มหาสติปัฏฐานสูตร
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
มหาสติปัฏฐานสูตร หรือ สติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญสติ ที่เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ อันเป็นทางสายเอกในอันที่จะนำพาผู้ปฏิบัติไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้
มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ชาวกุรุชนบท ชื่อว่ากัมมาสทัมมะ [1][2][3] โดยปัจจุบันเมืองกัมมาสทัมมะอยู่ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย สติปัฏฐานสูตรหรือมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นแนวทางปฏิบัตินี้มีเป้าหมายเดียว คือ การบรรลุนิพพาน
มหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ตอนเริ่มพระสูตร อาจกล่าวได้ว่าพระสูตรนี้แสดงหลักการพัฒนาตนเพื่อเป้าหมายคือการบรรลุนิพพานสำหรับบุคคลหลายจริต หลายระดับ[4] คือให้มีสติสัมปชัญญะตามดูอารมณ์กรรมฐานไม่ขาดตอนให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง[5] เพื่อไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจกิเลสต่าง ๆ โดยมีแนวปฏิบัติ 4 ขั้นตอนไล่จากการตามพิจารณาอารมณ์กรรมฐานที่หยาบไปจนละเอียด คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม (เหตุเกิดเหตุดับ)
บทวิเคราะห์ศัพท์
[แก้]มหา เป็น คุณศัพท์ แปลว่า ใหญ่
สูตร เป็น นามกิตก์ แปลว่า การฟัง หรืออาจแปลได้อีกหลายความหมาย แต่ในที่นี้หมายถึงพระสูตรในพระไตรปิฎกหมวดสุตตันตปิฎก ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ได้ฟังแล้วจำมาได้
สติปัฏฐาน ดูที่ สติปัฏฐาน 4
มหาสติปัฏฐานสูตร หมายถึง พระสูตรที่กล่าวถึงวิธีเจริญสติปัฏฐาน 21 บรรพะ อยู่ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เป็นสูตรที่ 9 รองสุดท้ายของวรรคนี้
สติปัฏฐานสูตร คือ พระสูตรที่กล่าวถึงวิธีเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานสูตรนี้อาจมีอยู่ในพระไตรปิฎกหลายที่แล้วแต่ท่านจะตั้งชื่อ แต่ที่นิยมเอามาพูดถึง จะอยู่ในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กล่าวถึงวิธีเจริญสติปัฏฐาน 21 บรรพะเหมือนในทีฆนิกายนั่นเอง
โครงสร้างสูตร
[แก้]บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
ในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านได้แสดงเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐานไว้อย่างละเอียด โดยแบ่งแสดงออกเป็นข้อ ๆ เรียกว่า ปพฺพ (ปัพพะ,บรรพะ, ข้อ, แบบ) โดยในพระบาลีใช้คำว่า อปิจ (อะปิจะ - อีกอย่างหนึ่ง) เป็นเครื่องหมายในการแบ่งสติปัฏฐาน 4 อย่างลงไปอีก รวมทั้งสิ้น 21 บรรพะ เริ่มที่อานาปานบรรพะและไปสิ้นสุดที่สัจจบรรพะ
อรรถกถาของสูตรนี้ กล่าวว่า ชาวกุรุเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยสมบูรณ์และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจึงตรัสกรรมฐานไว้อย่างย่อ, ทรงแสดงพลววิปัสสนาญาณ คือ ขยญาณ และ ภังคญาณ ไว้เป็นหลักในตอนท้ายของทุกบรรพะ, อีกทั้งในตอนท้ายอรรถกถา แสดงว่า มีผู้บรรลุหลังฟังสูตรนี้จบด้วย
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร . พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 7-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 7-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต สติปัฏฐานสูตร. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 7-7-52
- ↑ อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร. อรถกถาพระไตรปิฎก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 7-7-52
- ↑ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 7-7-52