บริษัทมหาชนจำกัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บริษัทมหาชนจำกัด ถูกกำหนดขึ้นโดยพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยมีข้อกำหนดให้บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว สามารถนำหุ้นจำนวนหนึ่งของบริษัทออกจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปได้ และประชาชนผู้ซื้อหุ้นจึงเป็นเจ้าของกิจการนั้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถืออยู่. และหุ้นนี้อาจขายให้ผู้อื่นได้ตามราคาหุ้นในแต่ละวันผู้ที่ดำเนินการขายและซื้อหุ้นของบริษัทจำกัด (มหาชน) คือ ตลาดหลักทรัพย์ กฎและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นต่อประชาชนจะถูกกำหนดตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์คอยกำกับดูแล โดยในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Public Limited Company แล้วย่อได้เป็น Plc หรือ PLC (Public Limited Company) เพื่อแสดงว่าเป็นบริษัทจำกัด ประเภทมหาชน แตกต่างไปจากบริษัทประเภทprivate หรืออาจย่อว่า Pcl หรือ PCL (Private Company Limited)ซึ่งแต่เดิมนั้น บริษัทมหาชนถูกกำหนดให้ต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 100 คน และต้องมีผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้นอย่างน้อย 50% ของทุนจดทะเบียน แต่หลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้ว เงื่อนไขของการมีผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป และกำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดจะมีผู้ถือหุ้นกี่คนก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 คน เท่านั้น

ส่วนสาระสำคัญของการเป็นบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535[แก้]

1. บริษัท มหาชน จำกัด ต้องแบ่งทุนออกเป็นหุ้น ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญของการเป็นบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนหรือบริษัทมหาชน ที่จะแบ่งทุนของบริษัทออกเป็นหน่วยเท่าๆ กัน

2. ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัด หากกิจการล้มละลาย หรือต้องปิดกิจการไป ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบแค่สูญเสีย “เงินลงทุน” เท่านั้น

3. บริษัทมีความประสงค์จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน โดยระบุความประสงค์เช่นนั้นไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ

4. บริษัทต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเสมอ

เงื่อนไขการตั้งบริษัทมหาชน[แก้]

1. มีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 15 คน

2. มีกรรมการบริษัทขั้นต่ำ 5 คน

3. ไม่ได้จำกัดทุนจดทะเบียนว่าจะเป็น 1.0 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท หรือ 100 ล้านบาท ฯลฯ ก็เป็นบริษัทมหาชนได้ทั้งนั้น

4. บริษัทจำกัดในประเทศไทยสามารถที่จะแปรสภาพบริษัทของตัวเองให้เป็นบริษัทมหาชนได้ด้วยมติพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย

5. บริษัทมหาชน สามารถจะออกขายหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ หุ้นกู้ ฯลฯให้กับนักลงทุนได้

6. การขายหุ้นจะอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์

บริษัทมหาชนจำกัด[แก้]

-โครงสร้างของบริษัทมหาชน ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ จะไม่ได้มีสิทธิในการเข้าไปดูแลงานของบริษัทโดยตรง แต่จะเลือกกลุ่มคนที่จะเข้าไปบริหารแทนหรือ " Board of Directors" หรือ "คณะกรรมการผู้บริหาร" ผ่านทางการประชุมที่เรียกว่า "การประชุมผู้ถือหุ้น" จากนั้น Board of Directors ก็จะมีการจัดประชุมที่เรียกว่าการ "ประชุมบอร์ดผู้บริหาร" หรือเรียกันสั้นๆว่าประชุมบอร์ด และเลือกตัวแทนที่เรียกว่า Representative director หรือที่ภาษาชาวบ้านอย่างเราๆ เรียกกันว่า CEO หรือ MD ที่มาทำหน้าที่บริหารงานและดูแลพนักงาน

-กฎหมายกำหนดว่าต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน และกรรมการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจะต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

-บริษัทมหาชน เป็นนิติบุคคลที่ระดมทุนเพื่อนำเงินเหล่านั้นไปลงทุน โดยผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยที่บริษัททำการออกหุ้น สิทธิในการเป็นเจ้าของบริษัทคือผู้ถือหุ้น และบริษัทรวบรวมเงินเหล่านี้ไปใช้ในการขยายกิจการ เป็นสาเหตุให้เจ้าของธุรกิจต่างก็อยากเอาธุรกิจของตัวเองเข้าตลาดหุ้น เพราะว่าทำให้ระดมทุนได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคารทั่วไป

-บริษัทมหาชนเป็นรูปแบบหนึ่งของการระดมทุนจากประชาชนโดยการซื้อหุ้น และจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของเงินปันผล

การเลิกบริษัทมหาชน[แก้]

1. ศาลมีคำสั่งให้เลิก บริษัทบริษัทมหาชนล้มละลาย เมื่อผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหุ้นได้ร้องขอให้ศาลเลิกบริษัท

2. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

3. ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการประชุมจัดตั้งบริษัท หรือการจัดทำรายงานการจัดตั้งบริษัท

4. คณะกรรมการบริษัทไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระเงินค่าหุ้น การโอนกรรมสิทธิทรัพย์สิน

5. จำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสิบห้าคน

6. กิจการของบริษัทดำเนินไปก็มีแต่จะขาดทุน และไม่มีหวังที่จะดำเนินกิจการให้ดีขึ้น

ดูเพิ่ม[แก้]