สัปปุริสธรรม
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
สัปปุริสธรรม หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี สัปปุริสธรรม มีบรรยายไว้หลายลักษณะ
สัปปุริสธรรม 7
[แก้]สัปปุริสธรรม 7 ประกอบด้วย
- ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ
- อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล
- อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน
- มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ
- กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล
- ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท
- ปุคคลัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล
สัปปุริสธรรม 7 นี้ มีบรรยายอยู่ในสังคีติสูตรในพระไตรปิฎก สังคีติสูตรนี้เป็นพระสูตรที่รวบรวมธรรมะมากมาย เป็นการบรรยายแจกธรรมเป็นหมวด ๆ โดยพระสารีบุตร อาจนับได้ว่า สังคีติสูตรเป็นต้นแบบของการสังคายนาพุทธศาสนาในยุคแรก ๆ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือ เป็นผู้ควรรับของที่เขานำมาถวาย
นอกจากนี้ ยังมีธรรมะอีกหมวดหนึ่งซึ่งคล้ายกัน คือได้มีการบรรยายถึง พระเจ้าจักรพรรดิว่าทรงประกอบด้วยองค์ 5 ประการ ย่อมทรงยังจักรให้เป็นไปโดยธรรม จักรนั้นย่อมเป็นจักรอันมนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใด ๆ จะต้านทานมิได้ และแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงประกอบด้วยธรรม 5 ประการเหล่านี้ ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยมให้เป็นไปโดยธรรม ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้ ธรรม 5 ประการนี้ได้แก่
- ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ
- อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล
- มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ
- กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล
- ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท
ธัมมัญญู รู้จักเหตุ
[แก้]ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้น ๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่า หลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้น ๆ เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะอัพภูตธรรม เวทัลละ...
อัตถัญญู รู้จักอรรถ
[แก้]อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ เป็นผู้รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้น ๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้น ๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ ๆ ...
อัตตัญญู รู้จักตน
[แก้]อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตนคือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ...
มัตตัญญู รู้จักประมาณ
[แก้]มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณ ในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร...
กาลัญญู รู้จักกาล
[แก้]กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาลคือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น...
ปริสัญญู รู้จักบริษัท
[แก้]ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้น ๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้...
ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน
[แก้]ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใคร ๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น ๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน 2 คือ บุคคล 2 จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ
พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ
บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะพึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี 2 จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม
พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม
บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี 2 จำพวก คือ
พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม
พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม
บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี 2 จำพวก คือ
พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้
พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้
บุคคลที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี 2 จำพวก คือ
พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ที่ทรงจำไว้
บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี 2 จำพวก คือ
พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่
บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี 2 จำพวก คือ
พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
พวกหนึ่งปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ
บุคคลที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ
ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 และ สัปปุริสธรรม 8
[แก้]ในเสขปฏิปทาสูตรซึ่งบรรยายโดยพระอานนท์ ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ไว้ 7 ประการคือ
- เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
- เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก
- เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก
- เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้ สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น
- เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
- เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน
- เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
คุณสมบัติของผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ นี้ เรียกว่า สัทธัมมสมันนาคโต บางทีก็เรียก สัปปุริสธรรม 7 และในจูฬปุณณมสูตร ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสบรรยาย ความแตกต่างระหว่าง สัตบุรุษและอสัตบุรุษ ทรงแสดงถึง สักษณะของผู้ประกอบด้วย ธรรมของสัตบุรุษ 8 ประการ (ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม เรียกธรรมของสัตบุรุษ 8 ประการ นี้ว่า สัปปุริสธรรม 8) ได้แก่
- เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ คือ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา (คือ สัทธัมมสมันนาคโต ดังกล่าวไปแล้ว นั่นเอง)
- เป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ คือ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมากมีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย
- เป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
- เป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
- เป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ
- เป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
- เป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า ให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่
- ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- สังคีติสูตร
- ทสุตตรสูตร
- จักกสูตร
- สขปฏิปทาสูตร
- จูฬปุณณมสูตร
- ธัมมัญญูสูตร (บรรยายความหมายของ สัปปุริสธรรม ๗ แต่ละข้อ)
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม". เก็บถาวร 2015-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน