คาวทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ผักคาวทอง)
คาวทอง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Magnoliids
อันดับ: Piperales
วงศ์: Saururaceae
สกุล: Houttuynia
Thunb.
สปีชีส์: H.  cordata
ชื่อทวินาม
Houttuynia cordata
Thunb.

ผักคาวทองหรือผักพลูคาว เป็น พืชล้มลุกอายุหลายปี สูง 15-30 ซม. ลำต้นกลม สีเขียว รากแตกออกตามข้อ มีกลิ่นคาวทั้งต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 6-10 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้ารูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ด้านบนของใบเป็นสีเขียวเข้ม ด้านล่างออกสีม่วง ก้านใบยาวและโคนเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีใบประดับสีขาว 4 ใบ ที่โคนช่อดอก ปลายมน ดอกเล็กจำนวนมาก สีขาวยออกเหลือง ผล เป็นผลแห้ง แตกออกได้ เมล็ดรี

คาวทองเป็นยาสมุนไพรทั้งต้น เก็บในฤดูร้อน และฤดูหนาว ถอนทั้งต้นและราก ล้างให้สะอาด ตากแห้งเก็บไว้ใช้ ช่อดอก ดอกย่อย ช่อดอกแก่ ผล เมล็ด

ผักคาวทองชื่อพื้นเมืองอื่นๆอีกได้แก่: คาวตอง (ลำปาง,อุดร) คาวทอง (มุกดาหาร,อุตรดิตถ์) ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) ผักเข้าตอง,ผักคาวตอง ผักคาวปลา (ภาคเหนือ) พลูคาว (ภาคกลาง) กระจายพันธุ์ในอินโดจีน, จีน, ประเทศไทยพบตามที่ชื้นแฉะริมน้ำทางภาคเหนือหรือปลูกไว้เป็นยาหรืออาหาร

การใช้ประโยชน์[แก้]

  • ทั้งต้น รสฉุน เย็นจัด ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ฝีบวมอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ บิด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หูชั้นกลางอักเสบ และริดสีดวงทวาร ถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้หายใจสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้
  • ต้นสด ใช้ภายนอก พอกฝี บวมอักเสบ บาดแผล โรคผิวหนัง ดากออก งูพิษกัด และช่วยทำให้กระดูกเชื่อมติดกันเร็วขึ้น
  • ใบสด ผิงไฟพอนิ่ม ใช้พอกเนื้องอกต่างๆ ใบสดใช้ป้องกันปลาเน่าเสีย ต้มน้ำรดต้นฝ้าย ข้าวสาลี และข้าว ป้องกันพืชเป็นโรคเหี่ยวเฉาตาย พืชนี้ใช้รับประทานเป็นยาระบาย ขับพยาธิ แก้ไข้ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ออกหัด
  • ดอก ใช้ขับทารกที่ตายในท้อง

ใช้พืชนี้ต้มรับประทานติดต่อกันเป็นประจำ แก้โรคน้ำกัดเท้า อาจรับประทานน้ำต้มจากพืชอย่างเดียวหรือผสมวิตามินเอและวิตามินรวมด้วย ได้มีการขอจดทะเบียนสิทธิบัตรตำรับยานี้ นอกจากนี้มีผู้ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องสำอางโดยใช้น้ำมันจากผักคาวทองเป็นครีม ทาแก้ผิวหนังหยาบกร้าน และใช้ป้องกันผิวหนังแตกเป็นร่อง

ในเนปาลใช้ลำต้นใต้ดิน ในตำรับยาที่เกี่ยวกับโรคของสตรี ใช้ทั้งต้นเป็นยาช่วยย่อย บรรเทาอาการอักเสบ และขับระดู ใบใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง แก้บิด และริดสีดวงทวาร ในตำรายาจีนเรียกอวี่ซิงเฉ่า (ภาษาจีนกลาง) หรือ ฮื่อแชเฉ่า (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) ลำต้นใช้เป็นยาช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ช่วยต้านแบคทีเรีย[1]

ปริมาณที่ใช้[แก้]

ทั้งต้น แห้ง 15-30 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำดื่ม ก่อนต้มให้แช่น้ำไว้สัก 1-3 นาที ต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที (ถ้าใช้ร่วมกับยาอื่น ให้ต้มยาอื่นให้เดือดก่อนจึงใส่ยานี้ต้มให้เดือด ดื่ม) ใช้สด ตำคั้นเอาน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้างหรือตำพอก

สารเคมีที่พบ[แก้]

พบทั้งต้น มีโปแตสเซียมคลอไรด์ โปแตสเซียมซัลเฟต และ cordarine

อาหาร[แก้]

ในอินเดียใช้ทั้งใบหรือทั้งต้นเป็นผักต้มกิน

การนำสารเคมีในผักคาวทองไปประยุกต์ใช้[แก้]

จากผลงานวิจัยของทีมงานของอาจารย์คณะแพทย์ ที่ม.เชียงใหม่ และม.ขอนแก่น พบว่าสารพฤกษเคมีที่อยู่ในคาวทอง ช่วยกำหนดระบบนิเวศวิทยาในขบวนการหมักแบบชีวภาพ ทำให้ได้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์หรือโพรไบโอติกส์ที่ช่วยปรับสมดุลของร่างกายกลุ่มแลคโตบาซิลลัสหรือยีสต์ ที่มีโครงสร้างผนังเซลล์เป็นน้ำตาลเชิงซ้อนชนิดเบต้ากลูแคนซึ่งสามารถกระตุ้นไขกระดูกให้ผลิตเซลล์ต้นกำเนิดได้ การทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า โพลีนิวคลิโอไทด์จากแลคโตบาซิลลัสสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลอง(หนู)ได้ใน 10 วัน พลาสมาของหนูทดลองดังกล่าวสามารถฆ่าเชื้อก่อโรคได้หลายชนิดเช่น Burkholderia pseudomallei, Shigella flexneri, Salmonella group B, Staphylococcus aureus และ Group A streptococci ได้ดีมาก ผลของการทดทองในผู้ติดเชื้อ HIV ก็สามารถทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังสามารถใช้คาวทองที่ผ่านกรรมวิธีการหมักแบบชีวภาพ ควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์เช่นเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้น้อย อาเจียน ผมร่วงหรืออ่อนเพลียน้อยลง การที่สมุนไพรคาวทองกำหนดการเกิดขึ้นของสารเบต้ากลูแคนในขบวนการหมัก ทำให้ได้สมุนไพรที่มีคุณสมบัติบำรุงสุขภาพองค์รวมดีกว่าใช้สมุนไพรคาวทองแบบธรรมชาติเดิมแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้ออกมาไหลเวียนในกระแสเลือดมากขึ้น จึงช่วยให้ร่างกายอ่อนวัยและฟื้นคืนจากโรคเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆได้

ในประเทศจีนมีการใช้พลูคาวเป็นส่วนผสมตำรับยาต้าน Influenza virus เป็นส่วนผสมในตำรับยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาอาการของโรคที่เกิดจากไวรัสในไก่ โดยใช้ผสมในอาหารหรือน้ำดื่มที่ใช้เลี้ยงไก่ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนผสมในตำรับยารับประทานสำหรับลดไข้ รักษาโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง เป็นส่วนประกอบในตำรับยาใช้รักษาการติดเชื้อเฉียบพลัน หวัด ไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นส่วนผสมในตำรับยาที่เป็นน้ำยาข้นใช้ทารักษาโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม ต่อมทอนซิลอักเสบ และปอดอักเสบในเด็ก

ล่าสุดได้มีการศึกษาคุณสมบัติของพลูคาว ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าสามารถนำมาพัฒนาเป็นยาต้านไวรัสของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้หรือไม่ เชื่อว่าจะสามารถต้านเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเชื้อ HIV

การประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์[แก้]

  1. โรคทางเดินหายใจอักเสบ
  2. โรคหลอดลมขยายตัวมากเกินไป
  3. โรคไอกรน
  4. อาการคั่งน้ำในอกจากโรคคมะเร็ง
  5. ป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด
  6. โรคท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  7. โรคตับอักเสบชนิดดีซ่าน
  8. อาการไตผิดปกติ
  9. รักษาแผลอักเสบคอมดลูก
  10. การอักเสบบริเวณกระดูกเชิงกราน
  11. การอักเสบชนิดธรรมดาบริเวณแก้วตา
  12. โรคหัด
  13. โรคต่อมทอนซิลอักเสบจากการระบาด

อ้างอิง[แก้]

  1. ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน. กทม. ทองเกษม. 2555