รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
ต้นแบบสถานีโครงสร้างใต้ทางด่วน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะโครงการ (เตรียมประกวดราคา)
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งจังหวัดนนทบุรี, กรุงเทพมหานคร
ปลายทาง
จำนวนสถานี20
การดำเนินงาน
รูปแบบรางเดี่ยว
ระบบรถไฟฟ้ามหานคร
ผู้ดำเนินงานรอเอกชนร่วมประมูล
ขบวนรถยังไม่เปิดเผย
ประวัติ
เปิดเมื่อพ.ศ. 2571 (คาดการณ์)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง21 km (13.05 mi) (est.)
จำนวนทางวิ่งรางเดี่ยว 2 ทาง
ลักษณะทางวิ่งทางยกระดับ
ระบบจ่ายไฟรางที่สาม
ความเร็ว80 km/h (50 mph)
แผนที่เส้นทาง

สีม่วง บางกระสอ
ศูนย์ราชการนนทบุรี
สีชมพู แคราย
สีม่วง กระทรวงสาธารณสุข
งามวงศ์วาน 2 (อัคนี)
งามวงศ์วาน 18 (จุฬาเกษม)
ชินเขต
สีแดงเข้ม วัดเสมียนนารี – ทุ่งสองห้อง
แอร์พอร์ตลิงก์
บางเขน
เกษตรฯ ประตู 2
สายสุขุมวิท กรมป่าไม้ – เสนานิคม
แยกเกษตร
คลองบางบัว
ประเสริฐมนูกิจ-ลาดปลาเค้า
ประเสริฐมนูกิจ-เสนานิคม
สตรีวิทยา 2
สายสีเทา นวลจันทร์ – คลองลำเจียก
ทางต่างระดับฉลองรัช
คลองลำเจียก
นวลจันทร์
ประเสริฐมนูกิจ-นวมินทร์
โพธิ์แก้ว
อินทรารักษ์
นวมินทร์ภิรมย์
สายสีส้ม ศรีบูรพา – รามคำแหง 34
สายสีเหลือง ศรีกรีฑา – บางกะปิ
แยกลำสาลี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) เป็นโครงการศึกษาการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อบรรจุลงในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) โครงการได้รับการกำหนดให้ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือรถไฟฟ้าโมโนเรล มีระยะทางทั้งสิ้น 21 กิโลเมตร โดยรถไฟฟ้าสายนี้จะเชื่อมต่อเมืองด้านฝั่งแคราย กับฝั่งเกษตร-นวมินทร์ที่มีอัตราการเติบโตสูงเข้าด้วยกัน และยังเป็นโครงข่ายสายรองเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าหลักอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม และโครงข่ายรองอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีเทา ของกรุงเทพมหานคร

พื้นที่ที่เส้นทางระบบขนส่งมวลชนผ่าน[แก้]

ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด
บางกระสอ, บางเขน เมืองนนทบุรี นนทบุรี
ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ลาดยาว, เสนานิคม จตุจักร
ลาดพร้าว, จรเข้บัว ลาดพร้าว
นวลจันทร์, คลองกุ่ม, นวมินทร์ บึงกุ่ม
คลองจั่น, หัวหมาก บางกะปิ

แนวเส้นทาง[แก้]

แนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากนั้นจะวิ่งตรงเข้าสู่ถนนงามวงศ์วาน ผ่าน ทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (คลองเปรม) โรงพยาบาลคลองเปรม เรือนจำกลางคลองเปรม แยกบางเขน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม จากนั้นเบี่ยงซ้ายเข้าสู่พื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรงมาถึงแยกเกษตรแล้วเบี่ยงขวากลับเกาะกลางถนน เชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท จากนั้นผ่านแยกเกษตรตรงมาบนถนนประเสริฐมนูกิจ และเบี่ยงทางออกจากกันเพื่อลดระดับไปอยู่ใต้ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ผ่านจุดตัดทางพิเศษฉลองรัช ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา จากนั้นจะตรงไปแยกนวลจันทร์-นวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนนวมินทร์ แล้วตรงไปตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกบางกะปิ แนวเส้นทางศึกษาจะแยกออกเป็นสองสายเพื่อสิ้นสุดที่บริเวณแยกลำสาลีที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยในกรณีผู้ให้บริการเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ แนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาเข้าถนนลาดพร้าวก่อนยกระดับเหนือเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่จุดตัดถนนลาดพร้าว-ศรีนครินทร์ เพื่อสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีแยกลำสาลีของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองซึ่งจะปรับแบบให้เป็นสถานีร่วม แต่หากผู้ให้บริการไม่ใช่กลุ่มบีทีเอส หรือกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ แนวเส้นทางจะวิ่งตรงเข้าสู่ถนนพ่วงศิริและสิ้นสุดที่จุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนพ่วงศิริ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วยทางเดินยกระดับ

รายละเอียดปลีกย่อย[แก้]

  • เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว แบบวางคร่อมราง (straddle-beam monorail)
  • ทางวิ่ง ยกระดับที่ความสูง 12 เมตรตลอดทั้งโครงการ
  • มีรางที่ 3 ตีขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ
  • ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 3.147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูงประมาณ 4.06 เมตร (เมื่อคร่อมรางทั้งหมด) ความจุ 356 คนต่อคัน (คำนวณจากอัตราความหนาแน่นที่ 4 คน/ตารางเมตร) ต่อพวงได้ 2-8 คันต่อขบวน ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ ป้อนระบบขับเคลื่อนรถ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 24,100 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
  • ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ[แก้]

เดิมโครงการมีการศึกษาศูนย์ซ่อมบำรุงไว้ที่บริเวณจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชแต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวกรุงเทพมหานครจะเวนคืนเพื่อก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา โครงการจึงมีแนวคิดย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงไปอยู่พื้นที่บริเวณใกล้ ๆ กัน หรือย้ายไปบริเวณแยกบางกะปิซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีแยกลำสาลี

เบื้องต้นศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการจะมีพื้นที่ทั้งหมด 44 ไร่ ประกอบไปด้วยอาคารโรงจอด ศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารเปลี่ยนล้อ ส่วนควบคุมระบบจัดการเดินรถ และสำนักงานบริหารจัดการโครงการ

สิ่งอำนวยความสะดวก[แก้]

มีจุดจอดแล้วจร (park and ride) บริเวณถนนเสรีไทยใกล้สถานีลำสาลีของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม จอดรถได้ประมาณ 2,000 คัน

สถานี[แก้]

มีทั้งหมด 20 สถานี เป็นสถานียกระดับทั้งหมด

รูปแบบสถานี

โครงการออกแบบรูปแบบสถานีไว้ทั้งหมดสองรูปแบบ ดังต่อไปนี้

  • สถานีโครงสร้างปกติ สถานีมีความยาวประมาณ 150 เมตร มีประตูชานชาลา (platform screen door) ความสูงแบบ Half-Height ทุกสถานี ออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดินและบนดินและรักษาสภาพผิวจราจรบนถนนมากที่สุด มีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน และมีชั้นจำหน่ายบัตรโดยสารอยู่ใต้ชานชาลา มีจำนวน 10 สถานี
  • สถานีโครงสร้างใต้ทางด่วน สถานีมีความยาวประมาณ 150 เมตร มีประตูชานชาลา (platform screen door) ความสูงแบบ Half-Height ทุกสถานี ออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดิน บนดิน และทางด่วน และรักษาสภาพผิวจราจรบนถนนให้มากที่สุด มีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 จุดจำหน่ายบัตรโดยสารจะอยู่ในบริเวณอาคารทางเข้าสถานี ซึ่งจะแยกฝั่งไปนนทบุรีกับฝั่งลำสาลีขาดกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้โครงการศึกษาให้มีการก่อสร้างสะพานคนข้ามในทุกสถานี หรืออาจมีการก่อสร้างทางเดินเชื่อมฝั่งในทุกสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกในการข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง มีจำนวน 10 สถานี

รายชื่อสถานี[แก้]

รหัส ชื่อสถานี ชานชาลา จุดเปลี่ยนเส้นทาง วันที่เปิดให้บริการ ที่ตั้ง
BR01 ศูนย์ราชการนนทบุรี 6 สายสีม่วง สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
สายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
พ.ศ. 2568 นนทบุรี
BR02 งามวงศ์วาน 2 (อัคนี) 2
BR03 งามวงศ์วาน 18 (จุฬาเกษม) 2
BR04 ชินเขต 2 กรุงเทพมหานคร
BR05 บางเขน 4 สายสีแดงเข้ม สถานีบางเขน
BR06 งามวงศ์วาน 48 2
BR07 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4 สายสุขุมวิท สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
BR08 คลองบางบัว 2
BR09 ประเสริฐมนูกิจ-ลาดปลาเค้า 2
BR10 ประเสริฐมนูกิจ-เสนานิคม 2
BR11 สตรีวิทยา 2 2
BR12 ทางต่างระดับฉลองรัช 4 สายสีเทา สถานีต่างระดับฉลองรัช
BR13 คลองลำเจียก 2
BR14 นวลจันทร์ 2
BR15 ประเสริฐมนูกิจ-นวมินทร์ 2
BR16 โพธิ์แก้ว 2
BR17 อินทรารักษ์ 2
BR18 สวนนวมินทร์ภิรมย์ 2
BR19 การเคหะแห่งชาติ 2
BR20 แยกลำสาลี 6 สายสีส้ม สถานีแยกลำสาลี
สายสีเหลือง สถานีแยกลำสาลี
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าเดอะมอลล์บางกะปิ

ความคืบหน้า[แก้]

  • สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการขอเชิญเข้าร่วมการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การออกแบบเบื้องต้นโครงการ แนวเส้นทาง รูปแบบและองค์ประกอบของโครงการรวมทั้งมาตรการในการจัดการกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะนำไปพิจารณาประกอบการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อเสนอแนะมาตรการในการจัดการกับผลกระทบ ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับปรุงผลการศึกษาความเหมาะสม และใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบเบื้องต้นของโครงการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น ชั้น 4 อาคารคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร[1]
  • 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเผยว่าจากการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ได้ข้อสรุปให้มีการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ไปพร้อม ๆ กัน โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินงาน และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนนงาน และให้มีการประมูลโครงการแยกขาดจากกันแต่ช่วงที่ใช้โครงสร้างร่วมกันให้ดำเนินการพร้อมกันไปพลางก่อน ทั้งนี้การประมูลโครงการทั้งสองโครงการได้พิจารณาให้เป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน แต่ยังไม่สรุปว่าให้เป็นรูปแบบ Netcost หรือ Grosscost[2]
  • 10 มกราคม พ.ศ. 2562 - นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล หลังจากที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบในผลการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินโครงการว่า รฟม. เตรียมยื่นรายงานการศึกษาเพื่อขออนุมัติการดำเนินโครงการกับคณะรัฐมนตรี โดยหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก็จะส่งแผนการศึกษากลับไปให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ รฟม. ก็จะจัดทำรายงานการร่วมทุนกับเอกชนเพื่อนำเสนอบอร์ดพีพีพีแบบคู่ขนานกันไป โครงการมีวงเงินการลงทุนประมาณ 48,000 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนเป็น PPP-Netcost แบบเดียวกับสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนและรับผิดชอบในการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนและรับผิดชอบในงานก่อสร้างโยธา ตลอดจนการจัดหาระบบรถไฟฟ้า เดินรถไฟฟ้า ดูแลรักษาระบบรถไฟฟ้า และรับผลประโยชน์จากค่าโดยสารต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของโครงสร้างที่ใช้งานร่วมกันกับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 รฟม. จะขอให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินงานในส่วนฐานรากและต่อม่อรถไฟฟ้าไปพลางก่อน จากนั้นเมื่อได้เอกชนก็จะขอให้เอกชนเป็นผู้ชำระคืนให้แก่ กทพ. ต่อไป โดย รฟม. คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการได้เร็วที่สุดภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้[3]
  • พ.ศ. 2565 รฟม. เปิดเผยว่ามีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาทบทวนรายละเอียดการออกแบบ พร้อมจัดทำเอกสารประกวดราคา และรายงานผลการศึกษาโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP วางงบประมาณว่าจ้าง 60 ล้านบาท แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565 จากนั้นเมื่อศึกษาจะส่งรายงานเสนอแก่บอร์ด PPP ในเดือนมิถุนายน 2566 แล้วเสนอแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อทำการอนุมัติโครงการ ในเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2566[4][5]
  • มีนาคม พ.ศ. 2566 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบรายละเอียดการวิเคราะห์ของโครงการฯ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.PPP) หลังจากนั้นจะเสนอต่อบอร์ด รฟม. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณา เพื่อนำโครงการฯเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบภายในปี 2567 ทั้งนี้ หากโครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ PPP หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี2568[6]
  • มกราคม พ.ศ. 2567 กรมการขนส่งทางราง มีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นำผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลกลับไปศึกษาใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องประเด็นของความเหมาะสมในการเลือกใช้ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล หลังจากเกิดอุบัติเหตุจากโครงการสายสีชมพูและสายสีเหลืองขึ้นพร้อมกัน ทั้งนี้กรมรางฯ ได้ขอให้รฟม. พิจารณาเลือกใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบารูปแบบอื่นแทนโมโนเรล

อ้างอิง[แก้]

  1. กำหนดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3[ลิงก์เสีย]
  2. เล็งเปิดประมูลพีพีพี สร้างรถไฟฟ้าสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี ทางด่วนบนตอม่อถนนเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมระบบขนส่งรถไฟฟ้า 7 สาย
  3. รฟม. เล็งเปิดประมูลรถไฟฟ้าสีน้ำตาล 4.8 หมื่นล้าน ปลายปีนี้
  4. อีไฟแนนซ์ไทย, สำนักข่าว. "รฟม. จัดงบ 60 ลบ.ทบทวนแบบ-เอกสารประมูลรถไฟฟ้าสีน้ำตาล คาดชง ครม.ปี 66". efinancethai.com.
  5. "รฟม.เดินหน้า PPP รถไฟฟ้า "สีน้ำตาล" 4.98 หมื่นล้านบาท ฟังความเห็นเอกชน คาดชง ครม.เคาะลงทุนปลายปี 66". mgronline.com. 2022-11-18.
  6. "อัปเดต! รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล 'แคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)' 22.1 กม. มูลค่า 4.9 หมื่นล้าน คาดเริ่มสร้างปี 69 เปิดให้บริการปี 72". transportjournal newspaper.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]