กุยช่าย
กุยช่าย | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Liliopsida |
อันดับ: | Asparagales |
วงศ์: | Amaryllidaceae |
วงศ์ย่อย: | Allioideae |
สกุล: | Allium |
สปีชีส์: | A. tuberosum |
ชื่อทวินาม | |
Allium tuberosum Rottl. ex Spreng |
กุยช่าย (จีน: 韭菜; พินอิน: jiǔ cài; แต้จิ๋ว: กู๋ไฉ่; เพ็งอิม: gu2 cai3; ชื่อวิทยาศาสตร์: Allium tuberosum Rottl. ex Spreng) อยู่ในวงศ์ Amaryllidaceae วงศ์ย่อย Allioideae เป็นไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดินเล็กและแตกกอ ใบแบน เรียงสลับ รูปขอบขนาน โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมโดยปกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก ก้านดอกยาวเท่ากัน มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย เกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลกลม ภายในมี 3 ช่อง มีผนังกั้นตื้น ๆ เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1–2 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลแบน ขรุขระ
กระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกแถบภูเขาหิมาลัย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น ในไต้หวันมีปลูก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สีเขียวที่ปลูกทั่วไป และพันธุ์ใบใหญ่สีขาวซึ่งเกิดจากการบังร่ม
การใช้ประโยชน์
[แก้]กุยช่ายขาว เป็นพืชชนิดเดียวกับกุยช่ายเขียว แต่ตอนปลูกจะนำฝาหรือเข่งมาครอบไว้ไม่ให้ถูกแสงแดด มีราคาแพงกว่ากุยช่ายเขียว นิยมนำไปผัดเต้าหู้ ผัดหมูกรอบ ผัดมี่สั้ว ผัดหมี่ฮ่องกง[1]
กุยช่ายเขียวใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ดอก ผัดกับตับหมู ใบรับประทานสดกับลาบหรือผัดไทยก็ได้ และนอกจากนั้นยังใช้ใบทำเป็นไส้ของขนมกุยช่ายอีกด้วย และมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร ใบ มีฟอสฟอรัสสูง เป็นยาแก้หวัด บำรุงกระดูก แก้ลมพิษ ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด บำรุงไต บำรุงกำหนัด จะกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ตำผสมเหล้าเล็กน้อยรับประทานจะช่วยกระจายเลือดไม่ให้คั่ง แก้ช้ำในได้
น้ำมันสกัดจากต้นกุยช่ายที่ความเข้มข้น 80 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรยับยั้งการเจริญของ Flavobacterium columnaris ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ ถ้านำน้ำมันนี้ไปผสมกับอาหารเลี้ยงปลา 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้ปลานิลลดอัตราการตายจากการติดเชื้อ F. columnaris [2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ศิริลักษณ์ รอดยันตร์ (มกราคม 2012). "จานเด็ด: กุยช่าย อร่อยหลากเมนู ทั้งดอกกุยช่าย กุยช่ายเขียวไปจนกุยช่ายขาว". ครัว. Vol. 18 no. 112. p. 28. ISSN 0858-8422.
- ↑ พงศ์ศักดิ์ รัตนชัยกุลโสภณ; ปาริชาติ พุ่มขจร (กรกฎาคม 2010). "การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรคในปลา" (PDF). วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 12 (4): 63–71. eISSN 2697-4142.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Allium tuberosum