ข้ามไปเนื้อหา

อาสนวิหารแล็สการ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาสนวิหารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์แห่งแล็สการ์
ด้านหน้าของอาสนวิหาร
แผนที่
43°19′58″N 0°21′01″W / 43.33278°N 0.35028°W / 43.33278; -0.35028
ที่ตั้งแล็สการ์ จังหวัดปีเรเน-อัตล็องติก
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะโบสถ์ประจำเขต
(อาสนวิหารจนกระทั่งปี ค.ศ. 1801)
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1840)

อาสนวิหารแล็สการ์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Lescar) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์แห่งแล็สการ์ (Cathédrale Notre-Dame-de-l'Assomption de Lescar) ในปัจจุบันมีฐานะเป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งในอดีตเคยมีฐานะเป็นอาสนวิหารประจำมุขมณฑลแล็สการ์ซึ่งต่อมาได้ถูกยุบลงเป็นส่วนหนึ่งของมุขมณฑลบายอนและมุขมณฑลอาแฌ็งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1801[1] เป็นต้นมา (ตามความตกลง ค.ศ. 1801) ตั้งอยู่ที่เมืองแล็สการ์ จังหวัดปีเรเน-อัตล็องติก แคว้นนูแวลากีแตน ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1840[2]

ประวัติ

[แก้]

อาสนวิหารเริ่มก่อสร้างส่วนแรกในบริเวณร้องเพลงสวดในปี ค.ศ. 1120 โดยความสนับสนุนของมุขนายกกี เดอ ลง ต่อมาได้กลายเป็นสุสานหลวงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 และต่อมาได้เสื่อมโทรมลงภายหลังจากการปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่ภายใต้การปกครองของฌาน ดาลแบร ก่อนที่จะถูกโจมตีอย่างหนักโดยกองกำลังฝ่ายโปรเตสแตนต์นำโดยกาบรีแยลที่ 1 แห่งมงกอเมอรี

ต่อมาได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17–18 บริเวณร้องเพลงสวดเป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ บริเวณกลางโบสถ์เป็นเพดานโค้งแบบครึ่งวงกลม บริเวณทางเดินข้างเป็นเพดานตรงสันโค้งทรงประทุน ยอดหัวเสาตกแต่งเป็นฉากเรื่องราวของดาเนียล (ผู้เผยพระวจนะ) การประสูติของพระเยซู และการเสียสละของอับราฮัม บริเวณร้องเพลงสวดปูพื้นด้วยงานกระเบื้องโมเสกในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นฉากการล่าสัตว์ อีกทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเฟรสโก้งานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในบริเวณใกล้เคียงด้วย

สุสานหลวง

[แก้]

ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา อาสนวิหารแห่งนี้ได้กลายเป็นสุสานหลวงประจำกษัตริย์แห่งนาวาร์ โดยเริ่มจากพระเจ้าฟร็องซัว เฟบุสแห่งนาวาร์ ในปี ค.ศ. 1483 ตามด้วยพระนางกาเตอรีน พระราชินีแห่งนาวาร์ และพระราชสวามี พระเจ้าฌ็องที่ 3 แห่งนาวาร์ และพระราชบุตรและธิดาอีกหลายพระองค์ รวมถึงพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งนาวาร์ และพระราชินีมาร์เกอริตแห่งนาวาร์ ซึ่งทั้งสองพระองค์มีฐานะเป็นพระราชอัยกาและอัยยิกาของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส

สันนิษฐานว่าอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบสุสานหลวงซึ่งสั่งทำโดยพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งนาวาร์ ถูกทำลายโดยฝ่ายโปรเตสแตนต์ และทำให้เพดานของสักการสถานแห่งนี้ถล่มลงในปี ค.ศ. 1599 ทำให้ในไม่เหลือสภาพให้เห็น แต่หลังจากการขุดสำรวจในปี ค.ศ. 1928-1929 ทำให้สามารถพบถึงบริเวณที่ตั้งของหลุมฝังพระศพ[3]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.catholic-hierarchy.org/diocese/dl230.html
  2. [1] Base Mérimée - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  3. Victor Dubarat, "Découverte des tombeaux des rois de Navarre à Lescar", dans Revue d'histoire de l'Église de France, vol. 17, 1931, pp. 450-463