อำเภอตรอน
อำเภอตรอน | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Tron |
คำขวัญ: ถิ่นอ้อยหวาน ธารน้ำใหญ่ ซิ่นไหมดี มีแหล่งปลา ไร่นาสมบูรณ์ ขอบคุณ พืชพันธุ์ธัญญาหาร อลังการไหลแพไฟ | |
แผนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เน้นอำเภอตรอน | |
พิกัด: 17°28′56″N 100°6′47″E / 17.48222°N 100.11306°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | อุตรดิตถ์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 314.501 ตร.กม. (121.430 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 33,529 คน |
• ความหนาแน่น | 106.61 คน/ตร.กม. (276.1 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 53140 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5302 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอตรอน หมู่ที่ 10 ถนนรวมราชกิจ ตำบลวังแดง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ 53140 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ตรอน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอตรอนห่างจากตัวจังหวัดตามทางรถไฟไปทางทิศใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร ตามทางรถยนต์ประมาณ 20 กิโลเมตร มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอลับแลและอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอทองแสนขัน
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอพิชัย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอศรีนครและอำเภอศรีสัชนาลัย (จังหวัดสุโขทัย)
ประวัติ
[แก้]ประวัติความเป็นมาของชื่ออำเภอตรอนนี้ มี 3 ฝ่ายด้วยกัน ฝ่ายแรกกล่าวว่าที่ว่าการอำเภอเดิมตั้งอยู่ที่ว่าปากคลองตรอน ตำบลบ้านแก่ง จึงเรียก "อำเภอตรอน" ฝ่ายที่สองกล่าวถึงที่มาของชื่อคลองตรอนว่า ในฤดูแล้งน้ำในคลองขาดเป็นห้วงเป็นตอน จึงตั้งชื่อว่า "คลองตอน" ต่อมาเพี้ยนเป็น "คลองตรอน" เมื่อตั้งที่ว่าการอำเภอตรอน ส่วนฝ่ายที่สามกล่าวว่ามาจากชื่อ "เมืองตรอนตรีสินธุ์" ซึ่งปรากฏในพระราชหัตถเลขาคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ 5 เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จเมืองตรอนตรีสินธุ์ด้วย
ชื่อเดิมของอำเภอตรอน มีชื่อว่า อำเภอเมืองตรอน และเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัยเมื่อ พ.ศ. 2430 ตอนนั้นเมืองพิชัยแบ่งการปกครองออกเป็น 5 อำเภอด้วยกันคือ เมืองพิชัย เมืองอุตรดิตถ์ เมืองตรอน เมืองลับแล และเมืองน้ำปาด
จากป้ายรายชื่อนายอำเภอที่ว่าการอำเภอตรอนมีว่า นายอำเภอคนแรกชื่อหลวงพินิจ เป็นนายอำเภอตั้งแต่ พ.ศ. 2430-2436 กล่าวกันว่าเดิมที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลป่าคาย ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ปากคลองตรอนในสมัยพระศรีสงครามหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระตรอน" (เกี้ยว) ระหว่างปี พ.ศ. 2440-2444 ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอตรอนจากบ้านปากคลองตรอนมาอยู่บริเวณวัดมงคลนิมิตร หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านแก่ง
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เสด็จถึงที่ว่าการอำเภอเมืองตรอน 4 มิถุนายน พ.ศ. 2444 ดังพระราชนิพนธ์ของพระองค์ตอนหนึ่ง ดังนี้
"เวลาบ่ายโมง 47 นาที ออกจากวัดเต่าไห ถึงที่ว่าการอำเภอเมืองตรอน เวลาบ่าย 3 โมง 8 นาที ได้ขึ้นไปดูที่ว่าการอำเภอ และพระวิสูตรไปตรวจที่จะทำพลับพลาประทับแรมที่นี่เขาปลูกปรำรับ" แสดงว่าที่ว่าการอำเภออยู่ที่ตำบลบ้านแก่ง
ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเมืองตรอนดังพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่ง ดังนี้
"วันที่ 22 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 120 ถึงกรมหลวงเทววงษ์วโรประการ
อนุสนธิรายงานเมื่อคนนี้ฝนตกเล็กน้อย ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มไปแล้วรู้สึกเย็น ดึกเข้าหนาวลักษณะเมืองเหนือวันนี้น้ำก็ทรงอยู่ได้ออกเรือจากเมืองพิไชย เวลาเช้า 3 โมงมาถึง เมืองตรอนซึ่งตั้งใหม่เมื่อ 3 ปีนี้ ที่ตำบลบ้านแก่ง ตั้งพลับพลาเยื้องที่ว่าการอำเภอขึ้นมาข้างบนสักหน่อยหนึ่ง..."
จากข้อความในพระราชหัตถเลขานี้จะพบว่า เมืองตรอนมีชื่อเต็มว่า เมืองตรอนตรีสินธุ์ (ปัจจุบันโรงเรียนมัธยมศึกษาของอำเภอตรอนก็มีชื่อว่า "โรงเรียนตรอนตรีสินธุ์") และที่ว่าการอำเภอก็ตั้งอยู่ตำบลบ้านแก่ง ตรงกับที่กล่าวแล้วในตอนต้น ในปี พ.ศ. 2457 ได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ อำเภอ ดังนั้นอำเภอเมืองตรอนจึงเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น อำเภอบ้านแก่ง ด้วย (ต่อมา พ.ศ. 2475 ก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ อำเภอตรอน จนถึงปัจจุบัน)
ใน ปี พ.ศ. 2457 หลวงพิศาลสุรศักดิ์ เป็นนายอำเภอ ได้พิจารณาเห็นว่า สถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเดิมไม่เหมาะสม จึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่หมู่ที่ 4 บ้านวังหิน ตำบลวังแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันนี้ เพื่อสะดวกในการติดต่อราชการเพราะใกล้สถานีรถไฟและแม่น้ำ ทำให้การคมนาคมสะดวก เมื่อสร้างที่ว่าการอำเภอใหม่ ทราบว่าสร้างเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง ส่วนที่ว่าการอำเภอปัจจุบันเป็นอาคาร 2 ชั้น เพิ่งสร้างใหม่ราว 4 ปีเศษมานี้ ที่ว่าการอำเภอตรอนอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน ส่วนสถานีรถไฟตรอนอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำน่าน แต่ก็มีสะพานข้ามฟากแม่น้ำน่าน ทำให้การเดินทางจากสถานีรถไฟไปที่ว่าการอำเภอสะดวกขึ้น
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอตรอนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 47 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[1] |
---|---|---|---|---|
1. | วังแดง | Wang Daeng | 12
|
10,426
|
2. | บ้านแก่ง | Ban Kaeng | 10
|
7,054
|
3. | หาดสองแคว | Hat Song Khwae | 7
|
4,061
|
4. | น้ำอ่าง | Nam Ang | 10
|
7,617
|
5. | ข่อยสูง | Khoi Sung | 8
|
4,132
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอตรอนประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลตรอน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลวังแดง
- เทศบาลตำบลบ้านแก่ง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านแก่ง
- องค์การบริหารส่วนตำบลวังแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังแดง (นอกเขตเทศบาลตำบลตรอน)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแก่ง (นอกเขตเทศบาลตำบลบ้านแก่ง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหาดสองแควทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำอ่าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำอ่างทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลข่อยสูง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลข่อยสูงทั้งตำบล
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]- พระอกแตก วัดบ้านแก่งใต้
- สวนสาธารณะบึงทับกระดาน[2]
- วัดหาดสองแคว[3]
- สวนนกธรรมชาติป่าชุมชนเขาเหล็ก[4]
- ประเพณีทอดแหบึงทับกระดานในเดือนเมษายน โดยจะจัดปีเว้นปี[5]
- Romantic Road ถนนสายโรแมนติค ระหว่างบ้านหลวงป่ายาง ตำบลน้ำอ่าง ไปยังบ้านน้ำลอก อำเภอทองแสนขัน
- ประเพณีไหลแพไฟ ในวันที่5 ธันวาคม ของทุกปี
ภาษา
[แก้]ใช้ ภาษาไทย สำเนียงท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ ภาษาล้านนา และมี ศิลปะล้านนา
การคมนาคม
[แก้]- ทางบก
- ทางระบบราง สถานีรถไฟตรอน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
- ↑ อบต.วังแดง
- ↑ วัดหาดสองแคว[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สวนนกธรรมชาติป่าชุมชนเขาเหล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.
- ↑ ประเพณีทอดแหบึงทับกระดาน