บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
Financial Institution Asset Management Corporation
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง25 ตุลาคม พ.ศ. 2540; 26 ปีก่อน (2540-10-25)
ยุบเลิก9 มกราคม พ.ศ. 2550; 17 ปีก่อน (2550-01-09)
ต้นสังกัดกระทรวงการคลัง

บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (อังกฤษ: Financial Institution Asset Management Corporation) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดย พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 [1] เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและเพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ดำเนินงานของสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่ง ที่ประสบปัญหาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไทย โดยกำหนดให้เป็นองค์กรที่ซื้อและรับโอนทรัพย์สินด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินดังกล่าว เพื่อนำมาบริหารจัดการและจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป โดยมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือลูกหนี้คนไทยที่สุจริตให้ได้รับความเป็นธรรมและผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี ขณะเดียวกันบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน จะหลีกเลี่ยงการขาดทุนและพยายามสร้างผลกำไรนำส่งคืนให้รัฐ เพื่อชดเชยความเสียหายจากปัญหาสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ

หน้าที่ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน[แก้]

มี 3 ประการ คือ

  1. การเข้าประมูลซื้อสินทรัพย์จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)
  2. การบริหารจัดการสินทรัพย์ เป็นการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้และภายหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้แล้วบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินได้ชำระหนี้ด้วยการผ่อนชำระเป็นเงินสด หรือทรัพย์สินจากการโอนตีหลักประกัน ซึ่งเมื่อโอนมาแล้ว บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินจะจัดการให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพที่พร้อมจะนำออกแสวงหาผลประโยชน์ต่อไป
  3. การจำหน่ายทรัพย์สิน เป็นการนำทรัพย์สินที่รอการขายออกจำหน่าย โดยบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน มีกลยุทธ์เชิงรุกด้วยแผนการจำหน่ายและเทคนิคการขายหลายรูปแบบทั้งการขายแบบเจาะจงหรือขายตรงโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด การขายผ่านตัวแทนนายหน้าทั่วประเทศ การจัดทำโครงการกิจการร่วมทำ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง

การยุบเลิกกิจการ[แก้]

บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินถูกยกเลิกตาม พระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๙ [2] โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดเหตุผลในการยกเลิกว่า ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินของประเทศมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแล้ว เพื่อเป็นการลดภาระของภาครัฐ ในการจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินและให้สถาบันการเงินมีบทบาทในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโดยระบบปกติ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งในระบบสถาบันการเงิน จึงสมควรยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและกำหนดวิธีจัดการทรัพย์สินต่อไป

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2540ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 60ก วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2540
  2. พระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๙ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 2ก วันที่ 8 มกราคม 2550

ดูเพิ่ม[แก้]