เหรียญรางวัลโอลิมปิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญรางวัลโอลิมปิก
เหรียญเงินที่มอบให้กับผู้ชนะการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1896
มอบให้มอบให้กับผู้เข้าแข่งขันที่ประสบความสำเร็จใน ชนิดกีฬาโอลิมปิกต่าง ๆ
นำเสนอโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล
ประวัติ
รางวัลครั้งแรก1896
เว็บไซต์www.olympic.org/

เหรียญรางวัลโอลิมปิก หรือ เหรียญโอลิมปิก เป็นเหรียญซึ่งมอบเป็นรางวัลให้แก่ผู้ที่ชนะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เหรียญรางวัลมี 3 ประเภท ได้แก่ ทองคำมอบให้แก่ผู้ชนะเลิศ เงินมอบให้แก่รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และทองแดงมอบให้แก่รองชนะเลิศอันดับสอง รายละเอียดของการมอบรางวัลนั้นระบุไว้ในระเบียบวิธีโอลิมปิก

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ นักกีฬาที่ชนะเลิศจะได้รับเหรียญเงินพร้อมกับมงกุฎช่อมะกอก

ต่อมาในโอลิมปิกฤดูร้อน 1904 ที่เซนต์หลุยส์ สหรัฐ นับเป็นครั้งแรกที่มีการมอบเหรียญรางวัลให้นักกีฬาที่ได้อันดับ 1-3 ด้วยเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง แบบครบถ้วน ซึ่งเป็นรูปแบบของการมอบเหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งต่อมาและเริ่มชัดเจนขึ้นตามลำดับ

โอลิมปิกฤดูร้อน 1928 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้นำภาพเทพีแห่งชัยชนะมาสลักไว้ในด้านหนึ่งของเหรียญเพื่อมอบให้ผู้ชนะใน 3 อันดับแรก ถือเป็นต้นแบบของเหรียญรางวัลโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นต้นมา โดยด้านหนึ่งของเหรียญจะเป็นภาพเทพีแห่งชัยชนะอยู่บนพื้นหลังที่เป็นสนามกีฬาโอลิมปิก และมีสัญลักษณ์ของโอลิมปิก วงกลม 5 วงอยู่ด้านบน ส่วนอีกด้านของเหรียญจะเป็นสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันแต่ละครั้งออกแบบมาแตกต่างกันออกไป

และเหรียญรางวัลในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการภายใต้แนวคิดใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก กรุงโตเกียว เมืองเจ้าภาพ ได้ประกาศขอรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชาชนไม่ใช้กันแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เช่น โทรศัพท์มือถือเครื่องเก่า เป็นต้น ก่อนจะรวบรวมทั้งหมดมาหลอมรวมเป็นเหรียญรางวัลกว่า 5,000 ชิ้น กลายเป็นเหรียญโอลิมปิกในแบบรีไซเคิล ในส่วนของออกแบบเหรียญโตเกียวเกมส์ จะมีลักษณะคล้ายหินแร่ที่ถูกขัดจนมองได้เป็นอัญมณีที่เปล่งปลั่ง ซึ่งสื่อถึงพลังของเหล่านักกีฬาและกองเชียร์ ต้นแบบคัดเลือกมาจากผลงานของนักออกแบบมืออาชีพและนักศึกษาด้านการออกแบบกว่า 400 แบบ เป็นอีกครั้งที่เหรียญโอลิมปิกมีกระบวนการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน โดยอาศัยเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นที่แม้จะก้าวหน้าทันสมัยด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้า แต่สุดท้ายก็ยังไม่ลืมความเป็นไปของโลกที่ยังคงใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอยู่[1]

อ้างอิง[แก้]