ทำให้เชลซีเกือบตกชั้น[7]

ความรู้ทางยุทธวิธี บุคลิกที่มีลักษณะเฉพาะ (ซึ่งเต็มไปด้วยข้อพิพาท) และลักษณะการจัดการทีมซึ่งฝ่ายตรงข้ามมองว่าให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าการเล่นฟุตบอลที่สวยงาม ทำให้มูรีนโยถูกมองจากทั้งผู้ชื่นชอบและนักวิจารณ์ว่าเป็นทายาทของเอเลนิโอ เอร์เรรา ผู้จัดการชาวอาร์เจนตินา[8][9]

ชีวิตในวัยเด็กและการศึกษา

มูรีนโยเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1963 ในครอบครัวของชนชั้นกลางขนาดใหญ่ในเมืองซึตูบัล (เขตชานเมืองของกรุงลิสบอนและปริมณฑล) ประเทศโปรตุเกส เขาเป็นลูกชายของฌูแซ มานูแอล โมรีญู แฟลิช (José Manuel Mourinho Félix) หรือรู้จักในชื่อว่า แฟลิช โมรีญู และมีมารดาชื่อมารีอา ฌูเลีย การาโฌลา ดุช ซังตุช (Maria Júlia Carrajola dos Santos)[10] พ่อของมูรีนโยเล่นฟุตบอลอาชีพให้กับสโมสรบึลึเน็งซึชและวีตอเรียดึซึตูบัล และติดฟุตบอลทีมชาติโปรตุเกสหนึ่งครั้ง ส่วนแม่เป็นครูโรงเรียนประถมและมีพื้นเพครอบครัวที่ร่ำรวย[11] โดยลุงของเธอเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างสนามฟุตบอลวีตอเรียดึซึตูบัล แต่การล่มสลายของระบอบรัฐใหม่ของอังตอนีอู ดึ โอลีไวรา ซาลาซาร์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1974 ทำให้ครอบครัวของเธอต้องสูญเสียสมบัติทั้งหมด เหลือไว้เพียงที่ดินผืนเดียวในเมืองปัลแมลา[12]

ฟุตบอลเป็นส่วนสำคัญของชีวิตของมูรีนโยตั้งแต่เด็ก ภาระผูกพันกับสโมสรฟุตบอลของแฟลิชหมายความว่าเขาจำต้องจากลูกชายเป็นประจำ เมื่อเป็นวัยรุ่น มูรีนโยมักเดินทางไปดูการแข่งขันของพ่อในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และเมื่อพ่อกลายเป็นผู้ฝึก มูรีนโยจึงได้มีโอกาสสังเกตวิธีการฝึกสอนและการดูลาดเลาทีมตรงข้าม[13] มูรีนโยต้องการที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อด้วยการเข้าร่วมทีมเยาวชนของบึลึเน็งซึช ในระดับอาชีพเขาเล่นให้กับรีอูอาวึ (ซึ่งพ่อของเขาเป็นผู้ฝึก) บึลึเน็งซึช และเฌเด ซึซิงบรา แต่เขาขาดฝีเท้าและกำลังที่จำเป็นในการเป็นมืออาชีพ จึงเลือกที่จะเพ่งความสนใจในการเป็นผู้ฝึกทีมฟุตบอลแทน[11][14][15]

แม่ของมูรีนโยลงทะเบียนให้เขาเรียนโรงเรียนสอนธุรกิจ แต่มูรีนโยก็ลาออกตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน โดยตัดสินใจว่าเขาต้องการมุ่งเน้นการเรียนในเรื่องของกีฬา จึงสมัครเข้าสถาบันการพลศึกษาขั้นสูง (Instituto Superior de Educação Física) ของมหาวิทยาลัยเทคนิคลิสบอนเพื่อศึกษาวิทยาศาสตร์การกีฬา[12] เขาสอนพลศึกษาในโรงเรียนต่าง ๆ และหลังจากห้าปีก็ได้รับประกาศนียบัตรโดยได้รับคะแนนดีอย่างสม่ำเสมอตลอดหลักสูตร[13] หลังจากที่เข้าร่วมหลักสูตรการเป็นผู้ฝึกที่จัดขึ้นโดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษและสกอตแลนด์ แรงผลักดันและการใส่ใจในรายละเอียดของชายหนุ่มชาวโปรตุเกสคนนี้ก็ได้เตะตาแอนดี รอกซ์บะระ อดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติสกอตแลนด์[16] มูรีนโยพยายามที่จะนิยามบทบาทหน้าที่ของผู้ฝึกฟุตบอลขึ้นใหม่โดยผสมผสานทฤษฎีการฝึกกับเทคนิคทางจิตวิทยาและการสร้างแรงบันดาลใจเข้าด้วยกัน[11]

การทำงานในฐานะผู้ฝึก

หลังจากออกจากงานในฐานะครูฝึกของโรงเรียน มูรีนโยมองหาเส้นทางการเป็นผู้จัดการมืออาชีพในบ้านเกิดและได้เป็นผู้ฝึกทีมเยาวชนของวีตอเรียดึซึตูบัลในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ต่อมาเขาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกับสโมสรอึชเตรลา[16] และเป็นแมวมองให้กับโอวาเรงซือ จากนั้นในปี ค.ศ. 1992 เขาก็มีโอกาสทำงานเป็นล่ามให้เซอร์บ็อบบี ร็อบสัน ผู้ฝึกชั้นนำจากต่างประเทศซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของสปอร์ติงลิสบอน ทีมฟุตบอลเมืองลิสบอน และจำเป็นต้องมีผู้ฝึกท้องถิ่นที่สามารถพูดภาษาอังกฤษในการแปลภาษาให้[14]

มูรีนโยได้ถกกลยุทธ์และวิธีการทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกกับร็อบสันระหว่างการทำหน้าที่เป็นล่าม[14] หลังจากร็อบสันถูกปลดออกจากสปอร์ติงลิสบอนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 และโปร์ตูได้แต่งตั้งให้ร็อบสันเป็นหัวหน้าผู้ฝึก มูรีนโยจึงได้ติดตามไปด้วยและยังคงทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ฝึกและล่ามให้กับผู้เล่นในสโมสรแห่งใหม่[16] ผู้เล่นของทีมโปร์ตูในสมัยนั้นเช่น ลยูบิงคอ ดรูลอวิช, ดูมิงกุช ปาซีเองเซีย, รุย บารุช, ฌอร์ฌือ กอชตา และวีตอร์ บาอีอา มีอิทธิพลอย่างมากต่อฟุตบอลโปรตุเกสในปีต่อ ๆ มา ทีมโปร์ตูที่มีร็อบสันเป็นหัวหน้าผู้ฝึกและมีมูรีนโยในฐานะผู้ช่วยสามารถไปถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 1993-94 และครองแชมป์โปรตุเกสลีกคัพฤดูกาล 1993-94; ปรีไมราลีกาฤดูกาล 1994-95 และ 1995-96; และโปรตุเกสซูเปอร์คัพปี ค.ศ. 1994, 1995 และ 1996 โดยในการแข่งขันครั้งหลังสุดนี้โปร์ตูสามารถเอาชนะคู่ปรับอย่างไบฟีกาด้วยชัยชนะ 5-0 และถือเป็นเกมส์สุดท้ายของร็อบสันก่อนที่จะย้ายไปบาร์เซโลนา ร็อบสันจึงได้ฉายา "บ็อบบี 5-0" (Bobby Cinco-a-zero) ในโปรตุเกส นี่คืออิทธิพลของร็อบสันและมูรีนโยในการทำโปร์ตูให้เป็นทีมที่ยั่งยืน โปร์ตูสามารถครองแชมป์ปรีไมราลีกาได้อีกสามสมัยติดต่อกันหลังจากทั้งคู่จากไป

หลังอยู่โปร์ตูได้สองปี ทั้งคู่ได้โอกาสย้ายอีกครั้งและได้เริ่มทำงานให้กับสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาในปี ค.ศ. 1996[17] มูรีนโยย้ายครอบครัวไปอยู่บาร์เซโลนา และค่อย ๆ กลายเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญของทีมบาร์เซโลนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีหน้าที่เป็นล่ามในช่วงการแถลงข่าว วางแผนการฝึก ช่วยผู้เล่นให้เข้าใจแผนกลยุทธ์ และวิเคราะห์แผนของฝ่ายตรงข้าม รูปแบบการจัดการของร็อบสันและมูรีนโยช่วยเติมเต็มส่วนที่ทั้งคู่ขาด ผู้ฝึกชาวอังกฤษเน้นรูปแบบการโจมตี ในขณะที่มูรีนโยหาทางเลือกในการป้องกัน ความรักในการวางแผนและฝึกฝนของผู้ช่วยชาวโปรตุเกสผสมผสานกับร็อบสันที่ชอบบริหารจัดการผู้เล่นโดยตรง การทำงานร่วมกันของทั้งสองให้ผลดีและทำให้บาร์เซโลนาจบฤดูกาลด้วยการครองแชมป์ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพฤดูกาล 1996-1997 ร็อบสันย้ายสโมสรในฤดูกาลถัดมา แต่ครั้งนี้มูรีนโยไม่ได้ตามไปด้วยเนื่องจากบาร์เซโลนาต้องการให้เขาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการต่อ[16] ทั้งสองยังคงมีความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันหลังจากนั้น ภายหลังมูรีนโยยังพูดถึงอิทธิพลที่ร็อบสันมีกับเขาว่า


"หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากบ็อบบี ร็อบสัน ก็คือ เมื่อคุณชนะคุณไม่ควรทึกทักว่าคุณคือ ทีม และเมื่อคุณแพ้คุณไม่ควรคิดว่าคุณเป็นขยะ[16]"


หลังจากร็อบสันออกจากกัมนอว์เพื่อไปคุมเปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน (พีเอสวี) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มูรีนโยยังคงอยู่ที่ถิ่นอ่างยักษ์นี้ต่อไปโดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของลูวี ฟัน คาล ผู้จัดการทีมชาวดัตช์ที่เข้ามาแทน ทำให้เขาได้เรียนรู้รูปแบบการวางแผนที่ละเอียดอ่อนของชาวดัตช์ผู้นี้ กลยุทธ์ที่เน้นความรอบคอบและรายละเอียดของเกมของคนทั้งสองทำให้บาร์เซโลนาครองแชมป์ลาลิกาได้สองสมัยในช่วงที่ฟัน คาล เป็นหัวหน้าผู้ฝึก[16] ฟัน คาล มองเห็นว่ามูรีนโยมีสัญญาณที่จะเป็นได้มากกว่าผู้ช่วยผู้จัดการจึงปล่อยให้มูรีนโยพัฒนารูปแบบการเป็นผู้ฝึกด้วยตัวเองและมอบหมายหน้าที่ในการเป็นผู้ฝึกทีมบาร์เซโลนา ชุดเบ ให้กับมูรีนโย[17] นอกจากนั้นเขายังปล่อยให้มูรีนโยคุมทีมหลัก (โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการของมูรีนโยเอง) ในการแข่งขันบางประเภท เช่น โกปากาตาลุญญา ซึ่งมูรีนโยนำทีมชนะในปี ค.ศ. 2000[18]

การทำงานในฐานะผู้จัดการ

ไบฟีกา

โอกาสที่จะกลายเป็นผู้จัดการชั้นนำของมูรีนโยมาถึงในเดือนกันยายน ค.ศ. 2000 เมื่อเขาได้รับข้อเสนอจากทีมยักษ์ใหญ่ในประเทศบ้านเกิดอย่างไบฟีกาเพื่อไปแทนที่ยุพพ์ ไฮน์เคส ซึ่งในขณะนั้นการแข่งขันปรีไมราลีกาผ่านไปแล้ว 4 นัด[17] มูรีนโยเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า


"เมื่อผมได้พูดคุยกับฟัน คาล เกี่ยวกับการที่จะกลับไปโปรตุเกสในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการให้กับไบฟีกา เขาพุดว่า "อย่าไปเลย บอกไบฟิกาว่า ถ้าเขาต้องการผู้ฝึกทีมใหญ่คุณจะไป แต่ถ้าเขาต้องการแค่ผู้ช่วยคุณจะอยู่ที่เดิม""[19]


อย่างไรก็ดี มูรีนโยออกจากบาร์เซโลนาเมื่อ ฟัน คาล ถูกปลดจากการเป็นผู้จัดการเนื่องจากผลงานไม่ดีในฤดูกาลที่สามกับบาร์เซโลนา และประธานสโมสร โคเซ ลูอิส นูเญซ ซึ่งรับผิดชอบในการดึงตัว ฟัน คาล และ ร็อบสัน มาเป็นผู้จัดการให้กับบาร์เซโลนาได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากเหนื่อยกับการถูกกดดัน[20]

หลังจากถึงไบฟีกา มูรีนโยก็ต้องพบกับปัญหาเนื่องจากผู้บริหารต้องการแต่งตั้ง เจซัวลโด้ ฟีร์ไรรา เป็นผู้ช่วยผู้ฝึก แต่มูรีนโยปฏิเสธและหยิบ การ์ลุส โมเซร์ อดีตกองหลังทีมชาติบราซิลชุดลุยศึกฟุตบอลโลก 1990 ซึ่งเคยมาค้าแข้งกับไบฟีกาถึง 2 ครั้งก่อนไปแขวนสตั๊ดที่ญี่ปุ่นมาเป็นผู้ช่วย[21] มูรีนโยวิภาควิจารณ์ เจซัวลโด้ ฟีร์ไรรา อย่างหนักหน่วงแม้ว่าทั้งสองจะเคยพบกันมาก่อนในฐานะครูกับศิษย์ที่สถาบันการพลศึกษาขั้นสูง (Instituto Superior de Educação Física) เขาต่อว่าผู้ฝึกมากประสพการณ์คนนี้ว่า "นี่อาจจะเป็นเรื่องราวของลาที่ทำงานเป็นเวลา 30 ปี แต่ไม่เคยกลายเป็นม้า"[22] เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากได้รับงานที่ไบฟีกา อาจารย์และที่ปรึกษาของมูรินโย เซอร์บ๊อบบี้ ร็อบสันก็เสนอให้เขากลับไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการที่นิวคาสเซิล ร็อบสันต้องการความช่วยเหลือของมูรีนโยอย่างหนักถึงขนาดให้สัญญาว่าจะลงจากการเป็นผู้จัดการและยกตำแหน่งแก่มูรีนโยภายในสองปี มูรีนโยปฏิเสธคำเชื้อเชิญโดยบอกว่าเขารู้ว่าร็อบสันไม่มีทางไม่ก้าวลงจากที่สโมสรที่เขารัก[23]

มูรีนโย และ โมเซร์กลายเป็นคู่ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยสามารถถล่มคู่ปรับร่วมเมือง สปอร์ติงลิสบอน ไปถึง 3-0 ในเดือนธันวาคม[24][25] แต่การทำงานของทั้งคู่ก็ต้องพบกับอุปสรรคหลังประธานสโมสรของไบฟิกา จัว เวล อี อาเซเวโด แพ้การเลือกตั้งภายใน และ มานูเอล วิลารินโญ่ ซึ่งมาแทนประธานสโมสรเดิมบอกว่าเขาจะมอบตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกให้กับอดีตผู้เล่นซึ่งเป็นตำนานของไบฟิกา อังตอนีอู ชูเซ กงไซเซา โอลีไวรา หรือ โตนี[17] วิลารินโญ่ ไม่ได้มีความตั้งใจในการให้มูรีนโยออกจากงานทันที มูรีนโยจึงใช้ชัยชนะเหนือสปอร์ติงลิสบอนของทีมเพื่อทดสอบความภักดีของประธานสโมสรใหม่โดยขอขยายสัญญาการจ้างงานเพิ่มขึ้น[24] วิลารินโญ่ ปฏิเสธคำขอ มูรีนโยจึงลาออกจากตำแหน่งทันทีเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2000 หลังทำงานในลีกไปเพียง 9 นัด เมื่อหวนกลับไปคิดถึงการตัดสินใจครั้งนั้น วิลารินโญ่ รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเขา และกล่าวเกี่ยวกับการสุญเสียมูรีนโยว่า


"หากย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะทำตรงกันข้าม ผมจะยอมขยายสัญญาให้เขา ผมพึ่งมาเข้าใจภายหลังว่าชื่อเสียงและความภาคภูมิใจไม่ควรอยู่เหนือผลประโยชน์ของสถาบันที่เรารับใช้[24]

อูนีเยาดึไลรีอา

มูรีนโยรับตำแหน่งผู้จัดการจากทีมระดับกลางตารางอย่าง อูนีเยาดึไลรีอา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2001[26] ในช่วงเวลาที่เป็นผู้จัดการให้ไลรีอา มูรีนโยสามารถนำทีมไปถึงอันดับสาม และ สี่ ของลีกในเดือนมกราคม โดยหลังจากเอาชนะ ปากอส เดอ เฟอร์ไรร่า ไป 2-1 ในวันที่ 27 มกราคม ไลรีอาขึ้นไปอยู่อันดับสามของตารางด้วยคะแนนนำไบฟีกา และ โปร์ตู หนึ่งแต้ม และตามหลังหลังผู้นำลีกเพียง 3 แต้ม แน่นอนความสำเร็จของมูรีนโย ทำให้เขาได้รับความสนใจจากสโมสรขนาดใหญ่ของโปรตุเกสหลายแห่ง[17]

ไลรีอาสามารถปิดฤดูกาลในอันดับที่ 5 ของตารางซึ่งเป็นอันดับดีที่สุดที่ทีมเคยทำได้ โดยสามารถทำอันดับได้สูงกว่าไบฟีกาที่เพิ่งปลดมูรีนโยจากการเป็นผู้จัดการทีมอีกด้วย

โปร์ตู

ในช่วงปลายเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2002 มูรีนโยก็ได้ย้ายที่ทำงานอีกครั้งหลังผลงานการคุมทีมเข้าตาโปร์ตู ยักษ์ใหญ่อีกรายของโปรตุเกส ที่พึ่งปลด ออกตาวีอู มาชาดู ออกจากสโมสร ในขณะนั้นโปร์ตูเป็นทีมอันดับ 5 ของตารางปรีไมราลีกา (ตามหลังสปอร์ติงลิสบอน บัววิชตา ไลรีอา และ ไบฟีกา) ตกรอบโปรตุเกสลีกคัพ และครองตำแหน่งบ๊วยในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบแบ่งกลุ่มที่สอง หลังจากคุมทีมแข่งขันได้ 15 นัด (ด้วยสถิติชนะ 11 เสมอ 2 และแพ้ 2 นัด) มูรีนโยสามารถนำทีมไปถึงอันดับสามของตารางตอนสิ้นฤดูกาล หลังจากนั้นเขาให้สัญญาว่า "จะทำให้โปร์ตูเป็นแชมป์ (ปรีไมราลีกา) ในปีถัดไป"

มูรีนโยได้ระบุผู้เล่นหลักหลายคนที่เขาเห็นว่าจะเป็นกำลังสำคัญซึ่งทำให้โปร์ตูเป็นทีมที่สมบูรณ์แบบเช่น วีตอร์ บาอีอา, รีการ์ดู การ์วัลยู, กอชตินยา, เดโก, ดมีตรี อาเลนีเชฟ, แอลดืร์ ปุชตีกา และเรียกฌอร์ฌือ กอชตา กองหลังกัปตันทีม (ที่มีปัญหาขัดแย้งกับมาชาดู) ซึ่งชาร์ลตันแอทเลติกได้เช่ายืมไปในสัญญา 6 เดือนให้กลับมา การเซ็นสัญญานักเตะหน้าใหม่รวมถึง นูนู วาเลงตี และ เดร์เลย์ จากไลรีอา, เปาลู ฟีร์ไรรา จากวีตอเรียดึซึตูบัล, เปดรู เอมานูเอล จากบัววิชตา และ เอดการัส ยันเคาส์คัส กับ มานีชี ซึ่งทั้งคู่พึ่งหมดสัญญาจากไบฟีกา

ฤดูกาล 2002–03

ในช่วงก่อนการเปิดฤดูการแข่งขัน มูรีนโยได้นำรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดของโปรแกรมการฝึกขึ้นบนเว็บไซต์ของสโมสร รายงานฉบับนี้เต็มไปด้วยคำศัพท์ทางการอย่างเช่น แทนที่จะเขียนว่า วิ่งเหยาะ ๆ 20 กม. เขาจะบรรยายว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคฉบับยาวนานพิเศษ รายงานนี้ได้รับคำติเตียนว่าเป็นการเสแสร้ง แต่ขณะที่เดียวกันก็ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นการใช้นวัตกรรมและการประยุกต์ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการฝึกมากขึ้น หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของมูรีนโยในยุคโปร์ตูคือ การเล่นกดดันซึ่งเริ่มตั้งแต่ในแดนคู่ต่อสู้ เรียกว่า การเล่นกดดันอย่างหนัก "pressão alta" ("high pressure") ความสามารถของร่างกายและการต่อสู้ของกองกลางและกองหลังทำให้โปร์ตูสามารถกดดันฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ในแดนของตัวเอง และเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามเสียบอลหรือต้องลองส่งบอลไกลที่มีความไม่แน่นอนสูงบ่อยขึ้น

ในปีค.ศ. 2003 เขาพาทีมครองแชมป์ปรีไมราลีกาด้วยสถิติ ชนะ 27 นัด เสมอ 5 นัด และแพ้ 2 นัด ทำคะแนนทิ้งห่างไบฟีกาทีมอันดับ 2 ของตารางที่เขาจากมาเมื่อสองปีก่อนถึง 11 แต้ม โดยทำคะแนนรวมได้ 86 จากคะแนนเต็ม 102 และยังถือเป็นสถิติใหม่ของลีกนับตั้งแต่เปลี่ยนการให้คะแนนทีมชนะเป็น 3 คะแนน (เฉือนของเก่าที่โปร์ตูเคยทำไว้ไปคะแนนเดียว แต่ถูกล้มโดยไบฟิกาในฤดูกาล 2015-16 ด้วยคะแนน 88 คะแนน) นอกจากนั้นในเดือนพฤษภามคมของปีนี้เขายังพาทีมครองแชมป์โปรตุเกสคัพ โดยเอาชนะทีมเก่าไลรีอาในนัดชิงไป 1-0 และแชมป์ยูฟ่าคัพโดยยัดเยียดความปราชัยให้เซลติกในนัดชิง

ฤดูกาล 2003–04

ฤดูกาลถัดมาโปร์ตูยังคงเล่นได้ดีจากการนำของมูรีนโย โดยสามารถเอาชนะไลลีอาในนัดชิงโปรตุเกสซุปเปอร์คัพด้วยคะแนน 1-0 แต่พ่ายแพ้ต่อเอซี มิลานในนัดชิงยูฟ่าซูเปอร์คัพด้วยคะแนน 1-0 จากการยิงประตูของอันดรีย์ เชฟเชนโค ในลีกปรีไมราลีกาโปร์ตูยังคงเป็นทีมที่แข็งแกร่งโดยสามารถจบฤดูกาลด้วยการไม่แพ้ใครในบ้านตัวเองเลย มีคะแนนนำทีมที่สองของตาราง 8 คะแนน และได้ตำแหน่งแชมป์ 5 สัปดาห์ก่อนปิดฤดูกาล โปร์ตูพ่ายแพ้ต่อไบฟีกาในรอบชิงโปรตุเกสคัพ แต่เพียงสองสัปดาห์ถัดมาก็ได้ถ้วยรางวัลที่ใหญ่กว่ามาครองด้วยการเอาชนะโมนาโก ด้วยสกอร์ 3-0 ในการแข่งขันรอบสุดท้ายของยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ที่อาเรนาเอาฟ์ชัลเคอ ในเมืองเกลเซนเคียร์เชิน ประเทศเยอรมนี โดยก่อนที่จะมาถึงจุดนี้โปร์ตูสามารถเอาชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด โอลิมปิกลียง ลาโกรุญญา และพ่ายแพ้เพียงนัดเดียวให้กับเรอัลมาดริดในรอบแบ่งกลุ่ม

ในนัดแรกของการแข่งขันระหว่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกับโปร์ตู เกิดการปะทะคารมระหว่างมูรีนโย และ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด หลังจากที่รอย คีน ได้รับใบแดงเนื่องจากไปเหยียบตัวของวีตอร์ บาอีอา[27] ในนัดที่สองขณะที่โปร์ตูกำลังจะพ่ายแพ้ด้วยกฏการยิงประตูทีมเยือน กอชตินยาก็ทำประตูตีเสมอได้โดยเหลือเวลาในการแข่งขันเพียง 30 วินาทีเป็นผลให้โปร์ตูมีคะแนนรวมสองนัดมากกว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มูรีนโยถึงกับเฉลิมฉลองการทำประตูอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการลุกออกจากที่พักนักกีฬาและชูกำปั้นชี้ฟ้าในขณะที่วิ่งไปทั่วขอบสนาม ชัยชนะในครั้งนี้ของมูรีนโยที่มีต่อทีมของเฟอร์กูสันน่าจะเป็นเหมือนตัวอย่างหนังหากมูรีนโยย้ายไปพรีเมียร์ลีกเพื่อคุมเชลซีโดยที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองเต็มไปด้วยการแข่งขันแต่ก็เสริมด้วยการมีความเคารพให้กันและกัน ดังที่จะเห็นได้ในปี 2005 ภายหลังจากที่เชลซีสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ เฟอร์กูสันได้ให้ผู้เล่นของตัวเองตั้งแถวเกียรติยศ หรือ guard of honor ให้กับทีมเชลซีที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด[28] โดยมูรีนโยก็ตอบแทนการให้เกียรตินั้นในปี 2007 ที่สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ หลังจากมีการยืนยันแล้วว่าทีมของเฟอร์กูสันสามารถคว้าแชมป์ลีกได้สำเร็จ[29][30]

มูรีนโยกล่าวถึงการย้ายไปทำงานให้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีกว่า "ลิเวอร์พูลเป็นทีมที่ดึงดูดความสนใจของทุกคนและเชลซีไม่ได้ดึงดูดความสนใจของผมมาก เพราะว่ามันเป็นโปรเจกต์ใหม่ที่ใช้เงินลงทุนสูง ผมคิดว่ามันเป็นโปรเจกต์ที่ถ้าสโมสรไม่สามารถจะชนะทุกอย่าง [โรมัน] อับราโมวิช น่าจะเลิกและเอาเงินออกจากสโมสร มันเป็นโปรเจกต์ที่ไม่แน่นอน เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับโค้ชในการที่จะมีเงินจ้างผู้เล่นคุณภาพดี แต่คุณไม่รู้หรอกว่าโครงการแบบนี้จะไปถึงจุดสำเร็จหรือไม่"[31]

ตำแหน่งผู้จัดการของลิเวอร์พูลตกเป็นของ ราฟาเอล เบนีเตซ ในขณะที่มูรีนโยยอมรับข้อเสนอชิ้นโตจาก โรมัน อับราโมวิช และสัญญาที่จะให้อนาคตของเขากับเชลซี[31]

เชลซี

มูรีนโยเริ่มงานอย่างเป็นทางการให้กับเชลซี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 2004 ด้วยสัญญาระยะเวลาสามปีภายหลังจากที่โปร์ตูได้รับค่าตอบแทนมูลค่า 1.7 ล้านปอนด์[32] ในช่วงการแถลงข่าวหลังจากได้เริ่มงานกับสโมสรของประเทศอังกฤษแห่งนี้ มูรีนโยกล่าวว่า "...การที่โปร์ตูจะคว้าแชมเปียนส์ลีกต้องเอาชนะปาร์ติซานเบลเกรด, เรอัลมาดริด, มาร์แซย์, โอลิมปิกลียง, แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด อีกครั้งกรุณาอย่าว่าผมอวดดี เพราะสิ่งที่ผมพูดเป็นความจริง ผมเป็นแชมป์ยุโรป ผมไม่ใช่(เหล้า?)ขวดธรรมดา ผมคิดว่าผมเป็น(เหล้า?)รุ่นพิเศษ" (...Porto to win the Champion league, has to beat Partizan Belgrade, Real Madrid, Marseille, Olympique Lyonnais, Manchester United. Again, please don’t call me arrogant. Because what I am saying is true, I am European champion so I am not one of the bottle. I think I’m a special one.)[33] จึงทำให้สื่อตั้งฉายาให้กับเขาว่า "บุคคลพิเศษ" (The Special One)[34]

มูรีนโยนำทีมงานเก่าจากโปร์ตูมาร่วมงานประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้จัดการ บัลเทมาร์ บริโต ผู้ฝึกฟิตเนส รุย ฟารีอา หัวหน้าแมวมอง อังแดร วีลัช-โบอัช ผู้ฝึกผู้รักษาประตู ซิลวิโน่ โลโร่ และเก็บอดีตนักเตะของเชลซี สตีฟ คลาร์ก ซึ่งคอยทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการให้กับผู้จัดการคนก่อน ในแง่ของการใช้จ่ายมูรีนโยใช้เงินทุนของ โรมัน อับราโมวิช ต่อจากเกลาดีโอ รานีเอรี ผู้จัดการคนก่อน โดยใช้เงินกว่า 70 ล้านปอนด์ในการโอนย้ายผู้เล่น อาทิเช่น ติอาโก้ เมนเดส (10 ล้านปอนด์) จากไบฟีกา, มิคาเอล เอสเซียง (24 ล้านปอนด์) จากโอลิมปิกลียง, ดีดีเย ดรอกบา (24 ล้านปอนด์) จากมาร์แซย์, มาเทยา เคชมัน (5.4 ล้านปอนด์) จากเปเอสเฟ (พีเอสวี) และ สองนักเตะจากโปร์ตู รีการ์ดู การ์วัลยู (19.8 ล้านปอนด์) และ เปาลู ฟือไรรา (13.3 ล้านปอนด์)

ฤดูกาล 2004–05

ภายใต้การจัดการของมูรีนโยเชลซีได้รับการพัฒนาบนรากฐานเดิมที่ได้ถูกสร้างไว้ในฤดูกาลก่อน โดยเพียงแค่ต้นเดือนธันวาคมเชลซีก็ไปถึงจุดสูงสุดของตารางพรีเมียร์ลีก และเข้าสู่รอบแพ้คัดออกในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก

เขาคว้าแชมป์ถ้วยแรกของปีด้วยการเอาชนะลิเวอร์พูล 3–2 (หลังต่อเวลาพิเศษ) ที่คาร์ดิฟฟ์ ในการแข่งขันลีกคัพ โดยในช่วงท้ายของการแข่งขันมูรีนโยถูกนำตัวออกจากข้างสนาม หลังจากวางปลายนิ้วชี้บนริมฝีปากและหันไปในทิศทางของแฟนคลับของลิเวอร์พูลในลักษณะที่เป็นการตอบสนองต่อการเยาะเย้ยที่แฟนคลับของลิเวอร์พูลแสดงออกมาในช่วงที่ลิเวอร์พูลกำลังเป็นฝ่ายนำ (ก่อนที่จะมีการยิงประตูตีเสมอ)

เชลซีพบกับบาร์เซโลนาในการแข่งขันแชมเปียนส์ลีกรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยในนัดแรกเป็นการแข่งขันที่เต็มไปด้วยข้อพิพาทและทีมสิงโตน้ำเงินครามแพ้ในฐานะทีมเยือนด้วยคะแนน 2-1 แต่ในนัดต่อมาทีมสามารถทำแต้มรวมได้ 4-2 เป็นผลให้สามารถผ่านเข้ารอบต่อไป มูรีนโยพลาดโอกาสในการชนะแชมเปียนส์ลีกสองปีซ้อนเมื่อเชลซีพ่ายแพ้ต่อลิเวอร์พูลในรอบรองชนะเลิศด้วยคะแนน 1-0 และสร้างความเกรียวกราวด้วยประโยค "ประตูผี" (ghost goal) และ "ประตูที่มาจากดวงจันทร์" (It was a goal that came from the moon) ซึ่งเป็นคะแนนเดียวของการแข่งขันโดยผู้ตัดสินยกให้กับการยิงของลุยส์ การ์ซีอา ซานซ์

มูรีนโยสามารถทำให้เชลซีได้แชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งที่สองในรอบ 50 ปี ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างสถิติใหม่ ๆ ในการแข่งฟุตบอลของอังกฤษ เช่น การทำคะแนนได้สูงสุดในพรีเมียร์ลีก (95) และการถูกทำประตูได้น้อยที่สุด (15)

ฤดูกาล 2005–06

เชลซีเริ่มฤดูกาลได้ดีโดยสามารถเอาชนะอาร์เซนอลด้วยคะแนน 2-1 ในการแข่งขันเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ และไปถึงจุดสูงสุดของตารางพรีเมียร์ลีกตั้งแต่สุดสัปดาห์แรกของฤดูกาลแข่งขัน เชลซีชนะคู่แข่งสำคัญแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดด้วยคะแนน 3-0 เพื่อคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน และ ถือเป็นชนะเลิศการแข่งขันภายในประเทศครั้งที่ 4 ของมูรีนโย ในงานรับเหรียญแชมป์พรีเมียร์ลีกมูรีนโยโยนเหรียญและเสื้อคลุมเข้าไปในฝูงชน หลังจากนั้นเขาก็ได้รับเหรียญรางวัลอีกอันภายในไม่กี่นาทีซึ่งเขาก็โยนเข้าไปในฝูงชนอีกครั้ง

ผลงานในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในปีนี้ทำได้เพียงผ่านเข้ารอบแปดทีมสุดท้าย โดยแพ้บาร์เซโลนาตกรอบ พร้อม ๆ กับสร้างความเกรียวกราวด้วยการวิจารณ์ผู้ตัดสินจนถูกปรับเงิน และผู้ตัดสินได้ตัดสินใจแขวนนกหวีดในเวลาต่อมา

ฤดูกาล 2006–07

ฤดูกาล 2006–07 เป็นช่วงเวลาที่สื่อประโคมข่าวว่าจะมูรีนโยอาจจะออกจากสโมสรหลังปิดฤดูกาลแข่งขัน เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าเขามีความสัมพันธ์ไม่ดีกับเจ้าของสโมสรโรมัน อับราโมวิช ร่วมถึงมีการแย่งชิงอำนาจกับผู้อำนวยการด้านกีฬา (sporting director) แฟรงก์ อาร์นีสัน และที่ปรึกษาของอับราโมวิช ไพต์ เดอ วิสเซอร์ ในเวลาต่อมามูรีนโยได้เคลียร์ข้อสงสัยเกี่ยวกับอนาคตของเขาที่สแตมฟอร์ดบริดจ์ โดยระบุว่ามีเพียงแค่สองทางที่จะทำให้เขาต้องจากเชลซีคือ (1) ถ้าเชลซีไม่เสนอสัญญาฉบับใหม่ให้ในเดือนมิถุนายน 2010 และ (2) ถ้าเชลซีไล่เขาออกจากตำแหน่ง[35]

การเซ็นสัญญาซื้อตัวศูนย์หน้าชาวยูเครน อันดรีย์ เชฟเชนโค ในช่วงฤดูร้อนของปี 2006 โดยมีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นสถิติใหม่ของสโมสรน่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้เกิดการโต้แย้งระหว่างมูรีนโย และ อับราโมวิช ในขณะที่เกิดการเซ็นสัญญาซื้อขาย เชฟเชนโคถือเป็นหนึ่งในกองหน้าที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในยุโรปโดยเวลานั้นเขาอยู่กับมิลานซึ่งเป็นสโมสรที่เขาชนะแชมเปียนส์ลีก และได้รางวัลนักเตะเช่น สคูเดตโต และ บาลงดอร์ เชลซีเคยพยายามเซ็นสัญญากับเชฟเชนโคในช่วงสองปีก่อนหน้านี้แต่มิลานปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอของอับราโมวิช อย่างไรก็ดีฤดูกาลแรกของเชฟเชนโคที่เชลซีถูกมอง (โดยแฟนคลับ) ว่าเขาเป็นความน่าผิดหวังอย่างใหญ่หลวงเนื่องจากทำได้เพียง 4 ประตูจากการแข่งขันทั้งหมด 14 นัด

มูรีนโยขณะทำงานให้กับเชลซีในปี 2007

นอกจากนั้นในปีนี้เป็นปีที่ ดีดีเย ดรอกบา คู่ขาของเชฟเชนโคสามารถยิงประตูได้มากที่สุดในอาชีพนักฟุตบอลจึงเป็นเหตุให้เชฟเชนโคตกจากตำแหน่งกองหน้าตัวจริงในท้ายฤดูกาล ในการแข่งขันแชมเปียนส์ลีกรอบรองชนะเลิศกับลิเวอร์พูลที่แอนฟิลด์ มีการสังเกตว่าเชฟเชนโคไม่ได้แม้แต่จะมีชื่ออยู่บนม้านั่งข้างสนาม การเรียกร้องของอับราโมวิชที่จะให้มูรีนโยส่งนักเตะชาวยูเครนผู้นี้ลงเล่นถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งจุดที่ส่งเสริมความขัดแย้งระหว่างชายสองให้มากยิ่งขึ้น นักเตะคนใหม่ที่ได้รับความสนใจสูงนอกเหนือจากเชฟเชนโคคือ กัปตันชาวเยอรมันมิชาเอล บัลลัค ซึ่งเป็นผู้เล่นที่ไม่ติดสัญญากับทีมอื่น (free agent) จากบาเยิร์นมิวนิก โดยถูกนำมาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับกองกลาง ในขณะที่กองหน้าชาวไอซ์แลนด์ เอย์ดืร์ กวึดยอนแซน ถูกขายออกเพื่อไปอยู่กับบาร์เซโลนา

แม้จะมีปัญหามากมายเกิดขึ้น เชลซีก็สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันลีกคัพได้อีกครั้งโดยเอาชนะอาร์เซนอลที่มิลเลนเนียมสเตเดียม อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ที่จะคว้าถ้วยรางวัลถึง 4 ถ้วยก็ได้หมดไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 เมื่อลิเวอร์พูลกำจัดเชลซีออกจากการแข่งขันแชมเปียนส์ลีกจากการดวลจุดโทษที่แอนฟิลด์หลังจากผลคะแนนรวมเสมอที่ 1-1 หลังจากนั้นไม่นานเชลซียังไปทำได้เพียงเสมอ 1-1 กับอาร์เซนอลที่เอมิเรตส์สเตเดียม จึงทำให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของปีนี้ไปได้ โดยปีนี้ถือเป็นฤดูกาลแรกของมูรีนโยที่ไม่สามารถคว้าแชมป์ลีกของประเทศหลังจากทำได้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี มูรีนโยนำเชลซีชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดด้วยคะแนน 1-0 ในรอบชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสนามกีฬาเวมบลีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ และเป็นการคว้าแชมป์ครั้งแรกของมูรีนโยในการแข่งขันเอฟเอคัพ ดังนั้นจึงหมายความว่าเขารับถ้วยรางวัลการแข่งขันภายในประเทศที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกสามารถครอบครองได้มาทั้งหมดแล้ว

ความขัดแย้งระหว่างมูรีนโย และ อับราโมวิชยังคงดำเนินต่อไปเมื่ออัฟราม แกรนท์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฟุตบอล (director of football) แม้จะได้รับการคัดค้านจากมูรีนโย นอกจากนั้นตำแหน่งของแกรนท์ยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมโดยได้ที่นั่งกรรมการบริหารสโมสรอีกด้วย การโอนย้ายในปีต้นปี 2007-08 รวมถึงการออกของอาร์เยิน โรบเบินเพื่อไปอยู่กับเรอัลมาดริด และการเข้ามาของกองกลางสัญชาติฝรั่งเศส ฟลอร็อง มาลูดาจากโอลิมปิกลียง

ฤดูกาล 2007–08

นัดแรกของการแข่งขันพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2007–08 เชลซีสามารถเอาชนะเบอร์มิงแฮมซิตีด้วยสกอร์ 3-2 และเป็นการสร้างสถิติไม่แพ้ใครในบ้าน 64 ครั้งติดต่อกันในการแข่งขันพรีเมียร์ลีก แม้จะสามารถเอาชนะสถิติไม่แพ้ใครในบ้านที่ลิเวอร์พูลเคยทำไว้ระหว่างปีค.ศ. 1978 - 1981[36] ได้ก็ตามการเริ่มต้นของเชลซีในฤดูกาล 2007–08 ประสบความสำเร็จน้อยกว่าปีก่อน ๆ โดยทีมแพ้ที่บ้านของแอสตันวิลลา ตามด้วยการทำประตูไม่ได้และจบด้วยการเสมอ 0-0 กับแบล็กเบิร์นโรเวอส์ในบ้านตัวเอง การแข่งขันแชมเปียนส์ลีกนัดแรกในปีนี้เชลซีทำได้แค่เสมอ 1-1 กับ โรเซนบอร์ก ในบ้านของตัวเองต่อหน้าอัฒจันทร์ที่ว่างเกือบครึ่ง

มูรีนโยออกจากเชลซีอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 2007 ด้วย "ความยินยอมร่วมกัน" แม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งมากมายกับเจ้าของสโมสรอับราโมวิช[2] โดยกรรมการบริหารของเชลซีได้จัดประชุมฉุกเฉินและมีมติว่าจำต้องแยกทางกับเขา มูรีนโยออกจากเชลซีในฐานะผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเชลซีโดยทำให้สโมสรได้รับถ้วยรางวัลถึง 6 รางวัลภายในเวลาสามปี และ ไม่เคยแพ้การแข่งขันพรีเมียร์ลีกในบ้าน อัฟราม แกรนท์ รับตำแหน่งผู้จัดการต่อจากมูรีนโยแต่ไม่สามารถคว้าถ้วยรางวัลใด ๆ ได้เลยในปีนี้และถูกปลดเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล อย่างไรก็ดีแกรนท์สามารถพาทีมเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก (ซึ่งมูรีนโยไม่สามารถทำได้แม้แต่ครั้งเดียวขณะอยู่กับเชลซีเป็นเวลา 3 ปี) แต่แพ้ด้วยการดวลลูกจุดโทษชี้ขาดกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เนื่องจากมีคะแนนเสมอกัน 1-1 หลังจาก 120 นาทีของการแข่งขัน เขาพาทีมเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศลีกคัพ (คาร์ลิ่ง คัพ) และ ไม่เคยแพ้ใครในบ้านตลอดการทำงาน นอกจากนั้นเขายังทำให้เชลซีเป็นรองแชมป์พรีเมียร์ลีกโดยมีคะแนนห่างจากแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่ได้แชมป์เพียง 2 คะแนน

อินเตอร์มิลาน

มูรีนโยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการของอินเตอร์มิลานในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 2008 โดยได้สัญญาสามปีต่อจากโรแบร์โต มันชีนี และได้พาทีมงานเบื้องหลังที่ทำงานให้กับเขาที่เชลซีและโปร์ตูมาด้วยเกือบทั้งหมด[37][38] เขาแต่งตั้งจูเซปเป บาเรซี อดีตผู้เล่นของอินเตอร์มิลาน และ อดีตหัวหน้าโค้ชของทีมเยาวชนให้เป็นผู้ช่วยจัดการ[39] มูรีนโยใช้ภาษาอิตาลีล้วนระหว่างการแถลงข่าวครั้งแรกในฐานะบอสของอินเตอร์มิลานโดยอ้างว่าใช้เวลาเรียนรู้ภาษา "ภายในสามสัปดาห์"[40] มูรีนโยระบุว่าเขาตั้งใจจะเซ็นสัญญานักเตะสำคัญ ๆ เพียงไม่กี่คนในช่วงฤดูร้อน[41] ในตอนท้ายของช่วงเวลาซื้อขายนักเตะเขาได้ผู้เล่นใหม่มาสามคน ผู้เล่นตำแหน่งปีกชาวบราซิล มังซีนี (13 ล้านยูโร)[42][43] ผู้เล่นกองกลางชาวกานา ซัลลีย์ มุนตารี่ (14 ล้านยูโร)[44] และ ผู้เล่นตำแหน่งปีกชาวโปรตุเกส รีการ์ดู กวาแรฌมา โดยจ่ายเป็นตัวผู้เล่นตำแหน่งกองกลางชาวโปรตุเกส เปเล่ และเงิน 18.6 ล้านยูโร ให้กับโปร์ตู[45][46]

ฤดูกาล 2008–09

มูรีนโยในปี 2008

ในฤดูกาลแรกของการเป็นหัวหน้าโค้ชให้กับอินเตอร์มิลาน มูรีนโยสามารถคว้าชัยในศึกอิตาเลียนซูเปอร์คัพ โดยเอาชนะโรมาจากการยิงจุดโทษ[47] และจบฤดูกาลในตำแหน่งสูงสุดของเซเรียอา อย่างไรก็ตามอินเตอร์มิลานถูกกำจัดในรอบแรกของการแข่งขันแบบแพ้คัดออกในศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยแพ้ให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดด้วยคะแนนรวม 2-0 นอกจากนั้นเขายังล้มเหลวที่จะคว้าชัยชนะในการแข่งขันอิตาลีคัพ โดยแพ้ให้กับซัมป์โดเรีย ด้วยคะแนนรวม 3-1 ในรอบรองชนะเลิศ[48] ขณะที่ยูฟ่าเริ่มผลักดันสโมสรใหญ่ ๆ ในลีกชั้นนำให้ใช้นักเตะในประเทศให้มากขึ้น มูรินโยก็ได้นำ มารีโอ บาโลเตลลี นักเตะเยาชนกองหน้าอายุ 18 ปีมาเล่นอย่างสม่ำเสมอ และ ยังยกชั้น ดาวิเด้ ซานตอน ผู้เล่นทีมเยาวชนตำแหน่งกองหลังให้เป็นนักเตะทีมใหญ่อย่างถาวร จึงอาจมองได้ว่าเป็นการเพิ่มผู้เล่นสัญชาติอิตาลีให้กับทีมซึ่งก่อนหน้านี้ประกอบด้วยผู้เล่นต่างชาติเสียส่วนใหญ่ นักเตะเยาวชนทั้งสองคนมีส่วนร่วมในฤดูกาลที่อินเตอร์มิลานคว้าสคูเดตโต (ตำแหน่งแชมป์เซเรียอา) และ เล่นเกมให้กับทีมมากครั้งพอที่จะได้รับถ้วยรางวัลอาวุโสเป็นครั้งแรกอีกด้วย

แม้จะพบความสำเร็จกับการแข่งขันภายในประเทศจากการคว้าสคูเดตโตด้วยการทิ้งห่างคู่แข่งถึงสิบคะแนน แฟนคลับจำนวนหนึ่งของอินเตอร์มิลานยังคงมองว่าผลงานฤดูกาลแรกของมูรีนโยในอิตาลีนั้นน่าผิดหวังเนื่องจากสโมสรยังคงล้มเหลวในพัฒนาผลงานที่ โรแบร์โต มันชีนี ทำไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันแชมเปียนส์ลีกที่อินเตอร์มิลานภายใต้การนำของมูรีนโยทำผลงานไม่ดีนักในรอบแบ่งกลุ่ม ด้วยการแพ้ในบ้านอย่างเหลือเชื่อให้กับปานาซีไนโกส ด้วยคะแนน 1-0 นอกจากนั้นยังทำได้แค่เสมอที่บ้านของสโมสรอนอร์โธซิส ฟามากุสต้า ม้ามืดจากประเทศไซปรัส อินเตอร์มิลานสามรถเขาไปถึงรอบแพ้คัดออกของแชมเปี้ยนลีก แต่ไม่สามารถผ่านเข้าไปสู่รอบรองชนะเลิศโดยถูกเขี่ยให้ตกรอบจากการพ่ายให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

มูรีนโยมีผลกระทบกับวงการฟุตบอลอิตาลีอย่างรวดเร็วผ่านความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างเขากับสื่อมวลชนของอิตาลี รวมไปถึงความบาดหมางของเขากับโค้ชดัง ๆ ในเซเรียอา อาทิเช่น การ์โล อันเชลอตตี ซึ่งขณะนั้นอยู่กับมิลาน ลูเซียโน สปัลเล็ตติ จากโรมา และ เกลาดีโอ รานีเอรี ของยูเวนตุส ระหว่างการแถลงข่าวในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2009 มูรีนโยดูถูกโค้ชคู่แข่งสองคนแรกว่าทีมของพวกเขาจะจบฤดูกาลโดยไม่ได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น และยังกล่าวหาผู้สื่อข่าวอิตาลีว่าทำตัวเป็น "โสเภณีทางปัญญา" (intellectual prostitution) ให้กับคนทั้งสอง[49] การพูดจาโวยวายต่อหน้าสื่อมวลชนนี้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่อง "การไม่ได้รับเกียรติยศ" (zero titles) ซึ่งมูรีนโยออกเสียงผิดเป็น เซรู ทิทูลี (zeru tituli) (การออกเสียงที่ถูกต้องในภาษาอิตาลี ควรเป็น เซโร ทิโทลี (zero titoli)) ต่อมาคำพูดนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางโดยนักข่าวฟุตบอลในอิตาลี นอกจากนั้นคำ ๆ นี้ยังกลายเป็นวลีที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยแฟนคลับในการเฉลิมฉลองสคูเดตโตครั้งที่ 17 ของอินเตอร์มิลานในช่วงท้ายของฤดูกาล[50][51] แม้กระทั่งไนกี้ก็ยังเลือกใช้คำ ๆ นี้ในการออกตัวเสื้อฉลองแชมป์เซเรียอาของอินเตอร์มิลาน[52] หลังจากการแข่งขันโคปปาอิตาเลียนัดชิงชนะเลิศในเดือนพฤษภาคมสิ้นสุดลงแฟนคลับของลาซีโอ (คู่แข่งข้ามเมืองของโรมา) ซึ่งชนะการแข่งขันก็ยังได้สวมเสื้อที่เขียนว่า "Io campione, tu zero titoli" (ฉันเป็นแชมป์ คุณไม่ได้เกียรติยศใด ๆ) อ้างถึงคำพูด "เซรู ทิทูลี" ของมูรีนโย

วันที่ 16 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 2009 ถือเป็นวันที่อินเตอร์มิลานครองตำแหน่งแชมป์เซเรียอาเนื่องจากเอซีมิลานทีมอันดับสองในตารางขณะนั้นพ่ายแพ้ให้กับอูดีเนเซ การแพ้ในครั้งนี้ทำให้ทีมดำ-น้ำเงิน (หรือ เนรัซซูรี -- Nerazzurri ฉายาของอินเตอร์มิลาน) มีเจ็ดคะแนนเหนือเอซีมิลานคู่แข่งข้ามเมืองโดยเหลือการแข่งขันอีกเพียงแค่สองนัด และในที่สุดอินเตอร์มิลานก็จบฤดูกาลด้วยคะแนนห่างจากเอซีมิลานถึงสิบคะแนน[53]

ฤดูกาล 2009–10

มูรีนโยขณะเป็นผู้จัดการให้กับอินเตอรืมิลาน

มีการรายงานเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2009 ว่ามูรีนโยสนใจที่จะเป็นโค้ชให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเมื่ออเล็กซ์ เฟอร์กูสันเกษียณ โดยมีการอ้างอิงถึงคำพูดของเขาว่า "ผมคงจะพิจารณาการไปแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่แล้ว แต่พวกยูไนเต็ดต้องพิจารณาว่าจะให้ผมสืบทอดต่อจากเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันหรือไม่ ถ้าพวกเขาอยากให้เป็นเช่นนั้นผมจะไปอย่างแน่นอน"

อาเดรียนูออกจากอินเตอร์มิลานในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2009 และการจากไปของกองหน้าชาวบราซิลก็ติดตามด้วยคู่หูชาวอาร์เจนตินา ฆูลิโอ กรุซ และ เอร์นัน เกรสโป รวมไปถึงการโบกมือลาชีวิตค้าแข้งของกองกลางตัวรุกชาวโปรตุเกสผู้เป็นตำนานและมากด้วยประสพการณ์อย่าง ลูอิช ฟีกู ฟีกูกำลังจะออกจากอินเตอร์อยู่แล้วภายใต้การควบคุมของมันชีนี เนื่องจากได้เวลาลงเล่นน้อย แต่ในฤดูกาลสุดท้ายของเขามูรีนโยให้เขาลงเล่นบ่อยครั้ง มูรีนโยเซ็นสัญญาซื้อ ดิเอโก มิลิโต กองหน้าชาวอาร์เจนตินาจากเจนัว ซึ่งขาดอีกเพียงประตูเดียวก็จะได้รับรางวัลผู้ทำประตูสูงสุด รวมถึง ตีอาโก มอตตา และ เวสลีย์ สไนเดอร์ เพื่อหนุนกองกลาง การเซ็นสัญญาที่น่าจะโดดเด่นที่สุดของมูรีนโยในช่วงฤดูร้อนของฤดูกาลที่สองของเขาก็คือ สัญญาเปลี่ยนตัวผุ้เล่นอย่างซลาตัน อีบราฮีมอวิช เพื่อแลกกับกองหน้าชาวแคเมอรูน ซามุแอล เอโต ร่วมกับเงิน 35 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นสัญญาซื้อขายผู้เล่นที่แพงเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์การซื้อขายนักเตะ เป็นรองเพียงการย้ายของ คริสเตียโน โรนัลโด จากแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไปยังเรอัลมาดริดนี้ในช่วงต้นฤดูร้อน เอโตเริ่มงานอย่างสวยหรูกับอินเตอร์มิลานทันทีด้วยการทำประตูสองลูกในการแข่งขันสองนัดแรกของฤดูกาล

การเซ็นสัญญาซื้อ รีการ์ดู กวาแรฌมา จากโปร์ตูสโมสรเก่าของมูรีนโยถูกมองว่าเป็นการสร้างจุดเชื่อมต่อที่ขาดหายไปในทีมผู้เล่นของอินเตอร์ แต่การเล่นของกวาแรฌมา ทำให้สโมสรผิดหวัง และ ทำให้เขาได้รับการปล่อยให้เชลซี (ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในสโมสรเก่าของมูรีนโย) ยืมตัวในช่วงกลางฤดูกาล ส่วนมังซีนีถือเป็นความล้มเหลวในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองกลาง และ การจัดการกับข้อบกพร่องเหล่านี้ในตลาดซื้อขายนักเตะกลายเป็นงานสำคัญอันดับแรกสำหรับอินเตอร์ การที่อินเตอร์ขาดผู้เล่นสร้างสรรค์ (playmaker หรือ 'trequartista') ถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุสำหรับความล้มเหลวในการแข่งระดับแชมเปี้ยนส์ลีก ในความพยายามที่จะจัดการกับปัญหานี้อินเตอร์จึงได้เซ็นสัญญากับ เวสลีย์ สไนเดอร์ กองกลางชาวดัตช์จากเรอัล มาดริด[54]

อินเตอร์ต้องดิ้นรนกับการแข่งขันสองนัดแรกของฤดูกาลใหม่ โดยทีมแพ้การแข่งขัน ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ให้กับ ลาซีโอ ด้วยคะแนน 2–1 และทำได้เพียงแค่เสมอ 1-1 กับทีมที่เพิ่งได้เลื่อนชั้นใหม่อย่างบารีที่สนามซานซีโร อย่างไรก็ดีทีมของมูรีนโยได้พัฒนาขึ้นอย่างมากหลังจากนั้นด้วยการสร้างแผงกองกลางที่น่าเกรงขามโดยมีสไนเดอร์เป็นหัวใจสำคัญ รวมไปถึงเซ็นสัญญาใหม่กับตีอาโก มอตตา และ นักเตะมากประสพการณ์อย่าง ฆาบิเอร์ ซาเนตติ และ เดยัน สแตนโควิช อินเตอร์ทำประตูไปได้มากกว่า 30 ประตูก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน หลายประตูนั้นรวมการถล่มมิลาน ในแมตช์แดร์บีเดลลามาดอนนีนา ไปถึง 4–0 ด้วยกองหน้าที่เซ็นสัญญาใหม่อย่าง ดิเอโก มิลิโต และ ตีอาโก มอตตา ที่สามารถทำประตูได้ทั้งคู่ และทุบเจนัวด้วยคะแนน 5–0 ซึ่งถือเป็นความห่างของประตูที่กว้างที่สุดของชัยชนะในลีกเซเรียอาของฤดูกาลนั้น มูรีนโยถูกไล่ออกจากสนามในเดือนธันวาคมระหว่างเกมเยือนในแมตช์แดร์บีดีตาเลีย หลังจากที่เขาปรบมือให้ผู้ตัดสินอย่างประชดประชันเพราะผู้ตัดสินให้ฟรีคิกที่น่าแคลงใจกับยูเวนตุส ผลของแมตช์นี้อินเตอร์พ่ายไปด้วยคะแนน 2-1 โดย เกลาดีโอ มาร์กีซีโอ เป็นผู้มอบชัยชนะให้กับยูเวนตุสในครึ่งหลัง[55]

มูรีนโยในปี ค.ศ. 2009

มูรีนโยได้บรรลุสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์หนึ่งในอาชีพของเขาหลังจากที่อินเตอร์สามารถผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในการแข่งขันแชมเปียนส์ลีก โดยการเอาชนะทีมเก่าเชลซีในทั้งสองแมตช์ (ด้วยคะแนน 2-1 ที่ซานซีโร ตามมาด้วยชัยชนะ 1-0 ที่สแตมฟอร์ดบริดจ์)[56]

ความสัมพันธ์ที่ยากลำบากของเขากับกองหน้าดาวรุ่งอย่างมารีโอ บาโลเตลลี และ การเสียฟอร์มการเล่นของทีมที่ทำให้อินเตอร์ทำได้เพียงเจ็ดแต้มจากการแข่งขันทั้งหมดหกครั้ง (โดยมีการแข่งขันสามครั้ง รวมถึงการปราชัยอย่างน่าเหลือเชื่อให้ทีมเล็ก ๆ จากแคว้นซิซิลีอย่างกัลโช คาตาเนีย ด้วยคะแนน 1–3 ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงที่มูรีนโยถูกแบน) ทำให้ทีมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากสื่อและผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 2010 โชเซ มูรีนโย กลายเป็นผู้จัดการคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถพาทีมฟุตบอลที่แตกต่างกันถึง 3 ทีมเข้าสู่รอบรองชนะเลิศของแชมเปี้ยนส์ลีก (ซึ่งลูวี ฟัน คาล ผู้จัดการของบาเยิร์นมิวนิคในขณะนั้นก็สามารถทำสถิตินี้ได้เช่นเดียวกันในวันถัดมา) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่อินเตอร์สามารถเอาชนะซีเอสเคเอ มอสโก ด้วยคะแนน 1–0 ในเลกที่สองของรอบก่อนรองชนะเลิศที่รัสเซีย (หรือ 2–0 เมื่อรวมสองเลก) โดยประตูของเวสลีย์ สไนเดอร์ในนาทีที่ 6 กลายเป็นตัวชีขาดชัยชนะในเกมส์ที่เล่นกันแบบสบาย ๆ และนี่นับเป็นครั้งแรกในรอบเจ็ดปีที่อินเตอร์สามารถผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศของการแข่งขันได้ และในวันที่ 13 เมษายน อินเตอร์ซึ่งยังคงมีฤดูกาลที่ดีก็สามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศอิตาลีคัพภายใต้การดูแลของมูรีนโยเป็นครั้งแรก โดยเอาชนะฟีออเรนตีนา ด้วยคะแนนเยือน 1–0 (หรือ 2–0 เมื่อรวมสองเลก)[57]

ในปี ค.ศ. 2010 พาอินเตอร์มิลานเข้ารอบชิงชนะเลิศในศึกฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2009-2010 กับบาเยิร์นมิวนิก ซึ่งมีลูวี ฟัน คาล เจ้านายเก่าเป็นกุนซืออยู่ตอนนั้น และได้คว้าแชมป์ไปในที่สุด รวมทั้งได้ 3 แชมป์ ได้แก่ แชมป์ลีกในประเทศ บอลถ้วยในประเทศ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในฤดูกาลเดียวกัน จากนั้นก็มีข่าวทันทีว่ามูรีนโยจะไปคุมยอดทีมจากประเทศสเปนนั่นคือเรอัลมาดริด

เรอัลมาดริด

ในปี ค.ศ. 2010 เขาย้ายมาเป็นผู้จัดการทีมเรอัลมาดริดและต่อมาเขาก็ได้แชมป์โกปาเดลเรย์ ด้วยการชนะบาร์เซโลนาในช่วงต่อเวลาพิเศษไป 1–0 ต่อมาในปี ค.ศ. 2012 หรือในช่วงฤดูกาล 2011–12 ในลาลิกา มูรีนโยนำทีมเรอัลมาดริด คว้าแชมป์ลาลิกาได้สำเร็จโดยมีคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน ซึ่งนำห่างบาร์เซโลนา แชมป์เก่าไปถึง 9 แต้ม ในช่วงต้นฤดูกาลสุดท้ายของเขากับเรอัลมาดริด มูรีนโยนำทีมโค่นบาร์เซโลนาในศึกสแปนิชซูเปอร์คัพ โดยเป็นการเตะ 2 นัด เหย้า-เยือน นั่นเท่ากับว่า มูรีนโยได้คว้าทุกแชมป์ในสเปนภายในระยะเพียง 3 ปี และทั้งหมดคือการโค่นบาร์เซโลนา ไม่ว่าจะเป็นลาลิกา โกปาเดลเรย์ และสแปนิชซูเปอร์คัพ และเป็นการบ่งบอกว่านับตั้งแต่เริ่มทำงานกับสโมสรโปร์ตู ไม่มีปีไหนที่มูรีนโยมือเปล่า และจากไปอย่างยิ่งใหญ่สู่สโมสรเชลซี

เชลซี

เป็นการกลับมาบ้านเก่าอีกครั้งของมูรีนโย โดยเซ็นสัญญาระยะเวลา 4 ปี พร้อมประเดิมนักเตะคนแรก อันเดร เชือร์เลอ ในงานแถลงข่าว นักข่าวถามมูรีนโยว่ารู้สึกอย่างไรที่อันเดรส อีเนียสตา กล่าวว่าเขาทำให้วงการฟุตบอลในสเปนเสื่อมเสีย มูรีนโยตอบว่า เรอัลมาดริดคว้าแชมป์ลาลิกาเหนือบาร์เซโลนาด้วยการทำแต้มสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่กำเนิดวงการฟุตบอลสเปนขึ้นมาร้อยกว่าปี ทำประตู 121 ประตู สูงที่สุดในประวัติศาสตร์อีกเช่นกัน เรอัลมาดริดล้มบาร์เซโลนาในโกปาเดลเรย์ เรอัลมาดริดล้มบาร์เซโลนาในกัมนอว์ ถิ่นของพวกเขา เรอัลมาดริดล้มบาร์เซโลนาในสแปนิชซูเปอร์คัพ ดังนั้นพวกเขาจึงรู้สึกเจ็บสุด ๆ (They hurted) มูรีนโยบอกว่าการคุมทีมระดับเชลซีโดยทำได้เพียงคว้าแชมป์ยูฟ่ายูโรปาลีก ถือเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง เพราะถ้วยนี้ไม่เคยอยู่ในสายตาของเขา เป็นการเหน็บแนมราฟาเอล เบนีเตซ ตามสไตล์ของเขา ปี 2015 เขาพาเชลซี คว้าแชมป์ลีกคัพ และพรีเมียร์ลีก

แต่ผลงานของเชลซี ในฤดูกาล 2015–16 ไม่ดีเสียเลย แม้จะผ่านเข้ารอบ 16 ทีมในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก เป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มก็ตาม แต่ผลงานในพรีเมียร์ลีกเมื่อผ่านไป 16 นัด เชลซีแพ้ไปแล้วถึง 9 นัด โดยอยู่ในอันดับที่ 16 ของตารางคะแนน มีคะแนนเหนือทีมที่อยู่ในอันดับ 17 ซึ่งเป็นกลุ่มตกชั้น คือ สวอนซีซิตี เพียงคะแนนเดียว ทำให้ในปลายปี 2015 ทางผู้บริหารเชลซีจึงได้ตัดสินใจปลดมูรีนโยออกจากตำแหน่ง [58] ทั้งนี้มีการเปิดเผยถึงสาเหตุของการปลดครั้งนี้ นอกจากผลงานไม่ดีแล้ว มูรีนโยยังมีเหตุทะเลาะกับผู้เล่นหลายคนในทีมอีกด้วย [59]

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

มูรีนโย เข้ามาในฐานะผู้จัดการทีมแทนลูวี ฟัน คาลหลังจบฤดูกาล 2015–16 และเสริมทีมด้วยนักเตะชื่อดังมากมาย ทั้งซลาตัน อิบราฮิโมวิช,พอล ป็อกบา ในฤดูกาล 2016–17 มูรีนโยทำผลงานได้ไม่ค่อยดี และจบอันดับที่6ในพรีเมียร์ลีก แต่มูรีนโยพาแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นแชมป์ยูฟ่ายูโรปาลีกและคาราบาวคัพ ทำให้ได้โอกาสไปแข่งยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในฐานะแชมป์ยูฟ่ายูโรปาลีก และในฤดูกาลต่อมา(ฤดูกาล 2017–18) มูรีนโย ไม่สามารถทำทีมได้แชมป์ใดเลย ขณะที่ผลงานในพรีเมียร์ลีกสามารถจบที่อันดับที่2 ส่วนในฤดูกาลสุดท้ายกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด(ฤดูกาล 2018–19) มูรีนโย ทำทีมอยู่ในอันดับกลางของตารางในพรีเมียร์ลีก ถึงแม้จะสามารถทำให้ทีมผ่านเข้าไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2018–19 ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ก็ตาม แต่มูรีนโย ก็ถูกไล่ออกหลังจากการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกับลิเวอร์พูล เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2018 ในขณะนั้นแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด อยู่อันดับที่6 ของตาราง โดยผลการแข่งขันนัดนั้น แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายแพ้ไป 1-3

สถิติในการจัดการทีม

ณ วันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2024
สโมสร ตั้งแต่ ถึง สถิติ อ้างอิง
แข่ง ชนะ เสมอ แพ้ % ชนะ
ไบฟีกา 20 กันยายน ค.ศ. 2000 5 ธันวาคม ค.ศ. 2000 11 6 3 2 054.5 [60][61][62]
อูนีเยาดึไลรีอา กรกฎาคม ค.ศ. 2001 23 มกราคม ค.ศ. 2002 20 9 7 4 045.0 [63][64][65]
โปร์ตู 23 มกราคม ค.ศ. 2002 2 มิถุนายน ค.ศ. 2004 127 91 21 15 071.7 [64][32][66]
เชลซี 2 มิถุนายน ค.ศ. 2004 20 กันยายน ค.ศ. 2007 185 124 40 21 067.0 [67]
อินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน 2 มิถุนายน ค.ศ. 2008 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 108 67 26 15 062.0 [68][67]
เรอัลมาดริด 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 1 มิถุนายน ค.ศ. 2013 178 128 28 22 071.9 [69][70][67]
เชลซี 3 มิถุนายน ค.ศ. 2013 17 ธันวาคม ค.ศ. 2015 136 80 29 27 058.8 [67]
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 18 ธันวาคม ค.ศ. 2018 144 84 32 28 058.3 [67]
ทอตนัมฮอตสเปอร์ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 19 เมษายน ค.ศ. 2021 86 44 19 23 051.2 [67]
โรมา 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 16 มกราคม ค.ศ. 2024 138 68 31 39 049.3
ทั้งหมด 1,133 701 236 196 061.9

เกียรติยศ

ผู้จัดการทีม

โปร์ตู
เชลซี
อินเตอร์มิลาน
เรอัลมาดริด
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
โรมา

เชิงอรรถ

  1. ในภาษาอังกฤษออกเสียง /ʒəʊˈzeɪ mʊˈriːnjəʊ/ หรือ /ʒoʊˈzeɪ mʊˈriːnjoʊ/. Longman Dictionary of Contemporary English fifth edition. [DVD-ROM]. London: Pearson Education, 2009.

อ้างอิง

  1. Rubio, Alberto; Clancy, Conor (23 May 2019). "Guardiola on his way to becoming the most successful coach of all time". Marca. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 June 2019. สืบค้นเมื่อ 11 August 2019.
  2. 2.0 2.1 "Mourinho makes shock Chelsea exit". BBC Sport. 20 September 2007. สืบค้นเมื่อ 24 May 2012.
  3. Harrold, Michael. 2009/10: Inter back on top at last. UEFA. Retrieved 15 September 2010. เก็บถาวร 2010-09-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. "Jose Mourinho congratulated by Spanish Coaches Committee after being named Fifa World Coach of the Year Award". Goal.com. 13 January 2011. สืบค้นเมื่อ 6 February 2016.
  5. José Mourinho's mission accomplished as Real Madrid seal title. The Guardian. Retrieved 3 May 2012.
  6. "Eric Gerets champion". l'Equipe.fr.
  7. "Jose Mourinho sacked as Chelsea manager". BBC. 17 December 2015. สืบค้นเมื่อ 17 December 2015.
  8. Williams, Richard (29 April 2010). "In José Mourinho Inter finally have a true heir to Helenio Herrera". The Guardian. London.
  9. Formica, Federico. "Helenio Herrera, or Josè Mourinho 40 years before". SerieAddicted. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-19. สืบค้นเมื่อ 2016-05-26.
  10. "José Mourinho in a Portuguese Genealogical site". Geneall.net. 17 June 1938. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
  11. 11.0 11.1 11.2 Cowley, Jason (19 December 2005). "NS Man of the year – Jose Mourinho". New Statesman. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-31. สืบค้นเมื่อ 10 September 2008.
  12. 12.0 12.1 "Sitting pretty". The Observer. London. 1 August 2004. สืบค้นเมื่อ 10 September 2008.
  13. 13.0 13.1 Smith, Paul (12 September 2004). "Football: Destined to be a great from the age of 10". Sunday Mirror. สืบค้นเมื่อ 15 September 2008.
  14. 14.0 14.1 14.2 "Jose Mourinho: The Jose way". The Independent. London. 27 February 2005. สืบค้นเมื่อ 15 September 2008.
  15. "Jose Mourinho: 'Ronaldo has been by far the best player in the Premiership. But he must win a trophy'". The Independent. London. 26 April 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-12. สืบค้นเมื่อ 15 September 2008.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 16.5 Hawkley, Ian (9 May 2004). "The big feature: Jose Mourinho". The Times. London. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 Ley, John (20 September 2007). "Mourinho's Chelsea love affair finally ends". The Daily Telegraph. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-12. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  18. Hawkley, Ian (21 May 2004). "Battle of the Bernabeu". BBC News. สืบค้นเมื่อ 22 May 2004.
  19. Menicucci, Paolo. "The Master And His Apprentice on UEFA.COM", UEFA, Milan, 17 May 2010. Retrieved 1 September 2010.
  20. Staff. "Josep Lluís Núñez (1978-2000)". fcbarcelona.cat (ภาษาคาตาลัน). FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-16. สืบค้นเมื่อ 9 August 2011.
  21. "Mozer fired as InterClube coach". BBC Sport. 1 May 2008. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  22. Sinnott, John (18 September 2007). "Low down on Porto". BBC Sport. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  23. "Mourinho rejected Newcastle role". BBC Sport. 30 November 2004. สืบค้นเมื่อ 10 December 2008.
  24. 24.0 24.1 24.2 "If something got in his way – which is winning – he would leave". The Guardian. London. 17 January 2007. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  25. "Benfica 3 – 0 Sporting CP". Soccerway. 3 December 2000. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  26. "2010/11 UEFA Champions League group stage statistics handbook – Club directory" (PDF). UEFA. p. 171. สืบค้นเมื่อ 5 March 2014.
  27. "Mourinho mocks Ferguson". BBC News. 25 February 2004.
  28. "Chelsea snatch record from United". The Daily Telegraph. 11 May 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 January 2021. สืบค้นเมื่อ 30 July 2018.
  29. "Terry braced for guard of honour". BBC Sport. 8 May 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 January 2013. สืบค้นเมื่อ 8 June 2012.
  30. "Ferguson pays tribute to Mourinho". BBC Sport. 21 September 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 February 2012. สืบค้นเมื่อ 27 May 2012.
  31. 31.0 31.1 Wallace, Sam (22 April 2004). "Mourinho would prefer Liverpool". The Daily Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  32. 32.0 32.1 "Chelsea appoint Mourinho". BBC Sport. 2 June 2004. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  33. "Mourinho's legendary moment: 'I am a Special One'".
  34. "What Mourinho said". BBC Sport. 2 June 2004. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  35. "Jose:Respect for fans; Respect for Carling Cup". Chelsea FC. 24 February 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2007. สืบค้นเมื่อ 24 February 2007.
  36. "Mourinho thrilled to break record". BBC Sport. 12 August 2007. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  37. "Josè Mourinho joins Inter". F.C. Internazionale Milano. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-12. สืบค้นเมื่อ 2 June 2008.
  38. "Inter confirm Mourinho". Sky Sports. สืบค้นเมื่อ 2 June 2008.
  39. "Mourinho takes over as Inter boss". BBC Sport. 2 June 2008. สืบค้นเมื่อ 2 June 2008.
  40. "E' subito Mourinho-show. "Né speciale, né pirla"" (ภาษาอิตาลี). La Gazzetta dello Sport. 3 June 2008. สืบค้นเมื่อ 3 June 2008.
  41. Brown, Oliver (2 July 2008). "Jose Mourihno Charms the Italians after joining Inter". The Daily Telegraph. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-07. สืบค้นเมื่อ 15 August 2008.
  42. "TRASFERIMENTO A TITOLO DEFINITIVO DEL DIRITTO ALLE PRESTAZIONI SPORTIVE DEL CALCIATORE AMANTINO FAIOLI ALESSANDRO" (PDF) (ภาษาอิตาลี). A.S. Roma. 15 July 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 8 June 2012. สืบค้นเมื่อ 1 September 2016.
  43. "Mourinho makes Mancini first major signing". Reuters. 16 July 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-12. สืบค้นเมื่อ 21 October 2008.
  44. "Inter rule out Lampard after Muntari signs". The Independent. London. 28 July 2008. สืบค้นเมื่อ 21 October 2008.
  45. Carminati, Nadia (1 September 2008). "Inter agree Quaresma fee". Sky Sports. สืบค้นเมื่อ 21 October 2008.
  46. "R&C FCP 2007 IN.indd" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 October 2009. สืบค้นเมื่อ 1 May 2010.
  47. "Inter Milan wins Italian Super Cup". International Herald Tribune. 24 August 2008. สืบค้นเมื่อ 21 October 2008.
  48. "Inter suffer Italian Cup KO". Agence France-Presse. 23 April 2009. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  49. Daley, Kieran (4 March 2009). "Mourinho rails against 'intellectual prostitution'". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  50. "Inter Won It in True Chelsea Style..." Football365.com. 19 May 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2009. สืบค้นเมื่อ 21 May 2009.
  51. Bandini, Paolo (18 May 2009). "Jose Mourinho makes Ibrahimovic sweat for his goal as Inter celebrate scudetto in style". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 21 May 2009.
  52. "Anche la Nike celebra il 17esimo titulo" (ภาษาอิตาลี). TuttoMercatoWeb. 21 May 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 June 2009. สืบค้นเมื่อ 21 May 2009.
  53. "Inter land Serie A title after Milan lose". The Guardian. London. 16 May 2009. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  54. "European Round-up: Samuel Eto'o scores on Inter Milan debut". The Daily Telegraph. 24 August 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 January 2021. สืบค้นเมื่อ 13 February 2016.
  55. "Jose Mourinho sent off as Inter Milan are defeated by Juventus". The Guardian. London. 5 December 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 January 2021. สืบค้นเมื่อ 7 May 2010.
  56. "Chelsea 0–1 Inter Milan (agg 1–3)". BBC Sport. 16 March 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 May 2012. สืบค้นเมื่อ 16 March 2010.
  57. "Inter in finale di Coppa Italia grazie al gol di Eto'o" [Inter into final of Coppa Italia thanks to goal from Eto'o]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2011.
  58. "เชลซีไล่ "มู" สังเวยฟอร์มบู่ เหล่ "เป๊ป-อันเช" คุมถาวร". ผู้จัดการออนไลน์. 17 December 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 18 December 2015.
  59. "เหตุปลด'มูรินโญ'พ้นเชลซี ขัดแย้งนักเตะ-ผลงานห่วย". เดลินิวส์. 18 December 2015. สืบค้นเมื่อ 20 December 2015.
  60. "Mourinho replaces Heynckes at Benfica". BBC Sport. 20 September 2000. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  61. "José Mourinho: "Direcção mostrou falta de confiança"" [José Mourinho: "Board showed a lack of faith in our work"]. Record (ภาษาโปรตุเกส). Lisbon. 6 December 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2015.
  62. "Squad 2000/2001". ForaDeJogo.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-15. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  63. Wilson, Jonathan (22 December 2015). "The devil and José Mourinho". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  64. 64.0 64.1 "Mourinho ready for Porto challenge". UEFA. 23 January 2002. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  65. "Squad 2001/2002". ForaDeJogo.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-15. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  66. "Squad 2001/2002". ForaDeJogo.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-15. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
    "Squad 2002/2003". ForaDeJogo.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-09. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
    "Squad 2003/2004". ForaDeJogo.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-09. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  67. 67.0 67.1 67.2 67.3 67.4 67.5 "Managers: Jose Mourinho". Soccerbase. Centurycomm. สืบค้นเมื่อ 6 October 2018.
  68. "Moratti e Perez, accordo per Mourinho" (ภาษาอิตาลี). F.C. Internazionale Milano. 28 May 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-25. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  69. "Real Madrid unveil Jose Mourinho as their new coach". BBC Sport. 31 May 2010. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.
  70. "Jose Mourinho: Real Madrid boss to leave next month". BBC Sport. 20 May 2013. สืบค้นเมื่อ 10 June 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น