ข้ามไปเนื้อหา

อาณาจักรฟูนาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาณาจักรฟูนาน

អាណាចក្រហ្វូណាន
ค.ศ. 68–ค.ศ. 627
ที่ตั้งของนครพนม
สถานะอาณาจักรโบราณ
เมืองหลวงวยาธปุระ
(ปัจจุบัน จังหวัดไพรแวง)
ภาษาทั่วไปภาษาเขมรโบราณ
ภาษาสันสกฤต
ศาสนา
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนาพุทธ
วิญญาณนิยมพื้นบ้านเขมร
การปกครองไม่ทราบ
ยุคประวัติศาสตร์สมัยคลาสสิก
• สถาปนา
ค.ศ. 68
• ล่มสลาย
ค.ศ. 627
ถัดไป
เจนละ
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ กัมพูชา
 ไทย
 เวียดนาม

ฟูนาน หรือ ฟูนัน ภาษาจีนเรียก ฝูหนาน (จีน: 扶南; พินอิน: Fúnán) หรือ ป๋าหนาน (จีน: 跋南; พินอิน: Bánán), ภาษาเวียดนามเรียก ฝู่นาม (เวียดนาม: Phù Nam) ภาษาเขมรเรียก หวูณน (เขมร: ហ្វូណន หฺวูณน) หรือ นครพนม (เขมร: នគរភ្នំ นครภฺนํ) เป็นชื่อรัฐหรือมณฑลโบราณ มีศูนย์กลางอยู่ ณ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เชื่อว่า ดำรงอยู่ราว 600 ปี ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 ถึง 6[1][2]

ชื่อต่าง ๆ ที่ปรากฏข้างต้นนี้เป็นชื่อที่ตั้งให้ในปัจจุบัน แต่ไม่ปรากฏในเอกสารใด ๆ จากยุคสมัยดั้งเดิม และผู้คนดั้งเดิมเรียกตนเองหรือดินแดนของตนเองว่าอย่างไรก็ยังไม่เป็นที่รับทราบ อนึ่ง มีผู้เห็นว่า คำ "ฝูหนาน" ในภาษาจีนนั้นมาจาก "ภฺนํ" (พนม) ในภาษาเขมร ใช่แต่ชื่อดินแดนจะเป็นที่ถกเถียง ลักษณะทางภาษาและชาติพันธุ์ของผู้คนในดินแดนนี้ก็ยังอภิปรายกันอยู่ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ แม้หลักฐานเท่าที่มียังไม่ช่วยให้ได้ข้อยุติ แต่สุมมติฐานกระแสหลักเห็นว่า ชาวฟูนันส่วนใหญ่เป็นมอญ–เขมร หรือเป็นออสโตรนีเชียน หรือเป็นสังคมหลากชาติพันธุ์ ไมเคิล วิกเกอรี (Michael Vickery) นักประวัติศาสตร์ ระบุว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำหนดว่า ชาวฟูนันใช้ภาษาอะไรกัน แต่สามารถสันนิษฐานได้อย่างแข็งขันจากหลักฐานทั้งหลายว่า ประชากรฟูนันเป็นเขมร[3] ข้อสันนิษฐานเรื่องความเป็นเขมรนี้ยังสอดคล้องกับผลการค้นคว้าทางโบราณคดี ณ อูร์แก้ว (ฝรั่งเศส: Óc Eo, จาก เขมร: អូរកែវ อูรแกว, แปลว่า "คลองแก้ว") ดินแดนโบราณในเวียดนามใต้ ที่ปรากฏว่า ชุมชนอูร์แก้วกับชุมชนก่อนยุคพระนคร (pre-Angkorian) นั้นมีความสืบเนื่องกันอยู่ และบ่งบอกว่า ดินแดนในปกครองของฟูนันนั้นใช้ภาษาเขมรกันแพร่หลาย[4]

การวิจัยทางโบราณคดีได้ผลลัพธ์ว่า ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีชุมชนมนุษย์อาศัยมาอย่างน้อย 400 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนฟูนันนั้น เอกสารโบราณจีนทำให้เชื่อว่า ก่อตั้งขึ้นในบริเวณนี้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์จีนแต่โบราณเห็นว่า ฟูนันเป็นดินแดนอันหนึ่งอันเดียว แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่เห็นว่า ฟูนันน่าจะเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายรัฐที่มารวมตัวกัน และบางทีก็รบรากันเอง[5] หลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งรวมถึงข้าวของเครื่องใช้และสินค้าจากจักรวรรดิโรมัน, จีน, และอินเดีย อันขุดได้ที่อูร์แก้วนั้น แสดงว่า ฟูนันเคยเป็นย่านการค้าที่มีอำนาจมาก[6] การขุดค้น ณ อังกอร์บุรี (អង្គរបុរី องฺครบุรี; Angkor Borei) ในกัมพูชาใต้ ได้ผลทำนองเดียวกันว่า ฟูนันเป็นชุมชนสำคัญ และด้วยเหตุที่อูร์แก้วมีระบบคูคลองเชื่อมต่อออกไปยังท่าเรือและอังกอร์บุรี จึงเป็นไปได้ว่า สถานที่เหล่านี้โดยรวมแล้วอาจได้แก่ดินแดนศูนย์กลางของฟูนัน

อาณาจักรฟูนัน

[แก้]

อาณาจักรฟูนัน[7]เป็นรัฐที่รุ่งเรืองอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1 – 6 ที่ตั้งของรัฐอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู ฟูนันรวมตัวกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรัฐชลประทานภายในแผ่นดินที่ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ฟูนันยังมีเมืองท่าสำหรับจอดเรือและค้าขายต่างประเทศ ฟูนัน จึงมีรายได้จากการค้าขาย การเดินเรืออีกด้วย

เรื่องราวของรัฐฟูนัน จากบันทึกของชาวจีนที่เดินทางมาแถบนี้ ได้เขียนเล่าถึงความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ในชุมชนที่มีระเบียบ มีคุณธรรม มีการปกครองระบอบกษัตริย์ มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นด้วยหลายเมือง มีวัฒนธรรมของตนเอง มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียด้วยกันและโลกตะวันตก ชนชั้นสูงเป็นพวกที่พูดภาษากลุ่มภาษามาลาโย-โพลีเนเซีย ชาวจีนว่าพวกชนชั้นพื้นเมืองของฟูนันหน้าตาหน้าเกลียด ตัวเล็ก ผมหยิก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกเนกริโตและเมลานีเซียน ฟูนันมีประวัติความเป็นมา เริ่มจากการรวมตัวกันของผู้คน เป็นชุมชนเล็กขนาดหมู่บ้าน จากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐ วิธีการพัฒนาจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐมีปัจจัยและขั้นตอนหลายประการ

การพัฒนาสังคมเผ่ามาเป็นสังคมรัฐ

[แก้]

สังคมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมเผ่า (Tribal Society) ต่อมาพัฒนาเป็นสังคมรัฐ (Social State) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา ตัวอย่าง คือ ฟูนัน เดิมเป็นหมู่บ้าน ต่อมาขยายออกไปเพราะมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงต้องขยายที่เพาะปลูกให้พอกินพอใช้กับจำนวนชุมชนที่ขยายขึ้น ได้พยายามหาเทคโนโลยีการเกษตรมาช่วย เช่น ขุดคูคลองกั้นน้ำ เพื่อให้อยู่ดีและมีอาหารพอเพียง ต่อมาเริ่มมีโครงสร้างของสังคมที่ดีขึ้นจนพัฒนามาเป็นรัฐ

เหตุที่ฟูนันพัฒนาเป็นรัฐได้นั้น มีผู้แสดงความเห็นไว้ เช่น เคนเนธ อาร์ ฮอลล์ กล่าวว่า เป็นเพราะฟูนันมีการพัฒนาในเรื่องการเพาะปลูกอย่างมากและที่สำคัญ คือ ฟูนันมีเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเล พร้อมทั้งได้ยกข้อคิดเห็นของ โอ.ดับบลิว.โวลเดอร์ (O.W.Wolter) ที่กล่าวถึงการพัฒนาการจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐว่า เป็นเพราะลักษณะทางการค้า และสภาพภูมิศาสตร์เอื้ออำนวย โดยเฉพาะที่เมืองออกแก้ว (Oc-EO) เมืองท่าของฟูนันที่เรือต่าง ๆ ผ่านมาต้องแวะ เมืองออกแก้วเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นในดินแดน เพื่อสนองความต้องการสินค้าของคนที่แวะมาเมืองท่า และการชลประทานในฟูนันก็เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทำให้ฟูนันขยายตัวเป็นรัฐขึ้นมา และเป็นรัฐแรกในภูมิภาคนี้ ส่วนเรื่องการเข้ามาของชาวอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะเริ่มที่พ่อค้าเข้ามาก่อน โดยมาติดต่อกับผู้ปกครอง แล้วพราหมณ์จึงตามเข้ามาทีหลัง และไม่เชื่อว่าฟูนันจะกว้างใหญ่ถึงขนาดเป็นอาณาจักรได้ แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการใช้คำศัพท์ ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ข้อมูลได้มาจากจีน จีนมองดูบ้านเมืองในแถบนี้ด้วยสายตาของคนจีนและนำเอาคำศัพท์ของจีนมาใช้ เช่นเดียวกับชาวตะวันตกที่ใช้คำว่า “Kingdom” หมายถึง อาณาจักรในแนวคิดและแบบของยุโรป ซึ่งเทียบกันไม่ได้กับสภาพจริงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการศึกษาโดยละเอียด ในเนื้อหาของบันทึกหลักฐานทางโบราณคดี และสภาพแวดล้อมแล้ว ฟูนันยังไม่เหมาะที่จะใช้กับคำว่า อาณาจักรหรือจักรวรรดิได้ ฟูนันขณะนั้นเป็นเพียงการรวมเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีหัวหน้าใหญ่ซึ่งได้มาโดยการยกย่องหัวหน้าเผ่าบางคนขึ้นมาโดยดูจากความสามารถส่วนตัว หัวหน้าใหญ่คนนี้ก็จะมีอำนาจอยู่ในชั่วอายุของตนเองเท่านั้น เมื่อตายไปแล้วอำนาจก็สิ้นสุด ไม่ตกทอดถึงทายาท

รายพระนามพระมหากษัตริย์ฟูนาน

[แก้]

รายพระนามพระมหากษัตริย์กัมพูชา
พระมหากษัตริย์ ครองราชย์
รัชกาล พระรูป พระนาม ระหว่าง หมายเหตุ
อาณาจักรฟูนาน
(พ.ศ. 611 – 1170)
1 พระนางโสมา
(นางนาค)
พ.ศ. 611 – ศตวรรษที่ 1[8][9] ปฐมกษัตริย์แห่งกัมพูชา พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Liǔyè (柳葉) หรือ Yèliǔ (葉柳) เป็นตำนานพระทอง-นางนาค
2 พระเจ้าเกาฑิณยะชัยวรมันที่ 1
(พระทอง)
ศตวรรษที่ 1 – 2 เป็นพระราชสวามีของพระนางโสมา พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Hùntián (混塡) หรือ Hùnhuì (混湏) เป็นตำนานพระทอง-นางนาค
3 ศตวรรษที่ 2 – 2 ไม่ปรากฏพระนาม
4 พระเจ้าฮุน ปัน ฮวง
(พระนามในบันทึกเอกสารจีน)
ศตวรรษที่ 2 – พ.ศ. 741 พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Hùnpánkuàng (混盤況)
5 พระเจ้าปัน ปาน
(พระนามในบันทึกเอกสารจีน)
พ.ศ. 741 – 744
(3 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Pánpán (盤盤)
6 พระเจ้าศรีมารญะ พ.ศ. 744 – 768
(24 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า ฟ่าน ชือม่าน (范師蔓)
7 พระเจ้าฟ่าน จินเซิง
(พระนามในบันทึกเอกสารจีน)
พ.ศ. 768 – 768
(น้อยกว่า 1 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า ฟ่าน จินเซิง (范金生)
8 พระเจ้าศรีธรณีนทรวรมัน พ.ศ. 768 – 787
(19 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า ฟ่าน จาน (范旃)
9 พระเจ้าฟ่าน เฉิง
(พระนามในบันทึกเอกสารจีน)
พ.ศ. 787 – 787
(น้อยกว่า 1 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า ฟ่าน เฉิง (范長)
10 พระเจ้าอัสรชัย พ.ศ. 787 – 832
(45 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า ฟ่าน สุน (范尋)
11 พระเจ้า ฟ่าน เทียนจู
(พระนามในบันทึกเอกสารจีน)
พ.ศ. 832 – 900
(68 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า ฟ่าน เทียนจู
12 พระเจ้าเจิน ท่าน
(พระนามในบันทึกเอกสารจีน)
พ.ศ. 900 – 953
(53 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Zhāntán (旃檀)
13 พระเจ้าเกาฑิณยะชัยวรมันที่ 2 พ.ศ. 953 – 978
(25 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Qiáochénrú (僑陳如)
14 พระเจ้าศรีอินทรวรมัน พ.ศ. 977 – 978
(1 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Chílítuóbámó (持梨陀跋摩)
15 พ.ศ. 978 – 981
(3 ปี)
ไม่ปรากฏพระนาม
16 พ.ศ. 981 – 1027
(46 ปี)
ไม่ปรากฏพระนาม
17 พระเจ้าเกาฑิณยะชัยวรมันที่ 3 พ.ศ. 1027 – 1057
(30 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Qiáochénrú Shéyébámó (僑陳如闍耶跋摩) เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเกาฑิณยะชัยวรมันที่ 2
18 พระเจ้ารุทรวรมัน พ.ศ. 1057 – 1093
(36 ปี)
พระนามในบันทึกเอกสารจีนว่า Liútuóbámó (留陁跋摩) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนานพระองค์สุดท้าย และพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรจามปา เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าเกาฑิณยะชัยวรมันที่ 3 ที่ประสูติจากพระสนม เมื่อพระราชบิดาสวรรคตพระองค์ก็ทำการแย่งชิงราชสมบัติและสังหาร เจ้าชายกุณณะวรมัน รัชทายาทโดยชอบธรรมที่ประสูติจากพระนางกุลประภาวดี พระอัครมเหสี จึงมีการทำสงครามยืดเยื้อกับพระนางกุลประภาวดี เป็นสาเหตุให้อาณาจักรฟูนานอ่อนแอและล่มสลายลงในที่สุด เมื่อพระเจ้าภววรมันที่ 1 ร่วมกันกับเจ้าชายจิตรเสน (พระเจ้ามเหนทรวรมัน) พระอนุชา ทำสงครามเพื่อชิงราชสมบัติและบุกยึดราชธานีวยาธปุระได้สำเร็จ[10][11]
สงครามอาณาจักรฟูนานอาณาจักรเจนละ (พ.ศ. 1093 – 1170)
พระเจ้าปวีรักษ์วรมัน พ.ศ. 1093 – 1143
(50 ปี)
สงครามอาณาจักรฟูนาน – อาณาจักรเจนละ
พระเจ้ามเหนทรชัยวรมัน พ.ศ. 1143 – 1158
(15 ปี)
สงครามอาณาจักรฟูนาน – อาณาจักรเจนละ
พระเจ้านเรนทรวรมัน พ.ศ. 1158 – 1170
(12 ปี)
สงครามอาณาจักรฟูนาน – อาณาจักรเจนละ

การเกษตรกรรม

[แก้]

โอ.ดับบลิว.โวลเดอร์ กล่าวว่า พัฒนาการของฟูนันมีที่มาจากการที่รัฐสร้างโครงสร้างชลประทานขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการผลิตในทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวที่รัฐฟูนันดึงเข้ามายังส่วนกลางในรูปของส่วยอากร เพื่อสร้างความมั่งคั่ง และมั่นคงทางการเมืองให้แก่รัฐและกลุ่มชนชั้นปกครอง ขณะเดียวกัน มีนักวิชาการท่านหนึ่ง ได้ค้านแนวความคิดเรื่องโครงสร้างชลประทานขนาดใหญ่ดังกล่าว คือ ดับบลิว.เจ.แวนเลอ (W.J.Van Liere) 3 กล่าวว่าไม่มีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า โครงสร้างชลประทานขนาดใหญ่จะมีผลไปถึงการเพาะปลูก ตรงข้ามโครงสร้างดังกล่าว เป็นเรื่องของศาสนาที่ค้ำจุนฐานะของกษัตริย์ในลัทธิเทวราช และอาจเป็นคูคลองป้องกันเมืองก็ได้ ส่วนการปลูกข้าวยังอาศัยฤดูกาลทางธรรมชาติ ตลอดจนการชลประทานขนาดเล็กที่ราษฎรทำเอง เรียกว่า ชลประทานราษฎร์

ความเจริญและความเสื่อม

[แก้]

หลักฐานของจีนกล่าวว่า ฟูนันตั้งขึ้นโดยพราหมณ์โกณธัญญะ (Kaundinya) ผู้มีอิทธิพลเหนือชาวพื้นเมืองและได้แต่งงานกับนางพระยาหลิวเหย่ (Lieo-Yeh) ของแคว้นนี้ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 ฟูนันอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ เมืองหลวงชื่อ วยาธปุระ (Vyadhapura) แปลว่า เมืองของกษัตริย์นายพราน (The city of the hunter king) ชื่อของฟูนันเทียบกับภาษาเขมร คือ พนม บนม หรือภูเขา ผู้ปกครองของฟูนัน เรียกว่า กูรุง บนม (Kurung Bnam) คือ เจ้าแห่งภูเขา (King of the Mountain) วยาธปุระ อยู่ใกล้เขาบาพนม (Ba Phnom) และมีเมืองท่าชายทะเลที่สำคัญ คือ เมืองออกแก้ว มีแม่น้ำสายยาว 200 กิโลเมตรต่อเชื่อมเมืองท่าออกแก้วกับเมืองวยาธปุระ

เนื่องจากเมืองหลวงตั้งอยู่ส่วนสูงสุดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ใกล้ภูเขาบาพนมตรงที่แม่น้ำทะเลสาบไหลมารวมกัน จึงช่วยระบายน้ำในทะเลสาบไปยังพื้นที่ทางทิศตะวันตกซึ่งช่วยในการเพาะปลูกได้ดี สถานที่ตั้งทางด้านยุทธศาสตร์ของฟูนัน ทำให้สามารถควบคุมช่องแคบเดินเรือที่เชื่อมฝั่งทะเลของอ่าวไทยเข้ากับทะเลอันดามันและเมืองท่าต่าง ๆ ของจีนทางตอนใต้ เห็นได้ชัดว่าได้ให้ความมั่งคั่งและอิทธิพลทางการเมืองอย่างสำคัญยิ่ง ทำให้ฟูนันมีอำนาจปกครองเหนือเมืองลังกาสุกะ (Langkasuka มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองปัตตานี) และเมืองตามพรลิงก์ (Tambralinga มีเมืองหลวงอยู่ที่นครศรีธรรมราชหรือไชยา) เมืองทั้งสองตั้งอยู่สองฝั่งเส้นทางเดินเรือค้าขายที่สำคัญ ฟูนันยังมีอำนาจเหนือเจนละ ซึ่งอยู่ตอนเหนือของฟูนัน ฟูนันปกครองเหนือดินแดนในอินโดจีนส่วนใหญ่ถึงห้าศตวรรษ

การขนส่งภายในฟูนันใช้ทางน้ำเป็นสำคัญ ประชากรอาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำปลูกบ้านแบบใต้ถุนสูง กีฬาที่โปรดปราน คือ การชนไก่ ชนหมู ภาษีอากรจ่ายเป็นทอง เงิน ไข่มุก น้ำหอม ฟูนันได้ติดต่อค้าขายกับตะวันตกด้วย เพราะจากการขุดค้นได้พบรากฐานของอาคารหลายแห่งที่เมืองออกแก้ว ได้พบหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างฟูนันกับตะวันตก เช่น เหรียญโรมันต่าง ๆ มีรูปจักรพรรดิโรมัน แหวนจารึกภาษาอินเดีย สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 2 – 5 หินสลักรูปต่าง ๆ ที่ได้แบบมาจากกรีก อาณาจักรฟูนันหรือฟูนันล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ 11

ลักษณะของวัฒนธรรม

[แก้]

ลักษณะของวัฒนธรรมที่เมืองออกแก้ว เป็นแบบผสมกันระหว่างวัฒนธรรมพื้นเมืองและวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ประเพณีการบูชาภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ และเจ้าหญิงธิดาพญานาคของชาวฟูนัน ได้สืบทอดต่อมาเป็นธรรมเนียมที่กษัตริย์กัมพูชาทรงปฏิบัติ ส่วนลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นแบบวัฒนธรรมอินเดีย ได้แก่ โบราณสถานของกัมพูชาสมัยก่อนนครวัด นอกจากนั้น มีพระพุทธรูปแบบคุปตะ ภาพปั้นพระวิษณุสวมมาลาทรงกระบอก และภาพปั้นพระหริหระ ล้วนแสดงให้เห็นว่า ประติมากรชาวฟูนันได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากอินเดียสมัยราชวงศ์ปาลวะ และราชวงศ์คุปตะ ทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู มีภาษาสันสกฤต ซึ่งเห็นได้จากบันทึกของชาวฟูนันที่บันทึกไว้คราวมีงานเฉลิมฉลองรัชกาลพระเจ้าโกณธิญญะที่ 2 (สวรรคต ค.ศ. 434) และรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 (ครองราชย์ ค.ศ. 478 – 514) ที่มีประเพณีการจัดงานต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียแล้ว ยังปรากฏคำลงท้ายพระนามกษัตริย์ฟูนันว่า “วรมัน” ภาษาสันสกฤต แปลว่า “ผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์” ซึ่งผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ของอินเดียนิยมใช้กัน สิ่งเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียที่มีต่อรัฐฟูนัน

ฟูนันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ดังนั้นเรื่องราวของฟูนันจึงปรากฏในบันทึกของจีนที่กล่าวไว้ว่า เมืองต่าง ๆ ในฟูนันมีกำแพงล้อมรอบ มีปราสาทราชวังและบ้านเรือน ราษฎรชาวฟูนันมีผิวดำ ผมหยิก เดินเท้าเปล่า ทำการเพาะปลูก ชอบการแกะสลักเครื่องประดับ การสลักหิน มีตัวอักษรใช้ลักษณะคล้ายกับอักษรของพวก “ฮู้” (อยู่ในเอเชียตอนกลาง ใช้อักษรแบบอินเดีย) มีทาสเชลยศึก มีการค้าทองคำ ค้าเงิน ค้าไหม ทำแหวน สร้อยมือทองคำ ถ้วยชามเงิน การพิจารณาคดีความใช้แบบจารีตนครบาล เช่น ล้วงหยิบแหวนทองเหลืองหรือไข่ในน้ำเดือด ใช้โซ่ร้อนจัดคล้องมือ แล้วเดินไป 7 ก้าว หรือดำน้ำพิสูจน์ เป็นต้น มีแหล่งน้ำใช้ร่วมกัน มีการทดน้ำเพื่อการเพาะปลูก สถาปัตยกรรมเป็นแบบหลังคาเป็นชั้นเล็กๆจำนวนมาก ตกแต่งด้วยช่องเล็กช่องน้อยครอบอยู่

จากบันทึกของชาวจีน

[แก้]

เรื่องราวของฟูนันได้ทราบจากบันทึกของชาวจีนชื่อ คังไถ่ ซึ่งเดินทางมากับคณะทูตจีน ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกนำมากล่าวอ้างอิงกันมาก แต่ปัจจุบันได้มีนักวิชาการนำบันทึกของคังไถ่มาวิเคราะห์กันใหม่ และได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านข้อมูลเกี่ยวกับฟูนัน โดยยกเหตุผลมาสนับสนุนข้อคัดค้านของตนดังได้กล่าวมาแล้ว ในเรื่องพัฒนาการของสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐ และยังมีอีกหลายประเด็นที่ เคนเนธ อาร์.ฮอลล์ กล่าวไว้รวมทั้งตำนานเกี่ยวกับการเข้ามาตั้งฟูนันโดย พราหมณ์โกณธิญญะ มาแต่งงานกับ นางพระยาหลิวเหย่ ว่าเป็นเรื่องของการใช้ตำนานเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์น่ายินดีและเพื่อสถานภาพของกษัตริย์ ความเห็นนี้ตรงกับ มิสตัน ออสบอร์น ที่กล่าวว่า “เรื่องดังกล่าวเป็นตำนานเล่ากันมา เป็นการบิดเบือน เพื่อหวังผลทางปฏิบัติอย่างสูง สำหรับคนระดับที่เป็นผู้ปกครองของรัฐนี้”

ฟูนันรับวัฒนธรรมอินเดียทั้งรูปแบบการปกครอง สังคม วัฒนธรรม อิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียมีอยู่มากในชนระดับสูง ส่วนชาวบ้านทั่วไปยังยึดมั่นในขนบประเพณีสังคมดั้งเดิมของตนอยู่ ฟูนันมีลักษณะเป็นรัฐชลประทาน มีการชลประทานเพื่อปลูกข้าว โดยการขุดคูคลองทำนบกักเก็บน้ำ แล้วระบายไปยังไร่นาต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ก็มีเมืองท่าชื่อเมืองออกแก้ว เป็นแหล่งนำรายได้ผลประโยชน์มาสู่รัฐอีกทางหนึ่ง นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ด้วย ฟูนันยั่งยืนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่6 จึงตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐเจนละ สาเหตุแห่งความพ่ายแพ้หรือความเสื่อมสลายนี้ ได้มีหลักฐานแน่ชัดจากพงศาวดารราชวงศ์ถัง ซึ่งคณะทูตชาวจีนที่เดินทางไปยังดินแดนแถบฟูนัน ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 กล่าวเพียงว่า ได้พ่ายแพ้แก่พวกเจนละ กษัตริย์ฟูนันต้องหนีไปทางใต้ ฟูนันเป็นรัฐที่เรืองอำนาจแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถรักษาเกียรติภูมิอันยิ่งใหญ่ เป็นที่ระลึกแก่คนรุ่นหลัง เห็นได้จากเหตุการณ์หลังจากที่รัฐเจนละเข้าครอบครองฟูนันแล้ว กษัตริย์ของเจนละทุกพระองค์ได้รับเอาเรื่องราวของราชวงศ์ฟูนันเป็นของตนด้วย และสมัยต่อมา คือ สมัยนครวัด กษัตริย์ทุกพระองค์ที่นครวัดถือว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์แห่งเมืองวยาธปุระทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่า รัฐฟูนันน่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยแพร่ขยายอารยธรรมอินเดียในอินโดจีน และเป็นรัฐที่เป็นรากฐานของประเทศกัมพูชา

อ้างอิง

[แก้]
  1. Martin Stuart-Fox (2003). A Short History of China and Southeast Asia: Tribute, Trade and Influence. Allen & Unwin. p. 29.
  2. Dougald JW O′Reilly (2007). Early Civilizations of Southeast Asia. Altamira Press. p. 194.
  3. Michael Vickery, "Funan reviewed: Deconstructing the Ancients", Bulletin de l'École Française d'Extrême Orient XC-XCI (2003–2004), pp. 101–143
  4. Pierre-Yves Manguin, "From Funan to Sriwijaya: Cultural continuities and discontinuities in the Early Historical maritime states of Southeast Asia", in 25 tahun kerjasama Pusat Penelitian Arkeologi dan Ecole française d'Extrême-Orient, Jakarta, Pusat Penelitian Arkeologi / EFEO, 2002, p. 59-82.
  5. Hà Văn Tấn, "Oc Eo: Endogenous and Exogenous Elements", Viet Nam Social Sciences, 1–2 (7–8), 1986, pp.91–101.
  6. Lương Ninh, "Funan Kingdom: A Historical Turning Point", Vietnam Archaeology, 147 3/2007: 74–89.
  7. "อาณาจักรฟูนันหรือฟูนาน (พุทธศตวรรษที่ ๖–๑๑)". siamrecorder.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-04. สืบค้นเมื่อ 2010-11-26.
  8. "The women who made Cambodia". The Phnom Penh Post. 19 May 2010.
  9. "C. 87 Stela from Mỹ Sơn B6". Corpus of the Inscriptions of Campā.
  10. សៀវភៅសិក្សាសង្គម ថ្នាកទី១០ ឆ្នាំ២០១៧ របស់ក្រសួងអប់រំ យុវជន និងកីឡា ទំព័រទី១៣៤
  11. Jacobsen, Trudy, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, NIAS Press, Copenhagen, 2008