การสอบขุนนาง
การสอบขุนนาง | |||||||||||||||||||||||||||
"การสอบขุนนาง" ในอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และตัวย่อ (ล่าง) | |||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวเต็ม | 科舉 | ||||||||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 科举 | ||||||||||||||||||||||||||
ฮั่นยฺหวี่พินอิน | kējǔ | ||||||||||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาเวียดนาม | |||||||||||||||||||||||||||
จื๋อโกว๊กหงือ | khoa bảng khoa cử | ||||||||||||||||||||||||||
จื๋อฮ้าน | 科榜 科舉 | ||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาเกาหลี | |||||||||||||||||||||||||||
ฮันกึล | 과거 | ||||||||||||||||||||||||||
ฮันจา | 科擧 | ||||||||||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||||||||||||||||||||||||
ชินจิไต | 科挙 | ||||||||||||||||||||||||||
คีวจิไต | 科擧 | ||||||||||||||||||||||||||
ฮิรางานะ | かきょ | ||||||||||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาแมนจู | |||||||||||||||||||||||||||
อักษรแมนจู | ᡤᡳᡡ ᡰ᠊ᡳᠨ ᠰᡳᠮᠨᡝᡵᡝ | ||||||||||||||||||||||||||
เมิลเลินดอร์ฟ | giū žin simnere |
การสอบขุนนาง (จีน: 科舉; พินอิน: Kējǔ; เวด-ไจลส์: K'o1-chü3; อังกฤษ: imperial examination) เป็นระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการพลเรือนในประเทศจีนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อสอบบรรจุข้าราชการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับระบบราชการของรัฐ ในการสอบใช้ข้อสอบแบบวัตถุวิสัย (objective) เพื่อประเมินการได้รับความรู้และคุณธรรมของผู้เข้าสอบ ผู้สอบได้จะได้รับวุฒิ จิ้นชื่อ (จีน: 進士; พินอิน: Jìnshì) แปลว่า "บัณฑิตชั้นสูง" (advanced scholar) (ซึ่งอาจเทียบได้กับปริญญา ดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอกในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นชั้นสูงสุด) รวมถึงปริญญาชั้นอื่น ๆ แล้วจะได้รับการประเมินเพื่อบรรจุเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ได้รับวุฒิจิ้นซี่อในการสอบขุนนางนั้นจะได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการระดับสูงแห่งราชสำนัก ตำแหน่งที่ได้รับจะเรียงตามลำดับผลคะแนนที่สอบได้ ผู้ที่สอบได้คะแนนสูงกว่าจะได้รับตำแหน่งที่ดีกว่า นอกจากนั้นองค์จักรพรรดิหรือจักรพรรดินีจะทรงให้ความสนใจเป็นพิเศษกับผู้เข้าสอบที่ได้คะแนนสูงสุด
ด้วยพื้นฐานจากปรัชญาลัทธิขงจื๊อ การสอบขุนนางนี้โดยทฤษฎีแล้วมุ่งทดสอบและคัดเลือกบุคคลด้วยคุณธรรม จึงมีอิทธิพลต่อประเทศจีนทั้งในด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีส่วนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการคานอำนาจในช่วงราชวงศ์ถัง ราชวงศ์โจวของพระนางบูเช็กเทียน (Wu Zetian) และราชวงศ์ซ่ง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลเป็นการหลอมรวมโครงสร้างทางสังคมไว้เป็นเวลานาน อนึ่ง มีหลายครั้งที่การสอบทำให้อภิชนบางกลุ่มถูกแทนที่ด้วยบุคคลจากชั้นรากหญ้า
หลายดินแดนในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น และหมู่เกาะรีวกีว รับระบบการสอบนี้มาใช้เพื่อคัดเลือกบุคคลระดับหัวกะทิ เพื่อรักษาเป้าหมายทางอุดมคติและทรัพยากร กับทั้งเพื่อส่งเสริมวรรณกรรมและการเล่าเรียน
เนื่องจากการจัดการสอบเป็นส่วนหนึ่งของระบบทะเบียนหลวง วันที่ได้รับการประสาทวุฒิจิ้นชื่อ จึงมักเป็นข้อมูลที่ชัดเจนส่วนหนึ่งที่ระบุไว้ในชีวประวัติบุคคลสำคัญสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ต่อ ๆ มา ในประวัติศาสตร์จีน
ประวัติศาสตร์
[แก้]อาจกล่าวได้ว่าการสอบขุนนางมีแนวคิดเริ่มต้นขึ้นย้อนกลับไปอย่างน้อยในช่วงราชวงศ์โจว (หรือในตำนาน อาจย้อนไปได้ถึงช่วงราชวงศ์เหยา)[1] เช่น การสอบแข่งขันแสดงความสามารถในการยิงธนูเพื่อปรับเลื่อนตำแหน่งขุนนาง เป็นต้น การสอบขุนนางเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนและได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมากเมื่อ ค.ศ. 605 ในสมัยราชวงศ์สุย ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถังมีการจัดสอบขึ้นในวงแคบอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงต้นราชวงศ์ จนได้รับการขยายวงกว้างขึ้นเป็นอย่างมากในรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียน และผลจากการขยายการสอบนี้ได้เป็นหัวข้อที่นักวิชาการนิยมใช้ถกเถียงกันมาจนปัจจุบัน ครั้นถึงราชวงศ์ซ่ง สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชดำริให้เพิ่มทั้งในเรื่องขอบเขตการสอบและจำนวนโรงเรียนหลวง เพื่อให้ได้ข้าราชการพลเรือนมาคานอภิชนฝ่ายทหารซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคนั้น เป็นเหตุให้มีบัณฑิตมากกว่าในราชวงศ์ถังราวสี่ถึงห้าเท่า ฉะนั้น การสอบขุนนางจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดราชบัณฑิตหลายคนที่จะกุมสังคมในเวลาต่อมา ลุสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการปรับปรุงการสอบหลายครั้ง จนล้มเลิกไปใน ค.ศ. 1905
จึงกล่าวได้ว่าระบบการสอบคัดเลือกขุนางนี้มีอายุถึงหนึ่งพันสามร้อยปี (แม้สะดุดหยุดลงในบางช่วง เช่น ต้นราชวงศ์หยวน) และระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการพลเรือนในปัจจุบันก็วิวัฒนาการมาจากการสอบขุนนางนี้โดยอ้อมด้วย[2]
ประวัติการสอบขุนนางในแต่ละช่วงราชวงศ์
[แก้]ย้อนภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศจีน การสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการเป็นขุนนางมีปรากฏอยู่ในหลายช่วงราชวงศ์ แม้ว่ารูปแบบการสอบในแต่ละราชวงศ์จะแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีการหยุดการสอบในบางยุคสมัยด้วย ในอดีตมีการคัดเลือกข้าราชการจากการทดสอบ แข่งขัน และการสัมภาษณ์มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ส่วนการสอบคัดเลือกขุนนางที่ใช้ระบบข้อสอบมาตรฐานเริ่มต้นในสมัยราชวงศ์สุย ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220) ในช่วงของสมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นอู่ (Hanwudi) มีการริเริ่มและพัฒนาระบบการสอบคัดเลือกบุคลากรเพื่อเข้ารับราชการในราชสำนักในรูปแบบของการใช้พื้นฐานปรัชญาลัทธิขงจื๊อ (Confucian) ที่เป็นที่รู้จักและใช้กันต่อมาในยุคหลัง
การสอบคัดเลือกขุนนางตั้งอยู่บนหลักการ "สมัครใจในการเข้าสอบ จัดสอบแข่งขันอย่างเปิดเผย และบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับใช้ประเทศชาติบ้านเมือง" จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับชั้นเข้าร่วมการสอบแข่งขัน ประชันความรู้ความสามารถ และมีสิทธิ์เข้ารับราชการได้อย่างเท่าเทียมกัน[3]
ราชวงศ์ฮั่น
[แก้]สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220) ในช่วงก่อนที่จะมีการจัดสอบขุนนางขึ้นอย่างเป็นระบบ การแต่งตั้งข้าราชการในราชสำนักนั้นมักมาจากการแนะนำโดยชนชั้นสูง (aristocrats) และข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งบุคคลที่ถูกแนะนำส่วนมากจะเป็นผู้ที่อยู่ในชนชั้นสูง สมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นอู่ (อังกฤษ: emperor Wu; จีน: 漢武帝; พินอิน: Han Wu di) (141 - 87 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้ทรงริเริ่มการสอบคัดเลือกข้าราชการท้องถิ่นจากการสอบปรัชญาขงจื๊อ (Confucian classics) เพื่อให้ได้ผู้มีจิตกตัญญูและมีความซื่อสัตย์เข้ามาทำงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นโดยมากมักเลือกโดยการแนะนำโดยบุคคลที่อยู่ฝ่ายเดียวกันหรือเป็นพรรคพวกเดียวกัน ทำให้การสอบคัดเลือกขุนนางแบบเดิมที่มีอิทธิพลของการแบ่งพรรคแบ่งพวก และการใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลหรือเส้นสายในการสอบลดความสำคัญลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในการคัดเลือกข้าราชการระดับสูงในราชสำนัก คุณภาพของขุนนางจึงดีขึ้น ส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อบ้านเมืองและความสุขของราษฎรมาก
ยุคสามก๊กจนถึงราชวงศ์สุย
[แก้]ในช่วงเริ่มต้นของยุคสามก๊ก (Three Kingdoms period) (ด้วยระบบ nine-rank system ในสมัยวุยก๊ก) เจ้าหน้าที่ราชสำนักจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประเมิณคุณภาพของบุคคลที่มีความสามารถที่มักมาจากการแนะนำของชนชั้นสูงในท้องถิ่น ระบบนี้ใช้กันต่อเนื่องมาจนถึงยุคของจักรพรรดิสุยหยางแห่งราชวงศ์สุย (อังกฤษ: Emperor Sui Yangdi; จีน: 楊廣) (ค.ศ. 569-618) ซึ่งมีการจัดระบบการสอบที่เรียกว่า จิ้นซื่อ (จีน: 进士科; พินอืน: Jìnshì kē) ขึนในปี ค.ศ. 605 เป็นครั้งแรก โดยมีมาตรฐานการสอบอย่างชัดเจนเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับราชการ แต่ระบบนี้ก็มีอายุอยู่ได้ไม่นานนัก ทำให้ยังไม่มีการพัฒนาให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ และถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา
ราชวงศ์ถังและราชวงศ์โจว
[แก้]ยุคราชวงศ์ถัง ระบบการสอบขุนนางได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น และยังเป็นระบบและกระบวนการสอบที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าในยุคเริ่มแรกของการสอบช่วงราชวงศ์สุยที่ผ่านมา เช่น มีคำถามเกี่ยวกับด้านนโยบาย หรือมีการสอบสัมภาษณ์ด้วย เป็นต้น[4] อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ซึ่งควรจะช่วยคัดกรองผู้สอบให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ในทางปฏิบัติกลับเป็นการเปิดช่องว่างให้มีการคัดเลือกอย่างไม่โปร่งใสโดยกับเฉพาะผู้เข้าสอบที่มาจากกลุ่มชนชั้นสูงได้ไม่ยากนัก[5][6]
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์การสอบขุนนางนั้นเกิดขึ้นในสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียน (อังกฤษ: Empress Wu, Wu Zetian; จีนตัวย่อ: 武则天; พินอิน: Wǔ Zétiān) พร้อม ๆ กับการขึ้นสู่อำนาจของพระองค์ โดยทรงเป็นสตรีพระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจีน[7]
สมัยองค์จักรพรรดินีบูเช็กเที่ยน ในปี ค.ศ. 655 นั้น พระองค์มีราชบัณฑิตผู้สอบได้วุฒิจิ้นซี่อ หรือปริญญาชั้นสูงเพียง 44 คน แต่ในช่วงต่อมามีผู้สอบคัดเลือกได้วุฒิจิ้นซื่อมากถึง 58 คนต่อปี โดยเฉลี่ยในช่วง 7 ปีหลังจากนั้น เนื่องจากพระองค์เปิดโอกาสและเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ผู้สอบได้วุฒิจิ้นซื่อในการเข้ารับราชการในราชสำนักมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งพระองค์ใช้บัณฑิตรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นฐานสร้างอำนาจของพระองค์เอง และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่อาศัยอยู่ทางแถบจีนตะวันออกเฉียงใต้ร่วมเข้าสอบได้ด้วย[7] ทั้งนี้เนื่องจากผู้สนับสนุนของจักรพรรดิในตระกูลหลี่แห่งราชวงศ์ถังเป็นกลุ่มที่อยู่ทางตอนเหนือ โดยเฉพาะในบริเวณโดยรอบเมืองหลวงฉางอาน องค์จักรพรรดินีบูเช็กเที่ยนจึงค่อย ๆ สะสมอำนาจการเมืองผ่านระบบการสอบขุนนาง โดยได้รับการสนับสนุนจากบัณฑิตเหล่านี้ที่เดิมถูกกีดกัน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสอบขุนนางเพื่อเป็นบัณฑิตเหมือนชนเผ่าทางเหนือ รวมทั้งมีปัญญาชนจากชนบทห่างไกลที่พยายามศึกษาเล่าเรียนเพื่อเข้าสอบ และเมื่อสอบผ่านเข้ารับราชการ จึงเป็นประโยชน์แก่ราชสำนักในการปกครองเมืองห่างไกลเหล่านี้โดยทางอ้อมด้วยนั่นเอง[8]
ปี ค.ศ. 681 เริ่มมีการสอบข้อเขียนความรู้ทางด้านปรัชญาขงจื๊อขึ้น โดยผู้เข้าสอบต้องสามารถจดจำความรู้เกี่ยวกับผลงานของขงจื๊อได้และเขียนลงบนกระดาษข้อสอบ[9]
มาจนถึงปี ค.ศ. 690 สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงเริ่มให้มีการจัดอันดับผลการสอบขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเรียกผู้ที่สอบได้อันดับที่ 1 เรียกว่า จ้วงโถว (Zhuang Tou, 状头) หรือ จ้วงเยฺหวียน (จอหงวน) อันดับที่ 2 เรียกว่า ป่างเหยียน (Bang Yan, 榜眼) และผู้ที่สอบได้อันดับที่ 3 เรียกว่า ถ้านฮัว (Tan Hua, 探花) และเรียกทั้งสามอันดับนี้รวมกันว่า ซานติ่งเจี้ย (San Ding Jia, 三鼎甲)
ปี ค.ศ. 693 ราชสำนักภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้ขยายการสอบขุนนางให้กว้างขวางมากขึ้นเพื่อครอบคลุมถึงการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนด้วย[10] โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะขยายอำนาจและรวบรวมอิทธิพลเพื่อก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ของพระนางเองขึ้นเป็น "ราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty) " ข้าราชการที่ผ่านการสอบคัดเลือกด้วยระบบใหม่ที่พระนางคัดเลือกมานั้น ได้แก่ จางเยว่ (Zhang Yue) ลี่เจียว (Li Jiao) และเฉินชวนชี่ (Shen Quanqi) เป็นต้น พระนางบูเช็กเทียนยังได้เปิดโอกาสให้บุคคลต่าง ๆ มีสิทธิ์ในการสอบขุนนางได้มากขึ้น เช่น สามัญชนซึ่งเดิมทีไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าสอบ สามารถเข้าสอบได้ด้วย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบการสอบขุนนางแบบเดิมในสมัยราชวงศ์ถังเป็นอย่างมาก บุคคลเหล่านี้เมือสอบผ่านจึงเป็นเสมือนฐานอิทธิพลในราชสำนักให้แก่พระนางได้เป็นอย่างดี[11]
ในระหว่างปี ค.ศ. 730 และ 740 ในช่วงการฟื้นคืนของราชวงศ์ถังยุคหลัง มีการทดสอบการเขียนกวีนิพนธ์เพิ่มขึ้น (รวมการเขียนบทกวีทั้งแบบ shi และ fu) โดยเฉพาะสำหรับการสอบวุฒิจิ้นซี่อ ซึ่งเป็นวุฒิขั้นสูงสุด ในการสอบระดับทั่วไปจะมีผู้สอบผ่านประมาณร้อยละ 10-20 แต่สำหรับการสอบจิ้นซี่อ ซึ่งมีผู้เข้าสอบราวพันกว่าคนทุกปี จะมีผู้สอบผ่านเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น โดยมีจำนวนผู้สอบผ่านจิ้นซี่อในสมัยราชวงศ์ถังทั้งสิ้น 6,504 คน (หรือโดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ได้รับวุฒิจิ้นซี่อ ราว 23 คนต่อปี)[9]
อย่างไรก็ตาม เมื่อราชวงศ์ถังล่มสลายและเปลี่ยนถ่ายแผ่นดินมาเป็น "ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร" การสอบขุนนางก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง มีการเล่นพรรคเล่นพวกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้โอกาสในการสอบผ่านเป็นขุนนางของคนธรรมดาสามัญกลับน้อยลงไปดังเดิมก่อนหน้านี้[8]
ราชวงศ์ซ่ง
[แก้]ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song dynasty, ค.ศ. 960 - 1279) มีการจัดสอบระดับสูงกว่าร้อยครั้ง ข้าราชการที่ผ่านการสอบคัดเลือกมานั้นมักจะเป็นผู้ที่มีความโดดเด่นในราชการ การสอบจึงเสมือนเป็นบันไดในการยกระดับฐานะของตนขึ้นสู่การเป็นข้าราชการระดับสูงของทั้งชายชาวจีนและผู้ที่อยู่ในดินแดนที่ถูกครอบครองทางตอนเหนือในสมัยนั้นด้วย[12] มีผู้ประสบความสำเร็จในการยกระดับฐานะของตนขึ้นจากสามัญชนหรือชนชั้นล่างมาเป็นข้าราชการระดับสูงผ่านการสอบขุนนางหลายราย อาทิ หวังอันฉือ (จีน: 王安石; พินอิน: Wáng Ānshí) อัครมหาเสนาบดีซึ่งตรงกับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ในปัจจุบัน และกวีสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ผู้ซึ่งเสนอให้มีการปฏิรูปการสอบโดยให้มีการสอบปฏิบัติมากขึ้น และ จู ซี (อังกฤษ: Zhu Xi หรือ Chu Hsi; จีน: 朱熹, October 18, 1130 – April 23, 1200) นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อผู้ขยายความบทนิพนธ์ Four Classics (อังกฤษ: Four Classics หรือ Four Books; จีน: 四書; พินอิน: Sì Shū) จนกลายเป็นตำราขงจื๊อใหม่ (อังกฤษ: Neo-Confucianism; จีนตัวย่อ: 宋明理学; จีนตัวเต็ม: 宋明理學; พินอิน: Sòng-Míng Lǐxué) ที่มีบทบาทอย่างมากในราชวงศ์ต่อ ๆ มา แต่เนื่องจากกระบวนการเรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอสำหรับสอบได้สำเร็จนั้นต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายที่มาก จำนวนชนชั้นสามัญที่เข้าสอบจนสำเร็จจึงมีจำนวนไม่มากนัก[13]
หลังปี ค.ศ. 937 จักรพรรดิซ่งไท่จู่ (Taizu Emperor of Song) มีพระประสงค์ให้องค์จักรพรรดิเป็นผู้ดูแลและควบคุมการสอบในราชสำนักด้วยพระองค์เอง และเพื่อให้การสอบมีความโปร่งใสในการคัดเลือกขุนนางมากขึ้น ในปี ค.ศ. 992 จึงมีการริเริ่มการตรวจข้อสอบโดยไม่ระบุชื่อผู้สอบในกระดาษคำตอบสำหรับการสอบระดับราชสำนัก (palace examination) และขยายวิธีการนี้ไปสู่การสอบระดับภูมิภาค (departmental examinations) ในปี ค.ศ. 1007 และระดับจังหวัด (prefectural level) ในปี ค.ศ. 1032
ในเวลาต่อมายังมีการเพิ่มระบบการคัดสำเนากระดาษคำตอบ เพื่อไม่ให้ผู้ตรวจข้อสอบใช้วิธีการจดจำลายมือเขียนของผู้เข้าสอบในการทุจริตคัดเลือกบุคคลที่ต้องการ โดยระบบนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1105 สำหรับการสอบคัดเลือกระดับเมืองหลวงและระดับภูมิภาค และเริ่มในปี ค.ศ. 1037 สำหรับการสอบคัดเลือกระดับจังหวัด[14]
จากสถิติ มีผู้สอบผ่านได้รับวุฒิบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ซ่งจำนวนมากกว่าบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ถังถึงกว่าสองเท่า โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้สอบผ่านในแต่ละปีมากกว่า 200 คน และในบางปีมีมากถึง 240 คน[8]
ราชวงศ์หยวน
[แก้]ในช่วงปี ค.ศ. 1279 ถึง ค.ศ. 1315 ไม่มีการสอบคัดเลือกขุนนาง เนื่องจากระบบการสอบในสมัยราชวงศ์ซ่งได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการสิ้นสุดราชวงศ์ จากความพ่ายแพ้แก่จักรวรรดิมองโกลในปี ค.ศ. 1279 นั้นเอง เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิกุบไล ข่าน (อังกฤษ: Kublai Khan; จีน: 忽必烈) สามารถเอาชนะราชวงศ์ซ่งของจีนได้ ทรงสถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หยวนแห่งประเทศจีน (หรือ หยวนมองโกเลีย (Yuan Mongolia)) โดยครอบครองดินแดนมองโกเลีย แมนจูเรีย (Manchuria) เกาหลี และดินแดนตอนเหนือของจีน รวมทั้งดินแดนทางใต้ของประเทศจีนที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการปกครองของราชวงศ์ซ่งด้วย
หลังจากได้มีการสืบทอดราชวงศ์หยวนต่อมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1315 ระบบการสอบขุนนางก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในช่วงของสมเด็จพระจักรพรรดิหยวนเหรินจง (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อายูบาร์ดา ข่าน (Ayurbarwada Buyantu Khan)) พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ด้วย โดยปรับระบบการสอบไปเป็นลักษณะใกล้เคียงกับระบบมองโกล และผู้สอบชาวมองโกลจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ อีกทั้งมีระบบที่จำกัดจำนวนหรือโควต้า (ทั้งจำนวนผู้เข้าสอบและผู้ได้รับวุฒิ) จากกลุ่มผู้เข้าสอบตามเชื้อชาติ หรือวรรณะทางสังคม และ/หรือ Ethnic group (ethnicities) โดยแบ่งเป็นสี่กลุ่ม คือกลุ่มชาวมองโกล (Mongols) กลุ่มชนชาติที่ไม่ใช่ชาวฮั่น (non-Han allies หรือ Semu-ren) กลุ่มชาวจีนเหนือ (Northern Chinese) และกลุ่มชาวจีนใต้ (Southern Chinese)[15] ภายใต้การฟื้นฟูและปรับปรุงระบบการสอบขุนนางแบบใหม่นี้ ทำให้มีจำนวนผู้สอบผ่านได้คุณวุฒิเพียง 21 คนต่อปีเท่านั้น[15]
ในารแบ่งปันสัดส่วนจำนวนผู้สอบผ่านในแต่ละชนกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ มองโกล Semu-ren จีนเหนือ และจีนใต้ ให้มีจำนวนเท่า ๆ กัน โดยไม่ได้กำหนดจำนวนผู้สอบผ่านตามสัดส่วนจำนวนประชากรหรือจำนวนผู้เข้าสอบของแต่ละกลุ่ม เป็นการเอื้อให้แก่กลุ่มชาวมองโกล Semu-ren และจีนเหนือ มากกว่ากลุ่มชาวจีนใต้ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่ากลุ่มอื่นมาก จากการสำรวจประชากรในปี ค.ศ. 1290 ชาวจีนใต้มีประชากรประมาณ 12,000,000 ครอบครัว (หรือประมาณ 48% ของประชากรทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์หยวน) เทียบกับ 2,000,000 ครอบครัวของชาวจีนเหนือ ในขณะที่ชาวมองโกลและ Semu-ren มีประชากรน้อยกว่านี้มาก[15]
ราชวงศ์หมิง
[แก้]ราชวงศ์หมิงได้แข้ามาแทนที่ราชวงศ์หยวนในปี ค.ศ. 1368 ในช่วงราชวงศ์นี้ระบบการสอบขุนนางไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างไรมากนัก โดยในช่วงแรกระบบมองโกลยังได้รับอนุญาตให้คงไว้เหมือนเดิม
ราชวงศ์ชิง
[แก้]ในยุคอาณาจักรไท่ผิง (Taiping Heavenly Kingdom; 太平天国) ที่มีความพยายามจะยึดครองอำนาจจากราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) และในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในยุคนี้มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เข้าสอบเป็นจอหงวนได้เป็นครั้งแรก แต่ถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา
ต่อมาเมื่อพ่ายแพ้ทางการทหารในช่วงทศวรรษ 1890 จึงถูกกดดันในมีการปฏิรูประบบการศึกษาขึ้น โดยมีนักปฏิรูป อาทิ คัง โหย่วเหวย (อังกฤษ: Kang Youwei, จีนตัวเต็ม: 康有为, จีนตัวย่อ: 康有為, พินอิน: Kāng Yǒuwéi) และ เหลียง ฉี่เชา (อังกฤษ: Liang Qichao, จีนตัวเต็ม: 梁啟, 超, จีนตัวย่อ: 梁启超, พินอิน: Liáng Qǐchāo) ได้ริเริ่มการปฏิรูปร้อยวัน (Hundred Days' Reform) ขึ้นในปี ค.ศ. 1898 โดยเสนอให้มีการปฏิรูปหลายภาคส่วนให้มีความทันสมัยมากขึ้น และต่อมาหลังจากเกิดกบฏนักมวย (Boxer Uprising) วันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1905 ได้มีการออกประกาศให้ยกเลิกการสอบขุนนางในทุกระดับทั้งหมดในปีถัดไป ถือเป็นการสิ้นสุดระบบการสอบขุนนางในประเทศจีน
สำหรับระบบการศึกษายุคใหม่นั้นมีการเทียบเคียงวุฒิกับระบบการสอบขุนนางแบบเก่าไว้ด้วย โดยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจะเที่ยบเท่ากับวุฒิเซิงเหยวียน หรือ เซิงหยวน (Shengyuan) หรือ ซิ่วไฉ่ (xiu cai) ซึ่งระบบใหม่นี้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงสิ้นสุดราชวงศ์หรือระบอบราชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1911[16]
การสอบ
[แก้]วิธีสอบ
[แก้]สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงมีการแบ่งการสอบออกเป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับต้น (entry-level examinations) เรียกว่า ถงชื่อ (อังกฤษ: tongshi, จีน: 童試, พินอิน: Tóng shì, แปลตามตัวอักษรว่า "child exam") ซึ่งจัดสอบเป็นประจำทุกปี รับสมัครผู้เข้าสอบตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้น โดยเป็นการสอบในท้องถิ่น และมีการแบ่งระดับชั้นของถงชื่อ เป็นสามระดับตามลำดับคือ เซี่ยนชื่อ (อังกฤษ: xianshi, จีน: 縣試, พินอิน: Xiàn shì, แปลตามตัวอักษรว่า "county exam"), ฝู่ชื่อ (อังกฤษ: fushi, จีน: 府試, พินอิน: Fǔ shì, แปลตามตัวอักษรว่า "prefecture exam") และ ย่วนชื่อ (อังกฤษ: yuanshi, จีน: 院試, พินอิน: Yuàn shì, แปลตามตัวอักษรว่า "college exam") ซึ่งการสอบย่วนชื่อ นี้จะจัดโดยขุนนางที่ราชสำนักมอบหมายหน้าที่มาโดยตรง[17]
- ระดับมณฑล หรือระดับภูมิภาค (provincial exams) หรือเรียกว่า เซียงชื่อ (อังกฤษ: xiangshi, จีน: 鄉試, พินอิน: Xiāng shì, แปลตามตัวอักษรว่า "การสอบระดับเมือง (township exam) ") มีจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ณ เมืองหลวงของแต่ละมณฑล เนื่องจากการสอบมักจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกการสอบในระดับนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชิวซื่อ" หรือการสอบในฤดูใบไม่ร่วง[17]
- ระดับเมืองหลวง หรือระดับประเทศ (metropolitan exams หรือ national exams) หรือเรียกว่า ฮุ้ยชื่อ (อังกฤษ: huishi, จีน: 會試, พินอิน: Huì shì, แปลตามตัวอักษรว่า "การสอบประชุมใหญ่ (conference exam) ") มีการสอบทุก ๆ 3 ปี โดยจัดสอบในเมืองหลวง และมีขุนนางฝ่ายพิธีกรรมเป็นผู้คุมสอบ เนื่องจากการสอบมักจัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ จึงเรียกการสอบในระดับนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชุนซื่อ" หรือการสอบในฤดูใบไม้ผลิ[17]
- ระดับราชสำนักหรือราชวัง หรือการสอบหน้าพระที่นั่ง (palace exams หรือ court exams) หรือเรียกว่า เตี้ยนชื่อ (อังกฤษ: dianshi, จีน: 殿試, พินอิน: Diàn shì, แปลตามตัวอักษรว่า "การสอบราชสำนัก (court exam) ") เป็นการสอบระดับสูงสุด มีการจัดสอบทุก ๆ 3 ปี ณ พระราชวังหลวง (Imperial palace) ซึ่งโดยมากสมเด็จพระจักรพรรดิจะเป็นผู้ดูแลและคุมการสอบด้วยพระองค์เอง
ในแต่ละระดับขั้น มีการกำหนดจำนวนผู้สอบผ่านไว้ เช่น ในการสอบระดับเมืองหลวงกำหนดให้มีผู้ผ่านการคัดเลือกได้ 300 คน ทำให้ผู้เข้าสอบบางคนต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะสอบผ่าน ส่วนการสอบระดับราชสำนักนั้นมีความสำคัญแก่ผู้เข้าสอบเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการสอบต่อหน้าพระพักตร์ขององค์จักรพรรดิ นอกจากนั้น หากสอบผ่านยังได้รับลาภยศสรรเสริญมากมาย รวมถึงชื่อเสียงที่จะขจรขจายไปทั่วราชอาณาจักรอีกด้วย
ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึง ค.ศ. 1370 การสอบกินเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงถึงเจ็ดสิบสองชั่วโมง ผู้เข้าสอบต้องอยู่ลำพังในห้องเล็ก ๆ หรือในคอกที่สนามสอบ ในห้องหรือคอกนี้มีไม้กระดานสองแผ่นซึ่งจะใช้เป็นที่นอนก็ได้ เป็นโต๊ะหรือเป็นเก้าอี้ก็ได้
เมื่อเข้ามาในสนามสอบ ผู้เข้าสอบจะนำสิ่งของเครื่องใช้ติดตัวไว้ได้เพียงเหยือกน้ำ หม้อ อาหาร เครื่องนอน แท่นหมึก หมึก และพู่กันเท่านั้น ผู้คุมสอบจะตรวจสอบผู้เข้าสอบ (student's identity) และตรวจค้นตัวอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้มีการทุจริตในการสอบ สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงการสอบจะใช้เวลานาน 3 วัน 2 คืน โดยกำหนดให้เขียนบทเรียงความ "eight-legged essays" — ความหมายตามตัวอักษร คือการแต่งเรียงความที่ประกอบด้วย 8 ส่วนที่แตกต่างกัน — อยู่ในห้องเล็ก ๆ ของตนเอง โดยห้ามมีการรบกวนหรือการหยุดพักในระหว่างการสอบ รวมทั้งห้ามมิให้มีการพูดคุยกันในระหว่างการสอบด้วย บางครั้งเมื่อมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการสอบ ผู้คุมสอบจะนำเสื่อมาห่อศพและโยนข้ามกำแพงสูงที่ล้อมรอบบริเวณสนามสอบไป[18]
ความกดดันที่สูงเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการสอบทำให้มีการทุจริตและโกงในการสอบมาก ส่วนหนึ่งในการป้องกันการทุจริตเหล่านั้นเพื่อให้การตรวจข้อสอบมุ่งเน้นไปที่คำตอบอย่างแท้จริงโดยไม่มีการเอื้อประโยชน์แก่ผู้เข้าสอบคนใด จึงไม่ให้มีการออกนามผู้เข้าสอบ แต่ให้เรียกขานด้วยหมายเลขแทน ทั้งยังให้บุคคลภายนอกคัดลอกคำตอบไว้อีกทอดหนึ่งเพื่อไม่ให้ผู้ตรวจจดจำลายมือผู้เข้าสอบได้ นอกจากนั้นในการเขียนคำตอบจะต้องเป็นคำตอบที่ตรงตามตำราโบราณทุกตัวอักษรไม่มีผิดเพี้ยน มิฉะนั้นจะถือว่าสอบตก ผู้เข้าสอบจำนวนมากจึงพยายามซ่อนกระดาษข้อความหรือแม้กระทั่งแอบเขียนคำตอบไว้ในชุดชั้นในของตนเป็นต้น[19]
รายละเอียดการสอบ
[แก้]หลักสูตร
[แก้]ในปี ค.ศ. 115 มีการคิดค้นหลักสูตรวิชาสำหรับผู้เข้าสอบเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้มีการทดสอบความสามารถใน "ศิลปะหกแขนง (Six Arts) " คือ
- วิชาศิลป์ (Scholastic arts) 4 วิชา ได้แก่ ดนตรี (music) คณิตศาสตร์ (arithmetic) การคัดลายมือ (writing) และความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมทั้งพิธีในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว
- วิชาทหาร (Militaristic) 2 วิชา ได้แก่ การขี่ม้า (horsemanship) และยิงธนู (archery)
จำนวนวิชาที่สอบในแต่ละสมัยอาจมีความแตกต่างกันไป เช่นในเวลาต่อมามีการขยายหลักสูตรเพื่อให้ครอบคลุม "คัมภีร์ทั้งห้า (Five Studies) " ได้แก่ ยุทธศาสตร์ทางทหาร (military strategy) กฎหมายแพ่ง (civil law) รายได้และภาษีอากร (revenue and taxation) เกษตรศาสตร์ (agriculture) ภูมิศาสตร์ (geography) และปรัชญาขงจื๊อ (Confucian classics)
ในราชวงศ์สุย (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6) อันเป็นรัชสมัยที่มีการเริ่มใช้ระบบการคัดเลือกบุคลากรเข้ามารับราชการ โดยนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นการริเริ่มนำเอาระบบคุณธรรม (merit system) มาใช้เป็นมาตรฐานการสอบอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
คุณวุฒิ
[แก้]การสอบผ่านได้รับคุณวุฒิระดับต่าง ๆ นั้น เป็นเสมือนการสร้าง "บันไดสู่ความสำเร็จ" โดยการสอบสำเร็จได้เป็นจิ้นชื่อ (อังกฤษ: jinshi, จีน: 進士, พินอิน: Jìnshì, แปลตามตัวอักษรว่า "บัณฑิตขั้นสูง (advanced scholar) ") ซึ่งถือได้ว่ามีระดับเทียบเท่าปริญญาเอกในปัจจุบัน เป็นคุณวุฒิที่ปัญญาชนจำนวนมากในสมัยนั้นมักแสวงหาและใฝ่ฝัน ถ้าสอบได้เป็นจิ้นซื่อ จะมีโอกาสได้รับตำแหน่งขุนนางระดับสูง ดังนั้นการสอบระดับจิ้นซื่อจึงยากที่สุด มีคนจำนวนมากที่เข้าสอบชั่วชีวิตก็ไม่อาจประสบความสำเร็จ หรือมีบ้างที่สอบได้ก็ต่อเมื่ออายุกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดายิ่งในเวลานั้น
ระดับคุณวุฒิต่าง ๆ ในการสอบขุนนาง ได้แก่
- ถงเชิง (อังกฤษ: tongsheng, จีน: 童生, พินอิน: Tóngshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาเด็ก" (child student) ") คือผู้ที่สอบผ่านระดับต้น หรือระดับท้องถิ่นในขั้น เซี่ยนชื่อ (county exam) และ ฝู่ชื่อ (prefecture exam) โดยไม่ว่าผู้สอบผ่านนั้นจะมีอายุเท่าใดก็ตามก็จะถูกเรียกด้วยคำนี้ เป็นการสอบที่เทียบได้กับการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในปัจจุบัน[17]
- เชิงหยวน (อังกฤษ: shengyuan, จีน: 生員, พินอิน: Shēngyuán, แปลตามตัวอักษรว่า "สมาชิกนักศึกษา (student member) ") หรืออีกชื่อหนึ่งที่นิยมใช้เรียกมากกว่า คือ ชิ่วไฉ (อังกฤษ: xiucai, จีน: 秀才, พินอิน: Xiùcái, แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้มีพรสวรรค์ (distinguished talent) ") คือผู้ที่สอบผ่านระดับต้น หรือระดับท้องถิ่นในขั้น ย่วนชื่อ (college exam) ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษทางสังคม เช่น ได้รับการยกเว้นจากการถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน (statute labour) ได้รับสิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และจำกัดการลงโทษทางกาย มีการแบ่งระดับต่อไปอีก 3 ระดับ ตามผลการสอบ คือ
- หลิ่นเชิง (อังกฤษ: linsheng, จีน: 廩生, พินอิน: Lǐnshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษายุ้งฉาง (granary student) ") เป็นระดับสูงสุดของเชิงหยวน คือผู้ที่มีความสามารถสอบได้คะแนนในระดับดีที่สุดของการสอบย่วนชื่อ (college exam) ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะได้รับรางวัลจากราชการในการสำเร็จการสอบด้วย โดยสามารถเข้าศึกษาต่อในบัณฑิตยสถานของราชสำนัก (Imperial Academy) ได้ในฐานะเป็น ก้งเชิง (อังกฤษ: gongsheng, จีน: 貢生, พินอิน: Gòngshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาบรรณาการ (tribute student) ") และยังเป็นผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบในระดับมณฑลหรือ เซียงชื่อ ได้ และอาจมีบางคนสามารถข้ามระดับไปสอบในระดับเมืองหลวงได้ด้วย
- อั้นโฉ่ว (อังกฤษ: anshou, จีน: 案首, พินอิน: Ànshǒu, แปลตามตัวอักษรว่า "ที่หนึ่งในโต๊ะเรียน (first on the desk) ") คือผู้ที่สอบได้อันดับที่หนึ่งหรือสูงสุดในบรรดานักศึกษาหลิ่นเชิง และในบรรดานักศึกษาเชิงหยวน ด้วยเช่นกัน
- เซิงเชิง (อังกฤษ: zengsheng, จีน: 增生, พินอิน: Zēngshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาขยาย (expanded student) ") คือผู้ที่สอบได้ในระดับที่สอบหรือระดับรองลงมาในกลุ่มนักศึกษาเชิงหยวน และนักศึกษาหลิ่นเชิง
- ฟู่เชิง (อังกฤษ: fusheng, จีน: 附生, พินอิน: Fùshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาเพิ่มเติม (attached student) ") คือผู้ที่สอบได้ในระดับที่สามของกลุ่มนักศึกษาเชิงหยวน และเป็นกลุ่มสำรองในการคัดเลือกเข้ารับราชการ เมื่อมีตำแหน่งว่างก็จะได้เข้ารับราชการ ถือว่าเป็นผู้สอบผ่านแต่ยังคงต้องการการปรับปรุงพัฒนาอีก
- หลิ่นเชิง (อังกฤษ: linsheng, จีน: 廩生, พินอิน: Lǐnshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษายุ้งฉาง (granary student) ") เป็นระดับสูงสุดของเชิงหยวน คือผู้ที่มีความสามารถสอบได้คะแนนในระดับดีที่สุดของการสอบย่วนชื่อ (college exam) ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะได้รับรางวัลจากราชการในการสำเร็จการสอบด้วย โดยสามารถเข้าศึกษาต่อในบัณฑิตยสถานของราชสำนัก (Imperial Academy) ได้ในฐานะเป็น ก้งเชิง (อังกฤษ: gongsheng, จีน: 貢生, พินอิน: Gòngshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาบรรณาการ (tribute student) ") และยังเป็นผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบในระดับมณฑลหรือ เซียงชื่อ ได้ และอาจมีบางคนสามารถข้ามระดับไปสอบในระดับเมืองหลวงได้ด้วย
- จู่เหริน (อังกฤษ: juren, จีน: 舉人, พินอิน: Jǔrén, แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้ได้รับการแนะนำ (recommended man) ") คือผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกในระดับมณฑล (provincial exam) ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี
- เจี้ยหยวน (อังกฤษ: jieyuan, จีน: 解元, พินอิน: Jièyuán, แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้เข้าสอบระดับบน (top escorted examinee) ") คือจู่เหริน ที่สอบได้เป็นอันดับที่หนึ่ง หรืออันดับสูงสุดในการสอบระดับมณฑล
- ก้งชื่อ (อังกฤษ: gongshi, จีน: 貢士, พินอิน: Gòngshì, แปลตามตัวอักษรว่า "บัณฑิตบรรณาการ (tribute scholar) ") คือผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสอบระดับเมืองหลวง (หรืออาจเรียกว่าระดับประเทศก็ได้) ที่มีการจัดสอบเป็นประจำทุก ๆ 3 ปี หากบัณฑิตคนใดสอบได้เป็น "ก้งชื่อ" จะมีสิทธิได้รับคัดเลือกจากกษัตริย์ให้เป็นผู้ถวายการรับใช้ ดังนั้นการสอบได้เป็นก้งชื่อ จึงถือว่าได้เป็นการก้าวสู่เส้นทางการเป็นขุนนางอย่างหนึ่ง[17]
- ฮุ้ยหยวน (อังกฤษ: huiyuan, จีน: 會元, พินอิน: Huì yuán, แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้เข้าสอบการประชุมระดับบน (top conference examinee) ") คือบัณฑิตก้งชื่อ ทีสอบได้อันดับสูงสุดของการสอบระดับเมืองหลวง (หรือระดับประเทศ, national exam)
- จิ้นชื่อ (อังกฤษ: jinshi, จีน: 進士, พินอิน: Jìnshì, แปลตามตัวอักษรว่า "บัณฑิตขั้นสูง (advanced scholar) ") คือผู้ที่สอบผ่านการสอบระดับราชสำนัก หรือระดับราชวัง ที่จัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี หากบัณฑิตคนใดสอบได้เป็นจิ้นซื่อ ก็เท่ากับมีโอกาสได้เป็นขุนนางในราชสำนักค่อนข้างแน่นอนแล้ว
- จิ้นชื่อ จี๋ตี้ (อังกฤษ: jinshi jidi, จีน: 進士及第, พินอิน: Jìnshì jí dì, แปลตามตัวอักษรว่า "จิ้นชื่อผู้โดดเด่น (distinguished jinshi) ") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้คะแนนระดับสูงสุดในการสอบราชสำนัก ซึ่งมักหมายถึงผู้ที่สอบได้ 3 แรก
- จอหงวน (อังกฤษ:, จีน: 狀元, พินอิน: Zhuàngyuán, แปลตามตัวอักษรว่า "top thesis author") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้อันดับที่หนึ่งของประเทศ จอหงวนเป็นวิทยฐานะที่มีเกียรติสูงและมีสิทธิหลายอย่างที่บุคคลอื่นไม่อาจจะมี เช่นอาจได้เป็นอัครมหาเสนาบดีเป็นต้น
- ปั้งเหยี่ยน/ป๋างั่ง (อังกฤษ: bangyan, จีน: 榜眼, พินอิน: Bǎngyǎn, แปลตามตัวอักษรว่า "eyes positioned alongside") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้อันดับที่สอง หรือเป็นรองแค่บัณฑิตจอหงวน เท่านั้น
- ทั่นฮวา/ท่ำฮวย(อังกฤษ: tanhua, จีน: 探花, พินอิน: Tànhuā, , แปลตามตัวอักษรว่า "flower snatcher") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้อันดับที่สาม
- จิ้นชื่อ ชูเซิน (อังกฤษ: jinshi chushen, จีน: 進士出身, พินอิน: Jìnshì chūshēn, lit. "jinshi background") คือกลุ่มบัณฑิตที่สอบได้ระดับรองลงมาจากทั่นฮวา
- ถงจิ้นชื่อ ชูเซิน (อังกฤษ: tong jinshi chushen, จีน: 同進士出身, พินอิน: Tóng jìnshì chūshēn, แปลตามตัวอักษรว่า "along with jinshi background") คือกลุ่มบัณฑิตที่สอบได้ระดับรองลงมาเป็นระดับที่สามในการสอบราช่สำนัก คือรองจากระดับจิ้นชื่อ ชูเซิน ลงมา
- จิ้นชื่อ จี๋ตี้ (อังกฤษ: jinshi jidi, จีน: 進士及第, พินอิน: Jìnshì jí dì, แปลตามตัวอักษรว่า "จิ้นชื่อผู้โดดเด่น (distinguished jinshi) ") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้คะแนนระดับสูงสุดในการสอบราชสำนัก ซึ่งมักหมายถึงผู้ที่สอบได้ 3 แรก
การสอบเลื่อนขั้นหรือตำแหน่ง
[แก้]นอกจากการสอบปกติแล้ว ยังมีการจัดสอบเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ โดยเฉพาะเป็นครั้งคราว โดยมากมักเป็นการสอบเพื่อคัดเลือกบุคลากรที่มีพรสวรรค์และความสามารถโดดเด่นเพื่อปรับเลื่อนขั้นหรือตำแหน่ง หรือเพื่อเฟ้นหาบุคคลที่มีความสามารถเฉพาะทางสำหรับการปฏิบิติภารกิจเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น ในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิซ่งเหรินจงแห่งราชวงศ์ซ่ง ปี ค.ศ. 1061 มีพระบัญชาให้จัดการสอบเพื่อค้นหาผู้ที่มีความสามารถด้าน "zhiyan jijian (direct speech and full remonstrance) " โดยกำหนดให้ผู้เข้าสอบส่งบทเรียงความที่มีการเขียนเตรียมไว้แล้ว 50 เรื่อง โดยครึ่งหนึ่ง (คือ 25 เรื่อง) เป็นเรียงความเกี่ยวกับ 25 ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของยุคนั้น และอีกครึ่งหนึ่ง (อีก 25 เรื่อง) เป็นบทเรียงความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั่วไป และเมื่ออยู่ในห้องสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องเขียนบทเรียงความตามหัวข้อที่ผู้คุมสอบกำหนดไว้จำนวน 6 เรื่อง และในลำดับสุดท้ายจะต้องเขียนเรียงความความยาว 3,000 ตัวอักษรตามหัวข้อที่สมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงเป็นผู้กำหนด ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับหลักการและนโยบายด้านการเมืองการปกครองประเทศ ในบรรดาผู้เข้าสอบที่สำเร็จผ่านการสอบครั้งนี้ มีสองพี่น้องตระกูลซู คือ ซูชื่อ (Su Shi) และซูเจ้อ (Su Zhe) ผู้ซึ่งสอบผ่านเป็นจิ้นชื่อ สำเร็จแล้วในปี ค.ศ. 1057 โดยซูชื่อนั้นมีผลคะแนนการสอบที่ดีมากจนมีการคัดสำเนาบทเรียงความเขาที่เขาสอบเผยแพร่อย่างกว้างขวาง[20]
การสอบทางการทหาร
[แก้]การสอบทางการทหารจัดขึ้นเพื่อคัดเลือกบุคลากรเข้ารับราชการทหารหรือกองทัพ[21] ผู้สอบผ่านจะได้รับรางวัลและคุณวุฒิเทียบได้กับระดับจิ้นชื่อ และจู่เหริน ในการสอบขุนนางทั่วไป ในส่วนของระบบการสอบก็มีความคล้ายคลึงกันมาก เช่น มีการจัดสอบเป็นระดับภูมิภาค (provincial exams) ระดับเมืองหลวง (metropolitan exams) และการสอบในราชสำนัก (palace exams) เช่นกัน นอกจากนั้นผู้เข้าสอบยังต้องมีความรู้ด้านปรัชญาขงจื๊อเช่นเดียวกับการสอบขุนนางปกติ อีกทั้งมีทักษะด้านการยิงธนูและการขี่บังคับม้า รวมถึงความรู้ทฤษฏีการออกศึก เช่น ตำราพิชัยสงครามของซุนวู เป็นต้น[22]
กระบวนการสอบ
[แก้]ในสมัยโบราณถึงปี ค.ศ. 1370 การสอบขุนนางใช้เวลาในการสอบยาวนานตั้งแต่ 24 ถึง 72 ชั่วโมง ผู้สอบแต่ละคนจะถูกจัดให้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ หรือในคอก แยกสำหรับแต่ละคน เพื่อให้กินอยู่หลับนอนในช่วงเวลาที่สอบนั้นได้ ภายในห้องหรือคอกนี้มีไม้กระดานสองแผ่นซึ่งจะใช้เป็นที่นอน หรือใช้เป็นโต๊ะและเก้าอี้ในขณะทำข้อสอบก็ได้
สนามสอบระดับฮุ้ยชื่อที่สำคัญในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง เป็นสนามสอบที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ค.ศ. 1403-1424) แห่งราชวงศ์หมิง เรียกว่าสนามสอบ "ก้งเยวี่ยน" การก่อสร้างดั้งเดิมเป็นกระท่อมที่สร้างจากไม้
เมื่อผู้เข้าสอบเข้าห้องสอบของแต่ละคนแล้ว จะต้องล็อกประตูด้านนอก ภายในห้องมีภาชนะใส่ถ่านไว้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับจุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่น และมีตะเกียงสำหรับให้แสงสว่าง ในการสอบยุคโบราณมักมีการเกิดเพลิงไหม้สนามสอบอยู่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งเกิดเพลิงไหม้ใหญ่จนเป็นเหตุให้มีผู้เข้าสอบเสียชีวิตกว่า 90 คน จนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากกระท่อมไม้มาเป็นการก่ออิฐแทน หลังจากมีการประกาศเลิกใช้ระบบการสอบขุนนางในปี ค.ศ. 1905 สนามสอบก้งเยวี่ยนนี้จึงถูกดัดแปลงเพื่อประโยชน์ใช้สอบอื่นแทน คงหลงเหลือเพียงชื่อสถานที่ "ถนนก้งเยวี่ยน" ไว้[3]
สมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง มีการประดิษฐานประติมากรรมสองชิ้นไว้ในท้องพระโรง ชิ้นหนึ่งเป็นรูปมังกร อีกชิ้นเป็นรูปเต่ามังกร (Ao; 鳌) ซึ่งเชื่อกันว่าขาถูกตัดมาเป็นเสาค้ำฟ้า ประติมากรรมทั้งสองนี้ตั้งไว้กลางบันไดซึ่งผู้สอบผ่านจะพากันมาเข้าแถวรอเรียกขานตามบัญชีที่เรียก "ทะเบียนทอง" (จีน: 金榜; พินอิน: jīnbǎng; "gold list") ผู้สอบได้อันดับหนึ่งเรียกว่าเป็น "จ้วงเยฺหวียน" หรือ "จอหงวน" ตามสำเนียงอื่น (จีน: 狀元; พินอิน: zhuàngyuán) และให้ยืนเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่หน้ารูปเต่ามังกรดังกล่าว ก่อให้เกิดสำนวนว่า "ยืนหัวเต่า" (จีน: 占鳌头; พินอิน: zhàn áo tóu; แปลตามตัวอักษรว่า "to have stood alone at Ao's head (独占鳌头; Dú zhàn ào tóu) ") ซึ่งสื่อถึงคุณลักษณะของจ้วงเยฺหวียน รวมถึงบุคคลซึ่งเป็นหัวกะทิในสาขาวิชาหนึ่ง ๆ[23]
ข้อกำหนดการสอบ
[แก้]ชาวจีนในสมัยโบราณมีการแบ่งกลุ่มชนชั้นออกเป็นกลุ่มชนชั้นสูง ข้าราชการ และประชาชนสามัญทั่วไป โดยกลุ่มประชาชนยังแบ่งย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม ตามสาขาอาชีพ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญและสิทธิที่ได้รับ ดังนี้ กลุ่มบัณฑิต ชาวนาชาวสวน ช่างฝีมือ และพ่อค้า[24] สถานะที่ต่ำกว่ากลุ่มเหล่านี้เรียกว่า "คนต่ำต้อย" (mean people) หรือในบางท้องถิ่นอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น คนเรือ (boat-people) ขอทาน (beggars) โสเภณี (sex-workers) นักบันเทิง (entertainers) ทาส (slaves) และข้ารับใช้ชั้นต่ำ (low-level government employees) เป็นต้น ซึ่งในบางยุคสมัย กลุ่มคนเหล่านี้อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ารับราชการรวมทั้งเข้าสอบคัดเลือกเป็นขุนนาง[25][26]
ในบางสมัยมีการห้ามไม่ให้คนกลุ่มอื่นบางกลุ่มเข้าสอบเช่นกัน เช่นกรณีของเมืองหนิงป่อ (จีน: 宁波; พินอิน: Níngbō; Ningbo dialect: Nyin-poh/Nyin-pou (วิธีใช้·ข้อมูล) ) ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นจัณฑาลมากกว่า 3,000 คน โดยเชื่อกันว่ามีบางคนในกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของราชวงศ์จิน (Jin Dynasty, ค.ศ. 1115-1234) ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบขุนนางรวมถึงถูกจำกัดสิทธิด้านอื่น ๆ ด้วย[27] ผู้หญิงก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ (มีเพียงบางยุคเท่านั้นที่อนุญาตให้ผู้หญิงร่วมสอบได้ แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาอันสั้น) ในบางสมัย คนฆ่าสัตว์ (butchers) และคนทรงเจ้า (sorcerers, shaman) ก็ถูกห้ามไม่ให้เข้าสอบด้วยเช่นกัน[28] ในส่วนพ่อค้าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสอบขุนนางจนกระทั่งถึงสมัยราชวงศ์หมิง (Ming dynasty, ค.ศ. 1368–1644) และราชวงศ์ชิง (Qing dynasty, ค.ศ. 1644–1912) จึงมีสิทธิเข้าสอบได้[29] ในสมัยราชวงศ์สุย (Sui dynasty, ค.ศ. 581–618) และราชวงศ์ถัง (Tang dynasty, ค.ศ. 618–907) ช่างฝีมือถูกจำกัดสิทธิไม่ให้เข้ารับราชการ และสมัยราชวงศ์ซ่ง ทั้งช่างฝีมือและพ่อค้าก็ถูกจำกัดไม่ให้ร่วมเข้าสอบจิ้นชื่อได้ หรือในสมัยราชวงศ์เหลียว (Liao dynasty, ค.ศ. 907–1125) มีคนกลุ่มพ่อค้า นักฆ่าสัตว์ แพทย์ (physicians) และโหร (diviners) ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบขุนนางด้วย[30]
และในหลาย ๆ ครั้ง ระบบจำกัดจำนวนผู้เข้าสอบหรือผู้สอบผ่านก็ถูกนำมาใช้ในการจำกัดสิทธิของคนบางกลุ่ม เช่น คนที่พำนักอาศัยในบางพื้นที่ หรือคนตามข้อกำหนดอื่น ๆ เป็นต้น
อิทธิพลสู่ประเทศอื่น ๆ
[แก้]ประเทศทางตะวันออก
[แก้]การสอบคัดเลือกขุนนางของจีนถือเป็นต้นแบบของการสอบคัดเลือกต่าง ๆ ในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ทั้งราชวงศ์โครยอ (Goryeo Dynasty) และราชวงศ์โชซ็อน (Joseon Dynasty) ในประเทศเกาหลี (see Gwageo) และยกเลิกไปเมื่อถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น (annexation by Japan) ในประเทศเวียดนาม ระบบการสอบขุนนางของจีนก็เป็นต้นแบบในการทดสอบความรู้ปรัชญาขงจื๊อในเวียดนาม (Confucian examination system in Vietnam) ในสมัยราชวงศ์ Lý Dynasty โดยจักรพรรดิ Lý Nhân Tông (ค.ศ. 1075) จนกระทั่งถึงสมัยราชวงศ์เหงียน สมเด็จพระจักรพรรดิขาย ดิ่ญ (ค.ศ. 1919) ด้วยเช่นกัน
ในประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากการสอบขุนนางมาเป็นต้นแบบในยุคเฮอัง (Heian period) แต่มีผลเพียงกับชนชั้นสูงจำนวนไม่มากนัก ต่อมาจึงถูกแทนที่โดยการสืบทอดเชื้อสายในยุคซะมุไร (Samurai era)[31]
ประเทศทางตะวันตก
[แก้]ประเทศในแถบตะวันตกให้ความสนใจและได้รับแรงบันดาลใจจากกาสอบขุนนางในจีนเช่นกัน โดยมีสถาบันการศึกษาของจีนเป็นหนึ่งในหน่วยงานแห่งแรก ๆ ที่ใด้รับความสนใจ[32] ตัวอย่างหนึ่งในนั้นได้แก่การได้รับอิทธิพลอย่างมากปรากฏอยู่ในรายงาน Northcote-Trevelyan Report ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการปฏิรูปของข้าราชการพลเรือนในบริติชอินเดีย (Indian Civil Service, Civil Service in British India) และในสหราชอาณาจักร (Her Majesty's Civil Service, United Kingdom) ในเวลาต่อมาด้วย[33] หลังจากการดำเนินงานปฏิรูปของสหราชอาณาจักรในศตวรรษที่ 19 ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศอินเดียด้วยการจัดสอบอย่างเป็นระบบและแข่งขันอย่างเปิดเผย จึงได้มีการดำเนินการในประเทศตะวันตกอื่น ๆ ตามมา[34]
ดูเพิ่ม
[แก้]- Bar exam
- Chinese classic texts
- Civil service of the People's Republic of China
- Donglin Academy
- Education in the People's Republic of China
- Eight-legged essay
- Hanlin Academy
- ประวัติศาสตร์จีน
- Imperial examination in Chinese mythology
- Nine rank system
- Scholar-bureaucrats
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ Wu, 413-419
- ↑ Patricia Buckley Ebrey, The Cambridge Illustrated History of China (Cambridge: Cambridge University Press, 2nd, 2010), 145-147, 198-200
- ↑ 3.0 3.1 หนังสือพลิกม่านไม้ไผ่ โดย ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม, บก.
- ↑ Yu, 55
- ↑ 任立达,薛希洪,"中国古代官吏考选制度史" (A History of the Examination Systems for the Chinese Imperial Mandarinate) (青岛出版社, 2003)
- ↑ Keay, John (2009). China - A History. Harper Collins. ISBN 978-0-00-722178-3. p. 228
- ↑ 7.0 7.1 Kracke, 253
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Kracke, 254
- ↑ 9.0 9.1 Yu, 58
- ↑ Paludan, Ann (1998). Chronicle of the Chinese Emperors: The Reign-by-Reign Record of the Rulers of Imperial China. Thames and Hudson. ISBN 0-500-05090-2. p. 97
- ↑ Fairbank, 82
- ↑ Kracke, 257 (Table 2, which shows 26 doctoral degrees awarded in 1184 to individuals from Occupied North China, and 1 in 1256)
- ↑ Gernet, Jacques. (1962) Daily Life in China on the Eve of the Mongol Invasion, 1250-1276. Translated by H.M. Wright (Stanford: Stanford University Press. ISBN 0-8047-0720-0, p. 65).
- ↑ Elman, Benjamin A. A Cultural History of Civil Examinations in Late Imperial China, 2000:14.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Kracke, 263
- ↑ Wolfgang Franke, The Reform and Abolition of the Traditional China Examination System (Cambridge, Massachusetts: East Asian Research Center, 1968) : 70-71.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 http://thai.cri.cn/learnchinese/lesson11/6.html
- ↑ Ichisada Miyazaki. China's Examination Hell: The Civil Service Examinations of Imperial China. (New York: Weatherhill, 1976. ISBN 0834801043), pp. 18-25.
- ↑ Andrew H. Plaks, "Cribbing Garment" Gest Library
- ↑ Murck, 2000: page 31
- ↑ Etienne Zi. Pratique Des Examens Militaires En Chine. (Shanghai, Varietes Sinologiques. No. 9, 1896). American Libraries Internet Archive Google Book (Searchable).
- ↑ Nicola Di Cosmo (2009). Military culture in imperial China. Harvard University Press. p. 245. ISBN 0-674-03109-1. สืบค้นเมื่อ 2010-06-28.
- ↑ Hucker, Charles O. (1985), A dictionary of official titles in Imperial China / 中国古代官名辞典, Stanford University Press, pp. 106–107, 536, ISBN 0-8047-1193-3
- ↑ Ch'u, 246
- ↑ Ch'u, 249
- ↑ Susan Naquin, Evelyn Sakakida Rawski (1989). +musicians, +actors, +and+some+yamen+employees+ (gate+keepers&hl=en&ei=LEi4TvXkM8rL0QHX18XSBw&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=1&ved=0CC0Q6AEwAA#v=onepage&q=The%20latter%20category%20included%20remnants%20of%20aboriginal%20groups%20who%20had%20survived%20Chinese%20expansion%20and%20settlement%20and%20practitioners%20of%20occupations%20that%20included%20prostitutes%2C%20musicians%2C%20actors%2C%20and%20some%20yamen%20employees%20 (gate%20keepers&f=false Chinese Society in the Eighteenth Century (reprint, ed.). Yale University Press. p. 117. ISBN 0-300-04602-2. สืบค้นเมื่อ 2011-10-31.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help)CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์) - ↑ Samuel Wells Williams (1883). The Middle kingdom: a survey of the ... Chinese empire and its inhabitants ... (revised ed.). New York: Wiley & Putnam. pp. 321, 412. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
- ↑ Ch'u, 247
- ↑ Ch'u, 248
- ↑ Ch'u, 386 note 70, citing Liao-shih.
- ↑ Liu, Haifeng, Influence of China’s Imperial Examinations on Japan, Korea and Vietnam -Frontiers of History in China, October 2007, Volume 2, Issue 4, pp 493-512
- ↑ Kracke, 251
- ↑ Ssu-yu Teng, "Chinese Influence on the Western Examination System", Harvard Journal of Asiatic Studies 7 (1942-1943) : 267-312.
- ↑ Wu, 417
References and further reading
[แก้]- Christie, Anthony (1968). Chinese Mythology. Feltham: Hamlyn Publishing. ISBN 0600006379.
- Ch'ü, T'ung-tsu. (1967 [1957]). "Chinese Class Structure and its Ideology", in Chinese Thoughts & Institutions, John K. Fairbank, editor. Chicago and London: University of Chicago Press.
- Elman, Benjamin. (2002) A Cultural History of Civil Examinations in Late Imperial China. London: Univ. of California Pr.ISBN 0-520-21509-5
- Fairbank, John King (1992), China: A New History. Cambridge, Massachusetts: Belknap Press/Harvard University Press. ISBN 0-674-11670-4
- Hinton, David (2008). Classical Chinese Poetry: An Anthology. New York: Farrar, Straus, and Giroux. ISBN 0374105367 / ISBN 9780374105365
- P.T. Ho, The Ladder of Success in Imperial China Aspects of Social Mobility, 1368-1911. (New York: Columbia University Press, 1962.)
- Kracke, E. A., Jr. (1967 [1957]). "Region, Family, and Individual in the Chinese Examination System", in Chinese Thoughts & Institutions, John K. Fairbank, editor. Chicago and London: University of Chicago Press.
- Ichisada Miyazaki, China's Examination Hell: The Civil Service Examinations of Imperial China Conrad Schirokauer, tr. (New York: Weatherhill, 1976). ISBN 0-8348-0104-3, reprint 1981 ISBN 0-300-02639-0
- John Chafee, The Thorny Gates of Learning in Sung [Song] China (Albany: State University of New York Press, 1995).
- Thomas H.C. Lee, Government Education and Examinations in Sung [Song] China (Hong Kong: Chinese University Press, ; New York: St. Martin's Press, 1985).
- Mayers, William Frederick, and G.M.H. Playfair. The Chinese Government: A Manual of Chinese Titles, Categorically Arranged and Explained, with an Appendix. 3 ed. Shanghai: Kelly & Walsh Limited, 1897.
- Murck, Alfreda (2000). Poetry and Painting in Song China: The Subtle Art of Dissent. Cambridge (Massachusetts) and London: Harvard University Asia Center for the Harvard-Yenching Institute. ISBN 0-674-00782-4.
- Man-Cheong, Iona (2004). The Class of 1761: Examinations, the State and Elites in Eighteenth-Century China. Stanford: Stanford University Press.
- Paludan, Ann (1998). Chronicle of the Chinese Emperors: The Reign-by-Reign Record of the Rulers of Imperial China. New York, New York: Thames and Hudson. ISBN 0-500-05090-2
- Wu, K. C. (1982). The Chinese Heritage. New York: Crown Publishers. ISBN 0-517-54475X.
- Yang, C. K. [Yang Ch'ing-k'un]. Religion in Chinese Society : A Study of Contemporary Social Functions of Religion and Some of Their Historical Factors (1967 [1961]). Berkeley and Los Angeles: University of California Press.
- Yu, Pauline (2002). "Chinese Poetry and Its Institutions", in Hsiang Lectures on Chinese Poetry, Volume 2, Grace S. Fong, editor. (Montreal: Center for East Asian Research, McGill University).
- Étienne Zi. Pratique Des Examens Militaires En Chine. (Shanghai, Varietes Sinologiques. No. 9, 1896). University of Oregon Libraries (not searchable) เก็บถาวร 2014-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, American Libraries Internet Archive Google Book (Searchable).
- This article incorporates material from the หอสมุดรัฐสภา that is believed to be in the public domain.