ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าจอมมารดาน้อย ในรัชกาลที่ 4

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดาน้อย
ในรัชกาลที่ 4
เกิด24 ตุลาคม พ.ศ. 2348[1]
เสียชีวิตพ.ศ. 2389[1]–2400 (ราว 41–52 ปี)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
บิดามารดา

เจ้าจอมมารดาน้อย หรือ เจ้าจอมมารดาคุณหญิงน้อย (24 ตุลาคม พ.ศ. 2348 – ราวปี พ.ศ. 2398–2400) เป็นธิดาของพระอินทร์อภัย หรือ พระอินทอำไพ (อดีตสมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภยในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)[1] เป็นพระสนมคนแรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ

[แก้]

คุณหญิงน้อย เป็นธิดาลำดับที่ 2 ในจำนวนพระบุตร 13 องค์ของพระอินทร์อภัย[2] พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์[3]

ต่อมา สมัย ร.2 คุณหญิงน้อย ได้สนองพระเดชพระคุณเป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ได้ให้ประสูติพระโอรส 2 พระองค์ ก่อนที่พระสวามีจะผนวช และเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ คือ

  1. หม่อมเจ้าชายนพวงศ์ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 4 แรม 10 ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2365 ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เมื่อ พ.ศ. 2396 กำกับกรมล้อมพระราชวัง และกรมพระคลังมหาสมบัติ ทรงเป็นต้นราชสกุล นพวงศ์ ณ อยุธยา
  2. หม่อมเจ้าชายสุประดิษฐ์ ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน 6 แรม 14 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2367 ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร เมื่อ พ.ศ. 2399 กำกับกรมพระคลังมหาสมบัติ ทรงเป็นต้นราชสกุล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย พระบิดาถูกประหารชีวิตเมื่อปีวอก พ.ศ. 2355 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2367 ขณะนั้นหม่อมเจ้านพวงศ์และหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ มีพระชันษา 2 ปี และ 2 เดือน ตามลำดับ เจ้าจอมมารดาน้อยได้ไปอาศัยอยู่กับพระพงษ์นรินทร์ ผู้เป็นลุง [4] โดยหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่พระราชวังเดิม

เจ้าจอมมารดาน้อยถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพลิงศพที่สวนท้ายวังของกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร หลังพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรทรงสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อนในปีจอ พ.ศ. 2405 ก่อนที่วัดจะสร้างเสร็จ จึงโปรดให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทรงสร้างวัดต่อ แต่ก็สิ้นพระชนม์อีกในปีเถาะ พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับเป็นผู้สร้างวัดต่อมาจนสำเร็จ พระราชทานนามวัดว่า วัดตรีทศเทพวรวิหาร มีความหมายว่า "เทวดาสามองค์เป็นผู้สร้าง" [4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 50. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2015-12-16.
  2. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  3. ลำดับสกลเก่าบางสกุล ภาคที่ 4 สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี. พระนคร : พระจันทร์, 2481, หน้า ฆ, 17
  4. 4.0 4.1 เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, พ.ศ. 2549. 160 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9687-35-3