เจ้านางทิพย์ธิดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทิพย์ธิดา
ผู้สำเร็จราชการรัฐเชียงคำ
ดำรงตำแหน่งค.ศ. 1905–1914?[1]
ก่อนหน้าเจ้าเมียวซา
ถัดไปเจ้าขุนหอคำ
มหาเทวีรัฐเชียงคำ
ดำรงตำแหน่งค.ศ. 1897–1905
ผู้สำเร็จราชการรัฐเชียงตุง
ดำรงตำแหน่งค.ศ. 1895–1897
ก่อนหน้าเจ้าฟ้าก๋องคำฟู
ถัดไปเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง
ประสูติค.ศ. 1871
คู่อภิเษกเมียวซาแห่งเชียงคำ (หย่า)
ท้าวพญาเมืองปู่หลวง
พระราชบุตรเจ้าขุนหอคำ
พระราชบิดาเจ้าฟ้าโชติกองไท
ศาสนาพุทธ

เจ้านางทิพย์ธิดา หรือสำเนียงท้องถิ่นว่า ติ๊บสีลา (พม่า: စဝ်နန်းတစ်ထီလာ; ไทเขิน: တိပ့္ထီးလား; ค.ศ. 1871 – ?) เป็นพระธิดาของเจ้าฟ้าโชติกองไท เป็นพระเชษฐภคินีของเจ้าฟ้าก๋องคำฟู และเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าผู้ครองรัฐเชียงตุง เจ้านางทิพย์ธิดาเคยเป็นผู้สำเร็จราชการเชียงตุง ทั้งเป็นอดีตมหาเทวีและผู้สำเร็จราชการรัฐเชียงคำ

พระประวัติ[แก้]

เจ้านางทิพย์ธิดา เป็นพระธิดาของเจ้าฟ้าโชติกองไท เจ้าผู้ครองรัฐเชียงตุง หลังพระบิดาพิราลัย เจ้าฟ้าก๋องคำฟู พระอนุชาร่วมพระชนนีจึงกินเมืองเชียงตุงสืบมา แต่ครองเมืองได้ไม่นานนักก็พิราลัยไปอีก จึงสถาปนาเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง พระอนุชาต่างมารดาครองเมืองต่อ[2] ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 14 ปี เจ้านางทิพย์ธิดาที่มีพระชันษา 16 ปี จึงขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นระยะเวลาสองปี[3]

เมื่อจำเริญพระชันษา เจ้านางเสกสมรสกับเมียวซาแห่งรัฐเชียงคำ ประสูติการพระโอรสพระองค์หนึ่งคือเจ้าขุนหอคำ ภายหลังเจ้านางเลิกรากับเมียวซาแล้วย้ายกลับไปประทับที่เมืองเชียงตุง[3] ทว่าเมียวซาเชียงคำพิราลัยขณะพระโอรสมีพระชันษา 11 ปี เจ้านางทิพย์ธิดาจึงขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ณ รัฐเชียงคำจนกว่าเจ้าขุนหอคำ พระโอรสจะมีพระชันษา 22 ปี รวมแล้วเจ้านางทิพย์ธิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่รัฐเชียงคำเป็นเวลาอีก 11 ปี[2][3] แต่หลังเจ้านางทิพย์ธิดาพ้นอำนาจจากเชียงคำแล้ว เจ้าขุนหอคำครองเมืองได้ 5 ปี ก็ถูกปลดออก เพราะทรงสังหารคนรับใช้ในหอคำ ทางสหราชอาณาจักรจึงคุมพระองค์ไว้ในตองจี แล้วยุบรัฐเชียงคำขึ้นกับรัฐเมืองนายแทน[2]

เจ้านางทิพย์ธิดาเดิมมีฐานะร่ำรวยและมีชื่อเสียงโด่งดังยิ่ง เจ้านางมีพระชนม์ชีพในเมืองเชียงตุงและตองจีจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแต่ยากจนลงเพราะการพนัน[3] แล้วพิราลัยในเมืองตองจี[2]

พระจริยวัตร[แก้]

เจ้านางทิพย์ธิดามีชื่อเสียงในฐานะนักธุรกิจหญิงที่ห้าวหาญ หลังทรงสละอำนาจจากเชียงคำแล้ว ทรงเริ่มประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ตั้งแต่การค้าช้างและรถยนต์ เคยเสด็จจากเชียงตุงไปตองจี ร่างกุ้ง และมะละแหม่งด้วยล่อ ทรงพกพระแสงปืนสำหรับป้องกันพระองค์ไปด้วย นอกจากนี้ยังเคยเดินทางข้ามทะเลไปเมืองกัลกัตตาและเดลีในประเทศอินเดีย[2]

เจ้านางเคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีแมรี ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรเมื่อคราเสด็จประพาสบริติชอินเดีย ทว่าระหว่างทางเครื่องเพชรหาย เมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีในเดลีร่วมกับเหล่ารานีจากแว่นแคว้นต่าง ๆ ในอารักขาของสหราชอาณาจักร ที่แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยเครื่องเพชรวูบวาบ แต่เจ้านางทิพย์ธิดากลับไม่มีเครื่องประดับใด ๆ บนพระวรกายเลย สมเด็จพระราชินีแมรีจึงตรัสว่า "ทิพย์ธิดาผู้น่าสงสาร ฉันได้ยินมาว่าเธออุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาขึ้นเฝ้าฉัน แต่เครื่องเพชรกลับมาหายเสียอีก" เจ้านางทิพย์ธิดาจึงกราบทูลว่า "เครื่องเพชรของหม่อมฉันหายไป แต่ก็ได้เข้าเฝ้าพระองค์เพคะ" หลังจากนั้นสมเด็จพระราชินีแมรีทรงถอดพระธำมรงค์วงหนึ่งจากพระองคุลี สวมพระราชทานแก่เจ้านางทิพย์ธิดา[2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Cahoon, Ben (2000). "World Statesmen.org: Shan and Karenni States of Burma". สืบค้นเมื่อ 21 December 2010.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Ritpen, Supin (2013). The Princess of Mangrai–Kengtung (PDF). Chiang Mai: The Ethnic Art and Culture Center, Tha Kradat Temple. p. 21-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-08. สืบค้นเมื่อ 2020-09-04.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 บ. บุญค้ำ. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2555, หน้า 236-237