ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ | |
---|---|
ใบปิดอย่างเป็นทางการของภาค ๒ | |
กำกับ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล |
บทภาพยนตร์ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ |
อำนวยการสร้าง | หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา คุณากร เศรษฐี |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | ณัฐวุฒิ กิตติคุณ สตานิสลาฟ ดอร์ซิก |
ตัดต่อ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมราชวงศ์หญิงปัทมนัดดา ยุคล |
ดนตรีประกอบ | ริชาร์ด ฮาร์วีย์ แซนดี้ แม็คเลลแลนด์ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล |
วันฉาย | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 |
ความยาว | 165 นาที |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ภาษา | ไทย พม่า มอญ |
ทุนสร้าง | 700 ล้านบาท (รวม 3 ภาค) |
ทำเงิน | 216.87 ล้านบาท (กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่) |
ก่อนหน้านี้ | องค์ประกันหงสา |
ต่อจากนี้ | ยุทธนาวี |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ ภาพยนตร์ภาคสองในภาพยนตร์ไตรภาคชุด ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำแสดงโดย พล.ต.วันชนะ สวัสดี, นพชัย ชัยนาม, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, นภัสกร มิตรเอม, อินทิรา เจริญปุระ, พ.ต.คมกริช อินทรสุวรรณ, ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง, พล.ต.วินธัย สุวารี, สรพงษ์ ชาตรี เขียนบทภาพยนตร์และกำกับการแสดงโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
เนื้อเรื่อง
[แก้]หลังจากพระองค์ดำหรือพระนเรศหนีกลับพระพิษณุโลกสองแควได้แล้วนั้น หลายปีผ่านไป พระองค์ได้เจริญชันษาขึ้น และกลายเป็นอุปราชผู้รั้งเมืองพระพิษณุโลกสองแควแทน สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชบิดาที่ไปครองราชธานีกรุงศรีอยุธยา พระนเรศวรทรงฝึกปรนการต่อสู้ทุกวัน โดยมีแทล้วทหารกล้ามากมายอยู่รอบพระองค์ ทั้ง ออกพระราชมนู หรือ บุญทิ้ง พระสหายของพระนเรศวรมาตั้งแต่ครั้งยังประทับอยู่หงสาวดี และได้มี ออกพระศรีถมอรัตน์ และ ออกพระชัยบุรี เจ้าเมืองชัยบุรี มาสวามิภักดิ์ขออยู่ด้วย รวมทั้ง พระเอกาทศรถ หรือ องค์ขาว พระอนุชา และ มณีจันทร์ ต่างก็เจริญวัยขึ้นเช่นกัน
ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้าบุเรงนอง เสด็จสวรรคต โดยก่อนที่จะสวรรคตพระองค์ได้กระซิบบอกแก่ พระมหาเถรคันฉ่อง นำความไปบอกยังพระนเรศวรให้ยกทัพมาเอาเมืองหงสาวดี เพราะทรงทราบดีว่าทั้งพระมหาอุปราชานันทบุเรง และมังสามเกียด ไม่สามารถที่จะรักษาสถานะของความเป็นอาณาจักรตองอูเอาไว้ได้ ต่อมา พระมหาอุปราชานันทบุเรง ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้านันทบุเรง สืบต่อ หงสาวดีได้มีพระราชสาสน์ส่งไปยังพระพิษณุโลกสองแควให้ส่งตัวแทนมาร่วมพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพที่หงสาวดี พระนเรศวรได้เสนอตัวพระองค์เองแม้จะทรงรู้ว่า จะเป็นการคืนกลับไปอยู่ยังมือศัตรูอีกครั้ง แต่เพราะพระเจ้าบุเรงนองมีบุญคุณต่อพระนเรศวรเฉกเช่นพระราชบิดาแท้ ๆ อีกองค์หนึ่ง พระนเรศวรจึงจำเป็นต้องเสด็จเดินทางไป เมื่อไปถึง พระมหาอุปราชามังสามเกียด พระโอรสของพระเจ้านันทบุเรงที่รังเกียจพระนเรศวรมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และ มางจางปะโร พระสหายคนสนิท ต่างเพ็ดทูลให้พระนเรศวรต้องพบกับอันตรายซึ่งจะนำมาซึ่งพระชนม์ชีพ โดยที่งานพระบรมศพครั้งนี้ เมืองคังซึ่งเป็นประเทศราชหงสาวดีมิได้ส่งตัวแทนมา พระเจ้านันทบุเรงจึงมีพระบรมราชโองการให้อุปราชของ 3 เมือง คือ พระนเรศวร, นัดจินหน่อง อุปราชเมืองตองอู และพระมหาอุปราชามังสามเกียด ยกทัพไปปราบเมืองคัง โดยแข่งขันกัน
เมื่อไปถึง เมืองคังเป็นเมืองที่อยู่บนภูเขาสูง ยากที่จะโจมตี กองทัพหงสาวดีของพระมหาอุปราชามังสามเกียดแม้จะยกพลบุกเข้าโจมตีซึ่ง ๆ หน้าก็ไม่สำเร็จ เพราะถูกต่อต้านอย่างหนักจาก เล่อขิ่น ธิดาของเจ้าฟ้าเมืองคัง ที่ใช้ทั้งธนูและก้อนหินทุ่มลงมา วันต่อมา ทัพตองอูของนัดจินหน่องเข้าโจมตีบ้าง โดยใช้แผ่นไม้เป็นโล่กั้นแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะถูกจู่โจมด้วยไฟ ขณะที่ทัพตองอูกำลังโจมตีอยู่นั้น ข้างพระนเรศวรได้สำรวจสภาพรอบเมืองคัง พบว่าหลังเมืองมีแหล่งน้ำที่ชาวเมืองลงมาตักใช้และเป็นทางขึ้นไปยังเมืองคังได้ จึงทรงจัดทัพแบ่งเป็น 2 ทาง ทางแรกแสร้งให้พระเอกาทศรถจู่โจมหน้าด้านเหมือนเช่น 2 เมืองก่อนหน้านั้น ส่วนพระองค์จะจู่โจมที่ด้านหลัง ผลปรากฏว่า พระนเรศวรสามารถตีเมืองคังได้สำเร็จ และได้จับตัวเล่อขิ่นและเจ้าฟ้าเมืองคังกลับไปรับโทษยังหงสาวดีได้สำเร็จ ระหว่างเดินทางออกราชมนูได้แสดงความรักต่อเลิ่นขิ่นหลายต่อหลายครั้ง
การที่พระนเรศวรกระทำการสำเร็จดังนั้น สร้างความแค้นเคืองให้พระมหาอุปราชามังสามเกียดยิ่งนักเพราะถือว่าถูกลบหลู่พระเกียรติ ขณะที่นัดจินหน่องมองพระนเรศวรอย่างไม่ดูแคลนเพราะถือว่าในอนาคตพระนเรศวรอาจเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรูคนสำคัญ เมื่อถึงหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงมีคำสั่งให้เผาทั้งเป็นเจ้าฟ้าเมืองคัง แต่พระนเรศวรได้ทูลขอชีวิตไว้ พระเจ้านันทบุเรงจึงให้ปล่อยตัวกลับไป ขณะเสด็จกลับพระพิษณุโลกสองแคว ขณะที่พระเจ้านันทบุเรงเสด็จออกไปทำสงครามยังเมืองอังวะ พระมหาอุปราชามังสามเกียด เป็นผู้รั้งพระนครได้ทำอุบายร้ายต่อพระนเรศวรขณะเสด็จถึงเมืองแครง แต่ว่า พระยาเกียรติ และ พระยาราม ทหารมอญที่ถูกส่งมาลอบปลงพระชนม์พระนเรศวรได้สำนึกในบุญคุณครั้งอดีตที่พระนเรศวรเคยมีต่อตนจึงได้สารภาพความจริงโดยนำความบอกผ่านมายัง พระมหาเถรคันฉ่อง ที่เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้วได้อกมาจำพรรษายังนอกเมือง พระมหาเถรคันฉ่องได้นำความมาบอกแก่พระนเรศวร พระนเรศวรได้กระทำพิธีหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศไม่ขึ้นต่อหงสาวดี เป็นการแสดงว่านับแต่นี้ต่อไป พระพิษณุโลกสองแควและอยุธยาจะไม่ขึ้นตรงต่อหงสาวดีอีกแล้ว
ขณะที่เล่อขิ่นได้เดินทางกลับเมืองคังได้คิดถึงออกราชมนูและพระนเรศวร เจ้าฟ้าเมืองคังล่วงรู้ความในใจของธิดา จึงได้อนุญาตให้เล่อขิ่นออกติดตามไปกับกองทัพของพระนเรศวร โดยมี หมอกมู องครักษ์หญิงติดตามไปด้วย ขณะที่เล่อขิ่นและหมอกมูกำลังเดินทางในป่า มือสังหารชาวนาคาได้ลงมือลอบสังหาร รวมทั้งลอบปลงพระชนม์พระนเรศวรถึงที่พำนักด้วย โดยพระมหาอุปราชามังสามเกียดเป็นผู้ส่งไป ทำให้พระนเรศวรต้องเริ่งเดินทางให้เร็วขึ้นเพื่อให้พ้นเขตแดนหงสาวดี ทาง สุระกรรมา แม่ทัพอาวุโสแห่งหงสาวดีได้เตือนพระมหาอุปราชามังสามเกียดว่าอย่าได้ประมาทพระนเรศวร แต่มหาอุปราชามังสามเกียดเถียงว่า ยุทธพิชัยสงครามแบบสามก๊กนั้นตนก็รู้
กองทัพของหงสาวดีไล่ตามพระนเรศวรกระชั้นชิดยิ่งขึ้น หมอกมูเพื่อปกป้องเล่อขิ่นได้รับบาดเจ็บ แม้ ขุนรัตนแพทย์ รักษาให้แล้วแต่ก็ไม่หายเจ็บได้ในทันที นางจึงฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้เป็นภาระ ขณะที่เล่อขิ่นอยู่ข้างหลัง ออกราชมนูได้ย้อนกลับมาเพื่อช่วย ขณะที่ทุกคนกำลังข้ามแม่น้ำสะโตง พระนเรศวรและมณีจันทร์ได้ย้อนกลับไปช่วยออกราชมนูและสามารถข้ามแม่น้ำได้สำเร็จ อีกทั้งพระองค์ยังใช้พระแสงปืนต้น กระบอกที่พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็นในวัยเยาว์ ซึ่งบัดนี้พระมหาเถรคันฉ่องได้อนุญาตให้พระองค์ใช้แล้ว เพราะพระบารมีถึงที่พระเจ้าจักรพรรดิแล้ว ยิงสุระกรรมาตกจากคอช้างถึงแก่ความตายได้อีกด้วย
ข้อแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์กับภาพยนตร์
[แก้]- เล่อขิ่นและหมอกมูเป็นตัวละครที่สมมติขึ้นมา โดยที่ผู้สร้าง ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ได้สร้างลักษณะตัวละคร เล่อขิ่น มาจากตัวละครหญิงในเรื่อง มหาราชดำ ซึ่งเป็นภาพยนตร์พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอีกเรื่องหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2522[1]
- เมืองคัง นักวิชาการในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบที่ตั้งที่ชัดเจนว่าอยู่ที่ไหน ทราบแต่เพียงว่าเป็นเมืองตั้งบนภูเขาสูง ทั้งนี้ก็มาจากการระบุถึงในพงศาวดาร[2]
- ในช่วงเวลาดังกล่าว สามก๊ก หนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน ที่ลือชื่อเรื่องยุทธพิชัยสงคราม ยังมิได้ถูกแพร่เป็นที่รู้จักในดินแดนสุวรรณภูมินี้
- พระเจ้าบุเรงนอง มิได้มีพระราชประสงค์ยกเมืองหงสาวดีให้แก่พระนเรศวรเช่นในภาพยนตร์
- ไม่ได้มีหลักฐานใดระบุว่ามีการลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช