ข้ามไปเนื้อหา

จริต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จริต (อ่านว่า จะหริด) จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตชอบท่องเที่ยว หรืออารมณ์ที่ชอบท่องเที่ยวของจิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มี 6 ประการ หมายถึง ความประพฤติ คือกิริยาอาการที่แสดงออกมาให้เห็น มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า จริย จริยา หรือ จรรยา โดยทั่วไปจะใช้หมายถึงกิริยาอาการที่ไม่ดี เช่น เสียจริต วิกลจริต ดัดจริต จริตจะก้าน แต่ในทางพุทธศาสนา หมายถึง ความประพฤติ, พื้นเพ นิสัย มี 6 อย่างคือ

  1. ราคจริต หนักไปทางรักสวยรักงามคือ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะ
  2. โทสจริต หนักไปทางเจ้าอารมณ์มักโกรธ เป็นคนขี้โมโหโทโส พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว ชอบจับผิด จึงมองข้อตลกของคนได้ดี จึงมักเป็นคนที่พูดจาได้ตลกและสนุกสนาน
  3. โมหจริต หนักไปทางเขลา ง่วงซึม ไม่ค่อยชอบคิดมาก และขี้เกียจ
  4. สัทธาจริต หนักไปทางเชื่อถือจริงใจ น้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เกิดปีติเลื่อมใสได้ง่ายเมื่อเจอบุคคลน่านับถือ เชื่อตามที่บอกต่อกันมา ขาดการพิจารณา
  5. พุทธิจริตหรือญาณจริต หนักไปทางใช้ปัญญา เจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ การคิดการอ่าน ความทรงจำดี ชอบสั่งสอนคนอื่น
  6. วิตกจริต หนักไปทางชอบคิดมาก ถ้าขี้ขลาดจะวิตก กังวล ฟุ้งซ่านชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ คิดอย่างไม่มีเหตุผล เกินจริง

โดยแยกเป็นสองกลุ่ม คือ ตัณหาจริต และ ทิฏฐิจริต ราคจริต โทสจริต โมหจริต จัดเป็นตัณหาจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต จัดเป็นทิฏฐิจริต

กรรมฐานที่เหมาะสมกับแต่ละจริต

[แก้]
  1. ราคจริต เหมาะกับ อสุภะ 10 นวสี 9 กายคตานุสสติ
  2. โทสจริต เหมาะกับ วัณณกสิน 4 พรหมวิหาร 4
  3. โมหจริต เหมาะกับ อานาปานสติ
  4. วิตกจริต เหมาะกับ อานาปานสติ กสินทั้ง 6 คือ ปฐวีกสิน อาโปกสิน เตโชกสิน วาโยกสิน อาโลกกสิน อากาสกสิน
  5. สัทธาจริต เหมาะกับ อนุสสติ 6 คือพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ ศีลานุสสติ เทวตานุสสติ
  6. พุทธิจริต เหมาะแก่การบอกไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อให้เกิดความเลื่อมใส พิจารณาธาตุ 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ

อานาปานสติเหมาะสมกับทุกจริต

อารมณ์ที่กล่าวมา 6 ประการนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง 6 อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อยกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในชาติอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกันนั้น เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน

อ้างอิง

[แก้]