ข้ามไปเนื้อหา

กองทัพพายัพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองทัพพายัพ
แผนที่ของการทัพพม่า
ประจำการพฤษภาคม 2485 – พฤศจิกายน 2488
ประเทศ ไทย
ขึ้นต่อกองบัญชาการทหารสูงสุด
เหล่า กองทัพบกไทย
กองทัพอากาศไทย
รูปแบบทหารช่าง
ทหารปืนใหญ่
ทหารม้า
ทหารราบ
ทหารอากาศ
เสนารักษ์
บทบาทการประสานกำลังเหล่าทัพ
การยิงตอบโต้ทางยุทธวิธี
การยิงสนับสนุน
การสู้รบระยะประชิด
การสงครามต่อต้านอากาศยาน
การสงครามทางอากาศ
การสงครามในเมือง
การสงครามป่าดงดิบ
การสงครามภูเขา
การสงครามรถถัง
การสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิด
เข้าตี
ตรวจการณ์หน้า
ลาดตระเวน
รื้อถอนทำลายสิ่งกีดขวาง
กำลังรบกองทัพภาค
กองบัญชาการเชียงตุง
ปฏิบัติการสำคัญสงครามโลกครั้งที่สอง
  • การทัพพม่า (Burma campaign)
ผู้บังคับบัญชา
ผบ. สำคัญพลโท หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์)
พลตรี หลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ)

กองทัพพายัพ เป็นกองกำลังของกองทัพไทยซึ่งเคลื่อนพลเข้าตีรัฐฉานของพม่าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ระหว่างการทัพพม่าในสงครามโลกครั้งที่สอง

ประวัติ

[แก้]

ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงลับกับประเทศญี่ปุ่นหนึ่งข้อ คือจะให้ไทยบุกขึ้นไปยึดพื้นที่ของรัฐฉานของพม่าเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และช่วยเป็นปีกขวาให้กับกองทัพญี่ปุ่นระหว่างการบุกพม่า ประเทศไทยจึงได้ก่อตั้งกองทัพพายัพขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ประกอบด้วยกำลังพลประมาณ 35,000 นายจากพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง เพื่อรุกจากพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงรายไปยังเมืองเชียงตุงและเมืองในพื้นที่ของรัฐฉานจรดกับพรมแดนประเทศจีน[1]

ไทยได้เคลื่อนกำลังจำนวน 3 กองพลโดยมีจุดนัดพบคือเมืองเชียงตุง ซึ่งเวลานั้นอังกฤษได้ถอนกำลังออกไปและส่งมอบให้กองทัพจีนเข้ามาตั้งรับแทน เส้นทางการเคลื่อนพลเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย เนื่องจากภูมิประเทศที่กลายเป็นดินโคลนจากฤดูฝน ทำให้เคลื่อนที่ได้ช้า รวมถึงการระเบิดภูเขาเพื่อปิดช่องทางการเคลื่อนพลของฝ่ายตรงข้าม และโรคภัยไข้เจ็บระหว่างการเคลื่อนพลคือไข้ป่า เวชภัณฑ์ที่มีก็เพียงแค่ยาควินินเม็ด การส่งกำลังบำรุงประสบปัญหาทำให้ขาดเสบียง ทำให้กำลังพลต้องหาของป่าเพื่อประทังชีวิตระหว่างเคลื่อนพลไป[1]

กองทัพพายัพกำลังรบในการทัพพม่า พ.ศ. 2486

ในที่สุดทั้ง 3 กองพลของไทยได้เคลื่อนกำลังไปจนถึงเมืองเชียงตุง โดยกองพลแรกที่ไปถึงคือ กองพลที่ 3 ภายใต้การบังคับบัญชาของ พลตรีหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) สามารถเข้าตีและยึดป้อมปืนที่ใช้ในการป้องกันเมืองได้โดยปฏิบัติการร่วมกับอากาศยาน 10 ลำจากกองบินน้อยลำปางที่ช่วยทิ้งระเบิดเพื่อเปิดทาง[1]

หลังจากเคลื่อนพลมาครบทั้ง 3 กองพลแล้ว กองพลที่ 3 ได้รับมอบหมายให้เข้าครองเมืองเชียงตุง และได้มอบหมายให้กองพลอีก 2 กองพลรุกขึ้นไปต่อจนประชิดกับเขตแดนประเทศจีน และยึดครองพื้นที่รัฐฉานได้ทั้งหมด และถอนกำลังกลับมายังที่ตั้งคือลำปางและเชียงราย[1]

รัฐบาลไทยได้สถาปนารัฐฉานหรือสหรัฐไทยใหญ่เป็น สหรัฐไทยเดิม และแต่งตั้งให้ พลตรีผิน ชุณหะวัณ เป็นข้าหลวงประจำอยู่ และเลื่อนยศให้เป็นพลโท ซึ่งไทยได้ฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองที่เสียหายจากสงคราม จัดระเบียบการปกครอง ตั้งศาลขึ้นมาจำนวน 3 แห่ง ณ เมืองเชียงตุง เมืองสาด และเมืองหาง และให้ตำรวจสนามคอยรักษาความสงบเรียบร้อย[1]

ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2486 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ลงนามร่วมกับเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อยอมรับการรวมสหรัฐไทยเดิมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย พร้อมกันกับ กลันตัน ตรังกานู เคด้า ปะลิส และเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ในปกครองของแต่ละรัฐข้างต้น ซึ่งจอมพล โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เดินทางมาร่วมพิธีด้วยตนเองที่ทำเนียบรัฐบาลไทย ทำให้เวลานั้นไทยได้ดินแดนที่เคยเสียไปในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 คืนกลับมาทั้งหมด

ทหารกองทัพพายัพของไทยสวมหมวกเอเดรียน พร้อมกับปืนใหญ่ในพม่า พ.ศ. 2486

หลังจากสงครามสิ้นสุดจากการยอมแพ้ของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ส่งผลให้ไทยในขณะนั้นรีบเร่งในการประกาศสันติภาพ ส่งผลให้ดินแดนที่ได้คืนมาทั้งหมดต้องถูกส่งคืนกลับไปยังเจ้าอาณานิคมเดิม คืออังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้กระทรวงกลาโหมต้องดำเนินการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ต่าง ๆ รวมไปถึงสหรัฐไทยเดิมที่กองทัพพายัพวางกำลังไว้อยู่ โดยมีการกำหนดตารางสำหรับขนย้ายกำลังพลเพื่อถอนกำลังออกมาทางรถไฟ แต่ในเวลานั้นอังกฤษต้องการใช้รถไฟทุกขบวน และยานพาหนะทุกประเภทเพื่อขนย้ายเชลยศึกชาวญี่ปุ่นออกมาก่อน[1]

เดินนับไม้หมอนรถไฟ

[แก้]

มีการปลดกลางอากาศของกำลังพลในกองทัพพายัพ ทั้งระดับพลทหารไปจนถึงนายทหาร โดยไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน หรือค่าพาหนะในการเดินทางใด ๆ[1] ส่งผลให้กำลังพลในพื้นที่ที่ต้องถอนกำลังกลับมาบางส่วนจำเป็นต้องเดินเท้าตามเส้นทางรถไฟเพื่อกลับไปยังต้นสังกัดหรือภูมิลำเนา[2] เนื่องจากขบวนรถไฟของไทยถูกนำไปใช้ในการขนส่งเชลยศึกชาวญี่ปุ่น ทำให้กำลังพลต้องเดินเท้าตามทางรถไฟจากเชียงตุงมารอรถไฟต่อที่ลำปาง[1]

แต่หลังจากนั้นกลับไม่มีขบวนรถไฟ รวมถึงเส้นทางรถไฟต่าง ๆ ถูกระเบิดทำลายสะพานทำให้ไม่สามารถใช้การได้ ถึงแม้ในตัวเมืองลำปางจะมีค่ายทหารที่สามารถไปพักแรมได้ แต่กำลังพลส่วนใหญ่ต้องการกลับไปยังภูมิลำเนา จึงเลือกที่จะเดินกลับลงมาตามทางรถไฟแม้จะใช้เวลานานเป็นเดือน ประทังชีวิตด้วยการขออาหารจากชาวบ้านตามแนวทางรถไฟกิน บางส่วนก็เสียชีวิตก่อนจะถึงที่หมาย จึงทำให้เกิดวลีว่า เดินนับไม้หมอน[1]

ขณะที่กำลังพลบางส่วนที่ตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ลำปาง ก็หางานและอาชีพทำให้พื้นที่นั้น รวมไปถึงทหารบางส่วนที่ปักหลักอยู่ที่เมืองเชียงตุงและสร้างครอบครัวอยู่กับประชาชนในพื้นที่นั้น[1]

หลวงกาจสงคราม ได้บรรยายถึงความรู้สึกของเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเต็มไปด้วยความโหดร้ายและทารุณ เนื่องจากการปลดกลางอากาศระหว่างกำลังนำกำลังพลเดินทางบนทางหลวงระหว่างลำปางและเชียงราย ทหารบางนายถูกสังหารจากการปล้นบนรถเมล์ระหว่างเดินทางกลับ บางนายได้รับบาดเจ็บระหว่างทางและมาเสียชีวิตที่กรุงเทพมหานคร เป็นการถอนทัพออกมาอย่างไม่ดีนัก ขณะที่ประชาชนบางส่วนมองทหารไทยในสถานะที่ไม่ต่างกันกับทหารญี่ปุ่นที่ตกเป็นเชลยศึกหลังจากสงครามสิ้นสุด สภาพทหารไทยในเวลานั้นสวมเสื้อและนุ่งกางเกงที่ขาดรุ่งริ่งกลับมายังที่ตั้งเดิมของหน่วยตนเอง แต่ไม่สามารถเบิกเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยงได้ เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นไม่มีเงินจ่าย ทำให้กองทหารต่าง ๆ ต่างมีสภาพเหมือนแค่ในนาม แต่ไม่สามารถปกครองหรือดูแลกำลังพลของตนได้[2]

ผลสืบเนื่อง

[แก้]

ขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลในเวลานั้นทอดทิ้งทหารไทย หรือ ลอยแพ แต่เนื่องจากในเวลานั้นสถานภาพทางการเงินของไทยอยู่ในขั้นถดถอยที่สุด เนื่องจากต้องดูแลทหารของสหประชาชาติที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ดูแลทหารเชลยศึกชาวญี่ปุ่น และดูแลคนงานที่ญี่ปุ่นเกณฑ์มาใช้แรงงานจากประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยขณะนั้นตกต่ำถึงขีดสุด จาก 11 บาทต่อ 1 ปอนด์ กลายเป็น 80 บาทต่อ 1 ปอนด์ ส่งผลให้ไม่มีเงินในการจ่ายเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และเงินต่าง ๆ ให้กับทหารที่ถูกปลดกลางอากาศ[1]

บางข้อมูลระบุว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาดูแลประเทศหลังสงครามสิ้นสุดนั้นต้องการที่จะเอาในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่ปกครองรัฐฉานในพม่าซึ่งถูกไทยยึดครอง และยังเป็นตัวแทนของสัมพันธมิตรในการดูแลพื้นที่ ได้พยายามพลิกสถานะของไทยให้ตกไปเป็นผู้แพ้สงคราม ทำให้รัฐบาลได้แสดงท่าทีว่าไม่ได้เห็นด้วยกับการนำกำลังไปยึดรัฐฉานในปกครองของอังกฤษ ทำให้ไทยต้องรีบปลดทหารทั้งหมด และทำให้กองทัพพายัพกลายเป็นจำเลยรับผิดไป[1]

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพบกไทยได้ถูกดูหมิ่นและเหยียดหยามโดยบุคคลในเสรีไทยบางคน เนื่องจากมองว่าทหารบกเป็นเครื่องมือของเผด็จการในช่วงเวลาที่ผ่านมา และบางส่วนได้วิพากษ์ว่ากองทัพบกได้ก่อตั้งมาถึง 50 ปี แต่มีผลงานไม่เท่ากับเสรีไทยที่ก่อตั้งมาเพียงแค่ 2 ปี[2] และจากการเมืองภายในประเทศเวลานั้น เป็นผลสืบเนื่องให้เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490[2]

นอกจากนี้ การยุบกองทัพพายัพและเหตุการณ์เดินนับไม้หมอนได้เป็นอีกเหตุผลในการก่อตั้ง องค์การทหารผ่านศึก เมื่อปี พ.ศ. 2491 โดยที่ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น[1]

การจัดกำลังรบ

[แก้]

กำลังรบ ณ พ.ศ. 2485

[แก้]
พลโท จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ แม่ทัพพายัพ คนที่ 1
พลโท จิร วิชิตสงคราม แม่ทัพพายัพ คนที่ 2
พลตรี หลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 กองทัพพายัพ

กองทัพพายัพ มี พลโท จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ ตั้งกองบัญชาการกองทัพพายัพครั้งแรกที่จังหวัดลำปาง หลังจากกองทัพพายัพบุกเข้ายึดเมืองเชียงตุงและรัฐฉานได้แล้ว จึงมีการย้ายกองบัญชาการกองทัพพายัพมาตั้งที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 และย้ายพลโท จิร วิชิตสงคราม เสนาธิการทหารบก มารับหน้าที่แม่ทัพพายัพแทน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2485

กำลังรบที่ขึ้นตรงต่อกองทัพพายัพมีดังนี้

  • กองพลที่ 2 มีพลตรี หลวงไพรีระย่อเดช (กี๋ ชมะบูรณ์) เป็นผู้บัญชาการกองพล ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 4 (ปราจีนบุรี) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 10 (ปราจีนบุรี)
      • กองพันทหารราบที่ 11 (ปราจีนบุรี)
      • กองพันทหารราบที่ 12 (ปราจีนบุรี)
    • กรมทหารราบที่ 5 ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 13
      • กองพันทหารราบที่ 14
      • กองพันทหารราบที่ 15
    • กรมทหารราบที่ 12 (พิษณุโลก) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 28 (นครสวรรค์)
      • กองพันทหารราบที่ 29 (พิษณุโลก)
      • กองพันทหารราบที่ 33 (พิษณุโลก)
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 4 (ปราจีนบุรี)
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 (ปราจีนบุรี)
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 6
    • หน่วยขึ้นสมทบ:
      • กรมทหารม้าที่ 5 กองพลทหารม้า
      • กองพันรถรบ กรมยานเกราะ
  • กองพลที่ 3 มีพลตรี หลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) เป็นผู้บัญชาการกองพล ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 7 (นครราชสีมา) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 19 (นครราชสีมา)
      • กองพันทหารราบที่ 20 (นครราชสีมา)
      • กองพันทหารราบที่ 21 (นครราชสีมา)
    • กรมทหารราบที่ 8 (สุรินทร์) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 17
      • กองพันทหารราบที่ 18
      • กองพันทหารราบที่ 52
    • กรมทหารราบที่ 9 (อุบลราชธานี) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 25 (อุบลราชธานี)
      • กองพันทหารราบที่ 26 (อุบลราชธานี)
      • กองพันทหารราบที่ 27 (อุบลราชธานี)
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 (นครราชสีมา)
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 8 (นครราชสีมา)
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 9
    • กองจักรยานยนต์ลาดตะเวน
    • กองรถรบ
  • กองพลที่ 4 มีพันเอก หลวงหาญสงคราม (พิชัย หาญสงคราม) เป็นผู้บัญชาการกองพล ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 3 (ลพบุรี) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 4 (ลพบุรี)
      • กองพันทหารราบที่ 6 (ลพบุรี)
      • กองพันทหารราบที่ 8 (สระบุรี)
    • กรมทหารราบที่ 13 (ลำปาง) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 30 (ลำปาง)
      • กองพันทหารราบที่ 31 (เชียงใหม่)
      • กองพันทหารราบที่ 34 (ลำปาง)
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 10 (นครสวรรค์)
  • กองพลทหารม้า - พันโท ทวน วิชัยขัทคะ
    • กรมทหารม้าที่ 35 ประกอบด้วย
      • กองพันทหารม้าที่ 3 (อุบลราชธานี)
      • กองพันทหารม้าที่ 5 (ร้อยเอ็ด)
    • กรมทหารม้าที่ 46 ประกอบด้วย
      • กองพันทหารม้าที่ 4 (จันทบุรี)
      • กองพันทหารม้าที่ 6
  • กองพันรถรบ
  • กรมทหารม้าที่ 12 (อิสระ) มีพันโท หลวงจำรัสโรมรัน (จำรัส รมยะบุรุษ) เป็นผู้บังคับการกรม ประกอบด้วย
    • กองพันทหารม้าที่ 1 (กรุงเทพฯ)
    • กองพันทหารม้าที่ 2 (ปราจีนบุรี)
  • กองพันทหารราบที่ 35 (เชียงใหม่)
  • กองพันทหารช่างที่ 1 (ราชบุรี)
  • กองพันทหารช่างที่ 2 (ฉะเชิงเทรา)
  • กองพันทหารช่างที่ 3
  • กองพันทหารช่างที่ 4
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 (กรุงเทพ)
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11
  • กองพันปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กองทัพพายัพ
  • กองพันขนส่ง กองทัพพายัพ
  • กองพันลำเลียงน้ำ กองทัพพายัพ

การปรับกำลัง

[แก้]

ระหว่างการรบ กองทัพพายัพได้จัดกำลังผสมเพิ่มเติมในกองทัพดังนี้

  • กรมทหารราบสนามที่ 17 ประกอบด้วย
    • กองพันทหารราบที่ 32 (นครสวรรค์)
    • กองพันทหารราบที่ 35 (เชียงใหม่)
    • กองพันทหารราบที่ 39 (นครศรีธรรมราช)

สภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายเป็นปัจจัยบังคับให้ต้องยุบกองพลทหารม้าเร็วกว่าที่ควร และย้ายกรมทหารม้าที่ 31 ไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด กับย้ายกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (กองพันทหารม้าใช้ม้า) กลับไปยังกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม กองทัพบกไทยก็ได้จัดตั้งหน่วยทหารทดแทนหน่วยทหารม้าขึ้นในกองทัพพายัพ ดังนี้

  • กองพันปืนกลหนักที่ 11
  • กองพันปืนกลที่ 1
  • กองพันปืนกลที่ 2
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 27
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 29

กองทัพที่ 2

[แก้]

หลังจากฟื้นฟูความสงบในเมืองเชียงตุงได้ ในปี พ.ศ. 2486 กองทัพบกไทยจึงถอนกำลังของกองทัพพายัพบางส่วน และจัดตั้งกองทัพที่ 2 ขึ้นเป็นกำลังรบสำรอง โดยมีกองบัญชาการอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย

  • กองพลที่ 1 (เชียงราก) ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 1 (กรุงเทพฯ) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (กรุงเทพฯ)
      • กองพันทหารราบที่ 3 (กรุงเทพฯ)
      • กองพันทหารราบที่ 9 (กรุงเทพฯ)
    • กรมทหารราบที่ 2 (กรุงเทพฯ) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 2 (กรุงเทพฯ)
      • กองพันทหารราบที่ 7 (กรุงเทพฯ)
      • กองพันทหารราบที่ 37 (ราชบุรี)
      • กองพันทหารราบที่ 45 (เพชรบุรี)
  • กองพันทหารม้าที่ 1 (ย้ายจากกองทัพพายัพกลับมายังกรุงเทพฯ หลังจากยุบกรมทหารม้าที่ 12 อิสระ เนื่องจากม้าที่หน่วยดังกล่าวใช้งานเป็นของกองพันทหารม้าที่ 1 เกิดเจ็บป่วยและล้มตายจำนวนมาก)
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1
  • กองพลที่ 7 (ลพบุรี) ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 19 (ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 58 (ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี)
      • กองพันทหารราบที่ 59 (ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี)
    • กรมทหารราบที่ 20 (อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์)
      • กองพันทหารราบที่ 60 (อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์)
      • กองพันทหารราบที่ 61 (อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์)
    • กรมทหารราบที่ 21 (ตำบลวังชมภู อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์)
      • กองพันทหารราบที่ 62 (ตำบลวังชมภู อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์)
      • กองพันทหารราบที่ 63 (ตำบลวังชมภู อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์)
      • กองพันทหารราบที่ 64 (ตำบลวังชมภู อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์)
    • กรมทหารราบที่ 12 ย้ายจากกองทัพพายัพกลับมายังจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 28 (นครสวรรค์)
      • กองพันทหารราบที่ 65 (นครสวรรค์)
    • กรมทหารราบที่ 6 ย้ายจากกองทัพพายัพกลับมายังจังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 29 (พิษณุโลก) - แยกมาจากกรมทหารราบที่ 12
      • กองพันทหารราบที่ 66 (นครสวรรค์)
      • กองพันทหารราบที่ 67 (ตาก)

กองพลที่ 37

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2488 กองทัพบกไทยได้จัดตั้งหน่วยทหารเพื่อช่วยฝึกด้านยุทธวิธีแก่ขบวนการเสรีไทย ดังนี้

  • กองพลที่ 37 (นครราชสีมา) ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 107 (นครราชสีมา)
    • กรมทหารม้าที่ 35 (ร้อยเอ็ด) - ย้ายมาจากกองทัพพายัพ ประกอบด้วย
      • กองพันทหารม้าที่ 3 (อุบลราชธานี)
      • กองพันทหารม้าที่ 5 (ร้อยเอ็ด)
    • กรมทหารราบที่ 108 (อุดรธานี - นครพนม
    • กรมทหารราบที่ 9 (อุบลราชธานี) - ย้ายมาจากกองทัพพายัพ
      • กองพันทหารราบที่ 25 (อุบลราชธานี)
      • กองพันทหารราบที่ 26 (อุบลราชธานี)
      • กองพันทหารราบที่ 27 (อุบลราชธานี)

การยุบหน่วย

[แก้]

หลังการประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หน่วยต่างๆ ของกองทัพได้ถูกยุบเลิกและสลายกำลัง ดังนี้

ประกาศยุบเลิกหน่วยและสลายกำลังเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2488
  • กองพันปืนกลหนักที่ 11
  • กองพันปืนกลที่ 1
  • กองพันปืนกลที่ 2
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 27
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 28
ประกาศยุบเลิกหน่วยและสลายกำลังเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488
  • กองบัญชาการกองทัพพายัพ
  • กองทัพที่ 2
  • กองพลที่ 7
  • กองพลที่ 37
  • กองพลน้อยผสมที่ 18 ประจำการ ณ สี่รัฐมาลัย
  • กรมทหารราบที่ 20
  • กรมทหารราบที่ 107
  • กองพันทหารม้าที่ 4
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 6
  • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 14
  • กองพันทหารราบที่ 32 (นครสวรรค์)
  • กองพันทหารราบที่ 33 (กำลังสำรอง)
  • กองพันทหารราบที่ 34 (ลำปาง)
  • กองพันทหารราบที่ 35 (เชียงใหม่)
  • กองพันทหารราบที่ 54
  • กองพันทหารราบที่ 56
  • กองพันทหารราบที่ 40 (ตรัง)
  • กองพันทหารราบที่ 41 (สงขลา)

การปรับกำลังหลังสิ้นสุดสงคราม

[แก้]

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2489 กองทัพบกไทยได้ปรับกำลังใหม่ดังนี้

  • มณฑลทหารบกที่ 1 (กรุงเทพฯ) ประกอบด้วย
  • มณฑลทหารบกที่ 2 (ปราจีณบุรี) ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 2 (ลพบุรี) - แปรสภาพหน่วยมาจากกรมทหารราบที่ 3 ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 4
      • กองพันทหารราบที่ 6
      • กองพันทหารราบที่ 8
    • กรมทหารราบที่ 12 (ปราจีณบุรี) - แปรสภาพหน่วยมาจากกรมทหารราบที่ 4 ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 10
      • กองพันทหารราบที่ 11
      • กองพันทหารราบที่ 12
  • มณฑลทหารบกที่ 3 ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 3 (นครราชสีมา) - แปรสภาพหน่วยมาจากกรมทหารราบที่ 7 ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 19
      • กองพันทหารราบที่ 20
      • กองพันทหารราบที่ 21
    • กรมทหารราบที่ 13 (อุบลราชธานี) - แปรสภาพหน่วยมาจากกรมทหารราบที่ 9 ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 25 (อุบลราชธานี)
      • กองพันทหารราบที่ 26 (อุบลราชธานี)
      • กองพันทหารราบที่ 27 (อุบลราชธานี)
  • มณฑลทหารบกที่ 4 ประกอบด้วย
    • กรมทหารราบที่ 4 (นครสวรรค์) ประกอบด้วย
      • กองพันทหารราบที่ 28 (นครสวรรค์)
      • กองพันทหารราบที่ 29 (พิษณุโลก)
      • กองพันทหารราบที่ 30 (ลำปาง)
      • กองพันทหารราบที่ 31 (เชียงใหม่)
  • มณฑลทหารบกที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ประกอบด้วย
    • กองพันทหารราบที่ 5 (อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา)
    • กองพันทหารราบที่ 38 (ชุมพร)
    • กองพันทหารราบที่ 39 (นครศรีธรรมราช)
    • กองพันทหารราบที่ 42 (อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี)

กองทัพอากาศสนาม

[แก้]
พลอากาศตรี ขุนรณนภากาศ (ฟื้น ฤทธาคนี) ผู้บังคับกองบินใหญ่ผสมภาคพายัพ

กองบินผสมที่ 90 - ไม่ทราบจำนวนอากาศยาน

  • ฝูงบินที่ 41
  • ฝูงบินที่ 42
    • เครื่องบิน Curtiss Hawk III
  • ฝูงบินที่ 32
  • ฝูงบินที่ 11
  • ฝูงบินที่ 12
    • เครื่องบิน Mitsubishi Ki-30 จำนวน 17 เครื่อง
  • ฝูงบินที่ 61
  • ฝูงบินที่ 62

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 "สุดขมขื่นของทหารไทยที่ต้องจำจนวันตาย! ถูกส่งไปรบเพื่อชาติ หลังชัยชนะ ต้อง "เดินนับไม้หมอน" กลับบ้าน!!". mgronline.com. 21 พฤษภาคม 2021.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ชวาลศิลป์, บัญชร (30 ตุลาคม 2024). "ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (37)". www.matichonweekly.com. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)