ชาติ กอบจิตติ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ชาติ กอบจิตติ | |
---|---|
เกิด | 25 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ตำบลบ้านบ่อ,อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ,ประเทศไทย |
อาชีพ | นักเขียน |
สัญชาติ | ไทย |
ผลงานที่สำคัญ | คำพิพากษา พันธุ์หมาบ้า มีดประจำตัว เวลา บริการรับนวดหน้า |
ชาติ กอบจิตติ (เกิด 25 มิถุนายน 2497) เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547 และนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกด[1]
ชาติเกิดที่จังหวัดสมุทรสาคร ละแวกคลองสุนัขหอน เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดใหญ่บ้านบ่อ ต่อมาขณะที่เรียนเทอมสุดท้ายของ ชั้นประถมปีที่ 7 จำเป็นต้องไปอยู่กับยาย จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเอกชัยในตัวจังหวัดสมุทรสาคร (มหาชัย) เพราะแม่ต้องไปอยู่เรือทรายกับพ่อที่จังหวัดราชบุรี จากนั้นไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2507 โดยอาศัยอยู่กับพระซึ่งเป็นเพื่อนของอาที่วัดตะพานหรือวัดทัศนารุณ มักกะสัน เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วได้สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง ในสาขาภาพพิมพ์
เรื่องสั้นเรื่องแรก "นักเรียนนักเลง" ตีพิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์ ของโรงเรียนปทุมคงคา เมื่อพ.ศ. 2512 เรื่อง "ผู้แพ้" ได้รับรางวัลช่อการะเกด (2522) เคยประจำกองบรรณาธิการหนังสือ "ถนนหนังสือ" และใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะกลับเมืองไทย ผลงานบางส่วนได้จัดแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นเช่น "คำพิพากษา" "พันธุ์หมาบ้า" และ "เวลา" มีผลงานอาทิเช่น "ทางชนะ" (พ.ศ. 2522) "มีดประจำตัว" (พ.ศ. 2527) "นครไม่เป็นไร" (พ.ศ. 2532) นวนิยายเรื่อง "คำพิพากษา" ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2525 นิยายเรื่อง "เวลา" ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2537 ปัจจุบันพำนักในไร่ รอยต่อระหว่างจังหวัดสระบุรี-นครราชสีมา สมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตร
นวนิยายของชาติ แสดงถึงพัฒนาการของนวนิยายไทยที่มีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมสากล นับตั้งแต่การนำเสนอนวนิยายเรื่องคำพิพากษา โศกนาฏกรรมสามัญชน ซึ่งมีนักวิชาการวรรณกรรมนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับผลงานของ กุนเทอร์ กราสส์ นักเขียนชาวเยอรมันซึ่งได้รับ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม และ เค็นซะบุโร โอเอะ นักเขียนญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเช่นกัน
นักวิจารณ์บางคนชี้ให้เห็นว่านิยายเรื่องนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับโศกนาฏกรรม (Tragedy) ของกรีก นักวิจารณ์บางท่านเห็นว่าชาตินำเอาปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ของ ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) มาประยุกต์ใช้ใหม่อย่างน่าชมเชย นอกจากนี้นักวิจารณ์บางท่านเห็นว่า นวนิยายเรื่องเวลาเป็นพัฒนาการของนวนิยายไทยที่มีลักษณะเป็น “นว-นวนิยาย” (nouveau roman) ซึ่งมีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมสากล จึงกล่าวได้ว่าผลงานของชาติ กอบจิตติ มีความสำคัญต่อพัฒนาการนวนิยายไทยและต่อการนำวรรณกรรมไทยเข้าร่วมกระแสวรรณกรรมสากล ดังจะเห็นได้จากผลงานของเขาหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่องหลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และมลายู และได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากนักวิจารณ์ไทยและนักวิชาการต่างประเทศ
ชาติ กอบจิตติ ยึดอาชีพนักเขียนเพื่อเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว เขาเคยกล่าวไว้ว่า "ผม "เลือก" ที่จะเป็นคนเขียนหนังสือ ผมให้มันทั้งชีวิต เอาทั้งชีวิตแลกกับมัน" เขามีความละเอียดพิถีพิถันกับงานเขียนโดยเฉพาะนวนิยายอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่ากว่านวนิยายแต่ละเรื่องจะนำเสนอสู่สาธารณะจะใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานหลายปี แต่ทุกครั้งก็ได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญอย่างยิ่ง ชาติเป็นนักเขียนที่ต้องการสร้างนักอ่าน โดยเฉพาะนักอ่านรุ่นใหม่ เขาจึงไม่ต้องการให้ราคาหนังสือเป็นอุปสรรคต่อผู้รักการอ่านวรรณกรรมไทย ดังนั้นเขายืนยันให้สำนักพิมพ์ที่พิมพ์ผลงานของเขาใช้กระดาษปรู๊ฟซึ่งไม่มีสำนักพิมพ์ไหนนิยมใช้กันแล้ว เพราะไม่สวย แต่ชาติต้องการให้หนังสือราคาถูก มากกว่าสวยงาม เพื่อจะได้กระจายไปสู่คนอ่านในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ เมื่อคนอ่านหนังสือมาก ๆ จะได้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ เพราะชาติเชื่อว่า "ไม่มีใครเสียคนเพราะอ่านหนังสือ"
ในระยะหลังชาติตั้ง สำนักพิมพ์หอน เพื่อพิมพ์ผลงานของตนเองตามอุดมการณ์ที่วางไว้ นอกจากการสร้างสรรค์งานเขียนด้วยความรัก และถือเป็น "งานเลี้ยงชีวิต" แล้ว ชาติ กอบจิตติยังอุทิศเวลาทำประโยชน์แก่สังคมด้วยการสอนหนังสือให้เด็กๆ ที่โรงเรียนในหมู่บ้านช่วงปิดเทอม นอกจากนี้ยังรับเชิญไปบรรยายตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เสมอเท่าที่โอกาสอำนวย ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ชาติสละเวลาเป็น "พี่เลี้ยง" ให้เด็กรุ่นน้องที่ต้องการเป็นนักเขียน โดยคัดเลือกเด็กจำนวนหนึ่งที่มีแววเป็นนักเขียนโดยพิจารณาจากงานที่เสนอมาให้อ่าน แล้วชาติใช้บ้านของตนประหนึ่งเป็น "โรงเรียนนักเขียน" ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ให้พักกินอยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานตามที่ตนถนัด โดยขอความคิดเห็นแลกเปลี่ยนทัศนะวิจารณ์กับชาติ กอบจิตติ ได้ตลอดเวลา หลังจากหมดเทอมแล้ว หากผู้ที่อยากเป็นนักเขียนมุมานะสร้างงานต่อเนื่อง ส่งผลงานมาให้อ่าน และขอคำปรึกษา ชาติ กอบจิตติ ก็สนับสนุนให้กำลังใจตลอดไปเช่นกัน
ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี แม้ชาติ กอบจิตติ จะสร้างสรรค์ผลงานทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับนักเขียนคนอื่น แต่ผลงานของเขาเปี่ยมด้วยคุณภาพทั้งด้านแนวคิดอันแสดงสำนึกเชิงสังคมและด้านวรรณศิลป์อันแสดงนวัตกรรมของการสร้างสรรค์ ชาติ กอบจิตติจึงเป็นนักเขียนร่วมสมัยที่ล้ำสมัย เขานำวงวรรณกรรมไทยก้าวไปข้างหน้าและอยู่ในกระแสวรรณกรรมโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ ชาติ กอบจิตติใช้ชีวิตอย่างสมถะ มุ่งสร้างงานเขียนดีๆ เพื่อประโยชน์แก่นักอ่านอย่างไม่รีบร้อน งานของเขาจึงสร้างผลสะเทือนต่อสังคมไทยไม่น้อย นอกจากนี้ เขายังไม่ทอดทิ้งนักอ่านรุ่นใหม่และผลักดันสรรค์สร้างนักเขียนรุ่นน้อง ชาติ กอบจิตติจึงเป็นแบบอย่างทั้งแนวคิด แนวเขียน แก่นักเขียนนักอ่านร่วมสมัย และเป็นเสียงแห่งมโนสำนึกของยุคสมัยที่ปลุกผู้อ่านให้พิจารณาความเป็นจริงของโลกและชีวิตอย่างไม่ย่อท้อ
- ทางชนะ (พ.ศ. 2522)
- จนตรอก (พ.ศ. 2523)
- คำพิพากษา (พ.ศ. 2524) ได้รับรางวัลซีไรต์
- เรื่องธรรมดา (พ.ศ. 2526)
- มีดประจำตัว (พ.ศ. 2527)
- หมาเน่าลอยน้ำ (พ.ศ. 2530)
- พันธุ์หมาบ้า (พ.ศ. 2531)
- นครไม่เป็นไร (พ.ศ. 2532)
- เวลา (พ.ศ. 2536) ได้รับรางวัลซีไรต์
- บันทึก : บันทึกเรื่องราวไร้สาระของชีวิต (พ.ศ. 2539)
- รายงานถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2539)
- ลมหลง (พ.ศ. 2543)
- เปลญวนใต้ต้นนุ่น (พ.ศ. 2546)
- บริการรับนวดหน้า (พ.ศ. 2548)
- ล้อมวงคุย (พ.ศ. 2551)
- facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่ (พ.ศ. 2559)
- (หา)เรื่องที่บ้าน(พ.ศ. 2561)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2544 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด. "ชาติ กอบจิตติ". สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2562.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Sayachai Anphakdi. "ประวัตินักเขียน : ชาติกอบจิตติ". Blogger. 19 กุมภาพันธ์ 2554. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2562.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔) เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม ๑๑๘ ตอน ๒๓ ข ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ หน้า ๒๕.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ThaiWriter.net
- Pohchang.org เก็บถาวร 2013-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน