เคมีโอลิมปิกระดับชาติ ประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ (อังกฤษ: Thailand Chemistry Olympiad: TChO) เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติของประเทศไทย เริ่มต้นจาก การแข่งขันเคมีโอลิมปิก สอวน. (POSN Chemistry Olympiad) ครั้งที่ 1 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ในภายหลัง การแข่งขันจัดขึ้นปีละ 1 ครั้งและศูนย์ สอวน. ต่างๆทั่วประเทศเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)

ประวัติ[แก้]

ก่อนหน้านี้ การคัดเลือกตัวแทนไปแข่งเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยมีค่ายต่างๆจัดที่ สสวท. กรุงเทพมหานคร โดยใช้ข้อสอบกลางใช้สอบทั่วประเทศ รอบแรก เป็นข้อสอบแบบปรนัย รอบสอง เป็นข้อสอบแบบอัตนัย เพื่อคัดเลือกนักเรียนไปเข้าค่ายอบรม สสวท.ค่ายที่ 1 ต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งโครงการโอลิมปิก สอวน. ขึ้นโดยให้แต่ละศูนย์คัดเลือกนักเรียนในพื้นที่รับผิดชอบโดยดำเนินการออกข้อสอบเอง จัดค่ายอบรม และคัดนักเรียนตัวแทนศูนย์ละ 3 คน เข้าสอบแข่งขันในรอบที่ 2 ของ สสวท.โดยไม่ต้องผ่านการสอบรอบแรก

แนวคิดเรื่องการจัดแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2544 ได้มีการใช้ข้อสอบกลางที่ทุกศูนย์ร่วมกันออกสำหรับการคัดเลือกนักเรียน สอวน.ในค่ายที่ 2 ไปแข่งขันภาคปฏิบัติที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังโดยเป็นข้อสอบแบบอัตนัย ขณะนั้นมีปัญหาคือศูนย์ภูมิภาคหลายๆแห่งไม่มีนักเรียนที่สอบผ่านข้อเขียนและข้อสอบภาคปฏิบัติเป็นข้อสอบที่นอกเหนือจากเนื้อหาที่ได้อบรมในหลักสูตรค่าย 1 และ 2 ของส่วนภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2545-2547 จึงกลับไปใช้ระบบเดิม กล่าวคือ ให้แต่ละศูนย์ดำเนินการคัดเลือกตัวแทนศูนย์ละ 3 คน ไปแข่งขันกับนักเรียนที่สอบผ่านรอบแรกของ สสวท.ในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่สาขาวิชาอื่นเริ่มต้นการแข่งขันระดับชาติ

การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ เดิมเรียกว่า การแข่งขันเคมีโอลิมปิก สอวน. (อังกฤษ: POSN Chemistry Olympiad: POSN-ChO) จัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของแต่ละปี การแข่งขันการแข่งขันเคมีโอลิมปิก สอวน.ครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยใช้ภาษาไทยในการแข่งขัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 5 (อังกฤษ: The Fifth Thailand Chemistry Olympiad: 5th TChO)

ในปี พ.ศ. 2555 มูลนิธิ สอวน. ได้เพิ่มนักเรียนนอกโครงการพิเศษ จำนวน 3 คน รวมทั้งสิ้น 99 คน มาสอบแข่งขันโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งออกโดยคณะกรรมการวิชาการกลางและมีอาจารย์พร้อมครูสังเกตการณ์ของแต่ละศูนย์ร่วมพิจารณาคัดเลือกข้อสอบ เกณฑ์การให้คะแนนตลอดจนประเมินผลและตัดสินผลการแข่งขันด้วยมาตรฐานเดียวกับการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Chemistry Olympiad: IChO) จัดรางวัลให้เป็นเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และประกาศเกียรติคุณ จากนั้นจึงคัดเลือกนักเรียนที่สอบผ่านเกณฑ์จำนวน 50 คน เพื่อเข้าค่ายเคมีโอลิมปิก ค่ายที่ 1 ของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ต่อไป [1]

กติกาและรูปแบบการแข่งขัน[แก้]

การสอบใช้เวลา 2 วัน หนึ่งวันสำหรับการสอบภาคทฤษฎี และอีกหนึ่งวันสำหรับการสอบภาคปฏิบัติ เวลาที่ใช้สำหรับทำข้อสอบแต่ละภาคกำหนดให้ภาคละ 5 ชั่วโมง ข้อสอบภาคทฤษฎี จะมีเนื้อหาครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ในวิชาเคมี ได้แก่ เคมีอนินทรีย์ เคมีอินทรีย์ เคมีเชิงฟิสิกส์ เคมีวิเคราะห์ และ ชีวเคมี ส่วนข้อสอบภาคปฏิบัติจะเน้นกระบวนการและทักษะเกี่ยวกับการทดลองในวิชาเคมี เดิมศูนย์ สอวน. ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมข้อสอบตัวอย่าง (Preparatory Problems) ผู้ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และจัดทำข้อสอบสำหรับการแข่งขัน แต่ในปัจจุบันการเตรียมข้อสอบตัวอย่างและข้อสอบภาคทฤษฎีจะเป็นหน้าที่ของกรรมการวิชาการเคมีโอลิมปิก สอวน. สัดส่วนคะแนนของข้อสอบภาคทฤษฎี : คะแนนภาคปฏิบัติ เท่ากับ 60 : 40 ผู้ชนะจะได้รับรางวัลดีเยี่ยม (เหรียญทอง), ดีมาก (เหรียญเงิน), ดี(เหรียญทองแดง), ตามลำดับคะแนนที่ทำได้ ผู้แข่งขันที่ได้คะแนนรวมสูงสุด จะได้รับรางวัลพิเศษ นอกจากนี้ ศูนย์เจ้าภาพสามารถให้รางวัลพิเศษอื่นๆ ได้ตามที่เห็นสมควร [2][3]

การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 17 ปี พ.ศ. 2564[แก้]

การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 17 ปี พ.ศ. 2564 เดิมจะจัดแบบทั่วไป ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา แต่เนื่องจากมีการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนา-2019 จึงได้ปรับการแข่งขันเป็นรูปแบบ การสอบเข้าถึงระยะไกล (Remote Access Exam) ณ สนามสอบศูนย์ สอวน. ต่าง ๆ ทั่วประเทศแทน และยกเลิกการสอบภาคปฏิบัติ

การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติในอนาคต[แก้]

TChO เมืองที่จัดการแข่งขัน ศูนย์เจ้าภาพ [4] ปี พ.ศ.ที่จัดการแข่งขัน
การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ
20 ขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2567
21 กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2568
22 พัทลุง มหาวิทยาลัยทักษิณ 2569
23 กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2570

การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติที่ผ่านมา[แก้]

TChO เมืองที่จัดการแข่งขัน ศูนย์เจ้าภาพ วันที่จัดการแข่งขัน
การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ
19 พิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร 22-26 พฤษภาคม 2566
18 นครปฐม โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 24-28 กรกฎาคม 2565
17 นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 18-22 ธันวาคม 2564
16 กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 5-9 ธันวาคม 2563
15 นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 10-14 มิถุนายน 2562
14 อุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 11-15 มิถุนายน 2561
13 นครปฐม มหาวิทยาลัยศิลปากร 5-9 มิถุนายน 2560
12 ชลบุรี มหาวิทยาลัยบูรพา 6-10 มิถุนายน 2559
11 กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1-5 มิถุนายน พ.ศ. 2558
10 สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 28 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
9 เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 26 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
8 กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 4 -8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
7 สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ 5-9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
6 กรุงเทพมหานคร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 26 - 30 เมษายน พ.ศ. 2553
5 พิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร 6 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
การแข่งขันเคมีโอลิมปิก สอวน.
4 กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 7 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
3 เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 28 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
2 ขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น 30 เมษายน - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
1 นครนายก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 9 -13 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

ศูนย์ สอวน.ที่เข้าร่วมการแข่งขัน[แก้]

ลำดับ ศูนย์ สอวน.
1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4 มหาวิทยาลัยทักษิณ
5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
6 มหาวิทยาลัยนเรศวร
7 มหาวิทยาลัยบูรพา
8 มหาวิทยาลัยศิลปากร
9 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
10 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
11 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
12 โรงเรียนเตรียมทหาร
13 โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี)*
14 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

โดยธรรมนูญการแข่งขันกำหนดให้แต่ละศูนย์ฯสามารถส่งนักเรียนผู้แทนเข้าร่วมการแข่งขันได้ทั้งหมด 6 คน และอาจารย์ผู้แทนศูนย์ 2 คน ยกเว้นศูนย์กรุงเทพ (โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี)) ที่สามารถส่งนักเรียนผู้แทนได้ 3 ทีม ทีมละ 6 คน รวม 18 คน และกรรมการทีมละ 2 คน รวม 6 คน[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. โครงการการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 11 The Eleventh Thailand Chemistry Olympiad (11th TChO) มูลนิธิ สอวน. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. ธรรมนูญการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ (รับรองโดยที่ประชุมของมูลนิธิ สอวน. ณ โรงแรมแมนดาริน กรกฎาคม 2547)
  3. 3.0 3.1 ธรรมนูญการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ (รับรองโดยที่ประชุมของมูลนิธิ สอวน. ณ โรงแรมเอเชีย กรกฎาคม 2560)[1]
  4. รายงานการประชุมสรุปผลการดำเนินงานศูนย์ สอวน. ประจำปีการศึกษา 2564 วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม Palladium Hall ชั้น 10 โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร