ข้ามไปเนื้อหา

ถนนสุทธาวาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนสุทธาวาสตัดกับถนนจรัญสนิทวงศ์

ถนนสุทธาวาส (อักษรโรมัน: Thanon Sutthawat) เป็นถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ (สายธนบุรี) ในเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี พื้นที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากปลายถนนอิสรภาพ จุดบรรจบถนนรถไฟ เลียบทางรถไฟสายใต้ด้านขวาทาง ผ่านวัดสุทธาวาส มาสิ้นสุดที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณป้ายหยุดรถไฟจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามกับจุดเริ่มต้นของถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ใกล้แยกบางขุนนนท์

ถนนสายนี้เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งช่วยลดปริมาณการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณสามแยกไฟฉาย และเป็นเส้นทางลัดเชื่อมต่อไปยังย่านสำคัญ ได้แก่สถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช และตลาดพรานนก

ประวัติ

[แก้]

จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ โรงพยาบาลศิริราช หลายต่อหลายครั้ง และได้ทรงศึกษาพื้นที่โดยรอบอย่างละเอียด จึงมีพระราชดำริที่จะขยายแนวถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี จากช่วงปลายถนนอิสรภาพถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ ระยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งสภาพเดิมเป็นถนนคอนกรีตจากปลายถนนอิสรภาพเข้าไปประมาณ 230 เมตร ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 380 เมตรเป็นที่ลุ่ม มีบ้านเรือน เพิงพักอาศัย และมีทางเดินตามแนวทางรถไฟจนถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยกรุงเทพมหานครได้รับสนองแนวพระราชดำริและได้ขออนุญาตใช้ที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536 ใช้งบประมาณดำเนินการ 16.5 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณกรุงเทพมหานคร ทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคเพิ่มเติม เปิดการจราจรอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามถนนสายนี้ตามชื่อวัดในบริเวณดังกล่าวว่า “ถนนสุทธาวาส”[1] แต่เดิมเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร แต่ปัจจุบันได้รับการขยายเป็น 4 ช่องจราจรพร้อมกับถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ช่วงถนนจรัญสนิทวงศ์ถึงคลองชักพระ และสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ขนาด 2 ช่องจราจร [2]

สถานที่สำคัญที่ถนนตัดผ่าน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]