องค์การตลาด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
องค์การตลาด
Marketing Organization
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496; 70 ปีก่อน (2496-11-19)
สำนักงานใหญ่51/47 ซอยสวนผัก 4 ถนนสวนผัก แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • สมคิด จันทมฤก, ประธานกรรมการ
  • ภาณุพล รัตนกาญจนภัทร, รองประธานกรรมการ
  • บูรณิศ ยุกตะนันทน์, ผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย
เว็บไซต์www.market-organization.or.th

องค์การตลาด (อังกฤษ: Marketing Organization) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย[1] ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 เพื่อดำเนินการจัดระเบียบการค้าของพ่อค้าแม่ค้าบริเวณข้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นตลาดปากคลองตลาด ปัจจุบันมีตลาดสาขาอยู่ในจังหวัดลำพูน ฉะเชิงเทรา ลพบุรี และกรุงเทพมหานคร รวมจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่ง

ประวัติ[แก้]

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดตั้งตลาดกลาง เพื่อเป็นสถานที่รองรับพ่อค้าแม่ค้าจากบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมือง ไม่ให้เกิดทัศนียภาพที่เสื่อมโทรมไปมากกว่านี้ รัฐบาลจึงจัดตั้งตลาดกลาง โดยตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาด พ.ศ. 2496[2] ขึ้น จึงทำให้มีการจัดตั้งองค์การตลาด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จึงได้มีการกำหนดให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ควบคุมดูแลแต่เพียงผู้เดียว[3]

หน้าที่[แก้]

  1. มุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า
  2. พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการบริหาร
  3. สร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
  4. ส่งเสริมการพัฒนาตลาดทางการเกษตรถูกหลักอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
  5. ส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั้งในและต่างประเทศโดยสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน
  6. พัฒนาสินทรัพย์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

ตลาดสาขา[แก้]

ปัจจุบันองค์การตลาด มีสาขาจำนวน 5 สาขา

สาขาปากคลองตลาด[แก้]

ปากคลองตลาด

องค์การตลาด สาขาปากคลองตลาด หรือ ตลาดปากคลองตลาดของรัฐ เป็นสาขาแรกขององค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่เลขที่ 26-28 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเน้นการขายส่ง เช่น ผักสด ผลไม้ ตลอดจนเป็นแหล่งคัดแยกสินค้า และบรรจุสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกอีกด้วย

สาขาหนองม่วง[แก้]

ตั้งอยู่ ถนนพหลโยธิน อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี เริ่มจัดตั้งขึ้นในปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมา[4]

สาขาลำพูน[แก้]

องค์การตลาด สาขาลำพูน[5] เป็นตลาดเกษตรกรท้องถิ่น มุ่งเน้นการค้าขายการเกษตรของชุมชน และเป็นศูนย์กลางของการกระจายผลผลิตสู่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง โดยองค์การตลาดมีนโยบายให้ตลาดสาขาลำพูน เป็นตลาดที่มุ่งส่งเสริมการขายและการกำหนดราคาของผลผลิตของจังหวัดลำพูน เช่น ลำไย ผัก ฯลฯ

อาคารตลาด ตั้งอยู่บริเวณถนนเชียงใหม่-ลำพูน หมู่ 7 บ้านป่าเห็ว ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน บนที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2535 โดยใช้งบประมาณ 12.31 ล้านบาท เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2537 ปัจจุบันมีอาคารตลาด จำนวน 3 หลัง คือ อาคารตลาด 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง และอาคารตลาดชั้นเดียว จำนวน 2 หลัง

สาขาตลิ่งชัน[แก้]

ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ 21-3-0 ไร่ ในซอยสวนผัก 4 ถนนสวนผัก ริมคลองมหาสวัสดิ์ ด้านหลังกรมการขนส่งกรุงเทพฯ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยอาคาร 6 ชั้น จำนวน 1 หลัง อาคารชั้นเดียว จำนวน 1 หลัง อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น จำนวน 166 ห้อง เป็นที่ตั้งของตลาดกลางเกษตรกรตลิ่งชัน และ ตลาดน้ำสวนผักคลองสองนครา

สาขาบางคล้า[แก้]

องค์การตลาด สาขาบางคล้า เป็นตลาดกลางค้าสัตว์น้ำภาคตะวันออก เพื่อให้เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงสามารถนำสัตว์น้ำมาจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อได้โดยตรง ซึ่งทำให้ลดต้นทุนในการขนส่งจากการนำสัตว์น้ำมาจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้ซื้อไม่ต้องเดินทางไกล ประหยัดรายจ่าย เวลา และลดปริมาณการจราจรในกรุงเทพมหานคร โดยมีผลผลิตเข้ามาจำหน่ายในองค์การตลาดสาขาบางคล้าเฉลี่ยวันละ 50 ตัน มีการจ้างแรงงาน และมีเยาวชนเข้ามารับจ้างคัดแยกปลาในตลาดจำนวนมาก รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราหันมาประกอบอาชีพเลี้ยงปลามากขึ้น

อาคารตลาด ตั้งอยู่บนที่ดินขององค์การตลาด พื้นที่ 15 ไร่ บริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลเสม็ดเหนือ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย

  • อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 30 ยูนิต
  • อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น 44 ยูนิต
  • อาคารชั้นเดียว 79 ห้อง
  • อาคารทรงไทย 14 หลัง
  • อาคารตลาดใหญ่ 173 แผง

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]