ข้ามไปเนื้อหา

เฉลิมไทยอวอร์ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เฉลิมไทย อวอร์ด)
สัญลักษณ์ในการประกาศรางวัล "เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 4" ปี พ.ศ. 2550

เฉลิมไทยอวอร์ด เป็นรางวัลเชิดชูผลงานแขนงศิลปะบันเทิงทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดโดยสมาชิกเว็บไซต์ พันทิปดอตคอม โต๊ะเฉลิมไทย (จึงเป็นที่มาของชื่อรางวัล) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547[1] เพื่อมอบรางวัลให้กับผลงานภาพยนตร์ เพลง สื่อโทรทัศน์และวิทยุ ตลอดปี พ.ศ. 2546 โดยขั้นตอนการเสนอชื่อผู้เข้าชิง และการตัดสินผู้ชนะรางวัลสาขาต่าง ๆ ได้จากการออกเสียงของผู้มีสิทธิ์ ได้แก่ สมาชิกทางการของเว็บไซต์ และสมาชิกผู้ใช้บัตรผ่าน

แรกเริ่มนั้นได้มีรางวัลด้านงานเพลง สื่อโทรทัศน์และวิทยุ และรางวัลพิเศษอื่น ๆ ด้วย แต่ภายหลังในปี พ.ศ. 2549 มีการแยกหัวข้อกระทู้เกี่ยวกับดนตรีออกจากโต๊ะเฉลิมไทยไปยังโต๊ะเฉลิมกรุงซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2550 จึงลดสาขารางวัลเหลือเพียงสาขาทางด้านภาพยนตร์เท่านั้น

เฉลิมไทย จอแก้ว อวอร์ด

[แก้]

ด้วยในปี พ.ศ. 2553 เฉลิมไทยอวอร์ดซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ได้พัฒนาขั้นตอนและหลักเกณฑ์การจัดรางวัลจนมีมาตรฐาน และสมาชิกเว็บไซต์พันทิปโต๊ะเฉลิมกรุง ได้ร่วมกันจัดตั้งรางวัลเพื่อเชิดชูผลงานศิลปะบันเทิงสาขาดนตรีขึ้นโดยเฉพาะ ใช้ชื่อรางวัลว่า เฉลิมกรุงอวอร์ด เป็นครั้งแรก หลังจากที่เฉลิมไทยอวอร์ดงดจัดรางวัลสาขาดนตรี และสาขาสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ไปตั้งแต่การจัดรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 4

ดังนั้น ทางคณะผู้ดำเนินการจัดรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 7 จึงเห็นสมควรให้จัดรางวัลสาขาสื่อโทรทัศน์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อรางวัลว่า เฉลิมไทย จอแก้ว อวอร์ด (Chalermthai Television Awards: CTVA) เพื่อเป็นรางวัลสำหรับเชิดชูผลงานศิลปะบันเทิงที่มีบทบาทต่อสังคมผ่านทางสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะ แยกจากรางวัล เฉลิมไทยอวอร์ด (Annual Chalermthai Awards, Chalermthai Movie Awards: CMA) ซึ่งดำเนินงานจัดรางวัลเพื่อผลงานภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว

รูปแบบและขั้นตอนวิธีการจัดรางวัล จำลองตามเฉลิมไทยอวอร์ด สาขาภาพยนตร์

ผลรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด

[แก้]
ครั้งที่ ภาพยนตร์ต่างประเทศแห่งปี ภาพยนตร์ไทยแห่งปี
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 1 The Lord of the Rings: The Return of the King แฟนฉัน
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 2 Lost in Translation โหมโรง
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 3 Million Dollar Baby เพื่อนสนิท
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 4 Brokeback Mountain เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 5 Babel รักแห่งสยาม
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 6 The Dark Knight กอด
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 7 Avatar เฉือน
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 8 Inception สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า...รัก
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 9 Argo Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ

ผลรางวัลเฉลิมไทย จอแก้ว อวอร์ด

[แก้]
ครั้งที่ ละครโทรทัศน์แห่งปี (Drama) ละครโทรทัศน์แห่งปี (Comedy)
เฉลิมไทย จอแก้ว อวอร์ด ครั้งที่ 1 -- --

ขั้นตอนดำเนินงานจัดรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด

[แก้]
  • การกำหนดสาขารางวัล

เฉลิมไทยอวอร์ด ได้พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสาขารางวัลตามความเหมาะสมและเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดรางวัลในปีที่ผ่าน ๆ มา จนได้สาขารางวัลด้านภาพยนตร์ที่เป็นมาตรฐานใกล้เคียงกับสาขาที่แบ่งโดยสถาบันจัดรางวัลซึ่งมีผู้ทรงวุฒิตัดสิน โดยตั้งแต่เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา เฉลิมไทยอวอร์ด จัดรางวัลเพื่อผลงานภาพยนตร์ตามสาขามาตรฐาน จำนวน 25 สาขา ดังนี้

สาขารางวัลด้านภาพยนตร์ของเฉลิมไทยอวอร์ดในปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2552

อนึ่ง ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสาขาจาก "รางวัลยอดเยี่ยม" เป็น "รางวัลแห่งปี" ตั้งแต่การจัดรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากมีข้อเรียกร้องจากสมาชิกเว็บไซต์พันทิปจำนวนหนึ่ง ว่าผลรางวัลที่ปรากฏออกมาไม่ได้แสดงถึงความยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง เพราะผู้ลงคะแนนเสียงมีความหลากหลายด้านความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ ส่วนใหญ่มิใช่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะภาพยนตร์โดยตรง มิอาจเทียบเคียงกับรางวัลที่จัดโดยสถาบันซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิตัดสินได้ ดังนั้น ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ใช้คำว่า "รางวัลแห่งปี" แทนคำว่า "รางวัลยอดเยี่ยม" ซึ่งเป็นลักษณะของรางวัลจากมหาชน มาโดยตลอด

รายละเอียดของการเปลี่ยนแปลง ดูเพิ่มเติมในเนื้อหาของการจัดรางวัลในแต่ละปี

  • การเสนอชื่อเข้าชิง (Balloting for Nominations)

แต่เดิมการเสนอชื่อเข้าชิง ใช้วิธีให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงคือสมาชิกเว็บไซต์พันทิป คัดเลือกรายชื่อแต่ละสาขาตามดุลยพินิจส่วนตัว แล้วเสนอชื่อต่อคณะกรรมการฯ โดยตรงจำนวน 5 รายชื่อ/สาขา ผ่านการส่งรายชื่อทางอีเมลล์ไปยังอีเมลล์กลางตามที่คณะกรรมการฯ ในปีนั้น ๆ ตั้งขึ้น ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้เสนอชื่อ ซึ่งจะอยู่ราวปลายเดือนมกราคม - ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อแล้วเสร็จ คณะกรรมการฯ จึงรวบรวมคะแนน เพื่อให้ได้รายชื่อผู้เข้าชิง 5 ชื่อสุดท้ายของทุกสาขา (บางสาขาอาจมี 3 รายชื่อ) ก่อนประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงผ่านหน้าเว็บไซต์ของพันทิป โต๊ะเฉลิมไทยต่อไป

ภายหลังการจัดรางวัลไปแล้ว 5 ครั้ง พบปัญหาเกี่ยวกับความลักลั่นของผู้เข้าชิงบางสาขา ซึ่งเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของสมาชิกผู้มีสิทธิ์ออกเสียง จึงทำให้เกิดร่างรายชื่อผู้มีสิทธิ์ (Eligible lists) ของแต่ละสาขาขึ้นก่อนการเสนอชื่อเข้าชิง โดย eligible lists ที่มีตั้งแต่การจัดเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 6 นั้น พบว่าทำให้การเสนอชื่อเข้าชิงเป็นไปโดยราบรื่น และได้รับความร่วมมือจากสมาชิกผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมากขึ้น

และล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 7 คือ การนำระบบลงคะแนนแบบเรียงลำดับ (preferential voting) มาใช้แทนการลงคะแนนแบบหนึ่งเสียงต่อหนึ่งผู้มีสิทธิ์ (one-man-one-vote) เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีตามวิธีของสถาบันศิลปวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (Academy of Motion Picture Arts and Sciences: AMPAS) [2][3] ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดอคติของการโหวตได้มากกว่าการต้องเลือกผู้เข้าชิงเพียงหนึ่งชื่อต่อหนึ่งสาขา

  • การลงคะแนนเพื่อตัดสินผู้ชนะ (Final Balloting for Winner) [4][5]

เมื่อประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงแล้ว ทางคณะกรรมการฯ จะกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน (อาจหมายถึงสมาชิกเว็บไซต์พันทิปทุกคน หรือเฉพาะสมาชิกที่ลงชื่อไว้) ส่งรายชื่อมาโดยวิธีที่กำหนดในแต่ละปี ภายในเวลาที่กำหนดให้ลงคะแนนซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

- เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 1 - 4 เป็นการลงคะแนนทางแบบฟอร์มโหวตของทางพันทิป ซึ่งจะไม่ปิดบังผลเมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนน

- เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 5 เป็นการลงคะแนนทางแบบฟอร์มโหวตที่สร้างขึ้นเองภายนอก ทำให้สามารถปิดบังผลคะแนนได้ระดับหนึ่ง

- เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 6 เป็นการลงคะแนนทางแบบฟอร์มโหวตของทางพันทิป ที่ดัดแปลงให้ปิดบังผลคะแนนได้ระดับหนึ่ง

- เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 7 เปลี่ยนระบบลงคะแนนจากระบบ one-man-one-vote เป็นระบบ preferential voting ลักษณะเดียวกับการลงคะแนนเสนอชื่อเข้าชิง จึงต้องใช้การส่งรายชื่อทางอีเมลล์ ทำให้ผลคะแนนเป็นความลับ

  • การประกาศผลรางวัลและพิธีมอบรางวัล

หลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนประมาณ 1 สัปดาห์ เฉลิมไทยอวอร์ดจะประกาศผลรางวัลผ่านหน้าเว็บไซต์พันทิป ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม โดยลักษณะของกระทู้ประกาศจะมีพิธีกร ผู้ประกาศรางวัล และรูปแบบการประกาศเลียนแบบจากการประกาศรางวัลซึ่งจัดขึ้นจริง

และตั้งแต่การจัดรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 5 เป็นต้นมา มีการจัดทำโล่รางวัลเฉลิมไทยอวอร์ดขึ้นเป็นรูปธรรม เพื่อมอบให้ผู้ได้รับรางวัลซึ่งเป็นคนไทย จากจุดนั้นทำให้เฉลิมไทยอวอร์ดมีความสำคัญและบทบาทมากขึ้น ในฐานะรางวัลด้านภาพยนตร์จากการลงคะแนนของมหาชนรางวัลหนึ่ง

รายละเอียดเกี่ยวกับโล่รางวัล ดูเพิ่มเติมในเนื้อหาของเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 5

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กระทู้แรกเริ่มของการจัดงานประกาศรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 1 topicstock.pantip.com เรียกดูล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2551
  2. Vanity Fair - Preferential Voting: Good for Oscars, Good for Democracy เก็บถาวร 2010-02-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553
  3. The Washington Post - New vote counting procedure for Best Picture Oscar is hard to follow เรียกดูครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553
  4. ขั้นตอนการโหวตครั้งสุดท้าย เพื่อค้นหาที่สุดแห่งปีของเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 7 เก็บถาวร 2010-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน pantip.com/cafe/chalermthai เรียกดูครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553
  5. กระบวนการนับคะแนนแบบใหม่ของเฉลิมไทยอวอร์ด เก็บถาวร 2010-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน pantip.com/cafe/chalermthai เรียกดูครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]