ข้ามไปเนื้อหา

เดลินิวส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)
เดลินิวส์
อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์
หน้าปกหนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวันฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562
ประเภทหนังสือพิมพ์รายวัน
รูปแบบหนังสือพิมพ์มวลชน
(Mass Newspaper)
เจ้าของบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด
ผู้เผยแพร่โรงพิมพ์ประชาช่าง
บรรณาธิการบริหารประชา เหตระกูล
คอลัมนิสต์กำแหง ภริตานนท์ (เสียชีวิต)
วิษณุ เครืองาม
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ก่อตั้งเมื่อชื่อปัจจุบัน"เดลินิวส์"
22 มกราคม พ.ศ. 2522 (45 ปี)
ในชื่อ"แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์"
28 มีนาคม พ.ศ. 2507 (60 ปี)
ในชื่อ"เดลิเมล์" 24 มิถุนายน พ.ศ. 2493
ภาษาภาษาไทย
ฉบับสุดท้ายในชื่อ"เดลิเมล์"
20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (65 ปี)
สำนักงานใหญ่เลขที่ 1/4 ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์www.dailynews.co.th

เดลินิวส์ (อังกฤษ: Daily News) เป็นหนังสือพิมพ์รายวันเสนอข่าวทั่วไป ก่อตั้งโดย นายแสง เหตระกูล ออกฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2507 ใช้ชื่อหัวหนังสือพิมพ์ขณะนั้นว่า แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ จำนวน 16 หน้า ราคาฉบับละ 1 บาท โดยมีนายประพันธ์ เหตระกูล เป็นบรรณาธิการบริหาร ปัจจุบันใช้ชื่อ เดลินิวส์ (ตั้งแต่ 22 มกราคม พ.ศ. 2522) มีจำนวนหน้าระหว่าง 28-48 หน้า ราคาฉบับละ 10 บาท และนางประภา เหตระกูล (ศรีนวลนัด) เป็นบรรณาธิการบริหาร

ประวัติ

[แก้]

เดลิเมล์ และ บางกอกเดลิเมล์

[แก้]

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ถือกำเนิดจากความตั้งใจของนายห้างแสง ที่ดำเนินกิจการโรงพิมพ์ประชาช่าง มาเป็นเวลา 5 ปี และมีประสบการณ์ในแวดวงน้ำหมึก จึงตัดสินใจซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพ เดลิเมล์ (อังกฤษ: Bangkok Daily Mail) ของนายหลุย คีรีวัตน์ ซึ่งได้หยุดดำเนินการไปตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476

เริ่มจากการออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ เดลิเมล์วันจันทร์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2493 โดยนายห้างแสง เป็นเจ้าของ และผู้อำนวยการ และจ้าง บริษัท ประชาช่าง จำกัด ของนายห้างแสงเอง เป็นผู้พิมพ์ ซึ่งมีพาดหัวข่าวในฉบับปฐมฤกษ์ว่า “นักศึกษา มธก.รากเลือดค้าน ก.พ.”

จนกระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ. 2500 หนังสือพิมพ์ บางกอกเดลิเมล์ รายวัน ฉบับบ่าย จำนวน 6 หน้า ราคาฉบับละ 50 สตางค์ มียอดจำหน่าย 3,500 ฉบับต่อวัน และนับเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรก ที่ขยายขนาดหน้ากว้างเพิ่มขึ้น จากเดิม 7 เป็น 8 คอลัมน์นิ้ว จนกลายเป็นบรรทัดฐานของหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์รายวันในยุคต่อมา

เมื่อรัฐบาล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหารโค่นล้มลงโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากนั้นจอมพลสฤษดิ์จึงเข้าตรวจสอบหนังสือพิมพ์หลายฉบับอย่างเข้มงวด รวมทั้งเดลิเมล์ และบางกอกเดลิเมล์ด้วย โดยจอมพลสฤษดิ์ ออกคำสั่งให้จับกุมกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายคนจากหลายฉบับ และบางรายถึงกับเสียชีวิตในที่คุมขัง

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นายห้างแสงได้ทราบว่า จะมีคำสั่งงดใบอนุญาตประกอบการหนังสือพิมพ์ เข้ามาถึงโรงพิมพ์ จึงสั่งให้กองบรรณาธิการที่ยังไม่ถูกจับกุมเร่งทำงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เดลิเมล์สามารถออกจำหน่ายได้ในวันรุ่งขึ้นอีก 1 วัน แต่ขณะที่แท่นพิมพ์กำลังเริ่มกระบวนการพิมพ์นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลกลุ่มหนึ่ง เดินทางมาถึงสำนักงานเดลิเมล์ พร้อมแจ้งว่า กรมตำรวจ โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ มีคำสั่งให้ปิดเดลิเมล์รายวันอย่างไม่มีกำหนด โดยระบุให้ยึดและปิดแท่นพิมพ์ เพื่อห้ามทำการพิมพ์จนกว่าจะมีคำสั่งอนุญาตเป็นอย่างอื่น จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำครั่งประทับบนแท่นพิมพ์ พร้อมใช้โซ่ล่ามแท่นอย่างแน่นหนา นับเป็นการยุติการดำเนินงานของเดลิเมล์ นับแต่วันนั้น

แนวหน้าแห่งยุค “เดลินิวส์”

[แก้]

หลังจากนั้น นายห้างแสงก็ยังมีความประสงค์ จะดำเนินกิจการออกหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องตลอดมา จนกระทั่งซื้อหัวหนังสือพิมพ์แนวหน้าในขณะนั้นมาได้ กองบรรณาธิการจึงคิดปรับปรุงผสมผสานชื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมโยงได้ว่าเป็นกองบรรณาธิการชุดเดียวกับเดลิเมล์ จนกลายเป็นชื่อใหม่ แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ เริ่มพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2507 มีนายประพันธ์ เหตระกูล บุตรชายนายห้างแสง เป็นบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาโดยตำแหน่ง และบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เป็นเจ้าของ เมื่อยุคเริ่มแรก มีจำนวน 16 หน้า ราคา 1 บาท ส่วนพาดหัวข่าวในฉบับวันนั้นคือ “เมียน้อยจอมพลสฤษดิ์ท้องในอเมริกา พบรักแท้กับนักเรียนไทยวัยรุ่น”

แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ มีจุดขายในช่วงแรก คือ การนำเสนอข่าวอนุภรรยาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีทั้งนางงาม ดารา นักร้อง นักแสดง และสาวงามทั่วแผ่นดิน จำนวนถึง 103 คน จนกระทั่งได้รับฉายา จอมพลผ้าขาวม้าแดง ตลอดจนการเปิดโปงถึงมรดกจำนวนมหาศาลถึง 2,874 ล้านบาท ของจอมพลสฤษดิ์ รวมถึงข่าวอาชญากรรมสำคัญอีกหลายชิ้นด้วย

ในขณะที่อัตราค่าโฆษณา เมื่อปี พ.ศ. 2508 สี่สีอยู่ที่หน้าละ 5,000 บาทต่อวัน และหน้าขาว-ดำ 20 บาทต่อ 1 คอลัมน์นิ้วต่อวัน ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2516-พ.ศ. 2517 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการขึ้นราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลกระทบถึงการดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับในเวลานั้นพร้อมใจกันขึ้นราคาอีก 50 สตางค์อย่างถ้วนหน้า จึงได้มีการปรับปรุงคุณภาพเนื้อหาไปพร้อมกันนี้

โดยในช่วงดังกล่าว ทีมข่าวการเมือง ได้ลงบทวิเคราะห์เจาะลึก หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย ในยุคคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อาศัยอำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 และอำนาจตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) สั่งลงโทษ แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ ในข้อหาเสนอข่าว ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยให้ปิดกิจการอย่างไม่มีกำหนด แต่หลังจากนั้น 15 วัน จึงให้เปิดดำเนินการได้

โดยหลังจากกลับมาออกจำหน่ายอีกครั้ง แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ ก็เริ่มปรับปรุงโฉมใหม่ ทั้งหัวหนังสือพิมพ์ จากพื้นสีบานเย็นตัวเจาะขาว มาเป็นสีบานเย็นสดใส โดยเฉพาะฉบับวันอาทิตย์ ได้เพิ่มคอลัมน์ “บิวตี้ฟูลซันเดย์” และออกเป็นฉบับพิเศษ เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 58 หน้า ราคาเท่าเดิม ในทุกวันจันทร์ จึงให้ชื่อฉบับพิเศษนี้ว่า “เก๋วันจันทร์” โดยเริ่มต้นในฉบับวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2519

เดลินิวส์

[แก้]

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2521 นายชลอ อยู่เย็น ขึ้นเป็นบรรณาธิการบริหาร แทนนายประพันธ์ ที่ขึ้นเป็น กรรมการอำนวยการบริหาร ฝ่ายวางแผนการผลิตและการตลาด ต่อมาในปีเดียวกัน นายบรรเจิด ทวี ขึ้นเป็นบรรณาธิการบริหาร โดยทั้งสองรับงานบริหาร แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ อยู่เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น จนกระทั่ง นายประชา เหตระกูล น้องชายนายประพันธ์ เข้ารับตำแหน่ง บรรณาธิการบริหาร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน

โดยนายประชาได้เข้ามาปรับปรุง แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ ในหลายประการ เช่น เพิ่มเนื้อหาขึ้นจาก 16 หน้า เป็น 20 และ 24 หน้า ตามลำดับโดยราคาจำหน่ายคงเดิม ที่สำคัญคือ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2522 บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตเปลี่ยนชื่อหนังสือพิมพ์จาก แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ มาเป็น เดลินิวส์ และได้รับอนุญาตจากทางราชการ ให้ใช้ชื่อดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม ปีเดียวกันนั้นเป็นต้นมา และในวันที่ 15 กรกฎาคม นายห้างแสงมีดำริให้ขยับขยายสำนักงานเดลินิวส์ จากเลขที่ 423 ถนนสี่พระยา ไปยังอาคาร 4 ชั้น ที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 4/3 ถนนวิภาวดีรังสิต จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงนี้ได้มีการพัฒนาโฉมใหม่ ทั้งรูปเล่มและเนื้อหา ในปี พ.ศ. 2522 ขยับราคาเป็น 2 บาท และขึ้นเป็น 3 บาท ในปี พ.ศ. 2523 จากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2529 เดลินิวส์เริ่มการพิมพ์ภาพข่าวสี่สีเป็นครั้งแรก คือ ภาพโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ระเบิดกลางอากาศ และต่อมาในปี พ.ศ. 2531 เดลินิวส์ตีพิมพ์ภาพข่าวสี่สี อันเป็นที่ฮือฮาอีกครั้ง คือ ภาพข่าว นางสาวภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก สวมมงกุฎรับตำแหน่งนางงามจักรวาลที่ไต้หวัน โดยมีภาพสี่สีถึงสองส่วน

จากนั้น เดลินิวส์ก็เปิดแนวคิดแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วน อย่างชัดเจนเป็นฉบับแรก โดยแบ่งข่าวหน้า 1 ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวอาชญากรรม ข่าวต่างประเทศ ข่าวเกษตร คอลัมน์ และสกู๊ปวาไรตี้สี่สี เป็นส่วนแรก และส่วนที่สอง เริ่มด้วยข่าวกีฬา ข่าวสังคมสตรี ข่าว กทม. ข่าวภูมิภาค และปิดท้ายด้วยข่าวบันเทิง ต่อมา เดลินิวส์วางแผนขยับขยายสถานที่เพิ่มเติมอีกครั้ง โดยก่อสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่ จำนวน 9 ชั้น บนที่ดินผืนเดียวกับอาคารหลังเดิม

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวัน มีนายอภิชัย รุ่งเรืองกุล เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ราคาจำหน่ายฉบับละ 10 บาท จำนวนหน้าระหว่าง 28-48 หน้า และยอดจำหน่ายเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เทคโนโลยีข่าวสาร

[แก้]

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2540 เดลินิวส์เปิดให้บริการส่งข่าวทางวิทยุติดตามตัว เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลข่าวสาร อย่างรวดเร็ว พร้อมกันทั่วประเทศ และเริ่มส่งข่าว ผ่านทางบริการบิซนิวส์ และวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เดลินิวส์ได้ขยายสู่โลกอินเทอร์เน็ต โดยเปิดตัวเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ขึ้นทาง www.dailynews.co.th

ระบบการพิมพ์

[แก้]

ในยุคหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ และแนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ระยะแรก ใช้แท่นพิมพ์ระบบโรตารี่ออฟเซ็ตในการพิมพ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้พัฒนาระบบการพิมพ์ ไปใช้รูปแบบที่เรียกว่า เว็บเพรส (Web Press) คือการป้อนกระดาษม้วนเข้าสู่แท่นพิมพ์ ทำให้สามารถเพิ่มความเร็ว และจำนวนการพิมพ์เป็น 20,000 ฉบับต่อชั่วโมง

ราวปี พ.ศ. 2519 เดลินิวส์ได้เริ่มเดินเครื่องพิมพ์ใหม่ ในระบบเวบออฟเซ็ต ด้วยการพิมพ์ฉบับ เก๋วันจันทร์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ต่อมา มีการติดตั้งแท่นพิมพ์ใหม่ ในระบบแซตเติลไลต์ ยูนิต สามารถควบคุมการพิมพ์สี่สี ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมความเร็ว 120,000 ฉบับต่อชั่วโมง จากนั้น ในปี พ.ศ. 2539 ได้เพิ่มแท่นพิมพ์ ระบบโฟร์ไฮ อีก 2 แท่น ที่พิมพ์ได้ครั้งละ 92 หน้า ด้วยความเร็วประมาณ 60,000 ฉบับต่อชั่วโมงต่อแท่น

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]