วัดบางขุนเทียนใน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางขุนเทียนใน
วัดบางขุนเทียนใน
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 37 ซอยจอมทอง 13 ถนนจอมทอง แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสุทธิศีลคุณ(มนูญ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบางขุนเทียนใน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร วัดสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 2300 เดิมชื่อว่า วัดขนุน น่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4

อาคารเสนาสนะและจิตรกรรมฝาผนัง[แก้]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

ซุ้มประตูลงรักปิดทอง

พระอุโบสถเป็นทรงไทย หลังคาลดหนึ่งชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคา 3 ตับ มีเสาพาไลรองรับชายคา เสาพาไลเป็นเสาสี่เหลี่ยมเรียบ ดูค่อนข้างแบบบาง ไม่ประดับบัวหัวเสา เป็นเสาแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 กรอบหน้าบันประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันปั้นปูนประดับด้วยกระเบื้องสี เป็นลวดลายพรรณพฤกษา พระประธานในโบสถ์ ปางปาลิไลยก์

หน้าอุโบสถมีกำแพงแก้ว มีเจดีย์ทรงเครื่อง 2 องค์ มีเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่และซุ้มประตูกำแพงเป็นทรงนาฬิกาฝรั่ง ลักษณะคล้ายกับที่วัดโพธิ์ ประดับลวดลายปูนปั้นลายไม้แบบตะวันตกที่เพี้ยนออกไปทางจีน หอระฆังก่ออิฐถือปูน มีลวดลายปูนปั้นประดับ ส่วนยอดเป็นชั้นรูปดอกบัวตูมลดหลั่นกัน หน้าซุ้มประตูกำแพงแก้วทางด้านข้างของพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงเครื่อง[1]

จิตรกรรมฝาผนัง[แก้]

สันนิษฐานว่าเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 ตอนต้น โดยฝีมือช่างชั้นครู เป็นช่วงสุดท้ายของจิตรกรรมแบบดั้งเดิม ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลการเขียนภาพแบบตะวันตก[2]

ภาพจิตรกรรมฝาผนังหน้าพระประธานแสดงเรื่องพุทธประวัติ ตอนมารผจญ มารหลายตนมีใบหน้าเหมือนชนชาติต่าง ๆ ทั้งฝรั่งตะวันตก จีน อาหรับ ผนังเบื้องหลังพระประธาน เขียนภาพพุทธประวัติ ตอนแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผนังด้านซ้ายพระประธาน เขียนภาพตอนพิธีอภิเษกสมรส พระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา ด้านบนเป็นตอนพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรสและต่อเนื่องภาพเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรส เจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธราพิมพา

ถัดมาเป็นภาพตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) ตอนหลังออกบวช พระสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้น ผนังด้านขวาพระประธาน เป็นเรื่องตอนพระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขภายหลังการตรัสรู้ในสถานที่ 7 แห่ง แห่งละสัปดาห์ แต่ช่างเขียนได้ย่นย่อเรื่อง ผนังระหว่างช่องหน้าต่างแสดงเรื่องชาดกต่าง ๆ[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ไทยทัศนา : (10) ชมจิตรกรรม 'วัดบางขุนเทียนใน'". วอยซ์ออนไลน์. 19 ธันวาคม 2558.
  2. ประยูร อุลุชาฎะ. วัดบางขุนเทียนใน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540