ข้ามไปเนื้อหา

ถนนชัยพฤกษ์

พิกัด: 13°54′35″N 100°30′02″E / 13.909774°N 100.500569°E / 13.909774; 100.500569
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทางหลวงชนบท นบ.3030
ถนนชัยพฤกษ์
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว11.180 กิโลเมตร (6.947 ไมล์)
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2549–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันออก ถ.แจ้งวัฒนะ ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
  ถ.ราชพฤกษ์ ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ปลายทางทิศตะวันตก ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ใน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศไทย
ระบบทางหลวง

ถนนชัยพฤกษ์ (อักษรโรมัน: Thanon Chaiyaphruek) หรือ ทางหลวงชนบท นบ.3030 สายชัยพฤกษ์ เป็นเส้นทางการคมนาคมในพื้นที่อำเภอปากเกร็ดและอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี โดยเป็นถนนแอสฟัลต์คอนกรีตขนาด 6 ช่องทางจราจร เขตทางกว้าง 60 เมตร[1] มีเกาะกลางคั่นขาไป-ขากลับ เส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ ตัดกับถนนราชพฤกษ์ และไปบรรจบกับถนนบางกรวย-ไทรน้อย

ประวัติ

[แก้]

ถนนชัยพฤกษ์ช่วงแรกตัดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2540 เป็นถนนสายหนึ่งในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณห้าแยกปากเกร็ดและถนนเชื่อมต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การคมนาคม การขนส่ง และการจราจร[2] ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บริเวณแนวเวนคืนนั้นเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนเมื่อปี พ.ศ. 2543[3] กรมทางหลวงชนบทได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างถนนตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2546[4] จนกระทั่งแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการได้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2549[5] และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานพระราม 4 และถนนเชื่อมต่ออย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551[6] ถนนชัยพฤกษ์ช่วยระบายความหนาแน่นของการจราจรจากเส้นทางข้างเคียงโดยรอบ ได้แก่ สะพานพระนั่งเกล้า สะพานนนทบุรี ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนติวานนท์ ถนนรัตนาธิเบศร์ และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 (บางบัวทอง-บางพูน) โดยคาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณรถได้ถึงวันละ 30,000-40,000 คัน[5] หรือชั่วโมงละ 2,000-4,500 คัน[5][6]

ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้ตัดถนนชัยพฤกษ์ช่วงที่ 2 ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบ้านฉาง ตำบลบางปรอก ตำบลบางหลวง ตำบลบางเดื่อ ตำบลบางคูวัด อำเภอเมืองปทุมธานี ตำบลคูบางหลวง ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และตำบลคลองข่อย ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด ตำบลละหาร ตำบลบางบัวทอง ตำบลพิมลราช ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2549[7] โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการถนนเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก แนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 มีมติมอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทรับผิดชอบดำเนินการ[8] สำหรับถนนเชื่อมต่อแนวตะวันออก-ตะวันตกหรือถนนชัยพฤกษ์ช่วงที่ 2 นี้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555[8] จนเสร็จและเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558[9] ทำให้ถนนชัยพฤกษ์กลายเป็นเส้นทางสายแรกที่เชื่อมต่อย่านตัวอำเภอปากเกร็ดเข้ากับย่านตัวอำเภอบางบัวทองโดยตรง

รายละเอียดเส้นทาง

[แก้]
ถนนชัยพฤกษ์ ช่วงตัดกับถนนราชพฤกษ์

ถนนชัยพฤกษ์ช่วงแรกมีเส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในลักษณะทางยกระดับตัดข้ามทางแยกปากเกร็ด ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (ด้วยสะพานพระราม 4) บริเวณท่าน้ำปากเกร็ด เข้าเขตตำบลบางตะไนย์ ไปทางทิศเดิม จากนั้นเริ่มโค้งไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อยก่อนข้ามคลองบ้านแหลมเหนือ (คลองวัดอินทาราม) เข้าเขตตำบลคลองพระอุดม ไปทางทิศเดิม ข้ามคลองพระอุดม ข้ามคลองบางภูมิเข้าเขตตำบลบางพลับ ตรงไปทางทิศเดิม จนสิ้นสุดเส้นทางที่ทางแยกต่างระดับสาลีโขฯ ซึ่งเป็นจุดบรรจบกับถนนราชพฤกษ์ ระยะทางทั้งหมด 4.85 กิโลเมตร[10]

ส่วนถนนชัยพฤกษ์ช่วงที่ 2 มีเส้นทางต่อจากถนนชัยพฤกษ์ช่วงแรกบริเวณทางแยกต่างระดับสาลีโขฯ ไปทางทิศตะวันตก ข้ามคลองขุนมหาดไทย (ท่าลาย) แล้วเริ่มโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนเบาบาง ข้ามคลองชลประทานพระอุดม-บางบัวทอง (คลองแอน) เข้าเขตตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง ตัดผ่านพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านภัทราวรรณและทางหลวงชนบท นบ.4012 (แยกทางหลวงหมายเลข 3215 - บ้านลำโพ) เข้าเขตตำบลพิมลราช จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางทิศตะวันตกแล้วข้ามคลองลำโพเข้าเขตตำบลบางบัวทอง ก่อนจะไปบรรจบกับถนนบางกรวย-ไทรน้อยที่ทางแยกสามวัง (ห่างจากทางแยกบางบัวทองไปทางทิศตะวันออก 789 เมตร) รวมระยะทางจากทางแยกต่างระดับสาลีโขฯ ถึงทางแยกสามวังประมาณ 3.76 กิโลเมตร

สถานที่สำคัญบนเส้นทาง

[แก้]

รายชื่อทางแยก

[แก้]
รายชื่อทางแยกบน ทางหลวงชนบท นบ.3030 (ถนนชัยพฤกษ์) ทิศทาง: แยกปากเกร็ด–แยกสามวัง
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนชัยพฤกษ์ (แยกปากเกร็ด–แยกสามวัง)
นนทบุรี แยกปากเกร็ด เชื่อมต่อจาก: ถนนแจ้งวัฒนะ จากหลักสี่
ถนนติวานนท์ ไปวัดชลประทานรังสฤษดิ์, แยกแคราย ถนนติวานนท์ ไปเมืองทองธานี, แยกสวนสมเด็จฯ
สะพานพระราม 4 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
≈3.875 ทางแยกต่างระดับสาลีโขฯ ถนนราชพฤกษ์ ไปถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนราชพฤกษ์ ไปทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345, ปทุมธานี
≈7.500 แยกสามวัง ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ไปตลาดบางบัวทอง ไม่มี
ตรงไป: ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ไป ถนนกาญจนาภิเษก, อำเภอไทรน้อย
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมทางหลวงชนบท. "โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณห้าแยกปากเกร็ด และถนนเชื่อมต่อ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dor.
    go.th/~pakkret
    เก็บถาวร 2008-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 30 กันยายน 2551.
  2. "พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. ๒๕๔๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114 (ตอนที่ 50 ก): หน้า 15-17. 26 กันยายน 2540.
  3. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 117 (ตอนพิเศษ 98 ง): หน้า 7-8. 27 กันยายน 2543.
  4. เดลินิวส์. "สะพานพระราม 4 เพิ่มโครงข่ายถนนเชื่อมฝั่งตะวันตกกรุงเทพฯ-เมืองนนท์ใช้ได้สิ้นเดือนนี้." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://reic.or.th/news/news_
    detail.asp?nID=10157&p=2&s=15&t=13
    [ลิงก์เสีย] 2549. สืบค้น 30 กันยายน 2551.
  5. 5.0 5.1 5.2 ประชาชาติธุรกิจ. "พระราชทานนาม พระราม 4 สะพานข้ามเจ้าพระยาแห่งใหม่เชื่อม กทม.-นนท์." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://news.sanook.com/immovable/immovable_60444.php 2549. สืบค้น 30 กันยายน 2551.
  6. 6.0 6.1 สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม. กองสารนิเทศ. "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินฯ ทรงประกอบพิธีเปิดสะพานพระราม ๔." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&parent=468&directory=1821&
    pagename=content2&contents=23275
    เก็บถาวร 2011-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2551. สืบค้น 30 กันยายน 2551.
  7. "พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบ้านฉาง ตำบลบางปรอก ตำบลบางหลวง ตำบลบางเดื่อ ตำบลบางคูวัด อำเภอเมืองปทุมธานี ตำบลคูบางหลวง ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และตำบลคลองข่อย ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด ตำบลละหาร ตำบลบางบัวทอง ตำบลพิมลราช ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. ๒๕๔๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 123 (ตอนที่ 55 ก): หน้า 4-7. 26 พฤษภาคม 2549.
  8. 8.0 8.1 กรมทางหลวงชนบท. "โครงการถนนเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์ แนวตะวันออก-ตะวันตก." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.rperoad.com/index3.html เก็บถาวร 2015-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 21 มกราคม 2558.
  9. http://www.thairath.co.th/content/473779 คค.เปิดถนนต่อเชื่อม ราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก หวังแก้จราจรหนึบ
  10. กรมทางหลวงชนบท. สำนักบำรุงทาง. กลุ่มพัฒนาระบบบริหารงานบำรุง. โครงข่ายทางหลวงชนบท ตุลาคม 2554. [ม.ป.ท.]: 2555, หน้า 0 - 1/1.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°54′35″N 100°30′02″E / 13.909774°N 100.500569°E / 13.909774; 100.500569