ปลากระโห้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Catlacarpio)

ปลากระโห้
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลาตะเพียน
วงศ์: วงศ์ปลาตะเพียน
Boulenger, 1898
สกุล: Catlocarpio
Boulenger, 1898
สปีชีส์: Catlocarpio siamensis
ชื่อทวินาม
Catlocarpio siamensis
Boulenger, 1898

ปลากระโห้ เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย[2] โดยเฉลี่ยมักมีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 150 กิโลกรัม ในอดีต เกล็ดปลากระโห้สามารถนำมาทอดรับประทานเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อ

ปลากระโห้ จัดเป็นปลาประจำกรุงเทพมหานครของกรมประมง[3]

ลักษณะทางกายภาพ[แก้]

ปลากระโห้เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Catlocarpio[4] มีลักษณะสำคัญคือ ส่วนหัวโต ปากกว้าง ตาเล็ก ไม่มีหนวด ปลาวัยอ่อนหัวจะโตมากและลำตัวค่อนไปทางหาง ทำให้แลดูคล้ายปลาพิการไม่สมส่วน ขอบฝาปิดเหงือกมนกลมและใหญ่กว่าปลาชนิดอื่น ๆ ครีบหลังและครีบหางใหญ่ มีเกล็ดขนาดใหญ่ปกคลุมลำตัว บนเพดานปากมีก้อนเนื้อหนา เหงือกมีซี่กรองยาวและถี่มาก ตัวมีสีคล้ำอมน้ำเงินหรือน้ำตาลเข้ม ครีบมีสีแดงเรื่อ ๆ ด้านท้องมีสีจาง

แหล่งอาศัย[แก้]

พบเฉพาะในแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยในหลายจังหวัด และยังพบได้บ้างที่แม่น้ำป่าสัก ในต่างประเทศพบได้ที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม[5] ปลาวัยอ่อนมักอยู่รวมเป็นฝูงในวังน้ำลึก ปัจจุบันลดจำนวนลงไปมากเรื่องจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการถูกจับเป็นจำนวนมาก จัดอยู่ในสถานภาพเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง ปัจจุบัน ปลากระโห้สามารถเพาะพันธุ์ได้แล้วเป็นบางส่วนจากการผสมเทียม ในธรรมชาติจะแพร่พันธุ์ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน โดยปลาจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 7 ปี วางไข่ลอยไปตามกระแสน้ำ ไข่มีสีเหลืองอ่อนลักษณะกึ่งลอยกึ่งจม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.4 มิลลิเมตร ปริมาณไข่จะมีจำนวนมากนับล้าน ๆ ฟอง แต่ไข่ส่วนใหญ่และลูกปลาจะถูกปลาอื่นจับกินแทบไม่มีเหลือ ปัจจุบันกรมประมงได้ปล่อยลูกปลาที่เกิดจากการเพาะขยายพันธุ์คืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติปีละประมาณ 200,000–1,000,000 ตัว แต่ทว่าโอกาสที่ลูกปลาเหล่านี้จะเติบโตจนเต็มวัยในธรรมชาติก็มีโอกาสน้อยมาก

อาหารของปลากระโห้คือแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็ก แต่ก็สามารถกินพืชเช่นสาหร่ายหรือเมล็ดพืชได้

ปลากระโห้นอกจากนำมาทำเป็นอาหารโดยการปรุงสดแล้ว ยังสามารถเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย

ชื่อเรียกอื่น[แก้]

นอกจากชื่อปลากระโห้แล้ว ในภาษาอีสานจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "ปลาคาบมัน" หรือ "ปลาหัวมัน" หรือ "ปลาหัวม่วง" ภาษาเหนือเรียกว่า "ปลากะมัน" ที่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เรียกว่า "ปลาสา"

อ้างอิง[แก้]

  1. Hogan, Z. (2011). "Catlocarpio siamensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2011: e.T180662A7649359. doi:10.2305/IUCN.UK.2011-1.RLTS.T180662A7649359.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2544) ISBN 974-475-655-5
  3. "เกษตรฯอนุรักษ์ปลากระโห้ สัตว์น้ำประจำกรุงเทพฯ". สำนักข่าวไทย. 2015-07-02. สืบค้นเมื่อ 2016-10-12.
  4. "Catlocarpio". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 2016-10-12.
  5. "ชาวประมงเวียดนามจับ "กระโห้ยักษ์" หนักกว่า 130 กก. มูลค่ากว่า 3 แสนบาทได้". มติชน. 2014-10-27. สืบค้นเมื่อ 2016-10-12.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]