จิตพิฆาตโลก
จิตพิฆาตโลก | |
---|---|
โปสเตอร์ภาพยนตร์ | |
กำกับ | คริสโตเฟอร์ โนแลน |
เขียนบท | คริสโตเฟอร์ โนแลน |
อำนวยการสร้าง | คริสโตเฟอร์ โนแลน เอมมา โธมัส |
นักแสดงนำ | ลีโอนาโด ดิคาปริโอ เคน วะตะนะเบะ โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ มารียง กอตียาร์ เอลเลน เพจ ทอม ฮาร์ดี คิลเลียน เมอร์ฟี ไดลีบ ราว ทอม เบอร์เลนเจอร์ ไมเคิล เคน |
กำกับภาพ | วอลลี ฟิสเตอร์ |
ตัดต่อ | ลี สมิท |
ดนตรีประกอบ | ฮานส์ ซิมเมอร์ |
บริษัทผู้สร้าง | Legendary Pictures Syncopy |
ผู้จัดจำหน่าย | วอร์เนอร์บราเธอร์ส |
วันฉาย | ปฐมทัศน์ในลอนดอน: 13 กรกฎาคม 2553 สหรัฐอเมริกา: 16 กรกฎาคม 2553 |
ความยาว | 148 นาที[1] |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | อังกฤษ |
ทุนสร้าง | 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ทำเงิน | 825.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[3] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
จิตพิฆาตโลก (อังกฤษ: Inception) เป็นภาพยนตร์อเมริกันปี 2010 แนวนวนิยายวิทยาศาสตร์-แอ็กชัน เขียนบท อำนวยการสร้างและกำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน นำแสดงโดยลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ, เคน วะตะนะเบะ, โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์, เอลเลน เพจ, มารียง กอตียาร์ และคิลเลียน เมอร์ฟี ภาพยนตร์ได้รับแรงบันดาลใจจากภาวะที่คนเราสามารถที่จะรู้สึกตัวและตระหนักได้ว่าตนเองนั้นอยู่ในความฝัน (lucid dream)[4] โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการโจรกรรมของดอม คอบบ์ที่มีความสามารถในการเข้าไปในฝันของคนอื่นเพื่อขโมยข้อมูล[5] ความสามารถนี้ทำให้คอบบ์กลายเป็นอาชญากรและต้องหลบหนี รวมทั้งสูญสิ้นทุกสิ่ง แต่เขาก็ได้รับข้อเสนอในการที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม แลกกับการปฏิบัติภารกิจปลูกฝังความคิดของเป้าหมาย[6] กระบวนการในการปลูกฝังความคิดเรียกว่า "Inception"
ในการพัฒนาของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นอย่างหยาบ ๆ เมื่อ 10 ปีก่อนที่หนังจะออกฉาย เมื่อโนแลนเขียนบทจำนวน 80 หน้าเกี่ยวกับการขโมยความฝัน หลังจากที่เขาเสนอความคิดนี้กับวอร์เนอร์บราเธอร์ส ในปี 2001 เขาก็ต้องการให้บทนี้พัฒนาไปสู่ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่[7] เพราะเหตุนี้เขาจึงเลือกทำงานภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์ และ แบทแมน อัศวินรัตติกาล โดยเขาใช้เวลา 6 เดือนในการปรับปรุงบทภาพยนตร์ ก่อนที่วอร์เนอร์บราเธอร์สจะซื้อไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009[7][8] การถ่ายทำเริ่มที่เมืองโตเกียวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2009 และถ่ายทำเสร็จที่แคนาดา ในปลายเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน
ภาพยนตร์มีทุนสร้าง 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับทุนจากวอร์เนอร์บราเธอร์สและลีเจนดารีพิกเจอส์[2] หลังจากที่โนแลนมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จกับ แบทแมน อัศวินรัตติกาล ได้ช่วยให้หนังเรื่องนี้มีงบในการประชาสัมพันธ์ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] ภาพยนตร์ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2010 และออกฉายทั้งโรงธรรมดาและโรงไอแมกซ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2010.[9][10] ทำรายได้มากกว่า 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวันเปิดตัว และทำรายได้ 62.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์เปิดตัว[3] สำหรับเสียงวิจารณ์ ภาพยนตร์ได้รับเสียงด้านบวกเป็นส่วนใหญ่ โดยที่เว็บไซต์ภาพยนตร์อย่างเว็บ IMDB.com ให้คะแนนเฉลี่ย 9.2 เต็ม 10 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการลงคะแนนของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ เป็นภาพยนตร์รองภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption และ The Godfather เท่านั้น[11]
เนื้อเรื่อง
[แก้]ดอม คอบบ์ (ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ) คือชายผู้ก่อตั้งทีมจารกรรมความคิด เขาและทีมงานจะเจาะเข้าไปในจิตใจของเป้าหมายผ่านทางการแชร์ความฝัน เพื่อดึงเอาข้อมูลลับที่เป้าหมายเก็บงำไว้ในจิตใต้สำนึกออกมาตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นการล้วงความลับทางธุรกิจ เป้าหมายรายล่าสุดของคอบบ์และทีมงานคือ ไซโตะ (เคน วะตะนะเบะ) นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น คอบบ์ทำการล้วงข้อมูลของไซโตะผ่านทางความฝันซ้อนฝัน ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลว แต่ไซโตะกลับยื่นข้อเสนอว่าจ้างทีมของคอบบ์ให้ทำการ "อินเซพชั่น" ข้อมูลลงในจิตของเป้าหมายแทน อินเซพชั่นคือกระบวนการที่ตรงข้ามกับการล้วงข้อมูล โดยแทนที่จะล้วงลึกไปถึงข้อมูลที่เป้าหมายเก็บซ่อนไว้ กลับกลายเป็นการนำเอาข้อมูลที่ต้องการลงไปเก็บไว้ในที่ซ่อนของเป้าหมายแทน เริ่มแรกคอบบ์ปฏิเสธเนื่องจากเป็นกระบวนการที่ยากมาก แต่ไซโตะก็ข้อตอบแทนเป็นการล้มล้างความผิดที่คอบบ์เคยฆาตกรรมภรรยาตนเองในอดีต และจะได้สิทธิ์กลับเข้าสู่สหรัฐอเมริกา คอบบ์จึงตกลงและเริ่มต้นวางแผนการทำงานทันที
ปฏิบัติการอินเซพชั่นครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังความคิดให้กับโรเบิร์ต ฟิชเชอร์ (คิลเลียน เมอร์ฟี) ทายาทกิจการด้านพลังงานของมอริส ฟิชเชอร์ (พีท โพสเทิลเวท) ซึ่งกำลังจะเสียชีวิตจากโรคร้าย หากโรเบิร์ตได้ขึ้นครองกิจการต่อไปจะทำให้ธุรกิจของไซโตะต้องสั่นคลอน คอบบ์จึงวางแผนว่าจะปลูกฝังความคิดที่ว่า "พ่อของฉัน (โรเบิร์ต) ไม่ต้องการให้ฉันอาศัยรอยเท้าของเขาในแวดวงธุรกิจ" ลงไป ในปฏิบัติการนี้ต้องการทีมงานตำแหน่งต่าง ๆ เริ่มจาก อาร์เธอร์ (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) ในตำแหน่งคนชี้เป้า ผู้ประสานงานระหว่างสมาชิกแต่ละคน, อีมส์ (ทอม ฮาร์ดี้) ในตำแหน่งนักปลอมแปลง ผู้สามารถแปลงโฉมตัวเองเป็นใครก็ได้ในความฝัน เพื่อหลอกล่อเป้าหมายมาสู่แผนที่วางไว้, ยูซุฟ (ดิลีพ ราโอ) ในตำแหน่งนักเคมี ผู้ปรุงยาที่จะทำให้หลับลึกลงไปในระยะเวลาตามที่ต้องการ และสุดท้ายคือ แอเรียดเน่ (เอลเลน เพจ) ในตำแหน่งสถาปนิก ผู้ออกแบบเส้นทางสภาพแวดล้อมในความฝัน
ในขั้นตอนการวางแผนนี้คอบบ์ได้สอนให้แอเรียดเน่รู้จักกับโครงสร้างของความฝัน และคุณสมบัติของฝัน เช่น ผู้ฝันจะไม่ทราบจุดเริ่มต้นของฝัน แต่จะปรากฏขึ้นกลางทางในทันที หรือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบกายได้ดังใจนึก คอบบ์ยังได้สอนให้แอเรียดเน่รู้จักการใช้ "โทเทม" ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ตามแต่ละบุคคลจะเลือกมา โดยต้องรู้คุณสมบัติของมันอย่างถี่ถ้วน หากไม่แน่ใจว่าฝันอยู่หรือไม่ ให้สังเกตโทเทมประจำตัว หากมีคุณสมบัติผิดแปลกไปจากที่เคยเป็น ก็หมายถึงบุคคลนั้นกำลังอยู่ในฝันของคนอื่น
ระหว่างนี้เองแอเรียดเน่ได้ค้นพบความลับในอดีตของคอบบ์ ว่าเขาเคยกระทำการอินเซพชั่นมาก่อน โดยกระทำกับมอล (มารียง กอตียาร์) ภรรยาของเขา เป็นเหตุให้มอลฆ่าตัวตาย แต่ด้วยเหตุผลบางประการ กลับกลายเป็นว่าคอบบ์ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมภรรยาตนเอง และต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่ได้เจอหน้าลูก ๆ ทั้งสองอีกต่อไป ความรู้สึกผิดที่คอบบ์มีต่อมอล ทำให้จิตใต้สำนึกของเขาสร้างตัวตนของมอลขึ้นมาทุกครั้งที่เขาหวนระลึกถึงเธอในความฝัน ในจิตใต้สำนึกนี้ มอลจะคอยขัดขวางทุกการกระทำของคอบบ์
เมื่อวางแผนเสร็จสิ้น ไซโตะขอร่วมทางไปด้วยในฐานะนักท่องเที่ยว เพื่อรับชมปฏิบัติการนี้ด้วยตนเอง เขาใช้อำนาจเงินตราของตนเหมาซื้อเที่ยวบินที่ฟิชเชอร์มีแผนจะใช้เดินทางมาให้กับคอบบ์ เพื่อลงมือปฏิบัติการระหว่างเที่ยวบิน คอบบ์จึงตกลงให้ไซโตะเข้าร่วมเป็นสมาชิกคนที่หก
ปฏิบัติการเริ่มต้นเมื่อทุกคนอยู่ในเที่ยวบิน คอบบ์วางยาฟิชเชอร์ให้หลับไป และเข้าร่วมฝันชั้นแรกซึ่งเป็นฝันของยูซุฟ นักเคมี ฝันชั้นนี้มีฝนตกตลอดเวลา ทำให้ฟิชเชอร์ต้องเรียกรถแท็กซี่ และจะถูกทีมของคอบบ์ลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ โดยอีมส์ (นักปลอมแปลง) จะแปลงโฉมเป็นปีเตอร์ บราวนิ่ง (ทอม เบเรนเจอร์) ลุงของฟิชเชอร์ ซึ่งจะถูกจับตัวมาพร้อมกัน และจะเป็นคนบอกให้ฟิชเชอร์ตระหนักถึงความต้องการจริง ๆ ของฟิชเชอร์ผู้พ่อ ซึ่งซ่อนอยู่ในตู้เซฟ และฟิชเชอร์คนลูกจะต้องนึกรหัสตู้เซฟให้ออกให้ได้
แต่ปรากฏว่าฟิชเชอร์เคยรับการฝึกป้องกันจิตใจตนเองจากการจารกรรม ซึ่งจะทำให้จิตใต้สำนึกสร้างทหารขึ้นมาจู่โจมผู้ที่บุกเข้ามาในจิตใจของเขา ระหว่างการปะทะกันนี้เอง ไซโตะถูกยิงเข้าที่หน้าอกและกำลังจะตาย ปกติแล้วผู้ที่ตายในความฝันจะตื่นขึ้นทันที แต่หากอยู่ในสภาพหลับลึก (เช่นทีมงานของคอบบ์ที่ใช้สารเคมีช่วย) ก็จะตกไปสู่ "ลิมโบ" เศษซากความฝันที่อยู่ลึกที่สุด และจะไม่ตื่นขึ้นอีกหลายปีในฝัน (ซึ่งเวลาของฝันชั้นที่อยู่ลึกลงไปจะทวีคูณขึ้นจากฝันชั้นก่อนหน้า) ผลคือแม้เวลาในโลกจริง ๆ จะผ่านไปแค่ห้านาที แต่กับผู้ที่อยู่ในลิมโบ มันคือช่วงเวลาหลายสิบปี เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะจำอะไรไม่ได้อีกต่อไป
เมื่อฟิชเชอร์นึกเลขรหัสไม่ออก ทีมงานจึงให้ฟิชเชอร์หลับเข้าสู่ฝันชั้นที่ลึกเข้าไปอีก ซึ่งจะนำพาจิตของเขาเข้าใกล้จิตใต้สำนึกมากขึ้น ในฝันชั้นที่สองนี้เป็นฝันในโรงแรมของอาร์เธอร์ (คนชี้เป้า) ซึ่งเวลาจะเดินไปช้ากว่าฝันชั้นก่อนหน้า บาดแผลของไซโตะจะทรุดลงช้ากว่า ในฝันชั้นนี้ ทีมงานจะหลอกให้ฟิชเชอร์คิดว่าปีเตอร์วางแผนจับตัวเรียกค่าไถ่เอง เพื่อจะยึดอาณาจักรธุรกิจพันล้านมาจากฟิชเชอร์ แต่ปีเตอร์ปฏิเสธว่าจริง ๆ แล้วเขาอยากให้ฟิชเชอร์คิดให้ออกว่าแท้จริงแล้ว พ่อเขาฟิชเชอร์ต้องการอะไรแน่จากประโยคสุดท้ายก่อนตายที่บอกว่า "ฉันผิดหวังในตัวแก (โรเบิร์ต) จริงๆ" วิธีจะคิดให้ออกก็คือต้องลงไปในฝันชั้นลึกกว่านี้อีก ทีมงานหลอกฟิชเชอร์ว่าฝันชั้นต่อไปเป็นของปีเตอร์ แล้วทำให้ฟิชเชอร์หลับไปก่อน แต่ความจริงแล้วฝันชั้นที่สามเป็นของเขาเอง
ในฝันชั้นที่สาม เป็นโลกหิมะของอีมส์ ในฝันชั้นนี้ ทหารป้องกันจิตของฟิชเชอร์จะร้ายกาจขึ้น โดยออกมาไล่ตามทีมงานของคอบบ์ตั้งแต่เริ่ม สมาชิกทุกคนบุกทะลวงเข้าไปในฐานทัพกลางหิมะ ที่ซึ่งตู้เซฟเก็บความลับของฟิชเชอร์ตั้งอยู่ เมื่อฟิชเชอร์บุกเข้าไปได้แล้ว จิตสำนึกของมอลได้ปรากฏตัวขึ้นและสังหารฟิชเชอร์ ทำให้เขาตกลงไปอยู่ระหว่างชั้นลิมโบ หากไม่ช่วยเหลือออกมาจะต้องติดอยู่ในนั้นตลอดไป ระหว่างนี้เองบาดแผลของไซโตะก็ลามเข้ามาถึงฝันชั้นนี้ ทำให้ไซโตะเสียชีวิตไปอยู่ที่ลิมโบแล้ว คอบบ์และแอเรียดเน่จึงตัดสินใจลงไปตามตัวฟิชเชอร์ในฝันชั้นลึกขึ้นไปอีกของคอบบ์ และได้ทราบอดีตที่แท้จริงของคอบบ์ ว่าเขาแอบเข้าไปหมุนโทเทมของมอล ได้แก่ลูกข่างอันเล็ก ๆ ให้หมุนไปเรื่อย ๆ โดยไม่ล้ม ทำให้มอลตระหนักว่าตนฝันอยู่ เป็นการอินเซพชั่นให้คิดว่าโลกที่อยู่นั้นจริง ๆ เป็นความฝัน เมื่อมอลตื่นขึ้น ความคิดที่ว่าโลกที่อยู่ไม่ใช่โลกจริงทำให้มอลฆ่าตัวตายและป้ายความผิดให้คอบบ์ เพื่อให้คอบบ์ตายตามไปด้วยกัน
คอบบ์พบตัวฟิชเชอร์ และบอกให้แอเรียดเน่พากลับออกมา โดยการ "ปลุก" นั่นคือตกจากที่สูงเพื่อให้ตื่นขึ้น โดยเขาจะอยู่กับมอลเพื่อให้ความรู้สึกผิดที่ผ่านมาหายไป และเพื่อเข้าไปลิมโบเพื่อตามหาตัวไซโตะ แอเรียดเน่พาฟิชเชอร์กลับออกมาได้ และพาเข้าไปในตู้เซฟเพื่อตระหนักว่า พ่อของฟิชเชอร์รักเขามาตลอด และไม่ต้องการให้เขาใช้รอยเท้าของพ่อในการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป ปฏิบัติการอินเซพชั่นประสบความสำเร็จ ทีมงานทำการ "ปลุก" ต่อเนื่องในฝันแต่ละชั้น และตื่นขึ้นมาในที่สุด ทิ้งคอบบ์ให้ตามหาไซโตะในความฝันชั้นลิมโบต่อไป
เวลาในฝันผ่านไปหลายสิบปี ไซโตะกลายเป็นคนแก่ผู้หลงลืมทุกสิ่ง จนกระทั่งคอบบ์ตามหาตัวจนเจอ และพากลับออกมาได้ ทุกคนตื่นขึ้นบนเครื่องบินอย่างปลอดภัย ฟิชเชอร์ประกาศลงจากธุรกิจพันล้านของตัวเอง และคอบบ์ก็ได้กลับบ้านที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อกลับถึงบ้าน เขาลองหมุนลูกข่างโทเทมของตนดูเพื่อทดสอบว่าเป็นโลกฝันหรือโลกจริง แต่ก็ผละไปหาลูก ๆ ของตนเองโดยไม่สนใจว่ามันจะหยุดหมุนหรือไม่
นักแสดง
[แก้]บทบาท | นักแสดงเดิม | พากย์ไทย |
---|---|---|
ดอม คอบบ์ | ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ | กริน อักษรดี |
ไซโตะ | เคน วะตะนะเบะ | รอง เค้ามูลคดี |
อาร์เธอร์ | โจเซฟ กอร์ดอน เลวิตต์ | อิทธิพล มามีเกตุ |
มอล คอบบ์ | มารีออง คอทียารด์ | กรรณิการ์ อยู่ยงสินธ์ |
แอเรียดเน่ | เอลเลน เพจ | อังคณา พานประทีป |
อีมส์ | ทอม ฮาร์ดี | บัญชา เหมะบุตร |
โรเบิร์ต ฟิชเชอร์ | คิลเลียน เมอร์ฟีย์ | จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร |
ยูซุฟ | ดิลีป ราโอ | อภินันท์ ธีระนันทกุล |
ศาสตราจารย์ ไมลส์ | ไมเคิล เคน | เอกชัย พงศ์สมัย |
ปีเตอร์ บราวนิ่ง | ทอม เบเรนเจอร์ | |
แนช | ลูคัส ฮาสส์ | อภินันท์ ธีระนันทกุล |
การผลิต
[แก้]ขั้นเตรียมการ
[แก้]ฉากและสถานที่ถ่ายทำ
[แก้]การถ่ายภาพ
[แก้]เทคนิกภาพพิเศษ
[แก้]ในการถ่ายทำฉากความฝันในภาพยนตร์เรื่องนี้ โนแลนใช้การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกน้อยมาก โดยเขาเลือกที่จะใช้เทคนิกพิเศษที่เป็นของจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เขากล่าวว่า "สำหรับผมแล้วมันสำคัญมากที่จะพยายามทำทุกอย่างให้ปรากฏขึ้นจริงๆ ต่อหน้ากล้องถ่ายภาพยนตร์ หลังจากนั้นหากมีความจำเป็นจริงๆ ก็จะใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้าช่วย ซึ่งจะมีประโยชน์มากในการสร้างหรือเสริมสิ่งที่ถ่ายทำได้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก" ซึ่งสุดท้ายแล้ว หัวหน้างานสร้างฝ่ายเทคนิกภาพพิเศษ Paul Franklin ได้สร้างฉากจำลองขนาดเล็กของฉากป้อมปราการบนภูเขาขึ้น และระเบิดมันทิ้งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำ ฉากการต่อสู้ในสภาวะไร้น้ำหนักมีการใช้เทคนิกพิเศษทางคอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อช่วย "ดัดแปลงองค์ประกอบทางฟิสิกส์ พื้นที่ และเวลา เพียงเล็กน้อย"
ดนตรี
[แก้]เพลงทั้งหมดประพันธ์โดยฮานส์ ซิมเมอร์[12]
ลำดับ | ชื่อเพลง | ยาว |
---|---|---|
1. | "Half Remembered Dream" | 1:12 |
2. | "We Built Our Own World" | 1:55 |
3. | "Dream Is Collapsing" | 2:28 |
4. | "Radical Notion" | 3:43 |
5. | "Old Souls" | 7:44 |
6. | "528491" | 2:23 |
7. | "Mombasa" | 4:54 |
8. | "One Simple Idea" | 2:28 |
9. | "Dream Within a Dream" | 5:04 |
10. | "Waiting for a Train" | 9:30 |
11. | "Paradox" | 3:25 |
12. | "Time" | 4:35 |
เพลงประกอบที่ใช้ในทีเซอร์เทรลเลอร์ของภาพยนตร์ประพันธ์โดยไมค์ แซริน และแสดงโดยเซนซิต มิวสิก ส่วนเพลงประกอบในเทรลเลอร์สุดท้ายประพันธ์และแสดงโดยแซ็ก เฮมเซย์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Inception (Nft)". IMAX Melbourne. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-23. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Fritz, Ben (July 15, 2010). "Movie projector: 'Inception' headed for No. 1, 'Sorcerer's Apprentice' to open in third". Los Angeles Times. Tribune Company. สืบค้นเมื่อ 2010-07-27.
It's also one of the most expensive, at $160 million, a cost that was split by วอร์เนอร์บราเธอร์ส and ลีเจนดารีพิกเจอส์.
- ↑ 3.0 3.1 "Inception (2010)". Box Office Mojo. Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ July 24, 2010.
- ↑ Inside 'Inception': Could Christopher Nolan's Dream World Exist in Real Life? Dream Experts Say 'Inception's' Conception of the Subconscious Isn't Far From ScienceABCNEWS, SHEILA MARIKAR, July 16, 2010
- ↑ "Inception Synopsis". Fandango.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-16. สืบค้นเมื่อ 2013-05-11.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Updated 'Inception' Synopsis Reveals More". Screen Rant. 2010-05-05. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
- ↑ 7.0 7.1 Itzkoff, Dave (2010-06-30). "A Man and His Dream: Christopher Nolan and 'Inception'". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-07-01.
- ↑ Michael Fleming (2009-02-11). "Nolan tackles Inception for WB". Variety. สืบค้นเมื่อ 2009-02-25.
- ↑ "Weekend Briefing: 'Inception' Breaks In, 'Apprentice' Lacks Magic". Box Office Mojo. Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
- ↑ Jenny Peters (July 14, 2010). "Partying for a Cause at the "Inception" Premiere". Fashion Wire Daily. Yahoo!. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-19. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
- ↑ IMDb Charts: IMDb Top 250
- ↑ Monger, James Christopher. "Inception – Overview". Allmusic. สืบค้นเมื่อ July 18, 2010.
หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- The Influences of Inception
- Interview: Inception Cinematographer Wally Pfister เก็บถาวร 2010-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- With Inception, Can Christopher Nolan Save the Summer? เก็บถาวร 2014-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- An Illustrated Guide To The 5 Levels Of Inception เก็บถาวร 2010-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Everything you wanted to know about Inception เก็บถาวร 2010-08-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ภาพยนตร์ที่กำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน
- ภาพยนตร์อเมริกัน
- ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2553
- ภาพยนตร์โดยวอร์เนอร์บราเธอร์ส
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศเคนยา
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในปารีส
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในรัฐแคลิฟอร์เนีย
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในสหราชอาณาจักร
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศแคนาดา
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในโตเกียว
- ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศโมร็อกโก
- ภาพยนตร์ที่มีฉากในลอสแอนเจลิส
- ภาพยนตร์ที่มีฉากในประเทศออสเตรเลีย
- ภาพยนตร์อิงบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์
- ภาพยนตร์ผจญภัยบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์
- ภาพยนตร์ผจญภัยโลดโผนอเมริกัน