ข้ามไปเนื้อหา

แยกอุภัยเจษฎุทิศ

พิกัด: 13°46′14″N 100°31′33″E / 13.770469°N 100.525925°E / 13.770469; 100.525925
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สะพานอุภัยเจษฎุทิศ)
สี่แยก อุภัยเจษฎุทิศ
แผนที่
ชื่ออักษรไทยอุภัยเจษฎุทิศ
ชื่ออักษรโรมันUphaichetsaduthit
รหัสทางแยกN390 (ESRI), 054 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนสวรรคโลก
» แยกเสาวนี
ถนนราชวิถี
» แยกตึกชัย
ถนนสวรรคโลก
» แยกสวรรคโลก
ถนนราชวิถี
» แยกราชวิถี

แยกอุภัยเจษฎุทิศ [อุ-ไพ-เจด-สะ-ดุ-ทิด] เป็นทางแยกหนึ่งในพื้นที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นสี่แยกจุดตัดกันระหว่างถนนราชวิถี กับถนนสวรรคโลก โดยมีทางรถไฟสายเหนือ, สายตะวันออก และสายใต้ตัดผ่าน

ชื่อ "อุภัยเจษฎุทิศ" มาจากชื่อของสะพานอุภัยเจษฎุทิศที่ตั้งอยู่บนถนนราชวิถี ซึ่งแต่เดิมเป็นสะพานข้ามทางรถไฟเชื่อมถนนซางฮี้ (ถนนราชวิถี) บริเวณพระราชวังดุสิต มีที่มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างขึ้น เนื่องในวโรกาศที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ มีพระชนมายุครบ 18 พรรษา เท่ากับพระบรมเชษฐาสองพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งได้เสด็จสวรรคตไปก่อนหน้านั้นด้วยพระชนมายุ 18 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นเพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศล พระราชทานแก่เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2452 พร้อมกับพระราชทานนามว่า "สะพานอุภัยเจษฎุทิศ" แปลว่า "สะพานที่อุทิศแด่พระเชษฐาสองพระองค์" [ในลักษณะคล้ายกับสะพานชมัยมรุเชษฐ์[1]] ต่อมาภายหลัง สะพานอุภัยเจษฎุทิศได้ถูกรื้อถอนไป ทางการจึงได้นำชื่ออุภัยเจษฎุทิศมาเป็นชื่อของสี่แยกนี้[2] [1] ภายหลัง ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการสร้างสะพานอุภัยเจษฎุทิศขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการสร้างราวสะพานริมถนนตามแนวของสะพานเดิม

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ไก่ต๊อก (2009-08-29). "อยากทราบความหมายของสะพานชมัยมรุเซษฐ หน้าทำเนียบ". พันทิปดอตคอม.
  2. pongsakornlovic (2010-12-29). "CHN 186 แยกอุภัยเจษฎุทิศ". ชื่อนี้สำคัญไฉน?.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°46′14″N 100°31′33″E / 13.770469°N 100.525925°E / 13.770469; 100.525925