กสท โทรคมนาคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กสท. โทรคมนาคม)
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
CAT Telecom Public Company Limited

ตึกแคท ทาวเวอร์ (CAT Tower) (หรือเอ็นทีบางรัก ในปัจจุบัน) ที่ทำการของ กสท โทรคมนาคม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าไอคอนสยาม
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง14 สิงหาคม พ.ศ. 2546
หน่วยงานก่อนหน้า
  • การสื่อสารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2520 - 2546)
ยุบเลิก7 มกราคม พ.ศ. 2564 (17 ปี)
หน่วยงานสืบทอด
สำนักงานใหญ่99 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พลเอก สุชาติ ผ่องพุฒิ, ประธานกรรมการ
  • อำนวย ปรีมนวงศ์, รองประธานกรรมการ
  • พันเอก ผศ.ดร. สรรพชัย หุวะนันทน์, กรรมการผู้จัดการใหญ่
ต้นสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เว็บไซต์http://www.cattelecom.com

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรูปบริษัทมหาชน จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคมของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2519

กสท โทรคมนาคม ทำหน้าที่ดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งในและระหว่างประเทศ ในอดีต ก.ส.ท. ยังทำหน้าที่ให้บริการกิจการไปรษณีย์เพิ่มด้วย โดยรับโอนกิจการเกือบทั้งหมดมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่ต่อมามีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จึงได้แยกกิจการไปรษณีย์ออกไปจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่วนกิจการโทรคมนาคมได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นในชื่อ กสท โทรคมนาคม

กสท โทรคมนาคม ได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคมมาเป็นระยะเวลา 45 ปี จึงได้มีการควบรวมกิจการกับทีโอที เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

ประวัติ[แก้]

ยุคการสื่อสารแห่งประเทศไทย[แก้]

การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Communications Authority of Thailand (CAT.) เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2519[1] เพื่อดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของทั้งกิจการไปรษณีย์และกิจการโทรคมนาคม โดยรับโอนกิจการทั้งหมดมาดำเนินงานต่อจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ยกเว้นสำนักงานเลขานุการกรม กองสื่อสารระหว่างประเทศ กองแผนงาน และสำนักงานบริหารความถี่วิทยุ[1]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จึงได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม[2] โดยได้แยกกิจการไปรษณีย์และกิจการโทรคมนาคมออกจากกัน โดยกิจการไปรษณีย์ได้จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และรวมกิจการไปรษณีย์ในส่วนที่สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมรับโอนมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขก่อนหน้านี้ด้วย ส่วนกิจการโทรคมนาคมได้มีการจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นในชื่อ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ยุคบริษัทหลังการแปรรูป[แก้]

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: CAT Telecom Public Company Limited ตัวย่อ CAT) จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546 หลังการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งในและระหว่างประเทศ

ทุนในการจดทะเบียนประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 และได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป สามารถบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกับบริษัทเอกชนได้เต็มรูปแบบ รวมทั้งกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่แล้วก็ไม่ได้มีการกระจายหุ้นแต่อย่างใด โดยเป็นกระทรวงการคลังถือหุ้นไว้ 100% ตราบจนกระทั่งควบรวมกิจการ[3]

ควบรวมกิจการกับทีโอที[แก้]

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563 อนุมัติให้ กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการกับทีโอที เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ และให้บริษัทแห่งใหม่มีพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายของรัฐในการพัฒนาระบบดิจิทัลต่อไป โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด 100% ตามเดิม[4] และได้ดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564[5][6]

ตราสัญลักษณ์[แก้]

กสท โทรคมนาคม เปลี่ยนมีสัญลักษณ์มาแล้ว 4 แบบ นับตั้งแต่เป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2519 ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ของกสท โทรคมนาคม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ตราราชการของ การสื่อสารแห่งประเทศไทย มีความหมายดังนี้[7]:
    • แตรงอน หมายถึง สัญลักษณ์ระบบการสื่อสารที่เป็นสากล
    • พระมหามงกุฎ แสดงความเป็นหน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคม (ในขณะนั้น) ให้บริการเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519
    • รัศมี 19 แฉก แทนปี พุทธศักราช ที่ก่อตั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย
  • ด้านเครื่องหมายการค้าของ กสท. มีความหมายดังนี้[7]:
    • รูปซองจดหมายสีแดงและสายฟ้าฟาดสีน้ำเงิน แสดงถึงกิจการของ กสท. ทั้งไปรษณีย์และโทรคมนาคม

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519
  2. "พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-05-03. สืบค้นเมื่อ 2012-01-16.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-21. สืบค้นเมื่อ 2015-08-05.
  4. สนุก.คอม (14 มกราคม 2563). "ครม.ไฟเขียว ควบรวม "CAT-TOT" เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติภายใน 6 เดือน". www.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "7ม.ค.64 จดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ". ฐานเศรษฐกิจ. 2020-12-18. สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "รมว.ดีอีเอสจุดพลุควบรวมตั้ง'NT'รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของไทยสำเร็จ". ไทยโพสต์. 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  7. 7.0 7.1 สัญลักษณ์และความเป็นมาขององค์กร - เว็บไซต์เก่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]