ข้ามไปเนื้อหา

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
Thailand National Disaster Warning Center
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง30 พฤษภาคม พ.ศ. 2548; 19 ปีก่อน (2548-05-30)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • ศภช. สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
  • ศภช. สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2552
  • ศภช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2559
สำนักงานใหญ่3/12 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาคาร 1 ชั้น 4 ถนนอู่ทองนอก แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • กลวัชร ทรัพย์ส่งสุข, ผู้อำนวยการ
หน่วยงานแม่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เว็บไซต์ndwc.disaster.go.th

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ และควบคุมสั่งการในภาวะวิกฤติ ตลอดจนแจ้งเตือนภัยพิบัติทุกประเภท ซึ่งเกิดขึ้นภายในประเทศไทย

ประวัติ

[แก้]

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยร้ายแรงที่สุด มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 5,396 คน มีผู้บาดเจ็บ 8,457 คน สูญหาย 2,951 คน ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน การเกษตร การประมง ปศุสัตว์ การท่องเที่ยว และธุรกิจ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติขึ้นเพื่อดำเนินภารกิจในเรื่องดังกล่าว และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2548[1]

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2548 [2] ต่อมาจึงได้โอนมาสังกัดสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร[3] และสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร [4]

ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ถูกโอนไปสังกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559[5]

หน่วยงานภายใน

[แก้]

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แบ่งหน่วยงานภายในออกเป็น 6 หน่วยงาน[6] ได้แก่

  • ฝ่ายบริหารทั่วไป
  • ส่วนยุทธศาสตร์การเตือนภัย
  • ส่วนวิชาการการเตือนภัย
  • ส่วนปฏิบัติการเตือนภัย
  • ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเตือนภัย

ระบบเตือนภัยพิบัติ

[แก้]
ไซเรนเตือนภัยบริเวณหาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต

ประเทศไทยใช้ระบบในการเตือนภัยพิบัติผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่รับสัญญาณการเตือนภัยจากส่วนกลาง คือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ[7] ประกอบไปด้วย

  • หอเตือนภัย โดยใช้การควบคุมกระจายข่าวสารภัยพิบัติจากระบบควบคุมที่ติดตั้งอยู่ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมเตือนไปยังหอเตือนภัย ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 328 แห่ง ในพื้นที่ 62 จังหวัด ในรูปแบบของการกระจายเสียงไซเรน และเสียงประกาศเตือน[7]
  • สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย (CSC) ถ่ายทอดสัญญาณเตือนจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติผ่านดาวเทียมไปยังเครื่องรับสัญญาณในจำนวน 285 แห่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือส่วนราชการในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก โดยกระจายข่าวสารการเตือนภัยโดยใช้คลื่นวิทยุและหอกระจายข่าวในชุมชน[7]
  • หอกระจายข่าวในชุมชน ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 674 แห่ง โดยรับสัญญาณเตือยภัยผ่านทางสถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย โดยผ่านคลื่นวิทยุและถ่ายทอดสัญญาณเสียงผ่านหอกระจายข่าว ความสูงไม่น้อยกว่า 12 เมตรจากระดับพื้น ติดตั้งลำโพงขนาด 150 วัตต์ 4 ตัว[7]
  • เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม (EVAC) ติดตั้งในสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด และในศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเตือนในหน่วยราชการและถ่ายทอดสู่ประชาชนในจังหวัด มีจำนวน 163 ชุด[7]
  • บัญชีอย่างเป็นทางการบนแอปพลิเคชันไลน์ (Line Official Account: Line OA) ใช้สำหรับการแจ้งเตือนคำเตือนต่าง ๆ เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงสามารถรายงานปัญหาหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติได้ ด้วยการเพิ่มเป็นเพื่อนกับบัญชีของศูนย์ในแอปพลิเคชันไลน์[8]
  • แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT เป็นแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนภัยพิบัติ สามารถแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่แบบเวลาจริง (Real Time) โดยติดตั้งแอปพลิเคชันลงในสมาร์ทโฟน ระบุจังหวัด และอนุญาตให้เข้าถึงตำแหน่งของโทรศัพท์มือถือ[9]

ระบบตรวจจับ

[แก้]

ประเทศไทยมีระบบตรวจจับและเฝ้าระวังภัยพิบัติที่อยู่ภายใต้ความดูแลของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประกอบไปด้วย

ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ มีทั้งสิ้น 2 ทุ่น[10] อยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน คือ

สถานี 23401[11] อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 1 ชั่วโมง 45 นาที[10] ถึง 2 ชั่วโมง[12]

ส่วน สถานี 23461[13] เดิมทีติดตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน แจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 45 นาที[10] ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติรายงานว่าทุ่นดังกล่าว ได้หลุดออกจากตำแหน่งการติดตั้งและหยุดส่งสัญญาณ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 มีกำหนดติดตั้งทุ่นสึนามิชุดใหม่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการตรวจจับและเฝ้าระวังสึนามิของประเทศไทย เนื่องจากได้ใช้การประมวลข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ[14]

ข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพ

[แก้]
ป้ายเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นสึนามิ บริเวณเกาะไก่ จังหวัดกระบี่

หลังจากการก่อตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติภายหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในปี พ.ศ. 2547 อุปกรณ์สำหรับเตือนภัยและป้ายบอกเส้นทางหลบภัยต่าง ๆ ถูกติดตั้งภายในพื้นที่ประสบภัยหลักจากเหตุการณ์นั้นในปี พ.ศ. 2548 เมื่อระยะเวลาผ่านไป อุปกรณ์เตือนภัยต่าง ๆ นั้นขาดการบำรุงรักษาและเกิดการชำรุด ประสิทธิภาพลดลง รวมถึงมีการติดตั้งที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่มากพอ ทำให้มีความกังวลถึงความพร้อมในการแจ้งเตือนหากเกิดเหตุขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้จะมีการฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำทุกปี ซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าระบบมีความพร้อมมากพอที่จะรับมือหากเกิดเหตุการณ์อีกครั้ง[15] แต่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่งกลับประสบปัญหางบประมาณในการดูแลหลังจากได้รับการถ่ายโอนระบบเข้ามาอยู่ในการดูแล[16][17]

สำหรับระยะเวลาในการส่งคำเตือนไปยังประชาชน ยังมีความล่าช้าอยู่ ซึ่งถึงแม้ภาครัฐมีความพร้อมในการประเมินและสร้างแบบจำลองต่าง ๆ ถึงภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการเตือนภัยไปยังประชาชนกลับมีข้อจำกัดมากมาย ด้วยอุปกรณ์ที่ต้องการการบำรุงรักษา ทำให้หลายครั้งอุปกรณ์ไม่สามารถใช้งานได้เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ประชาชนจึงต้องพึ่งพาสื่อสังคมออนไลน์แทนการแจ้งเตือนผ่านกลไกต่าง ๆ จากภาครัฐ[18]

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตบนโลกออนไลน์ถึงระบบเตือนภัยพิบัติในประเทศไทยที่ยังไม่เป็นระบบมากพอ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสัญญาณแจ้งเตือนผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ในประเทศ โดยได้ยกตัวอย่างของระบบแจ้งเตือนผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่นที่แจ้งเตือนแผ่นดินไหว และสึนามิได้อย่างรวดเร็ว[19] และนายอาร์ม (9arm) สตรีมเมอร์วีดีโอบนสังคมออนไลน์[20]ได้พูดถึงการเตือนด้วยข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินบนโครงข่ายโทรทัศน์โดยตรง และความเป็นไปได้ในการแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์ ซึ่งใช้งานในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และระบุว่าในประเทศไทยมีคนที่พร้อมจะพัฒนาระบบเหล่านี้ เพียงแต่ขาดการดำเนินการกำหนดระเบียบจากผู้ที่เกี่ยวข้อง[21]

ในขณะที่ในประเทศไทยนั้นมีความล่าช้าในการประสานงานเพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติ[22] ซึ่งในกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ระหว่างการถ่ายทอดสัญญาณการถ่ายทอดสดรายการพิเศษของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) (ทีวีพูล) ซึ่งเป็นพระราชพิธี โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเวลา 15.38 น. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ออกหนังสือเตือนเพื่อให้ออกอากาศแจ้งเตือนทุกช่องทางในเวลา 16.01 น. แต่มีการตัดเข้าสู่ประกาศเตือนแผ่นดินไหวครั้งแรกในเวลา 15.42 น. โดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเวลา 18.00 น. โดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ไทยทีวีสีช่อง 9) และสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ซึ่งล้าช้าจากการประกาศให้เตือนเป็นเวลาหลายชั่วโมง[23]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ความเป็นมา ศภช". ndwc.disaster.go.th. สืบค้นเมื่อ 2022-05-11.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2548
  3. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550
  4. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552
  5. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๕๙ เก็บถาวร 2016-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอน ๘๐ ก หน้า ๑ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
  6. โครงสร้างศูนย์เตือนภัย [ลิงก์เสีย]
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 "Minisite CMS :ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ - National Disaster Warning Center". ndwc.disaster.go.th.
  8. "Minisite CMS :ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ - National Disaster Warning Center | ประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดต่อผ่าน Line OA ของ ศภช". ndwc.disaster.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-12. สืบค้นเมื่อ 2022-05-12.
  9. "ปภ. เปิดตัวแอป "THAI DISASTER ALERT" แจ้งเตือน Real Time เริ่มโหลดได้ 1 ก.พ.65". คมชัดลึกออนไลน์. 2022-01-31.
  10. 10.0 10.1 10.2 matichon (2022-01-17). "นายกฯสั่งติดตามเฝ้าระวัง-ระบบเตือนภัยสึนามิของไทยให้พร้อมใช้งาน ลดผลกระทบประชาชน". มติชนออนไลน์.
  11. US Department of Commerce, National Oceanic and Atmospheric Administration. "NDBC Station Page". www.ndbc.noaa.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  12. "แผ่นดินไหว-สึนามิอินโดนีเซีย: ระบบเตือนภัยของไทยพร้อมแค่ไหน". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2022-05-11.
  13. US Department of Commerce, National Oceanic and Atmospheric Administration. "NDBC Station Page". www.ndbc.noaa.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  14. "ปภ. สั่งซื้อทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิใหม่แล้ว ระหว่างนี้ใช้ระบบเครือข่ายแทน". ประชาชาติธุรกิจ. 2024-01-09.
  15. "อันดามันพร้อมแค่ไหน! หากต้องรับมือสึนามิรอบใหม่". mgronline.com. 2018-10-04.
  16. "12 ปีเหตุสึนามิ หอหลบภัย จ.พังงา ถูกปล่อยทิ้งร้าง". Thai PBS. 2016-12-15.
  17. "รำลึก 13 ปี "สึนามิ" ภัยธรรมชาติที่มิอาจลืมเลือน". Thai PBS. 2017-12-26.
  18. "เตือนภัย!สมัยใหม่รู้เพื่ออยู่กับภัยพิบัติ". www.thairath.co.th. 2012-04-17.
  19. "ถ้าเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิขึ้น ทีวีดิจิตอลของไทยจะมีการเตือนภัยแบบของทางญี่ปุ่นหรือป่าวครับ". Pantip.
  20. ทำไมไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยพิบัติ?, สืบค้นเมื่อ 2022-05-11
  21. "นายอาร์ม บนทวิตเตอร์: "ผมแค่เรียกร้องระบบที่เพิ่มคุณภาพชีวิตของเราครับ..."". Twitter. สืบค้นเมื่อ 2022-05-11.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. ""สาทิตย์" อัดซ้ำ "ปู" แจ้งเตือนภัยสึนามิช้า แถมอัดเทปจ้อ". mgronline.com. 2012-04-12.
  23. "กสทช. เตรียมออกกฏ " วิทยุ โทรทัศน์" ถ่ายทอดกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน - ThaiPublica". thaipublica.org. 2012-08-07.