สุจิตต์ วงษ์เทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมื่อปี 2012
เมื่อปี 2012
เกิด20 เมษายน พ.ศ. 2488 (79 ปี)
จังหวัดปราจีนบุรี ประเทศไทย
นามปากกาสุจิตต์ วงษ์เทศ
ทองเบิ้ม บ้านด่าน
อาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี
สัญชาติไทย
รางวัลสำคัญศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
(กวีนิพนธ์) พ.ศ. 2545
คู่สมรสปรานี วงษ์เทศ
บุตร2 คน

ลายมือชื่อ
เว็บไซต์
http://www.sujitwongthes.com/

สุจิตต์ วงษ์เทศ (20 เมษายน พ.ศ. 2488 - ปัจจุบัน) กวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เจ้าของคอลัมน์ "สยามประเทศไทย" ในหนังสือพิมพ์มติชน และผู้บรรยายพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ยังเคยประกาศยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. 2545 แต่ได้ขอปฏิเสธรางวัล รวมทั้งสิทธิประโยชน์ และค่าตอบแทนรายเดือน

ประวัติ[แก้]

สุจิตต์ วงษ์เทศ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2488 ที่บ้านด่าน ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ (โคกปีบ) จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อ สำเภา วงษ์เทศ เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านด่าน มารดาชื่อลิ้นจี่ วงษ์เทศ

สุจิตต์ เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 6 คน สมรสกับศาสตราจารย์ ปรานี วงษ์เทศ (สกุลเดิม: เจียรดิษฐ์อาภรณ์) ผู้ริเริ่มก่อตั้งสาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีบุตร 2 คน

การศึกษา[แก้]

สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดต้นโพธิ์ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี จนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากนั้นได้ย้ายตามลูกของลุงที่บวชเป็นพระมาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร แล้วเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ กรุงเทพมหานคร แล้วไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 แผนกวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ต่อมาได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จนสำเร็จปริญญาตรีใน พ.ศ. 2513 โดยใช้เวลาศึกษาถึง 7 ปี จากระยะเวลา 4 ปี ของหลักสูตรการศึกษา ซึ่งสุจิตต์เล่าว่าตนเองนั้นสอบตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งอาจารย์ถึงกับเบื่อหน่าย และนั่นเองเป็นเหตุที่ทำให้สุจิตต์มีความรู้แน่นและลึกมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย โบราณคดี ถึงแม้จะศึกษาถึงเพียงแค่ปริญญาตรีเท่านั้น

ผลงานการเขียน[แก้]

สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มสนใจงานเขียนมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ[1]: 312  ด้วยการชักชวนของนายขรรค์ชัย บุนปาน เพื่อนร่วมห้องซึ่งทำหนังสือประจำห้องอยู่ก่อนแล้วด้วยใจรักและด้วยความสนุกร่วมกับนายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เพื่อนในชั้นเรียนอีกคนหนึ่ง ชักชวนกันเขียนกลอน ช่วงนั้นได้อ่านหนังสือของไม้ เมืองเดิม เกิดความชอบใจสำนวนโวหาร จึงคิดเขียนกลอนที่แตกต่างจากกลอนรักที่นิยมเขียนกันทั่วไป คือ เขียนกลอนแนวลูกทุ่งสะท้อนสภาพสังคมวัฒนธรรมในขณะนั้น จนมีผลงานรวมพิมพ์เป็นเล่ม ร่วมกับผลงานของนายขรรค์ชัย บุนปาน ชื่อ นิราศ เมื่อ พ.ศ. 2507 โดยสุจิตต์ เขียนนิราศเมืองนนท์ ส่วนกลอนลูกทุ่ง เขียนร่วมกัน

ต่อมาปี พ.ศ. 2508 เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ คนบาป ซึ่งเป็นปฐมบทของพฤติกรรม "ขุนเดช" ผู้หวงแหนโบราณวัตถุและโบราณสถาน ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2509 ทำให้มีกำลังใจเขียนเรื่องสั้นต่ออีกมาก จน พ.ศ. 2511 มีรวมเรื่องสั้นเล่มแรกร่วมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ชื่อ ครึ่งรักครึ่งใคร่ และโด่งดังมากใน พ.ศ. 2512 จากผลงานร้อยกรองร่วมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ชื่อ กูเป็นนิสิตนักศึกษา และรวมเรื่องสั้นของตนเอง ชื่อ ขุนเดช กับนวนิยายขนาดสั้น หนุ่มหน่ายคัมภีร์ ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวาง โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้นชุดขุนเดช มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกด้วย ในช่วงที่เรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากจะประพันธ์ร้อยกรองและเรื่องสั้นกับเพื่อนๆ นักเขียนกลุ่ม "หนุ่มเหน้าสาวสวย" จนโด่งดังแล้ว ยังได้ไปทำนิตยสารช่อฟ้า ที่มีนายสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยรับหน้าที่บรรณาธิการวารสารโบราณคดี และได้ทำงานที่โรงพิมพ์กรุงสยาม รับจ้างพิสูจน์อักษร ออกแบบปก จัดทำรูปเล่มและทำงานการพิมพ์อื่น ๆ เกือบทุกอย่าง ทำให้รอบรู้และมีรายได้ส่งเสียตัวเองและน้องสาวที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ด้วย

เนื่องจากนายสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยอ่านวรรณคดีโบราณ เช่น ทวาทศมาส ยวนพ่าย กำสรวลโคลงดั้น ฯลฯ มามาก จึงได้รับการขอร้องจากอาจารย์ให้เป็นผู้สอนวิชาภาษาและวรรณคดีไทยในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 และสอนต่อเนื่องมาจนจบการศึกษาแล้วก็ยังกลับไปสอนอีกระยะหนึ่ง

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี เมื่อพ.ศ. 2513 ได้เข้าทำงานกับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ทำงานแทนบรรณาธิการเกือบทุกอย่างประมาณ 1 ปี จึงขอลาไปสหรัฐอเมริกา 1 ปีเศษ ทำงานเขียนหนังสืออย่างเดียว มีผลงานรวมเรื่องสั้นพิมพ์เผยแพร่ในช่วงนี้ชุดหนึ่ง ชื่อ มุกหอมบนจานหยก เรื่องที่ส่งกลับมาลงพิมพ์ในสยามรัฐรายวัน และเรื่องที่เขียนให้นายสุทธิชัย หยุ่น แปลเป็นภาษาอังกฤษลงในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นนั้น ได้รวมพิมพ์ชื่อ เมดอิน ยูเอสเอ และ โง่เง่าเต่าตุ่นเมดอิน ยูเอสเอ ช่วงที่อยู่สหรัฐอเมริกาได้แต่งงานกับนางสาวปรานี เจียรดิษฐ์อาภรณ์ (รองศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ) ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2515 เดินทางกลับมาทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันตามเดิม แล้วออกมาพร้อมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน และนายเสถียร จันทิมาธร ไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวันระยะหนึ่ง แล้วร่วมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ก่อตั้งโรงพิมพ์พิฆเนศ กระทั่งหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จึงเริ่มออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ ซึ่งต่อมาเป็นประชาชาติรายวัน โดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการในระยะแรก แต่ถูกสั่งปิดในระยะต่อมา จึงไปช่วยก่อตั้งสำนักพิมพ์การเวกจัดพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ออกจำหน่าย จากนั้นได้ก่อตั้งโรงพิมพ์เรือนแก้วเป็นของตัวเอง ออกหนังสือการะเกดรายสัปดาห์ ก็เลิกล้มไปอีก

จนกระทั่ง พ.ศ. 2522 ริเริ่มทำนิตยสารศิลปวัฒนธรรมรายเดือน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้อ่านกว้างขวาง จึงรับหน้าที่บรรณาธิการเรื่อยมา จนภายหลังได้มอบหมายให้นายฐากูร บุนปาน ทำหน้าที่นี้แทน ขณะเดียวกันก็เขียนบทความแนวประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมในนามจริง สุจิตต์ วงษ์เทศ และใช้นามปากกา "ทองเบิ้ม บ้านด่าน" ไปพร้อม ๆ กับงานร้อยกรอง ด้วยความรักในกาพย์ กลอน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ยังคงสร้างผลงานกวีนิพนธ์ร่วมสมัยสะท้อนสภาพสังคมเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นบทกลอนสั้น ๆ ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันประจำทุกวันอาทิตย์จนถึงปัจจุบัน

ผลงานการประพันธ์[แก้]

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นับเป็นกวีที่มีผลงานโดดเด่นด้วยการนำรูปแบบของร้อยกรองพื้นบ้าน มาปรับให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน มีผลงานหลากหลายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 40 ปี ได้แก่

  • ผลงานด้านร้อยกรอง

ผลงานรวมเล่มแต่งร่วมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ได้แก่

  • นิราศ
  • กลอนลูกทุ่ง
  • เห่ลูกทุ่ง
  • กูเป็นนิสิตนักศึกษา
  • หันหลังชนกัน
  • ฯลฯ
  • ผลงานเดี่ยว ได้แก่
  • นิราศ 12 เดือนฉบับไพร่
  • เพลงยาวถึงนายกรัฐมนตรี
  • เสภาไพร่
  • เสภาน้ำท่วมหาบเร่
  • เสภาเผด็จการ
  • ไพร่ขับเสภา
  • เสภาเบ็ดเตล็ด
  • และบทกวีสั้น ๆ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอาทิตย์
  • ฯลฯ
  • ผลงานรวมเรื่องสั้น ได้แก่
  • หันหลังชนกัน
  • ขุนเดช
  • มุกหอมบนจานหยก
  • ครึ่งรักครึ่งใคร่
  • หยิบเงามาชักเงา (ผลงานรวมเล่ม 2

เรื่องหลังแต่งร่วมกับขรรค์ชัย บุนปาน) ฯลฯ

  • ผลงานด้านนวนิยาย ได้แก่
  • หนุ่มหน่ายคัมภีร์
  • ประดาบก็เลือดเดือด
  • ศึกเจ้าพระยา
  • ไผ่ตัน
  • ผลงานด้านรวมบทความ ได้แก่
  • เดินหน้าเข้าคลอง
  • เมดอิน
  • ยูเอสเอ
  • โง่เง่าเต่าตุ่น

ฯลฯ

  • ผลงานด้านวรรณกรรมเยาวชน ได้แก่ *เด็กชายดวงเข้าเมือง
  • ผลงานด้านวิชาการ

ผลงานเดี่ยว

  • คนไทยอยูที่นี่ที่อุษาคเนย์
  • เยี่ยมอุบลฯ 3,000 ปี
  • ร้องรำทำเพลง : ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม
  • ศรีศัทธา
  • คนไทยอยู่ที่นี่
  • อยุธยาศล่มแล้ว
  • ศรีมหาโพธิ์และศรีวัตสะปุระ
  • นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
  • ล้านนา : มหาราชอาณาจักร
  • กว่าจะเป็นกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักรสยามแห่งแรก
  • เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ ?
  • รามคำแหง, ศิลาจารึก
  • ศรีวิชัย
  • แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์
  • วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ ตำบลโคกปีบ
  • พลิกประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัย
  • ท้าวศรีสุดาจันทร์ “แม่หยัวเมือง”
  • ศึกเจ้าพระยา
  • ขุนช้างขุนแผนแสนสนุก: เผยฉบับลับเฉพาะ ตีดาบ ซื้อม้า หากุมารทอง สำนวนครูแจ้ง
  • บ้านเชียง
  • ศรีวิชัยในสยาม
  • เบิ่งสังคมและวัฒนธรรมอีสาน
  • แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์
  • เจ๊กปนลาว
  • อยุธยายศยิ่งฟ้า
  • พระปฐมเจดีย์ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรกแต่เป็นมหาธาตุหลวง
  • ยุคทวาราวดี
  • สารนิยายอิงจดหมายเหตุฝรั่งเศส สมัยกรุงศรีอยุธยา
  • ศึกมักกะสัน เมืองบางกอก
  • บุรีรัมย์ มาจากใหน?
  • พลังลาว ชาวอีสาน มาจากใหน?
  • อาหารไทย มาจากใหน?
  • เซ็กส์ดึกดำบรรพ์ของบรรพชนไทย
  • โคราชของเรา
  • คนไทยไม่ได้มาจากใหน?
  • อักษรไทยมาจากใหน?
  • ฯลฯ
  • ผลงานแต่งร่วมกับผู้อื่น
  • ไทยน้อยไทยใหญ่ ไทยสยาม แต่งร่วมกับศรีศักร วัลลิโภดม
  • กรุงเทพฯ มาจากไหน แต่งร่วมกับศรีศักร วัลลิโภดม ฯลฯ
  • หนังสือเรียนสังคมศึกษา แต่งร่วมกับศรีศักร วัลลิโภดม และพิเศษ เจียจันทร์พงษ์
  • ลาว 10 ปี หลังปฏิวัติ แต่งร่วมกับชาญวิทย์ เกษตรศิริ
  • ฯลฯ
  • บรรณาธิการ
  • สุนทรภู่ ครูเสภาและทะเลอันดามัน
  • ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทงสมัยสุโขทัย
  • การบ้านการเมือง เรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง
  • ฝรั่งอุษาคเนย์
  • จิม ทอมป์สัน “ราชาไหมไทย” หรือ “สายลับ”
  • ตามรอยศรีวิชัย
  • กรุงเทพไม่มีพิพิธภัณฑ์กรุงเทพ
  • พระสุริโยทัยเป็นใคร? มาจากไหน?
  • พระนเรศวรตีเมืองละแวก แต่ไม่ได้ “ฆ่า” พระยาละแวก
  • ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการลาว
  • จามเทวีจอมนางหริภุญไชย
  • เวียง วัง ฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม
  • สุนทรภู่มหากวีกระฎุมพี
  • มหาราชวงษ์ พงศาวดารและปฐมวงศ์
  • กวีสยามนำเที่ยวกรุงเทพ
  • ภาพเขียนสีพิธีกรรม 3,000 ปี ที่ผาศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

คุณค่าผลงานวรรณกรรม[แก้]

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นกวีร่วมสมัยที่ร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของไทยผู้หนึ่ง บทกวีของนายสุจิตต์ วงศ์เทศ ปรับประยุกต์ขนบวรรณศิลป์พื้นบ้านมาสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์วิถีชีวิตของผู้คน สังคม และการเมืองร่วมสมัย ด้วยท่วงทำนองเรียบง่ายแต่เฉียบคม นายสุจิตต์ วงษ์เทศ พิสูจน์ให้เห็นว่ากวีนิพนธ์สามารถสื่อเนื้อหาทางสังคมและการเมืองร่วมสมัยได้อย่างทรงพลัง นายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นปฏิภาณกวีผู้เชี่ยวชาญในการด้นกลอนเสภา อีกทั้งผสมผสานมรดกทางวรรณศิลป์ของไทยตั้งแต่วรรณคดีโบราณ เพลงพื้นบ้านต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ โบราณคดีและตำนาน เพื่อนำมาเสนอเรื่องราวร่วมสมัย กวีนิพนธ์จำนวนมากนำเสนอวิถีชีวิตของสามัญชนชาวไทยที่ยากลำบาก แต่ก็ยังต่อสู้ดิ้นรนและมีความรักประเทศชาติและผืนแผ่นดิน จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. 2545[1]: 315 

เกียรติยศที่ได้รับ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2546). "ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๔๕", ใน วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 28(1–2).
บรรณานุกรม
  • คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2545. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2545. 250 หน้า.


แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]