ไทย (หนังสือพิมพ์)
ประเภท | หนังสือพิมพ์รายวัน |
---|---|
รูปแบบ | ข่าวรัฐบาล |
เจ้าของ | หลวงฤทธิศักดิ์ชลเขต (2451) หลวงสันทัดอักษรสาร, พระคลังข้างที่ (2453) พระยาอิศรพันธ์โสภณ, พระคลังข้างที่ (2466-สมัยรัชกาลที่ 7) |
บรรณาธิการ | พระอรุณพนาวาณัตถ์ (สมัยรัชกาลที่ 7) |
ก่อตั้งเมื่อ | พ.ศ. 2451 |
ภาษา | ภาษาไทย |
ฉบับสุดท้าย | 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 |
สำนักงานใหญ่ | พระนครหลวงกรุงเทพ |
ไทย คือหนังสือพิมพ์ออกเมื่อปี พ.ศ. 2451 มีเจ้าของคือหลวงฤทธิศักดิ์ชลเขต ต่อมาเปลี่ยนเป็นจมื่นเทพดรุณาทร ในปี พ.ศ. 2453 หนังสือพิมพ์ไทย เลิกกิจการเพราะมีหนี้สินมากมาย รัฐบาลได้ซื้อไว้ และออกใหม่ภายใต้ชื่อว่า ไทยใหม่ เพื่อหลีกปัญหาหนี้สินเก่า แต่ยังเรียกกันโดยทั่วไปว่า ไทย ได้เลิกกิจการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ประวัติ
[แก้]หนังสือพิมพ์ ไทย ออกในปี พ.ศ. 2451 ต่อมาเลิกกิจการเพราะมีหนี้สินมากมาย รัฐบาลได้ซื้อไว้ และออกใหม่ภายใต้ชื่อว่า ไทยใหม่ เพื่อหลีกปัญหาหนี้สินเก่า โดยทางหนังสือพิมพ์กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ว่า "นับแต่ใช้ตราแผ่นดิน (ตราครุฑ) ประทับที่หัวหนังสือหน้า 1 แล้วก็มีผู้นิยมอ่านมากขึ้น ผู้บอกรับประจำ เดิมมี 300 คน เพิ่มเป็น 500 คน แต่ราคาขายยังคงเดิม คือรับประจำปี ปีละ 30 บาท ขายปลีกฉบับละ 3 สตางค์ จึงกราบบังคมทูลขอเงินเพิ่มอีกเป็นรายได้ประจำ 4,000 บาทตั้งแต่ ร.ศ. 131 เพื่อลดราคา"[1]
ไทย ยังคงยังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นของรัฐบาลเต็มตัว แม้จะมีตราครุฑประทับอยู่ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จึงได้กราบบังคมทูลให้มีหนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของรัฐบาลโดยตรง เหมือนกับเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรัฐเนื่องจากเวลานั้นมีหนังสือพิมพ์เป็นสื่อมวลชนชนิดเดียวที่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งหน่วยงานรัฐคือกระทรวงมุรธาธรที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์โดยตรง ไทย จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่มาตั้งแต่นั้น
ในปี พ.ศ. 2457 อันเป็นปีความรุนแรงแห่งสงครามปากกา พระราชทานเงินให้ ไทย อีก 20,000 บาท เพื่อจัดการโรงพิมพ์ให้เรียบร้อย ไทย ได้เสนอข่าวตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งยังขอสิทธิพิเศษในการลงข่าวการประชุมเสนาบดีบางเรื่องที่ไม่ปิดบังด้วย[2]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 ไทยเปลี่ยนเจ้าของเป็นพระยาอิศรพันธุ์ ได้เลิกกิจการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
รูปแบบ
[แก้]ไทย เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฝ่ายรัฐบาล เผยแพร่ความเห็นของรัฐบาล มีการจัดคอลัมน์ที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนใหญ่มีประมาณ 6 คอลัมน์ ยังไม่แยกข่าวออกเป็นหมวดหมู่ เนื้อหาข่าวยังปนกับเนื้อหาประเภทอื่น การพาดหัวข่าวโดยใช้ภาษาที่ดึงดูดใจผู้อ่าน แต่ขนาดของตัวพิมพ์เป็นตัวใหญ่ธรรมดา ใหญ่กว่าตัวพิมพ์เล็ก แต่ไม่ใช้ตัวโป้งเพื่อให้สะดุดตาเท่านั้น
การจัดหน้าและภาพ มีการลงภาพบุคคลสำคัญในข่าว มีการจัดภาพหลาย ๆ ภาพรวมเป็นกลุ่มเดียวกันในฉบับหลัง ๆ โดยไม่กระจายรูปภาพเหมือนในหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน ภาพประกอบโฆษณาส่วนมากเป็นภาพเขียน ส่วนเนื้อหา เป็นข่าว บทความ ประกาศ และโฆษณา บันเทิงคดี เช่นนิทานชาดก เรื่องแปลจีน และบทกวี
การเขียนข่าว เขียนแบบรายงานจากโทรเลข คือเขียนสั้น ๆ ไม่มีสำนวนโลดโผนหรือตื่นเต้น แต่เก็บเนื้อหาสาระได้ชัดเจน ข่าวต่างจังหวัดมีความล่าช้าอยู่มาก เช่นตีพิมพ์ข่าวเมื่อวันที่ 18 มกราคม แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว
การวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]อวันตี โจมตี ไทย ในฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2452 ว่า
พิมพ์ไทยเอ๋ย ตั้งแต่เพื่อนอุบัติมาในบรรณาโลก เรายังไม่เห็นได้ทำประโยชน์อันใดให้แก่ชาติบ้างเลย นอกจากใช้วิธี ป.จ. ตะบันไป เราพิเคราะห์ดูไม่สมควรกับเกียรติยศที่ได้เอาตราครุฑมาติดหน้าโรงพิมพ์เลย เช่นนี้เราเห็นควรจะปลดเอาตราครุฑออกเสีย เอารูปแร้งกินผีเข้ามาติดไว้แทนจะเหมาะกว่ากระมัง____เราใคร่จะขนานนามหนังสือพิมพ์ไทยเสียเดี๋ยวนี้ว่า หนังสือพิมพ์ไทยคือหนังสือพิมพ์ภัยของประเทศนั่นเอง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สุกัญญา ตีระวนิช. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการหนังสือพิมพ์ --: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ กรุงเทพฯ, ISBN 974-7442-60-4
- ↑ หจช.เอกสารรัชกาลที่ 6 บ13/3 หนังสือพระราชเสวกฯ (14 มีนาคม ร.ศ. 130)