ข้ามไปเนื้อหา

เทพชัย หย่อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เทพชัย หย่อง อดีต[1]ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)[2]ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย[3] ประธานกรรมการบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร[4] อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสคนแรก อดีตบรรณาธิการเครือเนชั่น อดีตพิธีกรร่วมรายการ สยามเช้านี้ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยเป็นผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานีนี้ ร่วมกับกิตติ สิงหาปัด

ประวัติ

[แก้]

เทพชัยเกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2498 (69 ปี) ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีชื่อเล่นว่า "สิ่ว" เป็นน้องชายของสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น โดยสาเหตุที่เทพชัยมีนามสกุลต่างจากสุทธิชัย เนื่องจากขณะไปแจ้งเกิด เจ้าหน้าที่อำเภอเขียนนามสกุลในสูติบัตรผิด จึงใช้นามสกุลนี้เรื่อยมาโดยไม่ได้แจ้งเปลี่ยน เทพชัยจบการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนแสงทองวิทยา อำเภอหาดใหญ่ และชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ กรุงเทพมหานคร และระหว่างนั้นสอบได้ทุนสโมสรโรตารีบางกะปิ เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลา 10 เดือน หลังจบการศึกษาชั้นมัธยม เทพชัยเข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนได้สองปีกว่าก็ลาออก เนื่องจากทำงานไปพร้อมกัน ทำให้ไม่มีเวลามากพอ

งานหนังสือพิมพ์

[แก้]

เทพชัยเริ่มงานเป็นครั้งแรก ด้วยการเป็นพนักงานพิสูจน์อักษรของเดอะ เนชั่น หลังจากที่บางกอกโพสต์ไม่รับเข้าทำงาน เพราะเป็นน้องชายของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คู่แข่ง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เทพชัยเริ่มอาชีพเป็นนักข่าวสายต่างๆ คือข่าวกีฬา ข่าวสังคม ข่าวการเมือง และข่าวต่างประเทศตามลำดับ ต่อมา ในระหว่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี พ.ศ. 2535 เทพชัยเป็นบรรณาธิการเดอะเนชั่น ซึ่งพยายามรายงานข่าวตามความจริง อันเป็นการท้าทายต่อรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงเป็นผลให้เดอะเนชั่นและบรรณาธิการเทพชัย ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อ (Press Freedom Award) จากคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน (Committee to Protect Journalists)

งานโทรทัศน์

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2538 บริษัท สยามอินโฟเทนเมนต์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จนถึงปัจจุบัน) ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เชิญให้เครือเนชั่นเข้าร่วมบริหาร โดยเทพชัยอาสาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าวคนแรก ซึ่งสามารถนำพาไอทีวียุคแรกให้ประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ประกาศข่าว และผู้ดำเนินรายการไอทีวีทอล์ก ย้อนรอย ฯลฯ ด้วยตนเอง จนได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำประจำปี พ.ศ. 2542 ประเภทผู้ประกาศข่าวชายดีเด่น ต่อมา ราวกลางปี พ.ศ. 2543 เทพชัยและพนักงานฝ่ายข่าวส่วนหนึ่ง เคลื่อนไหวคัดค้านกรณีบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ไอทีวี โดยหลังจากนั้น ผู้บริหารไอทีวีโยกย้ายให้เทพชัยไปเป็นที่ปรึกษาสถานีฯ เขาจึงประกาศฟ้องศาลให้ดำเนินคดีกับฝ่ายบริหารไอทีวี แต่ต่อมายอมประนีประนอมกันได้ และในเดือนพฤศจิกายน เทพชัยประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในไอทีวี แล้วกลับไปรับตำแหน่งบรรณาธิการเครือเนชั่น

เทพชัยเป็นผู้แทนเครือเนชั่น ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ด้วยโควตาขององค์กรสื่อมวลชนนานาชาติ[ต้องการอ้างอิง] โดยทำวิทยานิพนธ์เป็นสารคดีโทรทัศน์ชุด “สันติภาพในเปลวเพลิง” เรื่องราวเกี่ยวกับความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยนำมาออกอากาศทางเนชั่น แชนแนล หลังจบการศึกษา จากนั้นเทพชัยเข้าเป็นผู้ดำเนินรายการคมชัดลึกในบางโอกาส จนเมื่อเครือเนชั่นร่วมกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผลิตรายการชีพจรโลกกับสุทธิชัย หยุ่น ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี เทพชัยก็เข้าร่วมดำเนินรายการในบางโอกาส และหลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ปรับผังรายการใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เครือเนชั่นเข้าร่วมผลิตรายการสยามเช้านี้ โดยมีเทพชัยเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์, จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ และมนัส ตั้งสุข

ต่อมาในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 เทพชัยลาออกจากทุกตำแหน่งในเครือเนชั่น เพื่อเข้ารับตำแหน่งกรรมการนโยบายชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ตามมติคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าว พร้อมทั้งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท.และสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส (ปัจจุบันคือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท. (อยู่ในวาระ 4 ปี ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551-9 ตุลาคม พ.ศ. 2555) จากนั้นตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม เทพชัยกลับเข้ารับตำแหน่งกรรมการบริหารบริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อรับผิดชอบงานโทรทัศน์ภาษาต่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน[5]

เทพชัยเป็นผู้ดำเนินรายการ "ชั่วโมงที่ 26" ทางช่องนาว 26 ก่อนจะยุติรายการไป [6]

เทพชัยดำเนินรายการภาคภาษาอังกฤษ "Thai PBS World" ร่วมกับ ณัฏฐา โกมลวาทิน ทางเฟซบุ๊กเพจไทยพีบีเอสเวิลด์ (Thai PBS World) รวมถึงร่วมวิเคราะห์ข่าวในบางโอกาส

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

คืนวันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ไทยพีบีเอสร่วมกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ดำเนินการถ่ายทอดสดงานสโมสรสันนิบาต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในวันฉัตรมงคล เข้าสู่ปีที่ 60 แห่งการบรมราชาภิเษก ซึ่งเกิดความผิดพลาดขณะออกอากาศสด เฉพาะการออกอากาศของไทยพีบีเอสเพียงช่องเดียว ในระหว่างเพลงสดุดีมหาราชา และเพลงสรรเสริญพระบารมี มีเสียงบรรยายสารคดีรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ และเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาแทรกขึ้นมา จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อไทยพีบีเอส และเทพชัยในสถานะผู้อำนวยการสถานีฯ

ผลงานหนังสือ

[แก้]

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 เทพชัยออกหนังสือพกพา (พ็อกเก็ตบุ๊ค) “บทสุดท้าย ทีวีเสรี” เป็นเล่มแรก[7] และต่อมา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 เทพชัยออกหนังสือพกพา "อวสานไอทีวี" เป็นเล่มที่สอง โดยทั้งสองเล่มจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์

อ้างอิง

[แก้]
ก่อนหน้า เทพชัย หย่อง ถัดไป
ไม่มี ผู้อำนวยการ
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

(รักษาการ: 15 มกราคม พ.ศ. 2551 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551)
(10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555)
สมชัย สุวรรณบรรณ