รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออื่นรถไฟฟ้าสายสีม่วง
สถานะเปิดให้บริการ
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร
ปลายทาง
จำนวนสถานี33 (ทั้งหมด)
16 (เปิดให้บริการ)
17 (โครงการ)
การดำเนินงาน
รูปแบบระบบขนส่งมวลชนเร็ว
ระบบรถไฟฟ้ามหานคร
ผู้ดำเนินงานบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
(สัญญาร่วมลงทุนโครงการ หมด พ.ศ. 2585)
ศูนย์ซ่อมบำรุงศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่
ศูนย์ซ่อมบำรุงย่อยครุใน (ในอนาคต)
ขบวนรถJ-TREC Sustina (S24-EMU)
ทั้งหมด 63 ตู้ : ขบวนละ 3 ตู้ : รวม 21 ขบวน (สายสึม่วงใต้จะจัดหา อีก 17 ขบวน รวมรถไฟฟ้าที่มีในปัจจุบัน ก็จะมีทั้งสิ้น 38 ขบวน)
ประวัติ
เปิดเมื่อ6 สิงหาคม พ.ศ. 2559 (7 ปีก่อน)[1]
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง26.3 กิโลเมตร (16.3 ไมล์)
จำนวนทางวิ่ง2
ลักษณะทางวิ่งทางยกระดับ
ทางใต้ดิน
รางกว้าง1,435 mm (4 ft 8 12 in) สแตนดาร์ดเกจ
ระบบจ่ายไฟ750 V DC รางที่สาม
ความเร็ว80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (50 ไมล์ต่อชั่วโมง)
แผนที่เส้นทาง

คลองบางไผ่
ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่
ตลาดบางใหญ่
สามแยกบางใหญ่
บางพลู
บางรักใหญ่
บางรักน้อย-ท่าอิฐ
ไทรม้า
แม่น้ำเจ้าพระยา
สะพานพระนั่งเกล้า
แยกนนทบุรี 1
บางกระสอ
จุฬาเกษม
ศูนย์ราชการนนทบุรี
แคราย
กระทรวงสาธารณสุข
แยกติวานนท์
วงศ์สว่าง
บางบำหรุ – กรุงเทพอภิวัฒน์
บางซ่อน สายใต้
เตาปูน
บางโพ – บางซื่อ (กรุงเทพอภิวัฒน์)
รัฐสภา
ศรีย่าน
วชิรพยาบาล
หอสมุดแห่งชาติ
บางขุนพรหม
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
สนามหลวง – หลานหลวง
สามยอด
สนามไชย – วัดมังกร
แม่น้ำเจ้าพระยา
สะพานพุทธ
ตลาดพลู – คลองสาน
วงเวียนใหญ่ สายแม่กลอง
โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ดาวคะนอง
บางปะแก้ว
บางปะกอก
แยกประชาอุทิศ
ราษฎร์บูรณะ
พระประแดง
ครุใน

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (บางใหญ่–เตาปูน–ราษฎร์บูรณะ) (อังกฤษ: Metropolitan Rapid Transit Chalong Ratchadham Line, MRT Purple Line) หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ซึ่งเรียกตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้ามหานคร โดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม. หรือเอ็มอาร์ทีเอ)

เส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เกิดขึ้นจากการปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง พ.ศ. 2538 ที่นำเอาเส้นทางรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยายเดิมช่วงเตาปูน–บางใหญ่, สายสีม่วงเดิม ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-เตาปูน และสายสีส้มเดิม ช่วงสามเสน (หอสมุดแห่งชาติ)–ราษฎร์บูรณะ มาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน กลายเป็นรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ที่กำหนดให้เป็นสายสีม่วง บรรจุในแผนแม่บทฯ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2547

นาม ฉลองรัชธรรม เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ระยะแรก สายคลองบางไผ่–นนทบุรี–เตาปูน มีความหมายว่า "เฉลิมฉลองพระราชาที่ปกครองโดยธรรม" โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ยื่นเรื่องขอพระราชทานชื่อเส้นทาง เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสพระราชพืธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคลแก่โครงการฯ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และแก่ประชาชนผู้เข้ามาใช้บริการ[2]

ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือเส้นทางช่วงคลองบางไผ่เตาปูน ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เวลา 14.30 น. โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการเดินรถและกดปุ่มเปิดระบบรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ[3] และเส้นทางช่วงเตาปูน–ครุใน[4][5]

ภาพรวม[แก้]

เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ ดำเนินการโดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในลักษณะของการจ้างเดินรถจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีแนวเส้นทางที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวเหนือ–ใต้ เริ่มต้นจากอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ชานเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพมหานคร ผ่านอำเภอบางใหญ่ผ่านเขตอำเภอบางบัวทองอีกครั้งและผ่านอำเภอเมืองนนทบุรี เข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ย่านบางซื่อ ผ่านย่านที่สำคัญในพื้นที่เมืองเก่าเขตดุสิตและเขตพระนคร เช่น โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย ย่านถนนสามเสน, บางลำพู, ผ่านฟ้า, วังบูรพา จากนั้นลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยามายังใจกลางพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่วงเวียนใหญ่ ผ่านย่านสำเหร่, จอมทอง, ดาวคะนอง, บางปะกอก, แยกประชาอุทิศ, ผ่านเขตราษฎร์บูรณะ ชานเมืองด้านทิศใต้ของกรุงเทพฯ ก่อนเข้าสู่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ สิ้นสุดที่บริเวณถนนกาญจนาภิเษก (ใกล้สะพานกาญจนาภิเษก) รวมระยะทาง 46.6 กิโลเมตร[4][5] นับเป็นเส้นทางที่ผ่านสถานที่สำคัญมากมายทั้งในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร ทั้งยังช่วยเชื่อมต่อการเดินทางจากชานเมืองทั้งด้านจังหวัดนนทบุรีและอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ให้สามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว

พื้นที่เส้นทางผ่าน[แก้]

แขวง/ตำบล เขต/อำเภอ จังหวัด
บางรักพัฒนา, บางรักใหญ่ บางบัวทอง นนทบุรี
เสาธงหิน บางใหญ่
บางรักน้อย, ไทรม้า, บางกระสอ, ตลาดขวัญ, บางเขน เมืองนนทบุรี
วงศ์สว่าง, บางซื่อ บางซื่อ กรุงเทพมหานคร
ถนนนครไชยศรี, วชิรพยาบาล, ดุสิต ดุสิต
วัดสามพระยา, บางขุนพรหม, บ้านพานถม, ตลาดยอด, บวรนิเวศ, สำราญราษฎร์, วังบูรพาภิรมย์ พระนคร
สมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน
วัดกัลยาณ์, หิรัญรูจี, บางยี่เรือ, บุคคโล, ดาวคะนอง ธนบุรี
จอมทอง, บางมด จอมทอง
บางปะกอก, ราษฎร์บูรณะ ราษฎร์บูรณะ
บางพึ่ง, บางครุ พระประแดง สมุทรปราการ

แนวเส้นทาง[แก้]

สถานีคลองบางไผ่ เป็นสถานีต้นทาง

เป็นโครงสร้างยกระดับ เริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่ทางแยกเตาปูน ตามแนวถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ ผ่านจุดตัดทางรถไฟบางซ่อนซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนที่สถานีรถไฟบางซ่อน ผ่านทางแยกวงศ์สว่าง จนสุดเขตกรุงเทพมหานคร เข้าสู่เขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เลี้ยวขวาที่ทางแยกติวานนท์ เข้าสู่ถนนติวานนท์ ผ่านทางเข้ากระทรวงสาธารณสุข เลี้ยวซ้ายก่อนถึงทางแยกแคราย เข้าสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เชื่อมต่อกับจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี[6] ผ่านศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี จากนั้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานคู่ขนานฝั่งทิศใต้ของสะพานพระนั่งเกล้า ผ่านทางแยกต่างระดับบางรักน้อย (จุดตัดถนนราชพฤกษ์) เข้าเขตอำเภอบางบัวทอง ผ่านทางแยกบางพลู เข้าเขตอำเภอบางใหญ่ เลี้ยวขวาที่ทางแยกต่างระดับบางใหญ่มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามถนนกาญจนาภิเษก ผ่านชุมชนตลาดบางใหญ่ เข้าเขตอำเภอบางบัวทองอีกครั้ง และไปสิ้นสุดเส้นทางบริเวณคลองบางไผ่ รวมระยะทางทั้งสิ้น 23 กิโลเมตร[7]

ส่วนเส้นทางช่วงบางซื่อ-เตาปูนในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ดำเนินการก่อสร้างพร้อมกันนั้น มีเส้นทางเริ่มต้นจากอุโมงค์ใต้ดินของสถานีบางซื่อของโครงการรถไฟฟ้ามหานครขึ้นสู่ระดับดินบริเวณหน้าที่ทำการบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และยกระดับมุ่งหน้าสะพานสูงบางซื่อ และถนนประชาราษฎร์ สาย 2 ก่อนเข้าสู่ชานาชาลาชั้นล่างของสถานีเตาปูนตามแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร ดังนั้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงจึงไม่ได้เข้าสู่สถานีบางซื่อโดยตรง แต่เชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินช่วงดังกล่าวโดยเข้าสู่ชานชาลาชั้นบนของสถานีเตาปูนตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางต่อเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ทางทิศใต้

แผนที่เส้นทาง
แผนที่

รายชื่อสถานี[แก้]

สถานี รหัสสถานี จุดเปลี่ยนเส้นทาง วันที่เปิดให้บริการ ที่ตั้ง
คลองบางไผ่ PP01 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559 นนทบุรี
ตลาดบางใหญ่ PP02
สามแยกบางใหญ่ PP03
บางพลู PP04
บางรักใหญ่ PP05
บางรักน้อยท่าอิฐ PP06 สายสีลม สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ (โครงการ)
ไทรม้า PP07
สะพานคู่ขนานพระนั่งเกล้า 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
สะพานพระนั่งเกล้า PP08  เรือด่วนเจ้าพระยา  ธงเขียว,เรือโดยสารสาธารณะ ไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559 นนทบุรี
แยกนนทบุรี 1 PP09
บางกระสอ PP10
ศูนย์ราชการนนทบุรี PP11 สายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
สายสีน้ำตาล สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (โครงการ)
กระทรวงสาธารณสุข PP12
แยกติวานนท์ PP13
วงศ์สว่าง PP14 กรุงเทพมหานคร
บางซ่อน PP15 สายสีแดงอ่อน สถานีบางซ่อน
เตาปูน PP16 สายสีน้ำเงิน (สถานีร่วม)

การเชื่อมต่อ[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร[แก้]

สถานีเตาปูน เป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างสายฉลองรัชธรรม กับสายเฉลิมรัชมงคล

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังเส้นทางอื่น ๆ ในระบบรถไฟฟ้ามหานครได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รถไฟฟ้าชานเมือง[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าชานเมืองได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

เส้นทางการคมนาคมทางน้ำ[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังเส้นทางเรือโดยสารต่าง ๆ ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

แผนที่แสดงการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น[แก้]

ทางเดินเข้าอาคารข้างเคียง[แก้]

ในบางสถานี ผู้โดยสารสามารถเดินเข้าสู่อาคารข้างเคียงผ่านทางเชื่อมได้ดังนี้

  • ตลาดบางใหญ่ : เซ็นทรัล เวสต์เกต, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า สาขาบางใหญ่
  • ศูนย์ราชการนนทบุรี : เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย และโลตัส สาขารัตนาธิเบศร์ (ในอนาคต)
  • บางกระสอ : บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขารัตนาธิเบศร์ 2, โรงแรมริชมอนด์ (ในอนาคต)
  • แยกนนทบุรี 1 : เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ (ในอนาคต)

รูปแบบของโครงการ[แก้]

ที่นั่งภายในขบวนรถไฟฟ้า
  • เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (heavy rail transit)
  • ทางวิ่ง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน และดาวคะนอง-ราษฎร์บูรณะ เป็นแบบยกระดับ สูงประมาณ 17-19 เมตรจากผิวถนน เพื่อให้สามารถข้ามผ่านสะพานลอยคนข้ามถนน, สะพานลอยรถยนต์ และสะพานลอยกลับรถได้ มีตอม่ออยู่กลางถนน ระยะห่างตอม่อสูงสุด 40 เมตร เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจรทั้งในระหว่างก่อสร้างและเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ตอม่อมีลักษณะโปร่งบาง, สวยงาม, ไม่เทอะทะ และไม่ปิดบังอาคารบริเวณริมถนน[8] ส่วนช่วงรัฐสภา-สำเหร่ เป็นแบบใต้ดิน ส่วนใหญ่เป็นอุโมงค์คู่ตีขนานตลอดทาง ยกเว้นช่วงที่มีเนื้อที่จำกัดและมีประชาชนอาศัยหนาแน่นจะเป็นอุโมงค์เดี่ยวซ้อนกัน
  • ขนาดราง 1.435 เมตร (standard guage) โดยมีรางที่ 3 ขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ[7]
  • ตัวรถใช้ระบบรถไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพได้เซ็นต์สัญญาว่าจ้าง มารุเบนิ และ โตชิบา เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า โดยได้ทำการผลิตจากโรงงาน J-TREC ในโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น [9] มีทั้งหมด 63 ตู้ 21 ขบวน ต่อพ่วงแบบ 3 ตู้ ต่อ 1 ขบวนและสามารถเพิ่มได้สูงสุด 6 ตู้ ต่อ 1 ขบวนในอนาคต[10] โดยมีความจุประมาณ 320 คนต่อตู้[8] สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง[7]
  • ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ โดยรองรับการเดินรถทั้งแบบกึ่งอัตโนมัติโดยมีผู้ควบคุมประจำการ (Semi-automated Operation: STO) และแบบอัตโนมัติโดยไม่มีผู้ควบคุมประจำการ (Unattended Train Operation :UTO) และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน[7]

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ[แก้]

โครงการมีศูนย์ซ่อมบำรุงทั้งหมดสองแห่ง ได้แก่ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ ตั้งอยู่บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ในพื้นที่ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ใกล้กับสถานีคลองบางไผ่ และศูนย์ซ่อมบำรุงครุใน ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ในพื้นที่ตำบลบางพึง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ระบบเดินรถทั้งระบบมีศูนย์ควบคุมการเดินรถกลางอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่

สิ่งอำนวยความสะดวก[แก้]

มีอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วยอาคารที่เปิดให้บริการแล้ว 4 แห่ง ได้แก่สถานีคลองบางไผ่ (ภายในบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่) สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ และสถานีแยกนนทบุรี 1 (ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์) [7] และอีกสองแห่งในอนาคต ได้แก่สถานีบางปะกอก และสถานีราษฎร์บูรณะ

สถานี[แก้]

มีทั้งหมด 33 สถานี แบ่งเป็นสถานียกระดับ 23 สถานี (คลองบางไผ่-เตาปูน/ดาวคะนอง-ครุใน) มีความยาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 18 เมตร รูปแบบชานชาลากลางมีประตูกั้นชานชาลาความสูงแบบ Half-Height ออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดินและบนดิน และรักษาสภาพผิวจราจรบนถนนมากที่สุด สถานีโดยรวมมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน และสถานีใต้ดิน 10 สถานี (รัฐสภา-สำเหร่) มีความยาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 20 เมตร รูปแบบชานชาลากลางเฉพาะสถานีรัฐสภา สามยอด สะพานพุทธ วงเวียนใหญ่ และสำเหร่, ชานชาลาต่างระดับเฉพาะสถานีศรีย่าน วชิรพยาบาล บางขุนพรหม และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และชานชาลาด้านข้างเฉพาะสถานีหอสมุดแห่งชาติมีประตูกั้นชานชาลาแบบเต็มความสูงทุกสถานี ออกแบบให้มีความคงทนแข็งแรงรองรับต่อการทรุดตัวของผิวดิน และรองรับต่อแรงสั่นสะเทือนหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวโดยไม่เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง ทางเข้าสถานีถูกออกแบบให้มีความสูงจากผิวดินประมาณ 1 เมตรเพื่อรองรับต่อเหตุการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยวัดจากสถิติความสูงที่สูงที่สุดของเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร สถานีทั้งหมดของโครงการได้รับการออกแบบตามมาตรฐาน NFPA 101 และ NFPA 130 ที่เน้นในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ความสะดวกสบายของผู้โดยสาร ผู้สัญจรไปมา ผู้อยู่อาศัยบริเวณสถานี รวมถึงการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้คอยให้บริการ อาทิ ลิฟต์, บันไดเลื่อน และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ

ส่วนต่อขยาย[แก้]

โครงการส่วนใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ-ครุใน) (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)[แก้]

โครงการช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ-ครุใน เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง พ.ศ. 2538 มาสู่แผนแม่บทฯ พ.ศ. 2547 โดยแก้ไขแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มเดิม (บางกะปิ-สามเสน-ราษฎร์บูรณะ) ช่วงสามเสน (หอสมุดแห่งชาติ)-ราษฎร์บูรณะ และแนวเส้นทางสายสีม่วงเดิม (หอสมุดแห่งชาติ-เตาปูน-บางพูด) ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ นำมารวมกันเป็นเส้นทางสายสีม่วงที่เกิดขึ้นใหม่ และไปเชื่อมต่อกับเส้นทางสายสีม่วงส่วนแรกในช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน

แนวเส้นทาง[แก้]

เส้นทางส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างอุโมงค์ใต้ดินผสมผสานกับโครงสร้างยกระดับ เริ่มต้นจากโครงสร้างยกระดับของสถานีเตาปูนที่แยกเตาปูนตามแนวถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ จากนั้นมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้โดยลดระดับลงมาใต้ดิน แล้วเบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้าใกล้แนวถนนประชาราษฎร์ สาย 1 เข้าสู่แนวถนนสามเสนที่แยกเกียกกาย ลงมาทางทิศใต้ ผ่านแยกบางกระบือ, แยกศรีย่าน ผ่านหอสมุดแห่งชาติ, แยกเทเวศร์, แยกบางขุนพรหม เลี้ยวซ้ายที่แยกบางลำพูเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ เลียบคลองรอบกรุงไปเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนเข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านแยกสำราญราษฎร์ (ประตูผี), แยกเรือนจำ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ที่สถานีสามยอด ก่อนเข้าสู่ถนนจักรเพชร ผ่านย่านการค้าสะพานหัน และพาหุรัด จากนั้นเส้นทางจะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาในแนวเดียวกับสะพานพระปกเกล้าเข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านวงเวียนใหญ่ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้ม และรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีวงเวียนใหญ่ แล้วมุ่งหน้าไปตามถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านสำเหร่ แยกมไหสวรรย์ จากนั้นจะยกระดับขึ้นเหนือผิวดินเข้าสู่แยกดาวคะนอง, ถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกบางปะแก้ว ซึ่งเป็นจุดตัดถนนพระรามที่ 2, ผ่านย่านบางปะกอก, แยกประชาอุทิศ (กม.9) ไปสิ้นสุดเส้นทางบนถนนสุขสวัสดิ์ ก่อนเข้าเขตอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีสาขาสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดที่ครุใน (บริเวณใต้สะพานกาญจนาภิเษก) รวมระยะทางทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นเส้นทางใต้ดินประมาณ 12.6 กิโลเมตร และเส้นทางยกระดับประมาณ 11 กิโลเมตร[11]

รายละเอียด[แก้]

  • สถานี มี 17 สถานี (ไม่รวมสถานีเตาปูน)
    • สถานีใต้ดิน 10 สถานี (ตั้งแต่สถานีรัฐสภาถึงสถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า) ยาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 20 เมตร มีประตูกั้นชานชาลา (Platform Screen Doors)
    • สถานียกระดับ 7 สถานี (ตั้งแต่สถานีดาวคะนองถึงสถานีครุใน) ยาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 18 เมตร มีประตูกั้นชานชาลา (Platform Screen Doors) ที่สูงขึ้นมาจากพื้นระดับหนึ่ง (half height)
  • ระบบรถไฟฟ้า เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (Heavy Rail Transit) มีความจุประมาณ 320 คนต่อตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง[7] โดยจะจัดหาเพิ่มอีก 17 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้หรือ 4 ตู้
  • ขนาดราง 1.435 เมตร (European Standard Gauge) โดยมีรางที่ 3 ขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ[7]

รายชื่อสถานี[แก้]

ตัวเอน คือโครงการก่อสร้าง

รหัส ชื่อสถานี โครงสร้าง รูปแบบชานชาลา เชื่อมต่อกับ ที่ตั้ง
PP16 เตาปูน ยกระดับ ชานชาลาเกาะกลาง สายสีน้ำเงิน (สถานีร่วม) กรุงเทพมหานคร
PP17 รัฐสภา ใต้ดิน
PP18 ศรีย่าน ชานชาลาต่างระดับ
PP19 วชิรพยาบาล
PP20 หอสมุดแห่งชาติ ชานชาลาด้านข้าง
PP21 บางขุนพรหม ชานชาลาต่างระดับ
PP22 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สายสีส้ม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (โครงการ)
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าผ่านฟ้าลีลาศ
PP23 สามยอด ชานชาลาเกาะกลาง สายสีน้ำเงิน (สถานีร่วม)
อุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา
PP24 สะพานพุทธ ใต้ดิน ชานชาลาเกาะกลาง สายสีทอง ประชาธิปก (โครงการ) กรุงเทพมหานคร
PP25 วงเวียนใหญ่ สายสีแดงเข้ม วงเวียนใหญ่ (โครงการ)
สายสีลม วงเวียนใหญ่
PP26 โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า สายสีเทา มไหสวรรย์ (โครงการ)
PP27 ดาวคะนอง ยกระดับ ชานชาลาด้านข้าง
PP28 บางปะแก้ว
PP29 บางปะกอก
PP30 แยกประชาอุทิศ
PP31 ราษฎร์บูรณะ
PP32 พระประแดง สมุทรปราการ
PP33 ครุใน

สัญญาการก่อสร้าง[แก้]

สัญญาที่ เนื้องาน มูลค่า
(ล้านบาท)
ผู้ชนะการประมูล ความคืบหน้า (ภาพรวม 26.26% ณ เดือน มกราคม 2567[12]
1 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างโครงสร้างส่วนใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ
ระยะทาง 4.9 กม. (3.04 ไมล์)
19,433 กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล
(บมจ. ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น)
34.08%
2 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างโครงสร้างส่วนใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า
ระยะทาง 2.3 กม. (1.43 ไมล์)
15,880 กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล
(บมจ. ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น)
32.28%
3 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างโครงสร้างส่วนใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ
ระยะทาง 3.1 กม. (1.93 ไมล์)
15,109.39 กิจการร่วมค้าไอทีดี-เอ็นดับบลิวอาร์ เอ็มอาร์ที
(บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ)
24.13%
4 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างโครงสร้างส่วนใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง
ระยะทาง 4.0 กม. (2.49 ไมล์)
14,982 บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 26.46%
5 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน
ระยะทาง 9.3 กม. (5.78 ไมล์)
รวมงานก่อสร้างอาคารจอดรถไฟฟ้า และอาคารจอดแล้วจร
13,139.88 บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 12.49%
6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบราง 3,591.36 บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 12.57%
7 งานระบบรถไฟฟ้า (เตาปูน-ครุใน)

โครงการส่วนเหนือ (บางใหญ่-บางบัวทอง)[แก้]

โครงการช่วงบางใหญ่-บางบัวทอง เป็นแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่ได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อบรรจุลงในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่ 2 หรือ M-Map Phase 2 ซึ่งโครงการส่วนนี้จะมีระยะทาง 3.7 กิโลเมตร ต่อขยายจากปลายสายบริเวณสถานีคลองบางไผ่ ให้ไปบรรจบกับรถไฟฟ้า ช่วงปากเกร็ด-กาญจนาภิเษก บนถนนกาญจนาภิเษก ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวเคยได้รับการพิจารณาในช่วงสมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของเมืองในพื้นที่อำเภอบางบัวทอง

ส่วนต่อขยายอื่น ๆ[แก้]

แต่หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนต่อขยายเพิ่มเติมทั้ง 2 ช่วงก็ไม่มีความคืบหน้า มีความเคลื่อนไหวเฉพาะช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน เท่านั้น

  • เส้นทางช่วงถนนบางกรวย-ไทรน้อย ระยะทาง 2 กิโลเมตรจากสถานีคลองบางไผ่ ตามข้อเสนอของผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีในเวลานั้น เพื่อรองรับประชาชนอำเภอไทรน้อย อำเภอบางเลน และจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ภายหลังก็ถูกพับโครงการไป[13][14][15]

การให้บริการ[แก้]

ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า[แก้]

ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM (บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เดิม) ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลโครงการสายสีม่วงตามสัญญาที่ 4 งานระบบรถไฟฟ้า หลังจากที่เสนอราคางานเดินรถต่ำกว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ถึง 16,000 ล้านบาท โดยขอบเขตงานตามสัญญาดังกล่าว BEM ต้องรับผิดชอบในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ซึ่ง BEM ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้ามารุเบนิและโตชิบา จัดหาขบวนรถไฟฟ้าเจเทรค ซัสตินา จำนวน 21 ขบวน และว่าจ้าง บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชัน ซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ระบบ Cityflo 650 และระบบ Optiflo เพื่อส่งมอบให้ทาง รฟม. ใช้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตามในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ กลับเกิดข้อกังขาขึ้นในส่วนของการเดินรถระหว่างสถานีบางซื่อ-เตาปูน เนื่องจากผู้รับสัมปทานเดิมของสายเฉลิมรัชมงคลคือ BEM ไม่ยอมรับข้อเสนอในการรวมสถานีเตาปูนเข้าเป็นสถานีตามสัญญาสัมปทานและให้หมดอายุสัมปทานพร้อมกันที่ พ.ศ. 2572 เนื่องจาก BEM มองว่าระยะเวลาดังกล่าวไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเปลี่ยนระบบ ทำให้เกิดช่องโหว่ของการเชื่อมต่อระบบขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหา คณะรัฐมนตรีจึงเสนอให้เปิดประมูลงานระบบรถไฟฟ้าของส่วนต่อขยายขึ้น โดยให้รวมสถานีเตาปูนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้ และกำหนดว่าเมื่อได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ผู้ชนะจะต้องวางระบบเพื่อเดินรถ และเปิดระบบให้ BEM สามารถเดินรถในช่วง บางซื่อ-เตาปูน ภายในปีแรกตามสัญญาก่อน แล้วจึงเดินรถทั้งสายเมื่อเสร็จสิ้นโครงการในปี พ.ศ. 2562 ต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามกลับมีการใช้มาตราที่ 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในการออกคำสั่งให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินการเจรจาโดยตรงกับ BEM ว่าด้วยเรื่องของการมอบสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้งสองส่วน และเร่งดำเนินการในส่วนบางซื่อ-เตาปูน ให้เร็วที่สุด โดยผลการเจรจาเป็นอันว่า BEM ตกลงรับสัมปทานโครงการในรูปแบบ PPP-Net Cost ทั้งสองส่วน และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผลการเจรจาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560 และได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทานฉบับใหม่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในส่วนบางซื่อ-เตาปูน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม. มีมติเสนอให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนใต้อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการลงทุนแบบ PPP-Gross Cost ที่โครงการและสิทธิ์การจัดเก็บค่าโดยสารยังเป็นของ รฟม. ด้วยเหตุผลว่าโครงการส่วนใต้ไม่มีศูนย์ซ่อมบำรุงแยก และระบบต้องใช้ระบบเดิมของสายสีม่วงเหนือที่เอกชนรายเดิมได้ติดตั้งไว้ หากเป็นเอกชนรายอื่นเข้าดำเนินการ อาจทำให้ระบบเกิดปัญหาได้ ประกอบกับที่ผ่านมานโยบายหนึ่งสายหนึ่งผู้ให้บริการของรัฐบาลก่อนหน้า ที่ใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็แสดงผลสำเร็จอย่างชัดเจนว่าเอกชนสามารถเดินรถได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีข้อกังขาใด ๆ และค่าโดยสารสามารถควบคุมได้ ไม่มีเกินกำหนด ฉะนั้นในการนี้ รฟม. จะเสนอใหั BEM เป็นเอกชนผู้รับสิทธิ์เดินรถอย่างต่อเนื่องแทนการเปิดประมูลใหม่ คาดว่าจะเจรจากับเอกชนแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569 ก่อนโครงการเสร็จสมบูรณ์

การให้บริการปกติ[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม เปิดให้บริการเดินรถในแต่ละสถานีไม่เท่ากัน โดยเริ่มเดินรถขบวนแรกในเวลา 05.30 น. จากสถานีคลองบางไผ่ และในเวลา 06.00 น. จากสถานีเตาปูน โดยความถี่การเดินรถจะขึ้นอยู่กับเวลา และความหนาแน่นของผู้โดยสาร แต่เวลาปิดให้บริการจะยึดจากรถไฟฟ้าขบวนสุดท้ายมุ่งหน้าสถานีคลองบางไผ่เคลื่อนออกจากสถานี กล่าวคือเมื่อรถไฟฟ้าขบวนสุดท้ายออกจากสถานีเตาปูนในเวลา 23.24 น. ก็จะเป็นเวลาปิดสถานี ไล่ไปจนถึงสถานีตลาดบางใหญ่เป็นสถานีสุดท้าย ก็จะเป็นเวลาปิดให้บริการของระบบ

คนพิการ[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม เป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าที่สนับสนุนโยบายภาครัฐในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ถือบัตรผู้พิการ โดยไม่คิดค่าโดยสารกับผู้ถือบัตรผู้พิการที่ออกโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องแจ้งความประสงค์ในการใช้บริการผ่านระบบโทรศัพท์ภายในบริเวณทางเข้าสถานี หรือผ่านศูนย์ข้อมูลผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อให้พนักงานในสถานีส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นมารับผู้โดยสาร จากนั้นผู้โดยสารจะต้องแจ้งสถานีปลายทางที่จะเดินทาง เพื่อประสานงานในการรับส่งผู้โดยสาร ณ สถานีปลายทางต่อไป หากแต่ผู้โดยสารประสงค์ที่จะเปลี่ยนสถานีกลางคัน ก็พึงทำได้โดยแจ้งพนักงานขับรถไฟฟ้าผ่านระบบอินเตอร์คอมภายในขบวนรถไฟฟ้า

ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม สนับสนุนนโยบายลดค่าครองชีพของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ โดยสามารถโดยสารรถไฟฟ้ามหานครได้ฟรีโดยมีงบค่าโดยสารภายในบัตร 500 บาทต่อเดือน ผู้ที่ถือบัตรเวอร์ชัน 2.5 (มีตราสัญลักษณ์แมงมุมที่ด้านหลังบัตร) สามารถนำบัตรดังกล่าวไปเปิดใช้งานได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือสายเฉลิมรัชมงคล เพียงครั้งเดียว ก็สามารถนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ ใบนั้นไปแตะเข้าสู่ระบบได้ทันที ทั้งนี้วงเงินดังกล่าวสามารถติดลบได้เหมือนกับบัตรแมงมุมทั่วไป และจะหักออกจากงบ 500 บาท เมื่อถึงวันตัดรอบบัญชี แต่สำหรับผู้ถือบัตรเวอร์ชัน 3.0 และ 4.0 (มีตราสัญลักษณ์พร้อมท์การ์ดที่ด้านหลังบัตร) สามารถนำบัตรดังกล่าวไปออกเหรียญโดยสารเที่ยวเดียวได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร หากใช้บริการเกินวงเงิน เจ้าหน้าที่จะออกเหรียญโดยสารมูลค่าต่ำสุด (14 บาท) ให้ใช้เดินทาง และต้องชำระส่วนต่างที่สถานีปลายทางก่อนออกจากระบบ

อัตราค่าโดยสาร[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม มีอัตราค่าโดยสารเรียกเก็บตามปกติที่ 14-42 บาท คิดตามระยะทางจากสถานีต้นทางไปยังสถานีปลายทาง (ยกเว้นสถานีเตาปูนที่มีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาท ตามอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)) และมีส่วนลดพิเศษสำหรับบัตรโดยสารประเภทนักเรียน นักศึกษา 10% จากราคาปกติที่ 13-38 บาท และส่วนลดพิเศษสำหรับบัตรและเหรียญโดยสารประเภทเด็ก และผู้สูงอายุ 50% จากราคาปกติที่ 7-21 บาท

อนึ่ง รฟม. มีตัวเลือกอัตราค่าโดยสารแบบเที่ยวเดินทางให้เลือกใช้สำหรับผู้ที่ใช้บริการ โดยมีอัตราเหมาจ่ายเป็นจำนวนเที่ยวตั้งแต่ 15-60 เที่ยว ในราคา 450-1,200 บาท เฉลี่ยอยู่ที่เที่ยวละ 20-30 บาท เที่ยวเดินทางมีอายุการใช้งาน 30 วัน สำหรับราคา 450-1,100 บาท และ 60 วัน สำหรับราคา 1,200 บาท และมีอายุก่อนการใช้งาน 45 วันนับจากวันที่ซื้อเที่ยวเดินทาง ทั้งนี้เที่ยวเดินทางดังกล่าวไม่สามารถใช้เดินทางในสายเฉลิมรัชมงคลได้ โดยผู้โดยสารที่ใช้เที่ยวเดินทางของสายฉลองรัชธรรม จะต้องชำระค่าโดยสารของสายเฉลิมรัชมงคลนับจากสถานีเตาปูนไปยังสถานีปลายทางในระยะทางสั้นที่สุดแบบเต็มจำนวนโดยไม่ได้รับการหักลบค่าธรรมเนียมแรกเข้า เช่น เดินทางจากสถานีคลองบางไผ่ ไปยังสถานีสวนจตุจักร จะต้องชำระค่าโดยสารเป็นจำนวน 1 เที่ยวเดินทาง และเงินสด 21 บาท

ทั้งนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รวมถึงรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง เป็นระบบรถไฟฟ้าที่เก็บค่าโดยสารโดยคิดอัตราค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามระหว่างสาย โดยผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายจะต้องชำระค่าโดยสารโดยคำนวณจากอัตราค่าโดยสารของสายเฉลิมรัชมงคล บวกกับอัตราค่าโดยสารของสายฉลองรัชธรรม (จากสถานีต้นทางและปลายทางจนถึงสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทาง) หักลบด้วยค่าธรรมเนียมแรกเข้า 14 บาท ทำให้อัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 70 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสาย และยังมีค่าโดยสารแบบเที่ยวเดินทาง Multiline Pass ในอัตราเหมาจ่ายเป็นจำนวนเที่ยวตั้งแต่ 15-50 เที่ยว ในราคา 810-2,250 บาท เฉลี่ยอยู่ที่เที่ยวละ 45-54 บาท มีอายุการใช้งาน 30 วัน และมีอายุก่อนการใช้งาน 45 วัน เช่นเดียวกับเที่ยวเดินทางของสายฉลองรัชธรรม กรณีเดินทางข้ามไปยังสายสีเหลือง (จากสถานีลาดพร้าว) หรือข้ามไปยังสายสีชมพู (จากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี) ผู้โดยสารจำเป็นต้องใช้งานบัตรเครดิตตามมาตรฐาน EMV แตะออกระบบที่ สถานีลาดพร้าว หรือ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี แล้วแตะกลับเข้าระบบใหม่อีกครั้งภายในเวลา 30 นาที ผู้โดยสารจะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าของสายสีเหลืองหรือสายสีชมพู 15 บาท แต่ยังคงต้องชำระค่าโดยสารตามระยะทาง สูงสุด 30 บาท รวมสูงสุด 84 บาท

ในกรณีเดินทางข้ามสายไปยังระบบสายสีแดง ผู้โดยสารจำเป็นต้องใช้งานบัตรเครดิตตามมาตรฐาน EMV แตะออกระบบที่ สถานีบางซ่อน แล้วแตะกลับเข้าระบบใหม่อีกครั้งภายในเวลา 10 นาที ถึงจะได้รับการหักค่าธรรมเนียมแรกเข้าเมื่อเดินทางข้ามสาย ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องชำระค่าโดยสารโดยคำนวณจากอัตราค่าโดยสารของสายสีแดง บวกกับอัตราค่าโดยสารของสายฉลองรัชธรรม (จากสถานีต้นทางและปลายทางจนถึงสถานีบางซ่อน ซึ่งเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทาง) หักลบด้วยค่าธรรมเนียมแรกเข้า 14 บาท ทำให้อัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 70 บาท

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 มีมติเห็นชอบหลักการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเหลือสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยนำร่องที่รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง โดยจะจัดเก็บอัตราค่าโดยสารที่ 14-20 บาท ในกรณีเดินทางภายในสายสีม่วงหรือข้ามไปสายสีแดง หรือสูงสุดที่ 49 บาท กรณีเดินทางข้ามไปสายสีน้ำเงิน และ 62 บาท กรณีเดินทางข้ามไปสายสีเหลืองหรือสายสีชมพู รวมถึงยกเลิกการจำหน่ายเที่ยวโดยสารเหมาจ่าย และเที่ยวโดยสาร Multiline Pass ลงชั่วคราว ทั้งนี้จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงจากกระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง[16]

สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม[แก้]

  1. สำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี และ/หรือ ไม่เกินวันเกิดอายุครบ 14 ปี และมีช่วงความสูงไม่เกิน 90 ซม. ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร
  2. ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ/หรือตั้งแต่วันเกิดอายุครบ 60 ปี จะได้รับสิทธิลดหย่อนค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้สูงอายุทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ถึง 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
  3. สำหรับประชาชนทุกคนในโอกาสวันสำคัญทางราชการเช่นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ฯลฯ โดยสารรถไฟฟ้าโดย ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร ตามเวลา ที่ประกาศกำหนด
  4. สำหรับประชาชนทุกคนในพิธีการสำคัญระดับประเทศ เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯลฯ โดยสารรถไฟฟ้าโดย ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร ตามเวลา ที่ประกาศกำหนด
  5. สำหรับประชาชนที่เป็นบิดาหรือมารดาในวันพ่อแห่งชาติ และวันแม่แห่งชาติ
  6. ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปได้รับการยกเว้นค่าโดยสารช่วงวันสงกรานต์ 13-15 เมษายน

อาคารจอดแล้วจร[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมมีบริการอาคารจอดรถและจุดจอดรถจักรยานยนต์ ได้แก่ อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง คือ

  1. บริเวณสถานีคลองบางไผ่ อยู่ใต้อาคารศูนย์ซ่อมบำรุง (1,800 คัน)
  2. สถานีสามแยกบางใหญ่ (1,772 คัน)
  3. สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ (1,244 คัน)
  4. สถานีแยกนนทบุรี 1 (470 คัน)

และในอนาคต เมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายด้านใต้ จะมีเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ บริเวณสถานีบางปะกอก 2 อาคาร ได้แก่ อาคาร 1 (368 คัน) และอาคาร 2 (187 คัน) (รวม 2 อาคาร 555 คัน) และสถานีราษฎร์บูรณะ 2 อาคาร ได้แก่ อาคาร 1 (495 คัน) และอาคาร 2 (864 คัน) (รวม 2 อาคาร 1,359 คัน) รวมมีอาคารจอดแล้วจรทั้งสิ้น 6 แห่ง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พิธีเปิดการเดินรถ และกดปุ่มเปิดระบบรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
  2. ในหลวงพระราชทานชื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง "ฉลองรัชธรรม"
  3. พิธีเปิดการเดินรถ และกดปุ่มเปิดระบบรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
  4. 4.0 4.1 เอกสารโครงการศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล : การสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 จัดโดย สนข.
  5. 5.0 5.1 รื้อแนวรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ คาดสร้าง ปี58 เสร็จ ปี62
  6. "โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพู โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-13. สืบค้นเมื่อ 2009-05-07.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 "โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-20. สืบค้นเมื่อ 2009-05-07.
  8. 8.0 8.1 "11 คำถาม - คำตอบ เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-16. สืบค้นเมื่อ 2007-12-09.
  9. Bangkok Purple Line E&M contract signed
  10. Japan group to build train system in Bangkok: report
  11. เส้นทาง รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม
  12. อัปเดตความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง
  13. สายสีม่วงจ่อถึงบางกรวย-ไทรน้อย งบสร้างรถไฟฟ้าสีเขียวบานเท่าตัว-ชงครมอีกรอบ
  14. ไทรน้อยลุ้น รฟมขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง
  15. รฟม.เผยรถไฟฟ้าสีม่วงคืบหน้า 50% ลุ้นเสร็จตามแผน รับศึกษาถึงไทรน้อย
  16. "เริ่มวันนี้! รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่อง 2 เส้นทาง". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 16 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]