รัฐเชียงตุง
เชียงตุง ကျိုင်းတုံ / ᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
รัฐเจ้าฟ้าของสหพันธรัฐชาน | |||||||||||
ราว พ.ศ. 1786 – พ.ศ. 2502 | |||||||||||
รัฐเชียงตุง (สีฟ้า) ในแผนที่รัฐชาน | |||||||||||
พื้นที่ | |||||||||||
• พ.ศ. 2444 | 31,079 ตารางกิโลเมตร (12,000 ตารางไมล์) | ||||||||||
ประชากร | |||||||||||
• พ.ศ. 2444 | 190,698 คน | ||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||
• ก่อตั้งโดยผู้แทนของพญามังราย | ราว พ.ศ. 1786 | ||||||||||
• เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายสละอำนาจ | พ.ศ. 2502 | ||||||||||
|
เขตรัฐตุงคบุรี หรือ เขมรัฐโชติตุงบุรี โดยย่อว่า เขมรัฐ[1][2][3][4] (พม่า: ခေမာရဋ္ဌ เขมารฏฺฐ; บาลี: เขมรฏฺ) หรือ รัฐเชียงตุง (พม่า: ကျိုင်းတုံ; ไทใหญ่: ၵဵင်းတုင်; ไทยถิ่นเหนือ: ᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ) บ้างเรียก เมืองเขิน (ไทเขิน: ᨾᩮᩨ᩠ᨦᨡᩨ᩠ᨶ) และจารึกเมืองเชียงตุงเรียก เมืองไทย[5] เป็นรัฐเจ้าฟ้าแห่งหนึ่งในกลุ่มสหพันธรัฐชาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า[1] มีราชธานีคือเชียงตุง ซึ่งเป็นเขตเมืองใหญ่เพียงแห่งเดียวเพราะเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ ทั้งประเทศเป็นเขตภูเขาสูงสลับซับซ้อนของเทือกเขาแดนลาวมีที่ราบขนาดแคบ[6] ถือเป็นรัฐที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่รัฐชานอื่น ๆ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของรัฐชาน ตั้งแต่แม่น้ำสาละวินจรดแม่น้ำโขง[7] และถูกแยกจากรัฐชานตอนเหนือด้วยแม่น้ำข่า
รัฐเชียงตุงมีลักษณะเป็นรัฐชายขอบ โอนอ่อนไปตามอิทธิพลของรัฐรอบข้างคือ พม่า จีน และล้านนา เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งมีอำนาจมากกว่า เจ้าผู้ครองเชียงตุงก็จะเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายนั้น กระนั้นเชียงตุงยังคงรักษาความสัมพันธ์กับเชียงใหม่ในฐานะบ้านพี่เมืองน้องมาตลอด[8] แต่ในช่วงหลังเชียงตุงสวามิภักดิ์กับพม่า เพราะพม่าไม่มีนโยบายกวาดต้อนผู้คน[9] ต่างจากฝ่ายสยามที่มุ่งทำลายเมืองเชียงตุง เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายพม่าใช้เชียงตุงเป็นที่มั่นสำหรับโจมตีเมืองเชียงราย[10]
หลังการสละราชอำนาจของเจ้าจายหลวง มังราย เมื่อ พ.ศ. 2502 รัฐเชียงตุงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชานโดยสมบูรณ์ แม้จะพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้ง แต่ก็ตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่าไปโดยปริยาย และหลังการรัฐประหารของนายพลเนวี่นเมื่อ พ.ศ. 2505 สิทธิพิเศษของเจ้าฟ้าไทใหญ่ต่าง ๆ ถูกยกเลิกลงทั้งหมด
ประวัติ
[แก้]แรกเริ่ม
[แก้]รัฐเชียงตุงเกิดจากการขยายอำนาจขึ้นทางเหนือของพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา ที่ส่งพระราชนัดดาชื่อเจ้าน้ำท่วมขึ้นปกครองเชียงตุง อันเป็นดินแดนของชาวว้าและไทใหญ่[11][12] ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองหลวงเป็นชาวเขิน ต่างจากหัวเมืองอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นไทใหญ่[13] ตามประวัติศาสตร์ พญามังรายสร้างเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1810[14] เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศเหนือของล้านนา[8] โดยมีสัมพันธ์อันดีจนถึงรัชสมัยพญากือนา ส่วนรัชสมัยพญาแสนเมืองมาจนถึงพญาสามฝั่งแกน เชียงตุงสวามิภักดิ์กับจีน จนรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับล้านนาจึงเฟื่องฟูอีกครั้ง เพราะมีการเผยแผ่ศาสนาพุทธและวรรณกรรมล้านนาไปยังเชียงตุง[15]
ร่วมสมัย
[แก้]จักรพรรดิเฉียนหลงกระทำสงครามกับพระเจ้ามังระช่วง พ.ศ. 2303 รัฐเชียงตุงจึงสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2345 แต่ภายหลังเชียงตุงได้รับความช่วยเหลือจากพม่า จึงกลับเข้าสู่กับปกครองของพม่าตามเดิมและผนวกรัฐเมืองยองไปด้วยกันใน พ.ศ. 2357[16]
ยุครัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา สยามมีนโยบายมุ่งแผ่อำนาจไปยังเชียงตุงและเชียงรุ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แม้ทั้งสองเมืองนี้จะยอมสวามิภักดิ์ต่อสยามก็ตาม หลังการปักปันเขตแดนกับสหราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2428-2438 สยามเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เมื่อเขตแดนแบ่งออกอย่างชัดเจน สยามมีดินแดนสุดที่แม่สาย ส่วนเมืองเชียงตุง เมืองยอง และหัวเมืองไทใหญ่อื่น ๆ ขึ้นในอารักขาของสหราชอาณาจักร[17] ต่อมาสหราชอาณาจักรยุบรัฐเชียงแขงขึ้นกับเชียงตุง[18]
27 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ตรงกับสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐเชียงตุงถูกกองทัพพายัพจากประเทศไทยรุกรานและเข้ายึดเชียงตุงซึ่งเป็นเมืองหลวง ตามข้อตกลงระหว่างจอมพลแปลก พิบูลสงครามกับจักรวรรดิญี่ปุ่น เดือนธันวาคมปีเดียวกันกองทัพไทยเข้ายึดรัฐเชียงตุงและสี่อำเภอของรัฐเมืองปั่น ที่สุดรัฐบาลไทยผนวกดินแดนนี้อย่างเป็นทางการและประกาศจัดตั้งสหรัฐไทยเดิมและอำเภอเมืองพานเมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2486[19][20] ภายหลังประเทศไทยถอนตัวออกจากรัฐเชียงตุงและเมืองปั่นเมื่อ พ.ศ. 2488 และยกเลิกการอ้างสิทธิใน พ.ศ. 2489 เพื่อเข้าร่วมกับองค์การสหประชาชาติและยกเลิกการคว่ำบาตรจากการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ[21]
หลังการสละราชอำนาจของเจ้าจายหลวง มังราย เมื่อ พ.ศ. 2502 รัฐเชียงตุงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชานโดยสมบูรณ์ แม้จะพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้ง แต่ก็ตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่าไปโดยปริยาย และหลังการรัฐประหารของนายพลเนวี่นเมื่อ พ.ศ. 2505 สิทธิพิเศษของเจ้าฟ้าไทใหญ่ต่าง ๆ ถูกยกเลิกลงทั้งหมด[22]
การปกครอง
[แก้]รัฐเชียงตุงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีเจ้าฟ้าเป็นผู้ปกครอง ใช้พระนามว่า เขมาธิปติราชา[3][23] เช่น รัตนภูมินทะนรินทาเขมาธิปติราชา[24] หรือ พญาศรีสุธรรมกิตติ สิริเมฆนรินทร์ เขมาธิปติราชา[1] ในยุคเริ่มต้น เชียงตุงมีฐานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรล้านนา มีเจ้าผู้ครองปกครองตนเองด้วยจารีตท้องถิ่น และได้รับเกียรติเรียกเจ้าผู้ครองเชียงตุงว่า "พระหัวเจ้า" เชียงตุงต้องแสดงความจงรักภักดีต่อราชธานีที่ยิ่งใหญ่กว่าด้วยการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา[25]
ล้านนามักส่งลูกหลานกษัตริย์หรือขุนนางที่ใกล้ชิดจากเชียงใหม่ปกครองเชียงตุง แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา เชียงตุงยอมรับอำนาจของพม่า ส่วนเชียงใหม่ยอมรับอิทธิพลของสยาม ความขัดแย้งระหว่างสยามและพม่าส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และเชียงตุง จนก่อให้เกิดสงครามเชียงตุงช่วงต้นรัตนโกสินทร์[25]
เจ้าผู้ครองรัฐเป็นผู้บริหารและใช้อำนาจเต็ม ปกครองประชากรด้วยความผาสุก กอปรด้วยความอารีอย่างบิดากับบุตร หากมีผู้ใดกระทำผิดก็จะใช้อำนาจเด็ดขาดในการปราบปราม เช่น หากมีผู้ใดโกรธชักดาบออกจากฝักเพียงฝ่ามือเดียวจะถูกปรับไหมเป็นเงินหลายรูปี เป็นต้น[26] ทั้งนี้รัฐเชียงตุงยังมีนครรัฐน้อย ๆ เป็นบริวารในอำนาจตนเองจำนวนหนึ่งเช่น รัฐเมืองเลน รัฐเมืองสาต และรัฐเมืองปุ[16][27]
# | ผู้ปกครอง | เริ่มต้น | สิ้นสุด | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1 | เจ้ามังคุ่ม และ เจ้ามังเคียน | 1790 | 1796 | ขุนนางชาวลัวะ ได้รับการแต่งตั้งจากพระญามังรายมหาราช |
2 | เจ้าน้ำท่วม | 1796 | 1807 | พระโอรสของพระญาไชยสงคราม ได้รับการแต่งตั้งจากพระญามังรายมหาราช |
3 | เจ้าน้ำน่าน | 1807 | 1860 | เจ้านายในราชวงศ์มังราย ได้รับการแต่งตั้งจากพระญามังรายมหาราช |
4 | เจ้าสามหมื่นห้วย | 1860 | 1867 | เจ้านายในราชวงศ์มังราย ได้รับการแต่งตั้งจากพระญาไชยสงคราม |
5 | เจ้าอ้ายลก | 1867 | 1885 | เจ้านายในราชวงศ์มังราย ได้รับการแต่งตั้งจากพระญาไชยสงคราม |
6 | เจ้าไส่น่าน | 1885 | 1903 | เจ้านายในราชวงศ์มังราย ได้รับการแต่งตั้งจากพระญาผายู |
— | — | 1903 | 1911 | เป็นเมืองร้างไม่มีผู้ปกครอง |
7 | เจ้าเจ็ดพันตู (เจ้าสัตตพันธุราชา) | 1911 | 1930 | พระโอรสของพระญาผายู ได้รับการแต่งตั้งจากพระญาผายู |
8 | เจ้าอ้ายอ่อน (เจ้ารัตนพันธุราชา) | 1930 | ? | พระโอรสของเจ้าเจ็ดพันตู มาช่วยเชียงใหม่รบกับอยุธยาแล้วถูกจับกุมตัวไป |
9 | เจ้าบุญชู (เจ้าแขนเหล็ก,เจ้าพาหุราชา) | 1933 | 1946 | เจ้านายในราชวงศ์มังราย มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของเจ้าเจ็ดพันตู |
10 | เจ้ายี่คำ (พระยาเจ้ามธุระ) | 1946 | 1959 | พระอนุชาของเจ้าบุญชู |
— | — | 1959 | 1962 | ไม่ปรากฏรายละเอียด |
11 | เจ้าสามตนน้องหล้า (พระยากองรัตนเภรี) | 1962 | 1986 | พระอนุชาของเจ้าบุญชู และเจ้ายี่คำ |
12 | เจ้าสามสรี (พระยาสรีสุธัมมจุฬามณีราชา) | 1986 | 1999 | พระโอรสของเจ้าสามตนน้องหล้า |
13 | เจ้าพระยาอ้ายเลาคำทา (จันทบุณณราชา) | 1999 | 2017 | |
14 | เจ้าเลา (พระยาอทิตตราชา) | 2017 | 2062 | พระโอรสของเจ้าพระยาอ้ายเลาคำทา |
15 | เจ้าหน่อแก้ว | 2062 | 2064 | พระอนุชาของเจ้าเลา |
16 | เจ้าสายคอ (พระยาสิวิเชยยราชา) | 2064 | 2066 | พระโอรสของเจ้าเลา |
17 | เจ้าไส่พรม | 2066 | 2066 | พระอนุชาของเจ้าสายคอ ครองเมืองอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน |
18 | เจ้าสายเชียงคง | 2066 | 2066 | พระอนุชาของเจ้าสายคอ ครองเมืองได้ไม่กี่วัน |
19 | เจ้าคำหมู่ | 2066 | 2066 | พระอนุชาของเจ้าสายคอ ครองเมืองได้ 1 เดือน 7 วัน |
20 | เจ้าท้าวคำฟู (พระยาแก้วยอดฟ้านรินทะ) | 2066 | 2103 | พระอนุชาของเจ้าสายคอ ส่งคณะทูตเพื่อขอเข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้าบุเรงนอง |
21 | เจ้าแก้วบุญนำ | 2103 | 2139 | พระโอรสของเจ้าคำฟู |
22 | เจ้าคำท้าว (พระยาสุธัมมราชา) | 2139 | 2163 | พระโอรสของเจ้าแก้วบุญนำ |
23 | เจ้าเกี๋ยงคำ (เจ้าขาก,พระยาแก้วผาบนรินทะ) | 2163 | 2181 | พระอนุชาของเจ้าคำท้าว เคยครองเมืองขากมาก่อนที่จะขึ้นปกครองเมืองเชียงตุง |
24 | เจ้าอุ่น (พระยาอาทิตตราชา) | 2181 | 2200 | พระโอรสของเจ้าเกี๋ยงคำ |
— | — | 2200 | 2204 | ไม่ปรากฏรายละเอียด |
25 | เจ้าอินคำ (พระยารัตนพันธุ) | 2204 | 2221 | พระนัดดาของเจ้าแก้วบุญนำ (พระมารดาเป็นพระธิดาของเจ้าแก้วบุญนำ) |
26 | เจ้ารามหมื่น (พระยาสุรินทราชา) | 2221 | 2229 | พระอนุชาของเจ้าอินคำ |
27 | เจ้าแก้วบุญมา (อุเทยยไตรวัจระ) | 2229 | 2246 | พระโอรสของเจ้ารามหมื่น |
28 | เจ้าสาม | ? | ? | |
29 | เจ้าเมืองชืน | 2253 | 2271 | |
30 | เจ้าม่องมยู | 2272 | 2280 | พระอนุชาของเจ้าเมืองชื่น |
31 | เจ้าติตถนันทราชา | 2280 | 2283 | พระอนุชาของเจ้าเมืองชื่น และเจ้าม่องมยู |
32 | เจ้าเมืองสาม (จุฬามณีสิริเมฆภูมินนรินทาเขมาบติราชา) – ครั้งที่ 1 | 2283 | 2309 | พระโอรสของเจ้าติตถนันทราชา |
— | เจ้ากาง | 2309 | 2312 | โอรสของเจ้าม่องมยู ชิงเมืองได้จากเจ้าเมืองสาม |
33 | เจ้าเมืองสาม (จุฬามณีสิริเมฆภูมินนรินทาเขมาบติราชา) – ครั้งที่ 2 | 2312 | 2330 | |
34 | เจ้ากองไท ที่ ๑ (สากยภูมินทนรินทะ) | 2330 | ? | พระโอรสของเจ้าเมืองสาม ถูกเชียงใหม่รุกรานและพาตัวมายังเมืองเชียงใหม่ |
35 | เจ้าดวงแสงมหาขนาน | 2357 | 2400 | พระอนุชาของเจ้ากองไท ที่ ๑ |
36 | เจ้ามหาพรม | 2401 | 2419 | พระโอรสของเจ้าดวงแสงมหาขนาน |
37 | เจ้าฅำแสน | 2420 | 2423 | พระอนุชาของเจ้ามหาพรหม |
38 | เจ้าหม่อมเชียงแขง (เจ้าโชติกองไท) | 2423 | 2429 | พระอนุชาของเจ้าคำแสน เคยครองเมืองเชียงแขง (เมืองสิงห์) มาก่อนที่จะขึ้นปกครองเมืองเชียงตุง |
39 | เจ้าหม่อมเสือ (มหาพยัคฆโชติกองฅำฟู) | 2429 | 2439 | พระโอรสของเจ้าหม่อมเชียงแขง |
— | เจ้านางทิพย์ธิดา | 2439 | 2440 | พระขนิษฐาของเจ้าหม่อมเสือ ว่าราชการแทนเจ้าก้อนแก้วอินแถลงซึ่งเป็นพระอนุชา |
40 | เจ้าหม่อมก้อนแก้วอินแถลง | 2440 | 2478 | พระอนุชาของเจ้าหม่อมเสือ |
— | — | 2478 | 2480 | รอการแต่งตั้งจากสหราชอาณาจักร |
41 | เจ้ากองไท ที่ ๒ (สารกยะภูมินนรินทาเขมาธิบติราชา) | 2480 | 2480 | พระโอรสของเจ้าหม่อมก้อนแก้วอินแถลง ดำรงตำแหน่ง 162 วัน |
— | — | 2480 | 2486 | ไม่มีการแต่งตั้งเพราะมีการดำเนินคดีการปลงพระชนม์เจ้ากองไท แล้วต่อเนื่องถึงการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 |
42 | เจ้าพรหมลือ (สิริสุวรรณราชยสสร) | 2486 | 2488 | พระเชษฐาของเจ้ากองไท ได้รับการแต่งตั้งโดยสยามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 |
43 | สมเด็จเจ้าฟ้าชายหลวง | 2489 | 2502 | พระโอรสของเจ้ากองไท ที่ ๒ |
เศรษฐกิจ
[แก้]แม้รัฐเชียงตุงจะเป็นรัฐบนภูเขาสูงสลับซับซ้อน แต่มีราชธานีตั้งอยู่บนแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการค้าขนาดใหญ่ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เชียงตุงจึงเป็นรัฐเกษตรกรรมผสมผสานกับการค้า ขณะที่เมืองยองซึ่งอยู่ตะวันออกสุด ที่ราบขนาดขนาดกว้าง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ถือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของรัฐเชียงตุง[30] เชียงตุงเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางเกวียนจากเมืองต้าหลี่ และสิบสองพันนา ก่อนส่งต่อไปยังย่างกุ้งและมะละแหม่ง[3] ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทุกปีจะมีคาราวานขนถ่ายสินค้าจากจีน ผ่านเชียงตุงไปเชียงใหม่ ด้วยล่อจำนวน 8,000 ตัว[11]
สินค้าจากเชียงตุงส่วนใหญ่คือใบชา ฝิ่น ส้มจุก และหนังสัตว์[3]
ประชากรศาสตร์
[แก้]ชาติพันธุ์
[แก้]รัฐเชียงตุงมีประชากรหลายเชื้อชาติ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ แต่ในราชธานีและพื้นที่ตอนกลางของประเทศมีประชากรหลักเป็นชาวไทเขิน[31] บ้างก็ว่าชาวไทเขินคือชาวไทยวนที่อพยพขึ้นมาจากอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยพญามังราย ตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 13[32] ตามหัวเมืองก็มีประชากรชาติอื่น ๆ เข้าไปอาศัย เช่น ฮ่อ พม่า กะเหรี่ยง กุรข่า ไทลื้อ ม้ง ปะหล่อง และกะชีน[33] นอกนั้นยังมีชาวไทเหนือซึ่งอพยพมาจากยูนนาน และชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ เช่น ไตหลอย มูเซอ ละว้า และอ่าข่า[34] ส่วนอดีตรัฐเมืองยองทางตะวันออกสุด ซึ่งถูกรวมเข้ากับรัฐเชียงตุงนั้น มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อลูกผสมกับชาวไทใหญ่และเขิน[35]
ชาวไทเขินที่เป็นประชากรหลักของราชธานีมักสวมเครื่องแต่งกายสีฉูดฉาด ประกอบด้วยผ้าโพกศีรษะ เสื้อปั๊ด ผ้าคาดเอว แต่ละชิ้นมักไม่ซ้ำสีกัน ในอดีตผู้ชายมักสักด้วยอักขระอาคมต่าง ๆ[36] ในยุคที่ตกอยู่ในอารักขาของสหราชอาณาจักร ชาวเขินมักถูกรวมเข้ากับชาวไทใหญ่[35]
ภาษา
[แก้]ภาษาไทเขิน มีความคล้ายและใกล้เคียงกับภาษายองและไทลื้อมาก ทั้งยังคล้ายกับภาษาไทยวน ต่างเพียงแค่สำเนียง และการลงท้ายคำ[37] ซึ่งชาวเขินแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มเขินก่อ-เขินแด้, กลุ่มเขินอู และกลุ่มเขินหวา[38] ส่วนอักษรไทเขินได้รับอิทธิพลอักษรจากล้านนาจากการเผยแผ่ศาสนา โดยรับอักษรธรรมล้านนาและอักษรฝักขามไปพร้อม ๆ กับศาสนา จึงมีลักษณะคล้ายกับอักษรธรรมล้านนา รวมทั้งยังรับวรรณกรรมล้านนาที่แพร่หลายสู่เชียงตุงด้วย[39]
นอกจากนี้ชาวเชียงตุงบางส่วนที่เคยได้รับการเรียนภาษาไทยช่วงที่ไทยเข้าปกครอง สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้ดี[40]
ศาสนา
[แก้]เดิมประชากรนับถือศาสนาผี ปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ มีวัดอยู่ทุกหมู่บ้าน มีวัฒนธรรมสูง และไม่ชอบการลักขโมย[26] สืบเนื่องคณะสงฆ์จากอาณาจักรล้านนาเดินทางเข้าไปเผยแผ่ศาสนา ดังจะพบว่ามีการสถาปนาวัดนิกายสวนดอก (นิกายรามัญ หรือยางกวง) และนิกายป่าแดง (หรือนิกายสีหล) สู่เชียงตุงตั้งแต่รัชสมัยพญากือนาและพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเผยแผ่ศาสนาในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองเสียอีก[41] โดยพญากือนาทรงสนับสนุนให้พระสงฆ์จากเชียงแสนและเชียงตุงศึกษาศาสนาพุทธจากวัดสวนดอกในเชียงใหม่ ต่อมาในรัชกาลพญาสามฝั่งแกนมีการรับคัมภีร์ศาสนาจากลังกาเรียกว่านิกายป่าแดงตามชื่อวัดป่าแดง ก่อนแพร่หลายไปทั่วล้านนาและเชียงตุง ซึ่งพระยาสิริธัมมจุฬา เจ้าเมืองเชียงตุงสร้างวัดป่าแดงเป็นอรัญวาสีประจำเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1989[42] สองนิกายนี้เคยเกิดสังฆเภทเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนพระเมืองแก้วทรงไกล่เกลี่ยให้สองนิกายนี้กลับมาปรองดองกัน[43]
ในช่วงหลังนิกายป่าแดงได้รับความนิยมมากกว่านิกายยางกวง ในด้านพระธรรมวินัยและการสวดแบบบาลีที่ถูกต้องแบบเดียวกับการสวดของพระสงฆ์ไทย แต่นิกายยางกวงยังปรากฏอิทธิพลอยู่บ้างตามชุมชนห่างไกล ด้านการสวดมนต์ พระสงฆ์ไทใหญ่และพม่าจะสวดบาลีสำเนียงพม่า ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์เขินจึงไม่สังฆกรรมกับพระสงฆ์ไทใหญ่และพม่า แม้ปัจจุบันพระสงฆ์เขินแสดงเจตจำนงรวมเข้ากับนิกายสุธัมมาของพม่า[43] กระนั้นคณะสงฆ์เขินยังคงจารีตและระบบสมณศักดิ์เดิมตามอย่างล้านนา และอิงการศึกษาศาสนาอย่างคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน[44]
คณะสงฆ์เขินมี สมเด็จอาชญาธรรม เป็นประมุขสงฆ์แห่งเมืองเชียงตุงและหัวเมืองทางฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เปรียบตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งเชียงตุง แต่หลังคณะสงฆ์เขินรวมเข้ากับนิกายสุธัมมาของพม่าแล้ว ตำแหน่งสมเด็จอาชญาธรรมถูกลดฐานะลงเทียบเจ้าคณะอำเภอเชียงตุงเท่านั้น[45]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 395
- ↑ เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน, หน้า 103
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 98-99
- ↑ Society, Royal Geographical (1857). The Journal of the Royal Geographical Society: JRGS (ภาษาอังกฤษ). Murray.
- ↑ ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ ดร. (2547). ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ. p. 165.
- ↑ รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 71
- ↑ เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน, หน้า 106
- ↑ 8.0 8.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 370
- ↑ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 372
- ↑ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 373
- ↑ 11.0 11.1 Donald M. Seekins, Historical Dictionary of Burma (Myanmar), p. 251
- ↑ รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 76-77
- ↑ รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 82
- ↑ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 228
- ↑ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 371
- ↑ 16.0 16.1 Imperial Gazetteer of India, v. 15, p. 200.
- ↑ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 383
- ↑ "The Tai Of The Shan State". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-27. สืบค้นเมื่อ 2014-09-08.
- ↑ "ประกาส รวมกลันตัน ตรังกานู ไซบุรี ปะลิส เชียงตุง และเมืองพาน เข้าไนราชอาณาจักรไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกสา. 60 (55ก): 1532–1533. 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Shan and Karenni States of Burma
- ↑ David Porter Chandler & David Joel Steinberg eds. In Search of Southeast Asia: A Modern History. p. 388
- ↑ "WHKMLA : History of the Shan States". 18 May 2010. สืบค้นเมื่อ 21 December 2010.
- ↑ Ben Cahoon (2000). "World Statesmen.org: Shan and Karenni States of Burma". สืบค้นเมื่อ 7 July 2014.
- ↑ เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน, หน้า 104
- ↑ 25.0 25.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 229
- ↑ 26.0 26.1 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 101
- ↑ Sir Charles Crosthwaite "The pacification of Burma"
- ↑ Saimong Mangrai, Sao (1981). The P̲āḍaeng Chronicle and the Jengtung State Chronicle Translated.Center for South and Southeast Asian Studies, University of Michigan.
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง. เชียงใหม่.
- ↑ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 231
- ↑ 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 93
- ↑ รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 82-83
- ↑ 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 106
- ↑ รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 71
- ↑ 35.0 35.1 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 97
- ↑ 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 94
- ↑ เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน, หน้า 107
- ↑ "ไทเขินบ้านต้นแหนนน้อย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. 31 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 230
- ↑ บรรจบ พันธุเมธา. ไปสอบคำไทย. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทย กระทรวงศึกษาธิการ, 2522, หน้า 174
- ↑ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 162
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล (22 กุมภาพันธ์ 2560). "เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ สายใยรักสองราชสำนัก เชียงใหม่-เชียงตุง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 43.0 43.1 รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 132
- ↑ รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 130
- ↑ รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 131
- บรรณานุกรม
- จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556. 440 หน้า. ISBN 978-974-9747-21-6
- บ. บุญค้ำ. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2555. 392 หน้า. ISBN 978-974-315-802-5
- บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 30 ชาติในเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2557. 592 หน้า. ISBN 978-974-315-871-1
- สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553. 660 หน้า. ISBN 978-974-8132-15-0
- เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552. 222 หน้า. ISBN 9789746605694
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ รัฐเชียงตุง