คลองพระอุดม
คลองพระอุดม เป็นคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตรงข้ามเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีวัดปากคลองพระอุดมตั้งอยู่ที่ปากคลองรวมถึงเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมอญมานาน ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี ไปจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แต่เดิมคลองพระอุดมเป็นคลองธรรมชาติชื่อว่า คลองบ้านแหลม และ คลองลาดชะโด เป็นแหล่งที่มีปลาชะโดชุกชุมมาก จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2483–2485 พระอุดมโยธาธิยุต (สด รัตนาวะดี) อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้ขุดลอกคลองโดยใช้เครื่องจักรกลเชื่อมผ่านถึงเขตท้องที่ตำบลบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ราษฎรได้ใช้น้ำในลำคลองเพื่อการอุปโภคบริโภคในทุก ๆ ฤดูกาล มีผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น ความเป็นอยู่โดยทั่วไปดีขึ้น[1] ประชาชนและทางราชการจึงได้พร้อมใจกันตั้งชื่อคลองและชื่อตำบลใหม่ (ทั้งในเขตจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานี) ตามชื่อของอธิบดีกรมชลประทานว่า "คลองพระอุดม"[2]
แต่เดิมบริเวณปากคลองพระอุดม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักโดยเฉพาะการทําสวนผลไม้เช่น ทุเรียน กระท้อน ส้มโอ เป็นต้น ต่อมาสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง น้ำในลําคลองเน่าเสีย และประชาชนขายที่ดินให้กับนายทุนคนรุ่นหลัง จึงนิยมทํางานในโรงงานอุตสาหกรรมและอาชีพอื่น ๆ เช่นอาชีพรับจ้างและค้าขายเป็นต้น[3]
วัดที่ตั้งอยู่ริมคลอง ได้แก่ วัดปากคลองพระอุดม วัดท้องคุ้ง วัดโปรดเกษ วัดสพานสูง วัดท่าเกวียน วัดทองสะอาด และวัดสหราษฎร์บํารุง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การตั้งถิ่นฐานตำบลคลองพระอุดม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "ประวัติ เทศบาลตำบลคลองพระอุดม". เทศบาลตำบลคลองพระอุดม.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ศักยภาพของชุมชนในการจัดตั้งตลาดน้ำคลองพระอุดม อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี".