ไปรษณีย์ไทย (บริษัท)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ประเภทรัฐวิสาหกิจ
อุตสาหกรรมขนส่ง
ก่อนหน้าการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.)
ก่อตั้ง4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 (140 ปี)
สำนักงานใหญ่
พื้นที่ให้บริการ
ประเทศไทย
บุคลากรหลัก
รัฐพล ภักดีภูมิ
(ประธานกรรมการ)
พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง
(รองประธานกรรมการ) ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์
(กรรมการผู้จัดการใหญ่)
รายได้เพิ่มขึ้น 27,163 ล้านบาท (2562)[1]
รายได้สุทธิ
เพิ่มขึ้น 2,039 ล้านบาท (2562)[1]
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 31,704 ล้านบาท (2562) [2]
เจ้าของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เว็บไซต์www.thailandpost.co.th

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย ซึ่งแปรรูปมาจาก การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.)

ประวัติ[แก้]

ยุคเริ่มก่อตั้ง[แก้]

ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกในกรุงเทพฯ สร้างเมื่อปี 2426

ระบบไปรษณีย์ของประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการไปรษณีย์ในสมัยแรกคือ กรมไปรษณีย์ เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก ณ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไปรษณียาคาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลองโอ่งอ่าง ปัจจุบันรื้อทิ้งเพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้า

ในระยะแรกที่ให้บริการ ครอบคลุมเฉพาะกรุงเทพเท่านั้น เมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 จึงเริ่มขยายไปต่างจังหวัดโดยเปิดที่ทำการไปรษณีย์ที่สมุทรปราการและนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง ในปัจจุบัน) และขยายต่อจนถึงเชียงใหม่ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ส่วนบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เริ่มเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์

บุรุษไปรณีย์สยามของกรมไปรษณีย์ เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก

ในปี พ.ศ. 2441 กรมไปรษณีย์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข หลังจากมีการควบรวมกรมไปรษณีย์เข้ากับกรมโทรเลข ซึ่งดูแลงานด้านโทรเลข เมื่อ พ.ศ. 2483 ได้มีการเปิด ที่ทำการไปรษณีย์กลาง ขึ้นบนถนนเจริญกรุง เขตบางรัก และใช้เป็นที่ทำการของกรมไปรษณีย์โทรเลข

ยุครัฐวิสาหกิจ[แก้]

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ได้แยกงานบางส่วนออกจากกรมไปรษณีย์โทรเลข และจัดตั้งมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ใช้ชื่อว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท)[3]

และเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546[4] มีการปรับโครงสร้างอีกครั้งตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยแยกการสื่อสารแห่งประเทศไทย ออกเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยไปรษณีย์ไทยดูแลบริการด้านไปรษณีย์ทั้งหมด รวมถึงรับจ้างให้บริการโทรเลขจาก กสท โทรคมนาคม จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551[5]

สินค้าและบริการ ของ บริษัทไปรษณีย์ไทย[แก้]

  • บริการไปรษณีย์ เช่น ไปรษณีย์ในประเทศ และ ไปรษณีย์ระหว่างประเทศ
  • บริการขนส่ง เช่น ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ โลจิสโพสต์ พัสดุไปรษณีย์ ไปรษณีย์ครบวงจร และ บริการกล่องเหมาจ่าย
  • บริการการเงิน เช่น ธนาณัติออนไลน์ บริการชำระเงินผ่านบริการไปรษณีย์ ฯลฯ
  • บริการค้าปลีก เช่น อร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์
  • สินค้าไปรษณีย์ เช่น กล่อง ซอง ของที่ระลึก
  • ตราไปรษณียากรและสิ่งสะสม (แสตมป์)
  • น้ำดื่มไปร (Prai Water)

ที่ทำการไปรษณีย์[แก้]

ปณฝ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ที่ทำการไปรษณีย์เคยมีการให้บริการด้านโทรเลขด้วย ดังนั้นในอดีตจึงใช้คำว่า ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข แทน แต่หลังจากที่งานด้านโทรเลขแยกไปอยู่กับ กสท โทรคมนาคม จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า ที่ทำการไปรษณีย์ ที่ทำการไปรษณีย์มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับหน้าที่และบริการของแต่ละแห่ง ตัวอย่างเช่น

  • ศูนย์ไปรษณีย์ (ศป., mail centre) มีหน้าที่หลักคือ รวบรวมจดหมาย และพัสดุจากที่ทำการไปรษณีย์ต่าง ๆ มาคัดแยก และส่งต่อ หมายถึงส่งไปที่ทำการปลายทาง หรือส่งต่อไปภูมิภาคอื่น ๆ ทางรถยนต์ รถไฟ หรือ เครื่องบิน ตัวอย่างเช่น ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพ ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น
  • ศูนย์รับฝากไปรษณีย์จำนวนมาก (ศฝ., bulk mail centre) คือไปรษณีย์ที่เน้นรับจดหมายจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีไปรษณีย์ภัณฑ์จำนวนมากแล้วส่งต่อไปยังศูนย์ไปรษณีย์
  • ที่ทำการไปรษณีย์ศูนย์กลางจ่าย (ปณศ., delivery post office) หรือ ที่ทำการไปรษณีย์รับจ่าย (ปณจ.) มีหน้าที่ รับฝาก คือ รวบรวมจดหมายจากตู้ไปรษณีย์และจากประชาชนที่มาฝากส่งที่ไปรษณีย์แล้ว ส่งต่อ ไปยังศูนย์ไปรษณีย์ และ นำจ่าย คือรับจดหมายที่มีปลายทางในเขตที่รับผิดชอบจากศูนย์ไปรษณีย์ให้บุรุษไปรษณีย์ไปส่งตามที่อยู่ ที่ทำการลักษณะนี้มักมีรหัสไปรษณีย์ที่ลงท้ายด้วยเลขศูนย์
  • ที่ทำการไปรษณีย์รับฝาก (ปณฝ., non-delivery post office) มีหน้าที่ รับฝาก คือ รับจดหมายจากประชาชนที่มาใช้บริการที่ไปรษณีย์หรือจากตู้ไปรษณีย์เท่านั้น มักมีรหัสไปรษณีย์ที่ลงท้ายด้วยเลขอื่นที่ไม่ใช้ศูนย์
  • ที่ทำการไปรษณีย์สาขา (ปณส., branch post office) หน้าที่คล้าย ปณฝ. แต่ขึ้นกับ ปณจ. แทนที่จะทำงานเป็นเอกเทศ จดหมายที่รวบรวมได้ทั้งหมดจะส่งต่อไปยัง ปณจ. ต้นสังกัดอีกทีหนึ่ง ไม่มีรหัสไปรษณีย์ของตัวเอง (ใช้รหัสของ ปณจ. ต้นสังกัด) และไม่เปิดให้บริการบางประเภท เช่น บริการรับชำระเงิน เป็นต้น
  • ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต (ปณอ., licensed post office) มีทั้งประเภท รับจ่าย (หน้าที่เหมือน ปณจ.) และ รับฝาก (เหมือน ปณฝ.) แต่บริหารโดยหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือ เอกชน ตัวอย่าง เช่น ไปรษณีย์ของชุมชนที่อยู่บนเกาะต่าง ๆ ไปรษณีย์ในสถานศึกษา หน่วยงานราชการ หน่วยงานทหาร บางแห่ง เป็นต้น ไปรษณีย์ดังกล่าวจะใช้ชื่อ ปณจ. ในท้องที่ ตามด้วยตัวเลขสามหลัก เริ่มนับจาก 101 ตัวอย่างเช่น ไปรษณีย์รองเมือง 102 ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เขตปทุมวัน ซึ่งมี ปณจ. รองเมือง รับผิดชอบนำจ่ายไปรษณีย์ภัณฑ์ในท้องที่ สำหรับ ปณอ. รับจ่าย จะมีรหัสไปรษณีย์ของตัวเอง ส่วน ปณอ. รับฝาก จะใช้รหัสไปรษณีย์ของ ปณจ. ที่รับผิดชอบ
  • ที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว (ปณค., temporary post office) เป็นที่ทำการที่เปิดขึ้นชั่วคราวตามงานต่าง ๆ เช่น งานกาชาด งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ฯลฯ ให้บริการรับฝากไปรษณีย์ภัณฑ์ นิยมใช้รหัสไปรษณีย์ชอง ปณจ. ท้องที่
  • ที่ทำการไปรษณีย์รถยนต์ (ปณย., mobile post office) เป็นที่ทำการที่อยู่บนรถบัสขนาดเล็ก ออกวิ่งไปจอดให้บริการตามจุดต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละวันสามารถออกให้บริการได้หลายจุด ให้บริการรับฝากไปรษณีย์ภัณฑ์

ในอดีตประเทศไทยยังเคยมีที่ทำการไปรษณีย์รถไฟด้วย แต่ปัจจุบันยกเลิกแล้ว สำหรับบริษัทเอกชนที่ให้บริการรับฝากไปรษณีย์แต่ไม่เป็นสถานะที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต จะเรียกว่า ผู้รวบรวมไปรษณีย์ ซึ่งต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับ ปณท.

ในอดีตสมัยที่เป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ชื่อประเภทของที่ทำการไปรษณีย์ข้างบนใช้ชื่อว่า ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข แทน ที่ทำการไปรษณีย์ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขรับจ่าย (ปทจ.) ยกเว้นที่ทำการไปรษณีย์รถยนต์ ในอดีตเรียก ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเคลื่อนที่ (ปทค.) ส่วนที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขชั่วคราวใช้ชื่อย่อเป็น ปทช.

การเช็คพัสดุ EMS ผ่านระบบออนไลน์[แก้]

ปัจจุบันการขนส่งได้รับความนิยมโดยมีปัจจัยหหลักกกมาจากธุรกิจการซื้อขายของออนไลน์ แน่นอนว่าไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาระบบการตรวจสอบพัสดุธรรมดา และแบบส่งด่วน (เช็คพัสดุ EMS) ให้ลูกค้าได้ทำการเช็คสถานะสิ่งของจัดส่ง ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับความนิยม ช่วยยกระดับความเชื่อมั่นในการขนส่งได้เป็นอย่างที่

ศูนย์ไปรษณีย์ไทย[แก้]

อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก
ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพ ด้านข้าง
ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพ ด้านหน้า

นอกจากบริษัทไปรษณีย์ไทยแล้ว ทางบริษัทได้จัดตั้งศูนย์กระจายไปรษณีย์ 19 แห่งดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร - ปริมณฑล :
    • ศูนย์หลักสี่
    • ศูนย์กรุงเทพ
    • ศูนย์ด่วนพิเศษ
    • ศูนย์สุวรรณภูมิ
  • ภาคกลาง - ภาคตะวันออก :
    • ศูนย์ศรีราชา
    • ศูนย์ราชบุรี
    • ศูนย์อยุธยา
    • ศูนย์กบินทร์บุรี
  • ภาคเหนือ :
    • ศูนย์เด่นชัย
    • ศูนย์ลำพูน
    • ศูนย์พิษณุโลก
    • ศูนย์นครสวรรค์
  • ภาคอีสาน :
    • ศูนย์อุดรธานี
    • ศูนย์ขอนแก่น
    • ศูนย์นครราชสีมา
    • ศูนย์อุบลราชธานี
  • ภาคใต้ :
    • ศูนย์หาดใหญ่
    • ศูนย์ทุ่งสง
    • ศูนย์ชุมพร

รางวัล[แก้]

ปี รางวัล สาขา ผล
2566 Thailand Zocial Awards 2023[6] Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจบริการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ ชนะ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ไปรษณีย์ไทย กำไรกำลังลดลง ลงทุนศาสตร์
  2. ข้อมูลผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2559 เก็บถาวร 2016-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
  3. พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519
  4. "พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-05-03. สืบค้นเมื่อ 2012-06-22.
  5. "ปิดตำนานบริการโทรเลข". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-08. สืบค้นเมื่อ 2021-05-08.
  6. "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]