นครวัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นครวัด
អង្គរវត្ត
มุมมองนครวัดจากสระเก็บน้ำ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562
นครวัดตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
นครวัด
สถานที่ตั้งในประเทศกัมพูชา
ที่ตั้งเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
พิกัด13°24′45″N 103°52′01″E / 13.41250°N 103.86694°E / 13.41250; 103.86694พิกัดภูมิศาสตร์: 13°24′45″N 103°52′01″E / 13.41250°N 103.86694°E / 13.41250; 103.86694
ค่าระดับความสูง65 m (213 ft)
ความเป็นมา
ผู้สร้างพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
สร้างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12[1]
วัฒนธรรมจักรวรรดิเขมร
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมเขมร (รูปแบบนครวัด)
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนเมืองพระนคร
ประเภทวัฒนธรรม
เกณฑ์(i), (ii), (iii), (iv)
ขึ้นเมื่อค.ศ. 1992 (วาระการประชุมมรดกโลกครั้งที่ 16)
เลขอ้างอิง668
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภาพบริเวณลานระเบียงแห่งเกียรติยศ (Terrace of Honor) ในปี ค.ศ. 2019 ก่อนเข้าสู่ภายในนครวัด

นครวัด (เขมร: អង្គរវត្ត) เป็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก[2] ด้วยพื้นที่รวมกว่า 162.6 เฮกเตอร์ (1.6 ล้านตารางเมตร ซึ่งเท่ากับ 402 เอเคอร์)[3] แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดูเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12[4] นครวัดสร้างขึ้นในช่วงต้นของคริสศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2[5] แห่งเมืองยโสธรปุระ (ในปัจจุบันคือเมืองพระนคร) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเทวลัยประจำรัฐและเป็นสุสานฝังพระศพ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการนับถือในลัทธิไศวนิกายของกษัตริย์องค์ก่อน ๆ เหตุเพราะนครวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุแทนที่จะเป็นพระศิวะ และเนื่องจากเป็นปราสาทที่ได้รับการอนุรักษ์ดีที่สุดในบริเวณที่ตั้งโดยรอบ นครวัดจึงเป็นปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง โดยนครวัดถือเป็นจุดสูงสุดของรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรแบบดั้งเดิม และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา[6] มีการปรากฏอยู่บนธงชาติ และได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชาที่มีความสำคัญที่สุดในหมู่ของนักท่องเที่ยว[7]

นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (ปราสาทบนฐานชั้น) และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลัก การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพเทวัญในปกรณัมของศาสนาฮินดู ด้านนอกมีคูน้ำและกำแพงล้อม ความยาวรวมกว่า 3.6 กิโลเมตร โดยตัวปราสาทประกอบด้วยระเบียงคดสี่เหลี่ยมที่มีภาพสลักทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่สูงกว่าชั้นล่าง ตรงกลางของปราสาทคือพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 5 ยอด นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทในพระนครปราสาทอื่น ๆ เนื่องจากมีการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนักวิชาการต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไปในเรื่องนัยยะของการสร้างในลักษณะนี้ นครวัดยังได้รับการยกย่องในด้านความงามและความกลมกลืนของตัวสถาปัตยกรรม เช่น ภาพสลักนูนต่ำที่ใหญ่โต รวมถึงภาพเทวดาที่มีการตกแต่งตามผนังเป็นจำนวนมาก

นครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในจังหวัดเสียมราฐขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในนาม "เมืองพระนคร (อังกอร์)" ใน ค.ศ. 1992

ประวัติ

พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด

นครวัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐในปัจจุบัน ห่างออกไป 5.5 กิโลเมตรจากตัวเมือง แต่หากวัดจากเมืองหลวงก่อนหน้าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบาปวน นครวัดจะมีระยะห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยนครวัดจะตั้งอยู่ทางทิศใต้เยื้องไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย และถือเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของบริเวณเมืองพระนคร

ตามตำนานแล้ว การก่อสร้างปราสาทนครวัดนั้นสร้างขึ้นตามคำสั่งของพระอินทร์ ซึ่งต้องการสร้างปราสาทนี้ให้เป็นวังที่ประทับของพระโอรสของพระองค์[8] ตามบันทึกในช่วงคริสศตวรรษที่ 13 ของนักเดินทางนามว่า โจว ตากวน ได้ระบุว่ามีผู้คนบางส่วนเชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเทพแห่งสถาปัตยกรรมศาสตร์ในเวลาเพียงหนึ่งคืน[9]

การออกแบบในขั้นต้นและการก่อสร้างตัวปราสาทเริ่มต้นขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 (ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1113-1150) โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นปราสาทประจำพระองค์และประจำเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้แก่พระวิษณุ และเนื่องจากไม่มีการพบหลักฐานที่เป็นจารึกสมัยการก่อสร้างหรือจารึกสมัยใหม่ที่ระบุว่าได้มีการสร้างปราสาทขึ้น จึงไม่สามารถทราบชื่อดั้งเดิมของปราสาทได้ แต่อาจเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ปราสาทวิษณุโลก” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเทพองค์ประธานของปราสาท คาดกันว่าการก่อสร้างน่าจะหยุดลงไม่นานหลังการสวรรคตของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ทำให้ภาพสลักนูนต่ำบางส่วนนั้นยังแกะสลักไม่เสร็จสิ้น[10] ในปี 1177 หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุรยวรรมันที่ 2 ราว 27 ปี เมืองพระนครถูกยึดครองโดยชาวจามที่เป็นศัตรูเดิมของชาวเขมร[11] ภายหลังจึงมีการฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้งโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งได้สถาปนาเมืองหลวงและปราสาทประจำเมืองแห่งใหม่ขึ้นคือนครธมและปราสาทบายน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดไปทางเหนือไม่กี่กิโลเมตร

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางด้านจิตใจในศาสนาฮินดูไปเป็นศาสนาพุทธซึ่งก็ได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[4] นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทอื่นในเมืองพระนคร แม้ตัวปราสาทจะหมดความสำคัญลงไปหลังคริสศตวรรษที่ 16 แต่ตัวปราสาทกลับไม่เคยถูกทิ้งร้างอย่างสมบูรณ์เลย ซึ่งต่างจากปราสาทหลังอื่น ๆ ในเมืองพระนคร ปราสาทแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากการรุกล้ำของป่าเนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคูน้ำรอบปราสาทนั้นได้สามารถทำหน้าที่ป้องกันตัวปราสาทได้[12]

หนึ่งในชาวตะวันตกคนแรก ๆ ที่ได้พบเห็นนครวัดคือ แอนโตนิโอ ดา มาดาลีนา นักบวชชาวโปรตุเกส ผู้เดินทางมาถึงในปี 1586 และกล่าวเอาไว้ว่านครวัดคือ “สิ่งก่อสร้างที่น่าพิศวง ซึ่งไม่สามารถอธิบายมันออกมาผ่านปลายปากกาได้ ที่สำคัญคือ ปราสาทหลังนี้ไม่เหมือนสิ่งก่อสร้างใด ๆ บนโลกนี้เลย ปราสาทมียอดหลายยอด มีการตกแต่ง และมีความวิจิตรที่มีเพียงคนอัจฉริยะเท่านั้นที่จะสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้เช่นนี้”[13]

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นครวัดไม่ได้ถูกทิ้งร้างโดยสมบูรณ์ ยังคงทำหน้าที่เป็นวัดในศาสนาพุทธอยู่เช่นเดิม มีการค้นพบศิลาจารึกที่มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กว่า 14 หลักในบริเวณพื้นที่เมืองพระนคร ระบุถึงผู้แสวงบุญชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แสวงบุญในศาสนาพุทธที่ได้มาตั้งชุมชนเล็ก ๆ ติดกับชาวเขมรท้องถิ่น[14] โดยในตอนนั้นชาวญี่ปุ่นที่มาเยือนนครวัดคิดว่าปราสาทแห่งนี้คือสวนของวัดเชตวันมหาวิหารอันเลื่องชื่อของพระพุทธเจ้า ซึ่งแท้จริงแล้วตั้งอยู่ในแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย[15] โดยจารึกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือจารึกเรื่องราวของอูกนดายุ คาซูฟูสะ นักแสวงบุญผู้ได้เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่เขมรที่นครวัดในปี ค.ศ. 1632[16]

ภาพวาดบริเวณทางเดินหลัก (causeway) เข้าสู่ของนครวัด วาดโดย อ็องรี มูโอ เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1860
ภาพร่างปราสาทนครวัด วาดโดย หลุยส์ เดอลาปอร์ต เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1880

ในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อ็องรี มูโอ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมาที่ปราสาทแห่งนี้ โดยมูโอได้ทำให้นครวัดเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกผ่านบันทึกการเดินทางที่ได้รับการตีพิมพ์ของเขา เขาได้เขียนไว้ว่า

หนึ่งในปราสาทเหล่านี้ ซึ่งน่าจะเป็นคู่ปรับกับวิหารโซโลมอน ถูกสร้างสรรค์โดยมีเกลันเจโลแห่งยุคโบราณ อาจจะเป็นสถานที่ที่น่ายกย่องพอ ๆ กับสิ่งก่อสร้างที่งดงามของพวกเรา ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด ๆ ที่กรีกหรือโรมันทิ้งเอาไว้ แต่ก็ช่างขัดแย้งอย่างน่าเศร้ากับดินแดนที่เสื่อมอำนาจจนกลายเป็นแดนป่าเถื่อนไปแล้ว[17]

เช่นเดียวกันกับชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่พบเห็นนครวัด มูโอนั้นแทบจะไม่เชื่อว่าชาวเขมรจะสามารถสร้างปราสาทหลังนี้ได้ และได้กำหนดอายุสมัยของนครวัดเอาไว้อย่างผิดพลาด โดยระบุว่าน่าจะอยู่ในช่วงยุคสมัยเดียวกันกับกรุงโรม ประวัติที่แท้จริงของนครวัดได้รับจากเพียงแค่หลักฐานด้านรูปแบบการสร้างและจารึกที่ถูกรวบรวมขึ้นในระหว่างการเก็บกวาดและบูรณะพื้นที่ในช่วงหลังที่มีการดำเนินการในพื้นที่ทั้งหมดของเมืองพระนคร ในการบูรณะพื้นที่นั้นไม่มีการค้นพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานหรือที่พักอาศัยทั่วไปเลย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบอาหาร อาวุธ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายซึ่งมักจะพบเจอในบริเวณเขตเมืองโบราณ แต่ถึงอย่างนั้น หลักฐานที่ค้นพบก็คือสิ่งก่อสร้างทั้งหลายนั่นเอง[18]

ในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น นครวัดมีความจำเป็นต้องได้รับการบูรณะเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการกำจัดวัชพืชและกองดินเสียส่วนใหญ่[19] แต่งานบูรณะก็ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาและกองกำลังเขมรแดงก็ได้เข้ามาควบคุมประเทศตลอดในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 ถึงทศวรรษที่ 1980 แต่ตลอดระยะเวลานั้น ตัวปราสาทก็ได้รับความเสียหายไม่มากนัก กองกำลังเขมรแดงที่ต้องพักแรมได้ใช้ไม้ทุกชนิดที่เหลืออยู่ในปราสาทเพื่อเป็นฟืน หนึ่งในโคปุระในพื้นที่นั้นถูกทำลายลงด้วยปลอกระเบิดของทหารฝั่งสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การยิงตอบโต้กันของกองกำลังเขมรแดงและทหารเวียดนามก็ได้สร้างร่องรอยกระสุนเล็กน้อยบนภาพสลักนูนต่ำ ความเสียหายที่รุนแรงกว่าเกิดขึ้นภายหลังสงครามยุติลง โดยเหล่าหัวขโมยงานศิลปะที่ปฏิบัติการกันนอกประเทศไทย ซึ่งในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1980 ถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้อ้างสิทธิ์ครอบครองพระเศียรแทบทุกชิ้นที่สามารถตัดออกจากส่วนพระศอทั้งจากประติมากรรมและจากงานบูรณะได้[20]

ปราสาทแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลที่สุดของประเทศกัมพูชา และยังเป็นความภาคภูมิใจของชาติที่มีส่วนช่วยในเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย ภาพลายเส้นของนครวัดยังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของธงชาติกัมพูชามานับตั้งแต่ ค.ศ. 1863[21] ซึ่งเป็นธงรุ่นแรกที่ใช้ภาพของนครวัดบนตัวธง อย่างไรก็ตาม หากดูจากมุมมองทางด้านวัฒนธรรมข้ามชาติหรือแม้แต่ทางด้านประวัติศาสตร์ให้กว้างขึ้นก็จะพบว่านครวัดนั้นไม่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาติกัมพูชาเพียงชาติเดียว แต่นครวัดยังถูกจดจำด้วยกระบวนการด้านวัฒนธรรมการเมืองที่เกิดจากมรดกที่ตกทอดมาของจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส โดยได้มีการจัดแสดงปราสาทนครวัดที่จำลองไว้ในนิทรรศการของอาณานิคมฝรั่งเศสที่ปารีสและมาร์แซย์ระหว่างปี ค.ศ. 1889 ถึงปี ค.ศ. 1937[22] และความงดงามของนครวัดยังถูกจัดแสดงในรูปแบบแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ที่พิพิธภัณฑ์ของหลุยส์ เดอลาปอร์ตที่ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์อินโดจีนแห่งตรอกาเดโร ซึ่งจัดแสดงอยู่ในวังพาริเซิน ตรอกาเดโล ให้ชาวฝรั่งเศสได้ชื่นชมในความเกรียงไกรของการแผ่ขยายอาณานิคมของตนตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1880 ถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 20[23]

ตำนานเกี่ยวกับความงามด้านศิลปะของนครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในเขตเมืองพระนคร ได้ส่งผลโดยตรงต่อการที่ฝรั่งเศสเลือกประเทศกัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1863 และเริ่มบุกรุกสยาม เพื่อหวังเข้ามาควบคุมและจัดการโบราณสถานต่าง ๆ การกระทำดังกล่าวได้ส่งผลให้ประเทศกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ คืนจากการครอบครองของสยามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดินแดนดังกล่าวได้อยู่ภายใต้การปกครองของสยามมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1351 หรือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1431[24] ตามที่บันทึกบางชิ้นได้อ้างถึงกัมพูชาได้รับอิสรภาพคืนจากฝรั่งเศสในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953 และได้เข้ามาดูแลปราสาทนครวัดมานับแต่นั้นเป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงช่วงที่นครวัดได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกใน ค.ศ. 1992 ตัวปราสาทนครวัดนั้นเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างแห่งยุคสมัยใหม่ และช่วยเผยแพร่แนวคิดเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมประเภทสิ่งปลูกสร้างได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป[25]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2015 ได้มีการประกาศว่าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้ค้นพบกลุ่มซากปราสาทฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน โดยคาดว่ามีการสร้างและพังทลายลงในช่วงการก่อสร้างนครวัดเช่นเดียวกับป้อมปราการที่ทำจากไม้และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทางทิศใต้ที่ยังไม่รู้จุดประสงค์ของการสร้าง การค้นพบครั้งนี้ยังรวมไปถึงการค้นหลักฐานเรื่องการตั้งถิ่นที่อยู่ของผู้คนที่ไม่ได้หนาแน่นนัก รวมไปถึงการตัดถนนแบบตาราง สระน้ำ และคันดิน ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าบริเวณของปราสาทที่แม้จะมีการล้อมอาณาเขตด้วยคูน้ำและกำแพงนั้นก็อาจจะไม่ได้เป็นสถานที่ที่ถูกจำกัดเอาไว้ให้คนชนชั้นสูงที่เป็นนักบวชเพียงอย่างเดียวดังที่เคยสันนิษฐานไว้ในตอนแรก ทีมวิจัยยังได้ใช้ไลดาร์ ให้สัญญาณเรดาร์ทะลุทะลวงลงไปในพื้นดินและพื้นที่ขุดค้นที่สนใจเพื่อทำแผนที่ของนครวัดขึ้น[26]

สถาปัตยกรรม

ผังของนครวัด
ผังโดยรวมของนครวัดซึ่งมีการสร้างปราสาทไว้ตรงจุดศูนย์กลาง
ผังของปราสาทโดยละเอียด

ที่ตั้งและผัง

ภาพนครวัดจากมุมสูง

นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นด้วยการรวมเอาลักษณะการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (แบบแผนของการออกแบบปราสาทของอาณาจักร) เข้ากับแบบผังของอาคารในสมัยหลังที่มีการทำระเบียงคดล้อมจุดศูนย์กลาง การก่อสร้างนครวัดยังได้บ่งบอกให้ทราบว่าปราสาทยังมีนัยยะสำคัญเกี่ยวข้องกับท้องฟ้าเนื่องด้วยองค์ประกอบบางส่วนของตัวปราสาท นัยยะดังกล่าวคือในบริเวณด้านทิศตะวันออกและตะวันตกของปราสาท ซึ่งระเบียงภายในได้มีการออกแบบให้เชื่อมต่อเข้าหากันโดยปราศจากสิ่งกำบัง ส่งผลให้ปราสาททั้งสองทิศตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับพระอาทิตย์ที่ขึ้นช่วงวันอายัน[27] ปราสาทแห่งนี้คืออาคารที่สื่อถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า โดยปรางค์ประธานตรงกลางทั้งห้านั้นเป็นสัญลักษณ์แทนถึงยอดห้ายอดของภูเขา ส่วนกำแพงแต่ละชั้นและคูน้ำนั้นก็แทนถึงเขาสัตบริภัณฑ์และมหาสมุทร[28] แต่เดิมพื้นที่ส่วนบนของปราสาทนั้นถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงมาโดยตลอด ผู้ที่เป็นฆราวาสจึงถูกจำกัดให้อยู่แค่บริเวณส่วนล่างของปราสาทเท่านั้น[29]

นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทเขมรหลังอื่นในเรื่องของการวางทิศประธานที่หันไปทางทิศตะวันตกแทนที่จะเป็นทิศตะวันออก ความต่างนี้ได้ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก (รวมไปถึงมอริส เกรซ และ ยอร์ช เซเดส์) ออกมาสรุปว่าพระเจ้าสุริยวรรมันนั้นประสงค์ที่จะสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นให้เป็นปราสาทที่เก็บพระบรมศพของพระองค์[30][31] แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้จากการศึกษาภาพสลักนูนต่ำที่เรียงลำดับเรื่องราวในทิศทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งต่างไปจากเทวสถานฮินดูทั่วไป โดยพิธีกรรมต่าง ๆ ของพราหมณ์ในพิธีพระบรมศพก็ยังจัดขึ้นแบบย้อนลำดับอีกด้วย[19] นักโบราณคดี ชาร์ล ไฮแฮม ยังได้อธิบายถึงภาชนะชิ้นหนึ่งว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นพระโกศบรรจุพระบรมอัฐิ โดยภาชนะนี้ถูกขุดขึ้นมาจากปรางค์ประธานตรงกลาง[32] โดยบุคคลบางกลุ่มได้เสนอแนวคิดที่ว่าปรางค์ประธานตรงกลางนั้นเหมาะสมที่สุดในการทำพิธีจัดการกับพระบรมศพ เพราะเชื่อกันว่าเปรียบเสมือนศูนย์รวมของพลังอำนาจทั้งปวง[33] อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนได้ระบุว่าปราสาทหลายหลังในเมืองพระนครเองก็ไม่ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามธรรมเนียมเสียหมด และได้เสนอว่าการที่นครวัดมีการวางทิศเช่นนี้ก็เพราะปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตก[28]

เอเลนอร์ แมนนิกกาได้นำเสนอการตีความนครวัดในแบบที่แตกต่างออกไป โดยได้วิเคราะห์จากการวางทิศ มิติของอาคาร และจากลำดับการเล่าเรื่องและเนื้อหาของภาพสลักนูนต่ำ เธอได้แย้งว่า ปราสาทแห่งนี้ได้อ้างถึงยุคสมัยใหม่แห่งความสงบสุขในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 โดยได้ระบุว่า “เนื่องจากมีการคำนวณวงจรเวลาการขึ้นของพระอาทิตย์และพระจันทร์ไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนครวัด ภาพเทพเทวดาผู้อยู่ในอาณัติของการปกครองจึงได้ปรากฏอยู่บนตัวเรือนธาตุและเฉลียง สื่อความหมายถึงปกปักษ์ให้อำนาจของกษัตริย์เป็นนิจนิรันดร เป็นการเฉลิมพระเกียรติและสร้างความสงบแก่เหล่าเทวดาที่ประทัพอยู่บนสรวงสวรรค์”[34][35] ข้อเสนอของแมนนิกกานั้นได้มอบทั้งความสนใจและข้อแคลงใจในแวดวงวิชาการ[32] เธอได้ฉีกหนีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการคนอื่น ๆ เช่น แกรแฮม แฮนคอก ด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่านครวัดนั้นคือสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงกลุ่มดาวมังกร[36]

รูปแบบ

ภาพนครวัดจากมุมมองด้านข้าง

นครวัดถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเขมรรูปแบบคลาสสิคที่สำคัญที่สุด ซึ่งชื่อเรียกรูปแบบศิลปะในสมัยคลาสสิคนี้ยังเรียกกันว่า “ศิลปะนครวัด” อีกด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั้น สถาปนิกเขมรได้มีทั้งทักษะความสามารถและความมั่นใจในการใช้หินทรายเป็นวัสดุโครงสร้างหลักของอาคาร (จากเดิมที่ใช้อิฐหรือศิลาแลงในการก่อสร้าง) ส่วนของปราสาทที่มองเห็นได้นั้นทำมาจากหินทรายที่มีการตัดเป็นบล็อก ในขณะที่กำแพงภายนอกและโครงสร้างภายในนั้นทำจากศิลาแลงแต่ใช้บล็อกหินทรายปิดบังเอาไว้ภายนอก ยังไม่มีการชี้ชัดว่าวัสดุที่ใช้เชื่อมหินแต่ละก้อนให้ติดกันนั้นคืออะไร แม้จะมีจะมีการเสนอว่าเป็นยางไม้และน้ำปูนใสมาโดยตลอดก็ตาม[37]

ปราสาทแห่งนี้ได้รับการยกย่องเหนือปราสาทหลังอื่น ๆ เนื่องด้วยความกลมกลืนของการออกแบบ มอริส เกรซ นักอนุรักษ์ของปราสาทนครวัดในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้ระบุว่า ปราสาทหลังนี้ “ได้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่คลาสสิกด้วยการเป็นอนุสรณ์แห่งองค์ประกอบที่มีความพอดีอย่างประณีต มีการจัดสัดส่วนที่แม่นยำ เป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยพลัง มีความเป็นหนึ่งเดียว และเต็มไปด้วยลีลา”[38]

งานประติมากรรม

ทางด้านกำแพงชั้นนอกรอบปราสาทนั้น มีความยาวกว่า 800 เมตร มีงานแกะสลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราววรรณคดีเรื่อง รามายณะ รูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุดคือรูปแกะสลักการกวนเกษียรสมุทร[39] มีรูปแกะสลักนางอัปสรมากกว่า 1,796 นาง ที่ทั้งหมดมีเครื่องแต่งกายและทรงผมที่ไม่ซ้ำกัน[40]

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

  1. Editors, History com. "Angkor Wat". History.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 5 April 2021. {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  2. "What the world's largest Hindu temple complex can teach India's size-obsessed politicians".
  3. "Largest religious structure". Guinness World Records. สืบค้นเมื่อ 29 April 2016.
  4. 4.0 4.1 Ashley M. Richter (8 September 2009). "Recycling Monuments: The Hinduism/Buddhism Switch at Angkor". CyArk. สืบค้นเมื่อ 7 June 2015.
  5. Higham, C. (2014). Early Mainland Southeast Asia. Bangkok: River Books Co., Ltd. pp. 372, 378–379. ISBN 978-616-7339-44-3.
  6. "Government ::Cambodia". CIA World Factbook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-29. สืบค้นเมื่อ 2017-03-13.
  7. "Cambodia's Angkor Wat Breaking Records for Visitors Again | News from Tourism Cambodia". Tourism of Cambodia.
  8. J. Hackin; Clayment Huart; Raymonde Linossier; Raymonde Linossier; H. de Wilman Grabowska; Charles-Henri Marchal; Henri Maspero; Serge Eliseev (1932). Asiatic Mythology:A Detailed Description and Explanation of the Mythologies of All the Great Nations of Asia. p. 194.
  9. daguan Zhou (2007). A Record of Cambodia: The Land and Its People. Translated by Peter Harris. Silkworm Books.
  10. "Angkor Wat, 1113–1150". The Huntington Archive of Buddhist and Related Art. College of the Arts, The Ohio State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-06. สืบค้นเมื่อ 27 April 2008.
  11. Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. p. 164. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  12. Glaize, The Monuments of the Angkor Group p. 59.
  13. Higham, The Civilization of Angkor pp. 1–2.
  14. Masako Fukawa; Stan Fukawa (6 Nov 2014). "Japanese Diaspora - Cambodia". Discover Nikkei. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015.
  15. Abdoul-Carime Nasir. "Au-dela du plan Japonais du XVII siècle d'Angkor Vat, (A XVII century Japanese map of Angkor Wat)" (PDF) (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-12-23. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  16. "History of Cambodia, Post-Angkor Era (1431 - present day)". Cambodia Travel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-11. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015.
  17. Quoted in Brief Presentation by Venerable Vodano Sophan Seng
  18. Time Life Lost Civilizations series: Southeast Asia: A Past Regained (1995). p.67–99
  19. 19.0 19.1 Glaize p. 59.
  20. Russell Ciochon & Jamie James (14 October 1989). "The Battle of Angkor Wat". New Scientist. pp. 52–57. สืบค้นเมื่อ 22 November 2015.
  21. Flags of the World, Cambodian Flag History
  22. Falser, Michael (2011). Krishna and the Plaster Cast. Translating the Cambodian Temple of Angkor Wat in the French Colonial Period เก็บถาวร 2012-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  23. Falser, Michael (2013). From Gaillon to Sanchi, from Vézelay to Angkor Wat. The Musée Indo-Chinois in Paris: A Transcultural Perspective on Architectural Museums..
  24. Cambodge: The Cultivation of a Nation, 1860–1945 by Penny Edwards. 2007. ISBN 978-0-8248-2923-0
  25. Falser, Michael: Clearing the Path towards Civilization - 150 Years of "Saving Angkor". In: Michael Falser (ed.) Cultural Heritage as Civilizing Mission. From Decay to Recovery. Springer: Heidelberg, New York, pp. 279–346.
  26. "Recent research has transformed archaeologists' understanding of Angkor Wat and its surroundings". University of Sydney. 9 December 2015. สืบค้นเมื่อ 10 December 2015.
  27. Fleming, Stuart. "The City of Angkor Wat: A Royal Observatory on Life?" (PDF). jstor.org. Archaeological Institute of America.
  28. 28.0 28.1 Freeman and Jacques p. 48.
  29. Glaize p. 62.
  30. Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. p. 162. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  31. The diplomatic envoy Zhou Da Guan sent by Emperor Temür Khan to Angkor in 1295 reported that the head of state was buried in a tower after his death, and he referred to Angkor Wat as a mausoleum
  32. 32.0 32.1 Higham, The Civilization of Angkor p. 118.
  33. Scarre, Chris editor "The Seventy Wonders of the Ancient World", p. 81–85 (1999) Thames & Hudson, London
  34. Mannikka, Eleanor. Angkor Wat, 1113–1150 เก็บถาวร 2006-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (This page does not cite an author's name.)
  35. Stencel, Robert, Fred Gifford, and Eleanor Moron. "Astronomy and Cosmology at Angkor Wat." Science 193 (1976): 281–287. (Mannikka, née Moron)
  36. Transcript of Atlantis Reborn, broadcast BBC2 4 November 1999.
  37. German Apsara Conservation Project Building Techniques, p. 5.
  38. Glaize p. 25.
  39. Higham, Early Cultures of Mainland Southeast Asia p. 318.
  40. Angkor Wat devata inventory - February 2010 เก็บถาวร 23 เมษายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

บรรณานุกรม

  • Albanese, Marilia (2006). The Treasures of Angkor (Paperback). Vercelli: White Star Publishers. ISBN 88-544-0117-X.
  • Briggs, Lawrence Robert (1951, reprinted 1999). The Ancient Khmer Empire. White Lotus. ISBN 974-8434-93-1.
  • Forbes, Andrew; Henley, David (2011). Angkor, Eighth Wonder of the World. Chiang Mai: Cognoscenti Books. ASIN: B0085RYW0O
  • Freeman, Michael and Jacques, Claude (1999). Ancient Angkor. River Books. ISBN 0-8348-0426-3.
  • Higham, Charles (2001). The Civilization of Angkor. Phoenix. ISBN 1-84212-584-2.
  • Higham, Charles (2003). Early Cultures of Mainland Southeast Asia. Art Media Resources. ISBN 1-58886-028-0.
  • Hing Thoraxy. Achievement of "APSARA": Problems and Resolutions in the Management of the Angkor Area.
  • Jessup, Helen Ibbitson; Brukoff, Barry (2011). Temples of Cambodia - The Heart of Angkor (Hardback). Bangkok: River Books. ISBN 978-616-7339-10-8.
  • Petrotchenko, Michel (2011). Focusing on the Angkor Temples: The Guidebook, 383 pages, Amarin Printing and Publishing, 2nd edition, ISBN 978-616-305-096-0
  • Ray, Nick (2002). Lonely Planet guide to Cambodia (4th edition). ISBN 1-74059-111-9.

แหล่งข้อมูลอื่น