สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561; 5 ปีก่อน (2561-05-13)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
  • สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ
สำนักงานใหญ่108 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี1,437.7042 ล้านบาท (พ.ศ. 2561)
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม[1], ประธานกรรมการ
  • ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ, ผู้อำนวยการ
  • ณัฐวัชร์ วรนพกุล, รองผู้อำนวยการ
  • ไอรดา เหลืองวิไล, รองผู้อำนวยการ
  • อภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์www.dga.or.th

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (หรือย่อว่า สพร. อังกฤษ: Digital Government Development Agency (Publlic Organization); DGA) เดิมคือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (อังกฤษ: Electronic Government Agency (Public Organization))

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินโครงการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศของภาครัฐ (Government Information Network : GINet) และดำเนินกิจกรรมกรรมอื่นที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแก่หน่วยงานภาครัฐ ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) หรือ Government Information Technology Services (GITS) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 มีการประกาศจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) หรือ Electronic Government Agency (Public Organization) (EGA) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 โดยกำหนดให้โอนบรรดาอำนาจ หน้าที่ และกิจการของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 เฉพาะในส่วนของสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ และบรรดาภารกิจที่เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปเป็นของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยที่ในระยะเวลาต่อมามีการเปลี่ยนชื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีหน้าที่ในการให้บริการและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การให้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) การให้บริการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN)

ในปัจจุบัน มีการประกาศจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ตามที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 โดยกำหนดให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เป็นสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สพร.”และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Digital Government Development Agency (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “DGA” เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล ทำหน้าที่ในการให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล[2]

ประวัติ[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดตั้งสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ หรือ สบทร. Government Information Technology Services or GITS เป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจัดทำและให้บริการด้านเครือข่ายตลอดจนการให้คำปรึกษาในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่า สรอ. (อังกฤษ: EGA) เป็นองค์การมหาชนของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และมาตรฐานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงให้บริการด้านวิชาการและการบริหารจัดการโครงการ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุน และจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์[3]

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เปลี่ยนชื่อหน่วยงานใหม่เป็น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)[4] โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชน

บทบาทหน้าที่[แก้]

ยุคสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ฯ[แก้]

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มีบทบาทหน้าที่พัฒนาและบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของภาครัฐเพื่อพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) นำเสนอนโยบายและนำนโบายของรัฐบาลแปลงสู่การปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบทบาทด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
  • พัฒนามาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
  • ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

ยุคสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ[แก้]

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เป็นหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล ทำหน้าที่ให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

1. พัฒนา บริหารจัดการ และให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการให้ บริการหรือ แอปพลิเคชันพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดิจิทัล

2. จัดทำมาตรฐาน แนวทาง มาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการทางเทคโนโลยีดิจิทัล และกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและระบบการทำงานระหว่างกันของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องกัน

3. ส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูลดิจิทัลภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนและในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ

4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐให้บริการดิจิทัลแก่ผู้เกี่ยวข้อง

5. พัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัย

6. ให้คำปรึกษาและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการบริหารจัดการโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน ให้บริการวิชาการ และจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านรัฐบาลดิจิทัล

7. ศึกษา วิจัย สร้างนวัตกรรม และส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

8. สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการจัดทำกรอบการจัดสรรงบประมาณ  บูรณาการประจำปีที่เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านรัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานและแผนระดับชาติที่เกี่ยวกับรัฐบาลดิจิทัล

9. ดำเนินการอื่นเพื่อพัฒนารัฐบาลดิจิทัลตามที่กฎหมายกำหนดหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

เพื่อประโยชน์ในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้มีแนวทางที่สอดคล้องกันหรือเป็นระบบเดียวกันสำนักงานอาจเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีมติให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานหรือร่วมดำเนินการกับสำนักงานตามมาตรานี้ได้

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]