ข้ามไปเนื้อหา

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
State Enterprise Policy Office
ตราสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
ภาพรวมสำนักงาน
ก่อตั้ง1 ตุลาคม พ.ศ. 2545; 22 ปีก่อน (2545-10-01)
สำนักงานก่อนหน้า
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่310 อาคารเอสเอ็มอีแบงก์ ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
งบประมาณต่อปี166,562,800 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
ฝ่ายบริหารสำนักงาน
  • ธิบดี วัฒนกุล, ผู้อำนวยการ
  • วชิรญา เพิ่มภูศรี, รองผู้อำนวยการ
  • พลจักร นิ่มวัฒนา, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดสำนักงานกระทรวงการคลัง
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสำนักงาน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการบริหาร พัฒนา เพิ่มมูลค่ารัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ของรัฐ ตลอดจนการดำเนินงานเกี่ยวกับการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน และหน้าที่อื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

[แก้]

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กรมบัญชีกลางยกฐานะแผนกรัฐวิสาหกิจในกองรายได้เป็นกองรัฐวิสาหกิจตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2520 เพื่อรับผิดชอบดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเน้นการควบคุมและกำหนดนโยบายด้านการเงินการบัญชี และการบริหารงานบุคคลของรัฐวิสาหกิจ

ต่อมากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้ปรับเปลี่ยนภารกิจจากการควบคุมและปฏิบัติการ มาเป็นการกำกับดูแลให้คำปรึกษา แนะนำส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนกระจายอำนาจด้านการเงินการคลังไปให้ส่วนราชการต่าง ๆ และส่วนภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ ได้รวมหน่วยงานที่มีภารกิจความรับผิดชอบในลักษณะใกล้เคียงกันเป็นส่วนราชการเดียวกันโดยมีฐานะสูงกว่ากอง จึงปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการภายในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเสียใหม่ เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพงานดังกล่าว และเนื่องจากการแบ่งส่วนราชการภายในกรมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามนัยมาตรา 8 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัตระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 "กองรัฐวิสาหกิจ" จึงเปลี่ยนฐานะเป็น "สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ" ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2538

ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ภาครัฐได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่รัฐวิสาหกิจ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สินของรัฐ ดังนั้นสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ (สรส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลการดำเนินนโยบายการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สำนักรัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ของรัฐมีความสามารถมากขึ้นในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล จึงได้ยกฐานะ “สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ” เป็น “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 [2]

ภารกิจหลัก

[แก้]

ภารกิจการพัฒนาและการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ สคร. มีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลและสนับสนุนรัฐวิสาหกิจให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐ ในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการที่จะบริหารรัฐวิสาหกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมต่าง ๆ เช่น กระแสโลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รัฐวิสาหกิจยุคใหม่ไม่สามารถใช้วิธีบริหารจัดการแบบเดิมได้อีกตอไป จึงเป็นหน้าที่ของ สคร. ในการนำเครื่องมือแนวปฏิบัติต่าง ๆ มาใช้สร้าง แรงจูงใจการพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยเครื่องมือหรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่สำคัญ มีดังนี้

1) คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

2) แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ (แผนชาติด้านรัฐวิสาหกิจ ราย 5 ปี)

3) การกำกับดูแลกิจการที่ดี

4) การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ

5) การกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ

6) ระบบค่าตอบแทน ระบบแรงจูงใจ

7) การชดเชยรายได้รัฐวิสาหกิจ

8) การกำกับและการพัฒนารัฐวิสาหกิจเชิงรุก

9) การเปิดเผยข้อมูล การบริหารจัดการ ผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ

10) การแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ

11) การจัดทำแผนปฏิรูป/แผนพลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา

ปัจจุบัน สคร. ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสหกิจ พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ จำนวน 52 แห่ง โดย ณ ปี 2562 รัฐวิสาหกิจมีฐานะการเงินและผลประกอบการ ได้แก่ สินทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาท รายได้รวมกว่า 4.6 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิกว่า 3.2 แสนล้านบาท รวมทั้ง สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 รวมจำนวน 188,861 ล้านบาท การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย ดังนั้น การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ดีย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพย่อมก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างได้เช่นกัน

ภารกิจบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ ปัจจุบันภารกิจงานในการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐของ สคร. ประกอบด้วย

1) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐในรัฐวิสาหกิจและกิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด

2) ดำเนินการเกี่ยวกับการวิเคราะห์โครงการร่วมทุนของรัฐ รวมทั้งการจัดหาเงินเพื่อร่วมทุนในกิจการที่รัฐถือหุ้น ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด

3) ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การแต่งตั้ง และการกำกับดูแลกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังและ กรรมการอื่นในรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง ในกิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด

4) ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ

ปัจจุบัน สคร. ทำหน้าที่ในการบริหารหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังถือครองต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 97 หลักทรัพย์ มูลค่ารวม ประมาณ 352,518 ล้านบาท นอกจากนี้ สคร. ยังทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกองทุนที่สำคัญอีกหลายกองทุน เช่น

-  กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการหลักทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเท่ากับ 320,072 ล้านบาท

- กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) เป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและลดภาระทางการคลัง เพื่อพัฒนาตลาดทุนของประเทศและเป็นช่องทางให้นักลงทุนและผู้มีเงินออมสามารถลงทุนในทรัพย์สินของภาครัฐที่มีคุณภาพ โดยปัจจุบันกองทุน Thailand Future Fund มีมูลค่าตามตลาดประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท

[3]

ภารกิจการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ คือ การอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิแก่เอกชนดำเนินกิจการของรัฐ ทั้งในกิจการเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ซึ่งกิจการของรัฐดังกล่าวต้องเป็นกิจการที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ต้องทำตาม กฎหมาย หรือกิจการดังกล่าวจะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หน่วยงานในสังกัด

[แก้]

รายนามผู้อำนวยการ

[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ได้แก่

  1. นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ (21 ตุลาคม 2545 ถึง 30 กันยายน 2548)
  2. นายวิชัย จึงรักเกียรติ (1 ตุลาคม 2548 ถึง 28 ธันวาคม 2549)
  3. ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม (12 มีนาคม 2550 ถึง 30 กันยายน 2552)
  4. นางสาวสุภา ปิยะจิตติ (1 ตุลาคม 2552 ถึง 30 กันยายน 2553)
  5. ดร.สมชัย สัจจพงษ์ (1 ตุลาคม 2553 ถึง 30 กันยายน 2554)
  6. นายประสงค์ พูนธเนศ (1 ตุลาคม 2554 ถึง 30 มิถุนายน 2557)
  7. นายกุลิศ สมบัติศิริ (1 กรกฎาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558)
  8. ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (1 ตุลาคม 2558 ถึง 9 พฤษภาคม 2561)
  9. นายประภาศ คงเอียด (10 พฤษภาคม 2561 ถึง 8 กุมภาพันธ์​ 2564
  10. นางปานทิพย์ ศรีพิมล (9 กุมภาพันธ์​ 2564 ถึงปัจจุบัน)​

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. https://www.sepo.go.th/content/1
  3. https://www.sepo.go.th/content/220