องค์การสุรา กรมสรรพสามิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
องค์การสุรา กรมสรรพสามิต
The Liquor Distillery Organization
ตราสัญลักษณ์
เครื่องหมายการค้า
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง25 กันยายน พ.ศ. 2506; 60 ปีก่อน (2506-09-25)
สำนักงานใหญ่67 หมู่ที่ 4 ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา 24110
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • อัครุตม์ สนธยานนท์, ประธานกรรมการ
  • สิริพร ธนนันทนสกุล, รองประธานกรรมการ
  • จิติธาดา ธนะโสภณ, รองประธานกรรมการ
  • สัญชัย ชาสมบัติ, ผู้อำนวยการ
  • สุริยา วงทะนี, รองผู้อำนวยการ
  • สมควร จารุสมบัติ, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
เว็บไซต์www.liquor.or.th

องค์การสุรา กรมสรรพสามิต (อังกฤษ: The Liquor Distillery Organization) เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2506 ในรัฐบาลสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อดำเนินการตามนโยบายพิเศษ ทางด้านพาณิยชกรรมและอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ เดิมมีทั้งหมด 6 สาขา คือ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท สระบุรี นครราชสีมา ลพบุรี และกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่

ประวัติ[แก้]

องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ได้จัดตั้งโรงงานผลิตสุราและผลิตภัณฑ์จากวัตถุพลอยได้จากการผลิตสุรา หรือผลิตภัณฑ์อันเป็นอุปกรณ์ในการผลิตสุรา เพื่อหารายได้ให้รัฐ ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกันหรือต่อเนื่องกับการผลิต รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่าย

องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ได้จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งที่ 24367/2506 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2506 ให้จัดตั้งองค์การสุรา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภท 2 ซึ่งไม่เป็นนิติบุคคล[1] มีคณะกรรมการบริหารกิจการซึ่งประกอบด้วย อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นประธานกรรมการและรองอธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นรองประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 11 คน รวมทั้งผู้แทนกระทรวงการคลัง 1 คน ผู้อำนวยการองค์การสุราเป็นกรรมการ และเลขานุการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ต่อมาเหลือเพียง 3 ปี ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518

คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การสุรา มีหน้าที่ควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การสุรา กำหนดนโยบายและวิจัย ของพนักงานองค์การสุรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจควบคุมกิจการทั่วไปขององค์การสุรา และมีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนและกำหนดเงินเดือนของผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการและดำเนินกิจการขององค์การสุราให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับและระเบียบแบบแผนที่คณะกรรมการบริการกิจการกำหนดไว้ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง

องค์การสุรา มีสำนักงานอยู่เลขที่ 1488 ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในบริเวณกรมสรรพสามิต มีโรงงานดำเนินการผลิตสุราและแอลกอฮอล์ อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้เริ่มย้ายไปผลิต ณ โรงงานสุรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2540 และยังมีโรงงานสาขาอีก 4 โรงคือ โรงงานสาขานครราชสีมา โรงงานสาขาสระบุรี โรงงานสาขาลพบุรี และโรงงานสาขาชัยนาท

การส่งมอบโรงงานสุราจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคืนแก่กรมธนารักษ์[แก้]

โรงงานสุราขององค์การสุรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ประมาณ 199 ไร่ได้ดำเนินการผลิตสุราขาว-ผสม ต่อมาจึงดำเนินการผลิตแต่เพียง แอลกอฮอล์ หรือสุราสามทับเพียงอย่างเดียว สุราสามทับนี้เป็นสุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป ทั้งนี้องค์การสุรา เป็นผู้ได้สิทธิพิเศษในการผูกขาดการผลิต และจำหน่ายแอลกอฮอล์ในประเทศแต่เพียงผู้เดียว เพราะถือว่าเป็นสินค้ายุทธปัจจัยตามกฎหมาย

โรงงานสุราจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีกำลังการผลิต 40,000 ลิตรต่อวัน ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาลเป็นหลัก ผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่อุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ต้องใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เช่น อุตสาหกรรมการผลิตสี และการใช้ในธุรกิจสถานพยาบาลต่าง ๆ ปัจจุบันความต้องการใช้แอลกอฮอล์ภายในประเทศมีประมาณ 50,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งการผลิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายสุราที่องค์การสุรามีข้อผูกพันจำหน่ายให้กับ ผู้ขายส่งในเขต 8 จังหวัด กรมสรรพสามิตจึงจัดทำข้อตกลงให้กลุ่มบริษัทสุราทิพย์ จำกัด ทำการผลิตสุราขาวบรรจุขวดจำหน่ายแทนโดยมอบผลประโยชน์เป็นรายเดือน เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนให้กับองค์การสุรา

โรงงานสุราที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มหยุดผลิตมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2536 ให้เความเห็นชอบกับแผนแม่บท นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โรงงานสุราอยุธยาซึ่งถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ที่เป็นนครประวัติศาสตร์ ต้องดำเนินการย้ายออกจากพื้นที่เดิมภายในปี พ.ศ. 2539 องค์การสุราได้เสนอขออนุมัติสร้างโรงงานผลิตสุราแห่งใหม่ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นมีนโยบายไม่ให้ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ แต่ให้ขอโรงงานสุรากรมสรรพสามิตบางแห่งคืน จากกลุ่มสุราทิพย์ จำกัด โดยมอบหมายให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ดำเนินการเจรจา ในที่สุดองค์การสุราได้รับมอบโรงงานสุรา กรมสรรพสามิต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อทดแทนโรงงานเดิมโดยแลกเปลี่ยนกับโรงานสาขาขององค์การสุรา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็ได้ทำการเคลื่อนย้ายบางส่วนของโรงงานเดิม และปรับปรุงพื้นที่เพื่อส่งมอบคืนให้แก่กรมธนารักษ์ และองค์การมรดกโลก

โรงงานแห่งใหม่จังหวัดฉะเชิงเทรา[แก้]

โรงงานสุรา กรมสรรพสามิต จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ ณ อำเภอบางคล้า มีเนื้อที่ประมาณ 164 ไร่ มีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 ลิตรต่อวัน เดิมเป็นโรงงานผลิตสุราขาวหนึ่งในจำนวน 12 โรง ของกลุ่มสุราทิพย์ (มหาชน) จำกัด ซึ่งได้สร้างไว้ตามเงื่อนไขของการได้รับสัมปทาน ทางองค์การสุราพยายามปรับปรุงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสุราสามทับ หรือแอลกอฮอล์ให้เป็น 60,000 ลิตรและ 100,000 ลิตรต่อวันตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนองตอบต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และเป็นการเตรียมพร้อมในการขยายตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศในอนาคต

องค์การสุรามีแผนงานหลายด้านในการปรับปรุง และพัฒนาการผลิตแอลกอฮอล์ในอนาคต เช่น การเปลี่ยนการใช้วัตถุดิบ จากกากน้ำตาลมาเป็นมันสำปะหลัง การเปลี่ยนระบบการผลิตให้ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ การแปรสภาพองค์การสุราให้เป็นนิติบุคคล[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศองค์การสุรา กรมสรรพสามิต เรื่อง โครงสร้างและการจัดองค์กร อำนาจหน้าที่ วิธีการดำเนินการ และสถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารขององค์การสุรา
  2. "ความคืบหน้าการแปรรูปองค์การสุรา เป็นนิติบุคคล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-01. สืบค้นเมื่อ 2011-04-05.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]