ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อำเภอ (อักษรโรมันAmphoe) เป็นหน่วยการปกครองระดับที่สองในประเทศไทย ลำดับรองมาจากจังหวัด จัดตั้งขึ้นโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีนายอำเภอ เป็นหัวหน้าปกครอง โดยในแต่ละอำเภอจะแบ่งส่วนย่อยออกเป็น ตำบล

ในปัจจุบันประเทศไทยมี 878 อำเภอใน 76 จังหวัด ซึ่งไม่รวม 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการบริหารกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2515 จำนวนอำเภอในจังหวัดมีจำนวนต่างกันออกไป ตั้งแต่ 3 อำเภอของจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดภูเก็ต ไปจนถึง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา จำนวนประชากรในแต่ละอำเภอก็มีจำนวนต่างกันไปอีกเช่นกัน เช่น อำเภอเกาะกูด (จังหวัดตราด) มีประชากรเพียง 2,450 คน (พ.ศ. 2557) ขณะที่ อำเภอเมืองสมุทรปราการมีประชากรถึง 525,982 คน อำเภอเกาะสีชัง (จังหวัดชลบุรี) เป็นอำเภอที่มีพื้นที่น้อยที่สุดเพียง 17 ตารางกิโลเมตร ขณะที่อำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุด ซึ่งมีประชากรเบาบาง มีภูมิประเทศเป็นภูเขา และมีขนาดใหญ่กว่าจังหวัดบางจังหวัด ได้แก่ อำเภออุ้มผาง (จังหวัดตาก) มีพื้นที่ถึง 4,325.4 ตารางกิโลเมตร

ชื่อของอำเภอต่าง ๆ มักจะไม่ซ้ำกัน ยกเว้นกรณีของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอำเภอกรณีพิเศษใน 5 จังหวัด โดยไม่ผ่านการเป็นกิ่งอำเภอ มีการประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี[1]

การบริหารงาน

[แก้]
ที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก

การบริหารงานอำเภอ มีนายอำเภอ เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชา และมีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอที่กระทรวง กรมส่งมาประจำในอำเภอ และปลัดอำเภอ เป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ มีที่ทำการอยู่ที่ "ที่ว่าการอำเภอ"

นายอำเภอ

[แก้]

นายอำเภอ เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเภทอำนวยการ ระดับสูง (ระดับ 9) มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาส่วนราชการในอำเภอ และกำกับดูแลการบริหารงานของเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลในสังกัด

การบรรจุและแต่งตั้งนายอำเภอ จะใช้วิธีการสอบคัดเลือกปลัดอำเภอหรือเทียบเท่า (ระดับชำนาญการพิเศษ) เพื่อเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายอำเภอ สังกัดวิทยาลัยการปกครอง เป็นเวลาราว 5 เดือน จากนั้นจึงเรียกบรรจุแต่งตั้งตามลำดับผลการเรียนที่สอบได้

ปลัดอำเภอ

[แก้]

ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ (ระดับ 3-5) ระดับชำนาญการ (ระดับ 6-7) จนถึงระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานของนายอำเภอ

การบรรจุและแต่งตั้งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) ระดับปฏิบัติการ จะใช้วิธีการเปิดสอบแข่งขันจากบุคคลทั่วไปที่มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ บริหารรัฐกิจ หรือสาขาอื่นๆ ที่กำหนดให้สมัครได้ ส่วนปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) ระดับชำนาญการพิเศษ หรือเรียกว่า "ปลัดอาวุโส" จะใช้วิธีการสอบคัดเลือกเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่ง

ที่ว่าการอำเภอ

[แก้]

การบริหารงานของอำเภอตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานที่เรียกว่า ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของแต่ละอำเภอ ดังนั้น การวัดระยะทางจากถนนก็จะวัดจากที่ว่าการอำเภอเป็นหลัก ที่ว่าการอำเภอมักจะตั้งอยู่ในชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอ เพื่อให้กลุ่มประชากรในชุมชนที่มีอยู่มากสามารถเดินทางมาติดต่อได้สะดวก

อำเภอเมือง

[แก้]

อำเภอเมือง เป็นอำเภอพิเศษ มีลักษณะคล้ายกับเมืองหลวงของจังหวัด จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญระดับจังหวัด (รวมทั้งศาลากลางจังหวัดด้วย) อำเภอเมืองจึงมักจะมีความเจริญ และประชากรหนาแน่นกว่าอำเภออื่น ๆ ในภาษาราชการ อำเภอเมืองในแต่ละจังหวัดจะต้องเรียกชื่อโดยมีชื่อจังหวัดต่อท้าย เช่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอเมืองขอนแก่น เป็นต้น ประชากรในบางจังหวัด จะไม่นิยมเรียกอำเภอเมืองของตนว่าอำเภอเมือง แต่มักจะเรียกชื่อจังหวัดนั้น ๆ แทน เช่น ไปขอนแก่น สำหรับคนในจังหวัดขอนแก่น ย่อมหมายถึง เดินทางไปอำเภอเมืองของจังหวัดขอนแก่น (หรืออาจเรียกชื่ออื่นในท้องถิ่นแทน) เช่น โคราชหรือบ้านดอน[ต้องการอ้างอิง]

เดิมอำเภอที่ตั้งจังหวัดบางแห่งไม่มีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อ ในขณะที่บางอำเภอที่ไม่ได้เป็นอำเภอที่ตั้งจังหวัด จะมีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อด้วย เช่น อำเภอเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จนต่อมาในปี พ.ศ. 2481 อำเภอที่ตั้งจังหวัดได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเมือง ในขณะที่อำเภอที่เหลือที่ไม่ใช่ที่ตั้งจังหวัดได้เปลี่ยนโดยเอาคำว่า เมือง ออกจากชื่อ[2] ปัจจุบัน มีเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่อำเภอที่ตั้งตัวจังหวัดไม่ใช้คำว่า อำเภอเมือง ได้แก่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตัวจังหวัดตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา (เดิมชื่ออำเภอรอบกรุง ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอกรุงเก่าใน พ.ศ. 2460[3][4] และเปลี่ยนมาใช้ชื่ออำเภอพระนครศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2500[5])

ส่วนใหญ่อำเภอเมืองจะเป็นอำเภอที่มีประชากรมากที่สุดในจังหวัด โดยหน่วยงานสำคัญของจังหวัดก็จะตั้งอยู่ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนี้ด้วย ยกเว้นในบางจังหวัดเช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการเจริญเติบโตรวดเร็วกว่าอำเภอเมืองสงขลา หรือ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงการคมนาคมที่ดี และเป็นย่านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีอำเภอที่ไม่ใช่อำเภอที่ตั้งจังหวัด แต่มีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ,[6][7] อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง,[8][9] อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา[10][11] และอำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด[12][13] ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2538

กิ่งอำเภอ

[แก้]

กิ่งอำเภอ เป็นส่วนราชการที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติงานประจำอยู่ มีฐานะเป็นส่วนย่อยของอำเภอ แต่ใหญ่กว่าตำบล โดยอำเภอหนึ่ง ๆ อาจแบ่งพื้นที่ออกเป็นกิ่งอำเภอได้ตามความจำเป็นในการปกครอง และในเวลาต่อมา หากกิ่งอำเภอหนึ่ง ๆ มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่นหรือมีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก ก็จะมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอนั้นขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอในประเทศไทยที่ตั้งขึ้นในสมัยหลังมานี้จึงมักจะผ่านการเป็นกิ่งอำเภอมาก่อน มีไม่กี่แห่งที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอทันที

ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการยกฐานะกิ่งอำเภอทั้งหมดขึ้นเป็นอำเภอทั้งหมด[11] จึงทำให้ประเทศไทยในขณะนี้ไม่มีเขตการปกครองในระดับกิ่งอำเภอ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี พ.ศ. ๒๕๓๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (113): 1–4. 1996-11-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-18. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  2. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (55): 658–666. 1938-11-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  3. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (34): 40–68. 1917-04-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  4. "แก้คำผิด ราชกิจจานุเบกษา แผนกกฤษฎีกา เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๕ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ หน้า ๔๑, ๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (34): 386. 1917-05-06. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  5. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอกรุงเก่า พ.ศ. ๒๕๐๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (74): 546–548. 1957-03-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-10. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  6. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองจันทร์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (109): 18. 1992-04-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-24. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  7. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอหนองปรือ อำเภอห้วยกระเจา อำเภอทรายทองวัฒนา อำเภอปางศิลาทอง อำเภอเนินสง่า อำเภอนาทม อำเภอพระพรหม อำเภอแม่วงก์ อำเภอสองแคว อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอไทยเจริญ อำเภอกาบัง อำเภอพยุห์ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอภูพาน อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอนาวัง อำเภอพิบูลย์รักษ์ และอำเภอทุ่งศรีอุดม พ.ศ. ๒๕๔๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (114): 24–27. 1997-09-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-27. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  8. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองปาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (98): 3040. 1981-09-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-27. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  9. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอสอยดาว อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอบางขัน อำเภอหว้านใหญ่ อำเภอเมืองปาน อำเภอภูหลวง อำเภอโคกศรีสุพรรณ และอำเภอสำโรง พ.ศ. ๒๕๓๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (109): 27–29. 1992-04-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  10. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองยาง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (112): 58. 1995-03-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-01-26. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  11. 11.0 11.1 "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอฆ้องชัย อำเภอดอนจาน อำเภอนาคู อำเภอสามชัย อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอบึงสามัคคี อำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอซำสูง อำเภอโนนศิลา อำเภอบ้านแฮด อำเภอเวียงเก่า อำเภอหนองนาคำ อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอคลองเขื่อน อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอเนินขาม อำเภอหนองมะโมง อำเภอซับใหญ่ อำเภอดอยหลวง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอดอยหล่อ อำเภอแม่ออน อำเภอหาดสำราญ อำเภอเกาะกูด อำเภอเกาะช้าง อำเภอวังเจ้า อำเภอวังยาง อำเภอเทพารักษ์ อำเภอบัวลาย อำเภอพระทองคำ อำเภอเมืองยาง อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอสีดา อำเภอช้างกลาง อำเภอนบพิตำ อำเภอชุมตาบง อำเภอแม่เปิน อำเภอภูเพียง อำเภอแคนดง อำเภอบ้านด่าน อำเภอสามร้อยยอด อำเภอภูกามยาว อำเภอภูซาง อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอดงเจริญ อำเภอบึงนาราง อำเภอสากเหล็ก อำเภอกุดรัง อำเภอชื่นชม อำเภอเชียงขวัญ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอหนองฮี อำเภอสุขสำราญ อำเภอเขาชะเมา อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอบ้านคา อำเภอเวียงหนองล่อง อำเภอหนองหิน อำเภอเอราวัณ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอศิลาลาด อำเภอมะนัง อำเภอบางเสาธง อำเภอโคกสูง อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอวิภาวดี อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอพนมดงรัก อำเภอศรีณรงค์ อำเภอเฝ้าไร่ อำเภอโพธิ์ตาก อำเภอรัตนวาปี อำเภอสระใคร อำเภอกู่แก้ว อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอนาตาล อำเภอนาเยีย อำเภอน้ำขุ่น อำเภอสว่างวีระวงศ์ และอำเภอเหล่าเสือโก้ก พ.ศ. ๒๕๕๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (124): 14–21. 2007-08-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  12. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองสรวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (90): 817. 1973-03-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-27. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.
  13. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอหนองกุงศรี อำเภอไทรงาม อำเภอบ้านฝาง อำเภออุบลรัตน์ อำเภอเวียงชัย อำเภอดอยเต่า อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอนาหว้า อำเภอเสิงสาง อำเภอศรีสาคร อำเภอบึงสามพัน อำเภอนาดูน อำเภอค้อวัง อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเมืองสรวง อำเภอปลวกแดง อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกาบเชิง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอกุดข้าวปุ้น พ.ศ. ๒๕๒๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (96): 19–23. 1979-03-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-12-03.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]