ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าจอมพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง ในรัชกาลที่ 4

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำโพชราชสุดาดวง
บาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 4
ประสูติพ.ศ. 2394
สิ้นพระชนม์ไม่ปรากฏ
คู่อภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม (ประสูติ)
จักรี (เสกสมรส)
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร
พระมารดาเจ้าจอมมารดาน้อม
ศาสนาพุทธ

เจ้าจอมพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง หรือพระนามเดิม นักเยี่ยม เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระมหากษัตริย์กรุงกัมพูชา ซึ่งถือเป็นเจ้าประเทศราชของสยามในขณะนั้น และเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์กรุงสยาม และหากเจ้าจอมท่านนี้ประสูติการพระราชบุตร พระราชบุตรพระองค์นั้นก็จะเป็นเจ้าฟ้าโดยอัตโนมัติ เพราะถือว่ามีพระชนนีเป็นเจ้า เช่นเดียวกับกรณีของเจ้าจอมตนกูสุเบีย บาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกท่านที่เป็นเจ้านายต่างด้าวเช่นกัน แต่เจ้าจอมทั้งสองท่านก็มิได้ประสูติพระราชบุตรแต่อย่างใด[1][2]

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2411 เจ้าจอมพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวงถวายบังคมออกจากพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพมหานคร กลับไปประทับกรุงกัมพูชาพร้อมกับเจ้าจอมนักพลอย พระขนิษฐาที่เข้ามารับราชการในกรุงเทพมหานครด้วยกัน

พระประวัติ

[แก้]

เจ้าจอมพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง มีพระนามเดิมว่า นักเยี่ยม เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระมหากษัตริย์กรุงกัมพูชา ซึ่งถือเป็นเจ้าประเทศราชของสยามในขณะนั้น กับพระมารดาชื่อ เจ้าจอมมารดาน้อม ธิดาของขุนนางในราชสำนักกัมพูชา[3] มีพระโสทรกนิษฐภคินีคือ พระองค์เจ้าพวงกัมโพชรัตนะ (ประสูติราว พ.ศ. 2399 หรือ 2400)[4]

ต่อมานักเยี่ยมและพระขนิษฐาคือนักพลอย เป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระนโรดมทั้งสองพระองค์ เข้าถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์กรุงสยาม[5] แม้จะเป็นบาทบริจาริกาแต่ก็ถือว่าเป็นพระธิดาของเจ้าประเทศราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าสถาปนานักเยี่ยม ให้มีพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง[6] มีสถานะเป็นเจ้านายที่มิได้มีเชื้อสายในราชวงศ์จักรี[7] ด้วยมีพระชาติกำเนิดเป็นเจ้านายจากต่างประเทศ หากเจ้าจอมมีพระสูติการพระราชบุตร พระราชบุตรพระองค์นั้นจะถูกยกเป็น เจ้าฟ้า ตั้งแต่แรกประสูติหรือที่เรียกว่า "เจ้าฟ้าไบไรต์"[1] เช่นเดียวกับเจ้าจอมตนกูสุเบีย พระสนมอีกพระองค์หนึ่งที่เป็นเจ้านายจากเมืองเขมร แต่เจ้าจอมก็มิได้ให้ประสูติการพระราชโอรส ดังปรากฏใน ธรรมเนียมในราชตระกูลสยาม ความว่า[1]

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเยี่ยมซึ่งเป็นบุตรสมเด็จพระเจ้านโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งโปรดฯ ให้เป็นพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง แลตนกูสุเบีย ซึ่งเป็นน้องสาวสุลต่านมหมุดเมืองลิงงา เป็นพระสนมอยู่ทั้งสองคน ก็ได้ปรารภเป็นการดังทราบทั่วกัน ถ้าพระราชบุตรเกิดด้วยเจ้า ๒ คนนี้ ก็ต้องเป็นเจ้าฟ้าตามธรรมเนียมเหมือนกัน แต่ก็มีคนรังเกียจอยู่ในการที่จะต้องเป็นดังนั้นมาก"

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2411 หลังจากนั้นทางราชสำนักกัมพูชาจึงส่งออกญารัตนาธิเบศร์ (ต่อมาเป็นที่ ออกญาพิพิธไอศูรย์) เข้าไปรับพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวงหรือนักเยี่ยม และนักพลอย กลับกรุงกัมพูชา[5]

เจ้าจอมพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง สิ้นพระชนม์เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ทราบว่ายังมีพระชนม์ชีพอยู่จนถึง พ.ศ. 2452[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "ธรรมเนียมราชตระกูลแห่งรัตนโกสินทร์". ภาษาสยาม. 10 พฤศจิกายน 2551. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ""ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5". ศิลปวัฒนธรรม. 1 ธันวาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "The Varman Dynasty Genealogy (9)". Royal Lark. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "The Varman Dynasty Genealogy (12)". Royal Lark. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. นิราศนครวัด. พระนคร : บรรณาคาร, 2515, หน้า 203-204
  6. ""หม่อมเจ้าพรรณราย" พระมเหสีผู้ทรง "ออกรับแขกเมือง" สมัยรัชกาลที่ 4". ศิลปวัฒนธรรม. 22 มกราคม 2564. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า 288. ISBN 74-221-818-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: length
  8. "Norodom Family". Wordpress. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)