ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาประดิษฐ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธง Conlang เป็นสัญลักษณ์ของการประดิษฐ์ภาษาซึ่งถูกสร้างสรรค์โดยสมาชิกบัญชีจ่าหน้า CONLANG สัญลักษณ์ในธงแทนหอคอยบาเบลที่มีพระอาทิตย์ขึ้นด้านหลัง[1]

ภาษาประดิษฐ์ (อังกฤษ: constructed language หรือ conlang อ่านว่า คอน-แลง)[2] คือภาษาที่สัทวิทยา ไวยากรณ์ และวงศัพท์ของภาษาถูกสร้างขึ้นมาอย่างตั้งใจ และจะแตกต่างจากภาษาธรรมชาติหรือภาษาทั่วไปที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ภาษาประดิษฐ์สามารถถูกเรียกว่า artificial languages หรือ invented languages ในภาษาอังกฤษหรือ ภาษาตามแผน (planned languages)[3]และภาษาบันเทิงคดี (fictional language) ในบางกรณี ภาษาตามแผนคือภาษาที่ถูกออกแบบอย่างมีจุดประสงค์และเป็นผลลัพธ์ของการแทรกแซงควบคุมโดยไตร่ตรองซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการวางแผนภาษา[4]

มีหลายสาเหตุในการประดิษฐ์ภาษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเพื่อช่วยในการสื่อสารระหว่างผู้คนจากหลายเชื้อชาติ (ดูภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติและรหัส) เช่น ภาษาเอสเปรันโต ภาษาอิดอหรือภาษาอินเตร์ลิงกวา การนำมาใช้ในวรรณกรรมและบันเทิงคดีเพื่อสร้างความสมจริงกับฉากท้องเรื่องเช่นภาษาพาร์เซลในวรรณกรรม แฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาษาซินดารินและภาษาเควนยาในวรรณกรรมมิดเดิลเอิร์ธของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน หรือภาษานาเม็กในการ์ตูนดราก้อนบอล การทดลองในสาขาวิชาภาษาศาสตร์ ประชานศาสตร์และการเรียนรู้ของเครื่อง การสร้างสรรค์ทางศิลปะ (artlang) หรือสำหรับบางคนก็ประดิษฐ์ภาษาเพียงเพราะความชอบส่วนตัว นอกจากคำศัพท์แล้วยังมีการประดิษฐ์ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์เพื่อนำมาใช้ในภาษาประดิษฐ์ด้วย

ภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติและภาษาอื่น ๆ ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานจริงในการสื่อสารของมนุษย์บางครั้งถูกเรียกว่า ภาษาตามแผน คำว่าการวางแผนภาษา (language planning) ในการใช้งานนอกเหนือวัฒนธรรมเอสเปรันโต (esperanto culture) หมายถึงแผนการในการวางมาตรฐานภาษาธรรมชาติ เช่นนี้แล้วแม้แต่ "ภาษาธรรมชาติ" ก็สามารถถือเป็นภาษาประดิษฐ์ได้ในบางประเด็น คำบางคำอาจถูกประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยการตัดสินใจอย่างตระหนัก ไวยากรณ์บัญญัติ (language prescription) ซึ่งมีมาแต่โบราณของตันติภาษา (classical language) เช่นภาษาละตินและสันสกฤตเป็นการประมวลภาษาด้วยการใช้กฎ การประมวลเช่นนี้เป็นส่วนกลางระหว่างกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติและพัฒนาการของภาษา กับการประดิษฐ์ภาษาอย่างชัดแจ้ง คำว่า glossopoeia (อ่านว่า กลอสโซเปีย) ก็ถูกใช้แทนคำว่าการประดิษฐ์ภาษาโดยเฉพาะในการประดิษฐ์ภาษาเชิงศิลปะ[5]

ผู้พูดภาษาประดิษฐ์หาได้ยากมาก ตัวอย่างเช่นการทำสำมะโนของฮังการีในปี ค.ศ. 2011 พบว่ามีผู้พูดภาษาเอสเปรันโตอยู่ 8397 คน[6] และการทำสำมะโนในปี ค.ศ. 2001 พบว่ามีผู้พูดภาษาโรมานิด (Romanid) อยู่ 10 คน ภาษาอินเตร์ลิงกวากับภาษาอิดอภาษาละ 2 คน และอิดิโอมเนอูตรัล (Idiom Neutral) กับภาษามุนโดลิงโก (Mundolinco) ภาษาละ 1 คน[7] การทำสำมะโนของรัสเซียในปี ค.ศ. 2010 พบว่ามีผู้พูดภาษาเอสเปรันโตในประเทศรัสเซียประมาณ 992 คน ภาษาอิดอ 9 คน ภาษา Edo หนึ่งคน และไม่มีใครพูดภาษาสโลวิโอ (Slovio) หรือภาษาอินเตร์ลิงกวาเลย[8]

ตามแผน ประดิษฐ์ หรือสังเคราะห์

[แก้]

คำว่าตามแผน (planned) ประดิษฐ์ (constructed) หรือสังเคราะห์ (artificial) ถูกใช้ต่างกันในบางธรรมเนียม ตัวอย่างเช่นผู้พูดภาษาอินเตร์ลิงกวาบางคนบอกว่าภาษานี้ไม่ใช่ภาษาประดิษฐ์เพราะว่าไม่มีเนื้อหาที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเลย แต่คำศัพท์ของภาษาอินเตร์ลิงกวาก็ยืมมาจากภาษาธรรมชาติ ไวยากรณ์ก็มีรากฐานจากภาษาเหล่านั้น และยังมีความไม่สม่ำเสมออยู่ระดับหนึ่งอีก อย่างไรก็ตามผู้สนับสนุนนิยมพรรณนาคำศัพท์และไวยากรณ์ว่าด้วยคำว่า "เป็นมาตรฐาน" มากกว่า "ประดิษฐ์" หรือ "สังเคราะห์" ในทางเดียวกันละติโนซิเนเฟล็กซิโอเน (Latino sine flexione; LsF หรือภาษาละตินที่ไม่ผันคำ) เป็นภาษาละตินที่ถูกทำให้ง่ายลงด้วยการนำการผันคำออกไป คนบางกลุ่มนิยมเรียกพัฒนาการของภาษาแบบนี้ว่า "การวางแผน" มากกว่า "การประดิษฐ์" ผู้พูดภาษาเอสเปรันโตและเอสเปรันติโดพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า "artificial" หรือสังเคราะห์เพราะพวกเขาปฏิเสธว่าการใช้ภาษาของพวกเขาในสื่อสารของมนุษย์ไม่มีอะไรที่หรือไม่เป็นธรรมชาติเลย

ในทางตรงกันข้ามนักปราชญ์บางคนอ้างว่าภาษาของมนุษย์ทุกภาษาเป็นภาษาประดิษฐ์หรือสังเคราะห์ทั้งสิ้น ยักษ์ตนหนึ่งในนิยายของฟร็องซัว ราเบอแลได้กล่าวว่า: "การบอกว่าเรามีภาษาธรรมชาติเป็นการใช้คำที่ผิด ภาษาเป็นเสียงซึ่งผู้คนสร้างขึ้นและยอมรับโดยพลการ และไม่ได้มีความหมายโดยธรรมชาติแต่โดยอำเภอใจ[ของมนุษย์]ตามอย่างที่พวกนักตรรกวิทยาบอก"[a][9]

ยิ่งกว่านั้นภาษาทดลอง (experimental) หรือภาษาบันเทิงคดีสามารถถือว่า เป็นธรรมชาติ ได้หากเป็นการจำลองภาษาในโลกจริง เช่นหากภาษาเชิงธรรมขาติถูกสร้างขึ้นมาอย่าง ทุติยภูมิ จากภาษาอื่น (a posteriori, หมายถึงภาษาประดิษฐ์ที่สร้างบนรากฐานของภาษาอื่นที่จะเป็นภาษาประดิษฐ์หรือภาษาจริงก็ได้) ภาษานั้นควรเลียนแบบกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสัทวิทยา คำศัพท์ และไวยากรณ์แบบธรรมชาติด้วย ภาษาบันเทิงคดีเชิงธรรมชาติมักไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้ที่ง่ายแต่มีแนวโน้มที่จะยากและซับซ้อนมากกว่า ซึ่งต่างจากภาษาเช่นอินเตร์ลิงกวาที่มีไวยากรณ์ วากยสัมพันธ์ และอักขรวิธีที่ง่ายกว่าภาษาต้นฉบับ (แม้จะยังซับซ้อนและไม่ปรกติเท่าเอสเปรันโตและภาษาที่สืบทอดมา) โดยทั่วไปภาษาบันเทิงคดีเชิงธรรมชาติจะเลียนแบบพฤติกรรมของภาษาธรรมชาติเช่นคำนามกับคำกริยาไม่ปรกติ (irregular verb) และกระบวนการทางระบบเสียงที่ยุ่งยากซับซ้อน

ภาพรวม

[แก้]

ภาษาประดิษฐ์ส่วนใหญ่สามารถถูกแบ่งออกอย่างกว้าง ๆ ตามจุดประสงค์ได้ดังต่อไปนี้:

ขอบเขตระหว่างประเภทต่าง ๆ ไม่มีความชัดเจนแต่ประการใด[11] ภาษาประดิษฐ์ภาษาหนึ่งสามารถถูกจัดอยู่ในประเภทได้หลายประเภท ภาษาเชิงตรรกะที่ถูกประดิษฐ์มาเพื่อความสุนทรีย์ก็สามารถถูกจัดเป็นภาษาเชิงศิลปะได้ และก็อาจถูกประดิษฐ์ขึ้นมาจากเหตุจูงใจเชิงปรัชญาและเจตนาเพื่อให้ภาษานี้ถูกใช้เป็นภาษาช่วยสื่อสาร ไม่มีกฎใด ๆ ซึ่งอยู่ในกระบวนการประดิษฐ์ภาษาหรือเป็นการกำหนดจากภายนอกที่จะจำกัดให้ภาษาประดิษฐ์ภาษาหนึ่งถูกจัดอยู่เป็นได้เพียงประเภทเดียว

ภาษาประดิษฐ์อาจมีเจ้าของภาษาหรือผู้พูดเป็นภาษาแม่ได้หากเด็กอายุน้อยได้เรียนรู้ภาษานั้นจากพ่อแม่ที่พูดได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อตามเอทโนล็อกแล้ว มีผู้พูดภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาแม่ (native esperanto speakers) อยู่ถึง 200 ถึง 2000 คน ดาร์มอนด์ สเปียร์ส (d'Armond Speers) ผู้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสถาบันภาษาคลิงงอน (Klingon language institute) ได้พยายามเลี้ยงลูกให้พูดภาษาคลิงงอนเป็นภาษาแม่ร่วมกับภาษาอังกฤษ[12][ต้องการตรวจสอบความถูกต้อง]

เมื่อใดที่ภาษาประดิษฐ์มีประชาคมผู้ที่พูดได้อย่างคล่องแคล่วและหากมีผู้พูดเป็นภาษาแม่จำนวนหนึ่งอีก ภาษานี้ก็จะเริ่มวิวัฒน์และเสียสถานภาพความเป็นภาษาประดิษฐ์ไป ตัวอย่างเช่นภาษาฮีบรูสมัยใหม่ (Modern Hebrew) บรรทัดฐานการออกเสียงของภาษานี้และตัวภาษานี้เองได้พัฒนามากจากธรรมเนียมของภาษาฮีบรู (Hebrew) ที่มีอยู่ก่อนแล้วเช่นภาษาฮีบรูมิซนะห์กับภาษาฮีบรูไบเบิลและใช้การออกเสียงแบบเซฟาร์ดิกแทนที่จะเป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมด ภาษานี้ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมาหลายครั้งตั้งแต่การก่อตั้งประเทศอิสราเอลเมื่อปี ค.ศ. 1948 (Hetzron 1990:693) อย่างไรก็ตามนักภาษาศาสตร์ กิลอัด สุขเคอร์แมน อ้างว่าภาษาฮีบรูสมัยใหม่ที่เขาเองเรียกว่า "Israeli" หรือภาษาอิสราเอลเป็นลูกผสมเซไมต์-ยุโรปที่นอกจากภาษาฮีบรูแล้วยังมีรากฐานเป็นภาษายิดดิชและภาษาอื่น ๆ ที่นักฟื้นฟูในสมัยนั้นพูด[13] สุขเคอร์แมนจึงสนับสนุนการแปลไบเบิลภาษาฮีบรูเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า "Israeli" หรือภาษาอิสราเอล[14] ภาษาเอสเปรันโตในฐานะของภาษาพูดที่มีชีวิตได้วิวัฒน์อย่างมีนัยยะสำคัญจากพิมพ์เขียวบัญญัติที่ถูกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1887 จนกระทั่ง Fundamenta Krestomatio ซึ่งเป็นการเก็บรวมเนื้อหาที่เป็นภาษาเอสเปรันโตฉบับสมัยใหม่ปี ค.ศ. 1903 ต้องใส่หมายเหตุท้ายหน้าหลายข้อเกี่ยวกับความแตกต่างของคำศัพท์และวากยสัมพันธ์ระหว่างภาษาเอสเปรันโตสมัยแรก ๆ กับสมัยใหม่[15]

ผู้สนับสนุนการใช้ภาษาประดิษฐ์มีหลายเหตุผลเพื่อสนับสนุน บางครั้งสมมติฐานซาเพียร์-วอร์ฟ (linguistic relativity) ที่โด่งดังก็ถูกอ้างอิง สมมติฐานนี้อ้างว่าภาษาที่คน ๆ หนึ่งพูดมีอิทธิพลต่อวิธีการคิดของคน ๆ นั้น ดังนั้นภาษาที่ "ดีกว่า" ควรจะทำให้ผู้พูดคิดได้อย่างชัดเจนหรือชาญฉลาดมากกว่าหรือคิดในมุมมองที่ครอบคลุมมากกว่า นี่คือเจตนาของภาษาสตรีนิยมชื่อภาษาลาดัน (Láadan) ที่ ซูเซตต์ ฮาเดน เอลกิน (Suzette Haden Elgin) ประดิษฐ์ขึ้น[16] ภาษานี้ปรากฏในซีรีส์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์สตรีนิยม (feminist science fiction) ของเธอชื่อ Native Tongue[17] ภาษาประดิษฐ์สามารถถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดความคิดมนุษย์ด้วยเช่นนิวสปีกของ จอร์จ ออร์เวลล์ หรือเพื่อทำให้ง่ายเช่นภาษาโทคิโพนา ในทางตรงกันข้ามนักภาษาศาสตร์บางคนเช่น สตีเวน พิงเกอร์ (Steven Pinker) อ้างว่าความคิดเป็นอิสระจากภาษา พิงเกอร์กล่าวไว้ในหนังสือ The Language Instinct ว่าเด็ก ๆ คิดค้นคำแสลงหรือแม้แต่ไวยากรณ์ขึ้นมาใหม่เองในรุ่นแต่ละรุ่น นักภาษาศาสตร์เหล่านี้อ้างว่าความพยายามที่จะควบคุมพิสัยความคิดมนุษย์ผ่านการปฏิรูปภาษาจะเป็นความล้มเหลวเพราะแนวความคิดเช่น "เสรีภาพ" ก็จะปรากฏขึ้นเป็นคำใหม่แม้คำเก่าจะถูกลบล้างออกไปจากภาษา

ผู้สนับสนุนกล่าวอ้างว่าภาษาหนึ่งทำให้สามารถแสดงออกและเข้าใจแนวคิดได้ง่ายกว่าในด้านหนึ่งและยากกว่าในด้านอื่น นี่สามารถเห็นได้ชัดในตัวอย่างเช่นภาษาโปรแกรมที่ภาษาต่างกันเขียนโปรแกรมบางประเภทได้ง่ายกว่าหรือยากกว่าภาษาอื่น ๆ

อีกเหตุผลที่ถูกอ้างอิงสำหรับการใช้ภาษาประดิษฐ์ชื่อว่ากฎโทรทรรศน์ซึ่งกล่าวว่าการเรียนภาษาประดิษฐ์ที่ง่ายตามด้วยภาษาธรรมชาติจะใช้เวลาน้อยกว่าการเริ่มเรียนภาษาธรรมชาติเลย ดังนั้นหากใครต้องการเรียนภาษาอังกฤษบางคนก็แนะนำให้เรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานก่อน ภาษาประดิษฐ์เช่นภาษาเอสเปรันโตและอินเตร์ลิงกวานั้นง่ายกว่าจริงเพราะขาดคำกริยาไม่ปรกติและไวยากรณ์แปลก ๆ งานศึกษาบางงานพบว่าการเรียนภาษาเอสเปรันโตช่วยในการเรียนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาประดิษฐ์ (ดูคุณค่าเพื่อเตรียมการเรียนรู้ของภาษาเอสเปรันโต (propaedeutic value of Esperanto))

รหัสของภาษาประดิษฐ์ประกอบด้วย ISO 639-2 "art" สำหรับภาษาประดิษฐ์ แต่บางภาษาก็มีรหัสภาษา ISO 639 ของตัวเอง (เช่น "eo" กับ "epo" สำหรับภาษาเอสเปรันโต "jbo" สำหรับภาษาโลจบาน "ia" กับ "ina" สำหรับภาษาอินเตร์ลิงกวา "tlh" สำหรับภาษาคลิงงอน และ "io" กับ "ido" สำหรับภาษาอิดอ).

ข้อจำกัดหนึ่งของภาษาประดิษฐ์คือหากภาษาถูกประดิษฐ์มาเพื่อใช้เสมือนเป็นภาษาธรรมชาติในสังคมต่างชาติหรือต่างดาวในนวนิยายเช่นภาษาเดอธราคี (Dothraki) และภาษาวาลีเรียนสูง (high Valyrian) ในซีรีส์ Game of Thrones ซึ่งถูกดัดแปลงมาจากชุดหนังสือ A Song of Ice and Fire นักแสดงจะต้องสามารถออกเสียงภาษานั้นได้ง่ายและภาษานั้นยังต้องเข้าและรวมกับชิ้นส่วนของภาษาที่ถูกประดิษฐ์มาก่อนแล้วโดยผู้เขียนหนังสือ และดีขึ้นอีกหากภาษายังสามารถเข้ากับชื่อของผู้พูดในนิยายด้วย

ภาษาปฐมภูมิและทุติยภูมิ

[แก้]

ภาษาประดิษฐ์ปฐมภูมิ (a priori) คือภาษาที่ลักษณะต่าง ๆ (ซึ่งรวมไปถึงคำศัพท์ ไวยากรณ์ ฯลฯ) ไม่ได้ถูกประดิษฐ์บนรากฐานของภาษาที่มีอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้ามภาษาทุติยภูมิ (a posteriori) ถูกประดิษฐ์บนรากฐานของภาษาที่มีอยู่แล้ว[10] แต่ทว่าการแบ่งประเภทในรูปแบบนี้ไม่สัมบูรณ์ เพราะภาษาประดิษฐ์หลายภาษาสามารถกล่าวได้ว่าเป็นปฐมภูมิเมื่อพิจารณาปัจจัยทางภาษาบางข้อ แต่ก็เป็นทุติยภูมิได้หากพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย

ภาษาปฐมภูมิ

[แก้]

ภาษาปฐมภูมิคือภาษาประดิษฐ์ที่ลักษณะจำนวนหนึ่งหรือทั้งหมดไม่มีรากฐานเป็นภาษาที่มีอยู่แล้วแต่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา หรือมีลักษณะของการทำงานหรือจุดประสงค์ที่ต่างกัน ภาษาปฐมภูมิบางภาษาถูกออกแบบมาเพื่อช่วยสื่อสารในระดับนานาชาติด้วยการทิ้งสิ่งที่อาจถือได้ว่าช่วยให้ผู้พูดภาษาต้นฉบับมีความได้เปรียบในการเรียน ภาษาอื่น ๆ เช่นภาษาเชิงปรัชญาหรือภาษาเชิงอนุกรมวิธานพยายามจัดประเภทคำศัพท์เพื่อแสดงถึงปรัชญาเบื้องหลังหรือเพื่อให้สามารถจำคำศัพท์ใหม่ได้ง่าย สุดท้ายภาษาเชิงศิลปะซึ่งถูกสร้างมาเพื่อใช้ในส่วนตัวหรือผ่านสื่อบันเทิงคดีใช้ไวยากรณ์และคำศัพท์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาและเป็นที่เข้าใจอย่างดีว่าเป็นภาษาปฐมภูมิ

ตัวอย่างของภาษาปฐมภูมิ

[แก้]
ภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติ
[แก้]
ภาษาทดลอง
[แก้]
ภาษาเชิงศิลปะ
[แก้]

ภาษาทุติยภูมิ

[แก้]

ภาษาทุติยภูมิ ตามนิยามของ หลุยส์ กูตูรา คือภาษาประดิษฐ์ใด ๆ ก็ตามที่องค์ประกอบต่าง ๆ ถูกยืมมาจากหรือมีรากฐานบนภาษาที่มีอยู่แล้ว คำนี้สามารถขยายใช้เพื่อหมายถึงภาษาธรรมชาติฉบับควบคุม (controlled natural language) ด้วย คำนี้มักถูกใช้เพื่อหมายถึงรายการคำศัพท์โดยไม่คำนึงถึงลักษณะอื่น ๆ อนึ่งภาษาประดิษฐ์เชิงเขต (zonal constructed languages) (ภาษาช่วยสื่อสารสำหรับผู้พูดตระกูลภาษาตระกูลหนึ่ง) เป็นทุติยภูมิโดยนิยาม

ในขณะที่ภาษาช่วยสื่อสารส่วนใหญ่เป็นภาษาทุติยภูมิเนื่องมาจากหน้าที่สำหรับการใช้เป็นสื่อกลางของการสื่อสาร ภาษาเชิงศิลปะหลายภาษาเป็นภาษาทุติยภูมิโดยออกแบบเพื่อนำมาจำลองประวัติศาสตร์ทางเลือก (alternate history) ความแพร่หลายและการแจกแจงของคุณลักษณะต่าง ๆ ในภาษามักเป็นกุญแจสำคัญในการจำแนกว่าภาษาใดเป็นปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ

ตัวอย่างของภาษาทุติยภูมิ

[แก้]
ภาษาเชิงศิลปะ
[แก้]
ภาษาช่วยสื่อสารควบคุม
[แก้]
ภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติ
[แก้]
ภาษาช่วยสื่อสารเชิงเขต
[แก้]

ประวัติ

[แก้]

การทดลองทางภาษาในสมัยโบราณ

[แก้]

การใคร่ครวญถึงไวยากรณ์มีมาตั้งแต่ยุคสมัยคลาสสิก ดังปรากฏในข้อโต้เถียงของเฮอร์โมเกเนสใน คราติลุส (Cratylus) ของเพลโตว่าคำศัพท์ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่มันหมายถึงโดยเนื้อแท้ แต่ผู้คนเอา "ส่วนหนึ่งของเสียงตัวเอง... ไปใช้เรียกสิ่งนั้น"[b] อาเธไนอุสแห่งนาวกราติส (Athenaeus of Naucratis) เล่าเรื่องเกี่ยวกับบุคคลสองคนไว้ใน Deipnosophistae เล่มที่สาม: Dionysius แห่งซิซิลีและ Alexarchus

Dionysius แห่งซิซิลีได้สร้างคำสร้างใหม่เช่น menandros "พรหมจารี" (จาก menei "รอ" และ andra "สามี") menekratēs "เสา" (จาก menei "มันอยู่ที่เดียว" และ kratei "มันแข็งแรง") และ ballantion "หอก" (จาก balletai enantion "โยนใส่ใครคนหนึ่ง") ในขณะที่คำภาษากรีกทั่วไปสำหรับสามคำนี้คือ parthenos stulos และ akon อาเธไนอุสเล่าเรื่องที่ฟังมาจาก Heracleides แห่ง Lembos ว่า Alexarchus แห่งมาซิดอนผู้ซึ่งเป็นพี่ชายของกษัตริย์ Cassander แห่งมาซิดอนและเป็นผู้ก่อตั้งเมือง Ouranopolis "ได้เสนอคำศัพท์ที่แปลกประหลาดซึ่งเรียกไก่ตัวผู้ว่า "ตัวร้องตอนเช้า" ช่างตัดผมว่า "นักโกนมรรตัย" เงิน drachma ว่า "เงินแปรรูป"...และเรียกผู้ส่งสาส์นว่า "aputēs" [จาก ēputa "เสียงดัง"]"[c] "เขาเคยเขียนสักอย่าง... หาเจ้าหน้าที่รัฐใน Cassandreia... ส่วนในจดหมายเขียนอะไรไว้นั้น ในความคิดผมแม้แต่เทพเจ้าไพเธียนก็อ่านไม่ออก"[d] ในขณะที่วิธีการทำงานของไวยากรณ์ที่ถูกเสนอโดยนักปราชญ์ยุคคลาสสิกจะถูกออกแบบมาเพียงเพื่ออธิบายภาษาที่มีอยู่แล้ว (ภาษาละติน ภาษากรีก ภาษาสันสกฤต) และไม่ได้นำมาใช้เพื่อประดิษฐ์ไวยากรณ์ใหม่ ๆ ในไวยากรณ์วรรณนาภาษาสันสกฤตของปาณินิซึ่งอยู่ในราวสมัยเดียวกับเพลโต ได้มีการสร้างกฎชุดหนึ่งเพื่ออธิบายภาษา งานด้านไวยากรณ์ของเขาจึงถือได้ว่าเกี่ยวกับทั้งภาษาธรรมชาติและภาษาประดิษฐ์

ภาษาประดิษฐ์ช่วงต้น

[แก้]
หน้า 68r ของข้อเขียนวอยนิช หน้าพับสามหน้าจากข้อเขียนมีแผนภาพที่ดูเหมือนจะเกี่ยวกับดาราศาสตร์

ตำนานเรื่องหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ในงานเขียนภาษาไอริชยุคคริสตศตวรรษที่ 7 Auraicept na n-Éces อ้างว่า ฟีเนียส ฟอร์เซด (Fénius Farsaid) ได้ไปเยือนชีนาร์ (Shinar) หลังจากการโกลาหลของภาษา (confusion of tongues) และเขาได้ศึกษาภาษาต่าง ๆ กับพวกนักวิชาการของเขาเป็นเวลาสิบปีเพื่อนำลักษณะที่ดีที่สุดของแต่ละภาษามาสร้าง in Bérla tóbaide ("ภาษาที่ถูกเลือก") ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อภาษานี้ว่า Goídelc (old irish) หรือภาษาไอริชนั่นเอง นี่ดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่แนวคิดการประดิษฐ์ภาษาถูกกล่าวถึงในงานวรรณกรรม

ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาธรรมชาติภาษาแรก ๆ อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ "เหนือธรรมชาติ" เชิงรหัสยะ (mystical) หรือถูกดลใจโดยเทพเจ้ามากกว่าถูก "ประดิษฐ์" ตัวอย่างเช่นภาษาลิงกวาอิกโนตา (Lingua Ignota) ที่เซนต์ ฮิลเดการ์ด ฟอน บิงเงน บันทึกไว้ในคริสตศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นภาษาประดิษฐ์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาทั้งหมดเป็นภาษาแรก[16] และภาษานี้ยังเป็นภาษาลับเชิงรหัสยะส่วนตัว (ดูภาษาของเทวดา (Enochian) เพิ่ม) ภาษาบาเลยเบอเลิน (Balaibalan) คืออีกตัวอย่างที่สำคัญจากวัฒนธรรมตะวันออกกลางซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในปีคริสตศตวรรษที่ 16[5] การใคร่ครวญถึงไวยากรณ์ในทางกับบะลาห์ (Kabbalah) มุ่งจะฟื้นภาษาดั้งเดิมที่อดัมกับอีฟ (Adam and Eve) ใช้พูดในแดนสุขาวดี (Paradise) ซึ่งได้หายไปในการโกลาหลของภาษา ดันเต อาลีกีเอรีได้เสาะหาภาษาอิตาลีในอุดมคติที่เหมาะกับวรรณกรรมในความเรียง De vulgari eloquentia ซึ่งเป็นร่างแผนการสร้างภาษาในอุดมคติของคริสต์ศาสนิกชนแผนแรก

การทำให้ภาษาสมบูรณ์แบบ

[แก้]

ความสนใจช่วงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอียิปต์โบราณโดยเฉพาะที่เด่นคือการค้นพบ Hieroglyphica ของHorapolloและการเผชิญกับอักษรจีนเป็นครั้งแรกทำให้เกิดความพยายามสร้างภาษาเขียนที่สมบูรณ์แบบ โยฮันเนส ทริเธมีอุส (Johannes Trithemius) พยายามแสดงให้เห็นว่าภาษาทุกภาษาสามารถถูกลดรูปจนเหลือเพียงภาษาเดียวได้ในวรรณกรรม Steganographia และ Polygraphia ของเขา ความสนใจในภาษาเชิงเวทมนตร์ดำเนินต่อไปโดยพวกโรสิครูเชียน (rosicrucianism) และนักเล่นแร่แปรธาตุในคริสตศตวรรษที่ 17 (เช่นภาษาเอโนเคียนของจอห์นดี (John Dee (Mathematician))

ภาษาเชิงดนตรี (Musical language) ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยายุ่งเกี่ยวกับเรื่องรหัสยลัทธิ เวทมนตร์ และการเล่นแร่แปรธาตุ และบางครั้งก็ถูกเรียกว่าภาษาของนก ภาษาซซอลเรซอลประดิษฐ์แนวคิดนี้ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1817 ในบริบทที่เป็นเชิงปฏิบัติมากกว่า

ศตวรรษที่ 17 และ 18: การอุบัติของภาษาเชิงปรัชญา

[แก้]

แผนการสร้างภาษา "เชิงปรัชญา" หรือ "ปฐมภูมิ" เพิ่มขึ้นในคริสศตวรรษที่ 17 เช่น:

ภาษาเชิงอนุกรมวิธานเหล่านี้ผลิตระบบการจัดประเภทแบบลำดับขั้นที่มีเจตนาเพื่อส่งผลให้เกิดทั้งนิพจน์พูดและเขียน lingua generalis ของ ก็อทฟรีท วิลเฮ็ล์ม ไลบ์นิทซ์ มีจุดมุ่งหมายคล้ายกันเพื่อสร้างคลังตัวอักษรที่ผู้ใช้สามารถใช้แสดงการคำนวณที่จะให้ผลเป็นจริงโดยอัตโนมัติ ซึ่งผลข้างเคียงของการประดิษฐ์ภาษานี้ทำให้เกิดตรรกศาสตร์เชิงผสานทวิภาค (binary combinatory logic) แผนการเหล่านี้นอกจากการจำลองหรือลดรูปไวยากรณ์แล้วยังสนใจถึงการจัดเรียงความรู้ทั้งหมดของมนุษย์ทั้งหมดให้เป็น "ตัวอักษร" หรือลำดับขั้น นี่เป็นมโนคติที่ว่าการเรืองปัญญาจะนำไปสู่ Encyclopédie อย่างเลี่ยงไม่ได้ ภาษาประดิษฐ์ยุคคริสตศตวรรษที่ 17-18 หลายภาษาใช้ตัวหนังสือสัญลักษณ์จึงเป็นภาษาเขียนโดยบริสุทธิ์และไม่มีรูปแบบการพูดใด ๆ หรือรูปแบบการพูดที่ไม่ต่างไปจากภาษาแม่ของผู้อ่านมากนัก[19]

ไลบ์นิทซ์และเหล่านักสารานุกรมคิดขึ้นได้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถจัดระเบียบความรู้ของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนด้วยแผนภาพต้นไม้ ดังนั้นจึงไม่สามารถประดิษฐ์ภาษา ปฐมภูมิ ที่วางรากฐานบนการจัดประเภทแนวคิดเช่นนั้น นักเขียนผู้ที่ไม่รู้ถึงประวัติศาสตร์ของแนวคิดนี้ยังคงเดินหน้าต่อและนำเสนอภาษาเชิงอนุกรมวิธานเรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 (เช่นภาษาโร) แต่ภาษาออกแบบใหม่ ๆ เริ่มมีจุดมุ่งหมายที่ถ่อมตัวลง บางภาษาจำกัดตัวเองไว้ในสาขาวิชาเฉพาะทางเช่นรูปนัยนิยมเชิงคณิตศาสตร์หรือแคลคูลัส (เช่นภาษาลิงโคส (Lincos language) และภาษาโปรแกรม) บางภาษาถูกออกแบบมาเพื่อขจัดความกำกวมทางวากยสัมพันธ์ (syntactical ambiguity) (เช่นภาษาโลกลาน (Loglan) และภาษาโลจบาน) หรือเพื่อทำให้เกิดความกระชับสูงสุด (เช่นภาษาอิธคูอิล [16])

ศตวรรษที่ 19 และ 20: ภาษาช่วยสื่อสาร

[แก้]

แม้แต่ใน Encyclopédie ก็เริ่มมีการมุ่งความสนใจหาภาษาช่วยสื่อสารแบบทุติยภูมิ ฌออากีม แฟเก เดอ วีลเนิฟว์ (Joachim Faiguet de Villeneuve) เขียนข้อเสนอสั้น ๆ ในบทความใน Langue ซึ่งเสนอไวยากรณ์ของภาษาฝรั่งเศสที่ถูกกำหนดให้เป็นปรกติหรือ "กะทัดรัด" (laconic) ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติ (IALs) เช่นนั้นถูกนำเสนอในหลากหลายรูปแบบมาก จนหลุยส์ กูตูรา (Louis Couturat) และเลออปอล โล (Léopold Leau) ได้เขียนบทวิจารณ์ถึงข้อเสนอแผนการต่าง ๆ ถึง 38 แผนการลงใน Histoire de la langue universelle (ต.ศ. 1903)

ภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติที่ส่งผลกระทบระดับนานาชาติภาษาแรกคือภาษาโวลาปุกซึ่งถูกเสนอโดยโยฮันน์ มาร์ทีน ชไลเออร์ (Johann Martin Schleyer) ในปี ค.ศ. 1879 ซึ่งภายในหนึ่งทศวรรษก็มีชมรมคนพูดภาษาโวลาปุกถึง 283 ชมรมทั่วโลก อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างชไลเออร์และผู้ใช้ภาษาคนสำคัญคนอื่น ๆ ทำให้มีการแตกแยกกันและภายในช่วงกลางคริสตทศวรรษที่ 1890 ภาษาโวลาปุกก็ได้เลือนหายไปจากความโด่งดัง จึงเป็นการเปิดทางให้ภาษาเอสเปรันโตซึ่งถูกเสนอโดยแอล. แอล. ซาเมนฮอฟในปีค.ศ. 1887 และภาษาที่สืบทอดมา ภาษาช่วยสื่อสารที่มีผู้พูดจำนวนนัยยะสำคัญภาษาล่าสุดคือภาษาอินเตร์ลิงกวาซึ่งปรากฏขึ้นในปี ค.ศ. 1951 เมื่อสมาคมภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติ (International Auxiliary Language Association) ได้ตีพิมพ์พจนานุกรมภาษาอินเตร์ลิงกวา-อังกฤษและไวยากรณ์ประกอบ ความสำเร็จของภาษาเอสเปรันโตไม่ได้หยุดความพยายามของผู้คนที่จะประดิษฐ์ภาษาช่วยสื่อสารใหม่ ๆ ขึ้นมา ตัวอย่างเช่นภาษาเอวโรเลงโก (Eurolengo) ของ เลสลี่ โจนส์ เป็นภาษาซึ่งผสมผสานองค์ประกอบจากภาษาอังกฤษและภาษาสเปน

ภาษาโลกลาน (ค.ศ. 1955) และภาษาที่สืบทอดต่อมาเป็นการย้อนกลับในทางปฏิบัติสู่จุดมุ่งหมายที่เป็นภาษาปฐมภูมิ เสริมด้วยความต้องการความสามารถในการใช้งานของภาษาช่วยสื่อสาร จนถึงขณะนี้ภาษาปฐมภูมิเหล่านี้ยังรวบรวมผู้พูดได้เพียงกลุ่มเล็ก ๆ

ภาษาปฏิสัมพันธ์หุ่นยนต์ (Robot Interaction Language, ROILA) (ค.ศ. 2010) เป็นภาษาพูดที่ถูกประดิษฐ์มาให้เหมาะสมกับการสื่อสารระหว่างมนุษย์และเครื่องมากที่สุด จุดมุ่งหมายหลักของ ROILA คือ มนุษย์จะสามารถเรียนรู้ได้ง่าย และเหมาะสมที่สุดสำหรับการรู้จำอย่างมีประสิทธิภาพของขั้นตอนวิธีการรู้จำคำพูดของคอมพิวเตอร์

ภาษาเชิงศิลปะ

[แก้]

ภาษาสามารถเป็นศิลปะในขอบเขตของการใช้ภาษาเป็นแหล่งของความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินในศิลปะ กวีนิพนธ์ อักษรวิจิตร หรือเป็นคำอุปลักษณ์เพื่อพูดถึงหัวข้อเช่นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความไม่มั่นคงของปัจเจกบุคคลในโลกยุคโลกาภิวัฒน์

แต่บางคนมีความสุขกับการประดิษฐ์ภาษาเองด้วยการตัดสินใจต่าง ๆ จากเหตุผลทางสุนทรียะหรือวรรณกรรมโดยไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์เพื่อนำไปใช้ใด ๆ ภาษาเชิงศิลปะเช่นนี้เริ่มปรากฏขึ้นในวรรณกรรมสมัยใหม่ยุคแรก ๆ (เช่นใน Gargantua and Pantagruel และบริบทของยูโทเปีย) และเพิ่งเริ่มได้รับชื่อเสียงในคริสตศตวรรษที่ 20[5] นวนิยาย A Princess of Mars (ค.ศ. 1912) โดย เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส (Edgar Rice Burroughs) อาจนับได้ว่าเป็นบันเทิงคดีเรื่องแรกของศตวรรษที่มีการใช้ภาษาประดิษฐ์ในเรื่อง เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ได้พัฒนาตระกูลของภาษาบันเทิงคดีที่เกี่ยวข้องกันและเป็นคนแรกที่พูดถึงภาษาเชิงศิลปะในที่สาธารณะในการบรรยายที่เขาให้กับที่ประชุมหนึ่งในปี ค.ศ. 1931 ชื่อ "A Secret Vice" ภาษานิวสปีกของ จอร์จ ออร์เวลล์ ถือว่าเป็นการเสียดสีภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติมากกว่าเป็นภาษาเชิงศิลปะแท้

ภายในทศวรรษแรกของคริสตศตวรรษที่ 21 ก็สามารถพบภาษาประดิษฐ์ได้ทั่วไปในโลกอื่นของงานวรรณกรรมบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์และจินตนิมิต หรือที่อาจพบได้มากกว่าคือคำศัพท์ในเรื่องที่มีจำนวนจำกัดมากแต่ก็ถูกนิยามไว้ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่ามีภาษาที่สมบูรณ์หรือเศษส่วนใด ๆ ของภาษาที่มีในเรื่อง ภาษาประดิษฐ์ได้กลายเป็นส่วนที่พบได้เป็นปรกติของวรรณกรรมประเภทเหล่านี้เช่นใน สตาร์ วอร์ส สตาร์ เทรค เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (ภาษาเอลฟ์ (มิดเดิลเอิร์ธ) (Elvish languages (Middle-earth)) Stargate SG-1 แอตแลนติส ผจญภัยอารยนครสุดขอบโลก มหาศึกชิงบัลลังก์ (ภาษาเดอธราคีและภาษาวาลีเรียน (Valyrian languages)) อวตาร ดูน (Dune (Franchise)) และชุดเกมผจญภัยคอมพิวเตอร์ Myst

กรรมสิทธิ์ในภาษาประดิษฐ์

[แก้]

ยังเป็นข้อพิพาทว่าภาษาประดิษฐ์สามารถมีเจ้าของได้หรือไม่และถูกคุ้มครองโดยกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ หรือแม้แต่ความเป็นไปได้ที่จะใช้กฏหมายเหล่านั้นกับภาษาประดิษฐ์

ในคดีความปี ค.ศ. 2015 ซีบีเอสและพาราเมาต์พิกเจอส์ฟ้องร้องโปรเจคท์หนังของแฟนภาพยนต์ที่ชื่อว่า Axanar ข้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการใช้ภาษาคลิงงอนในหนัง ในระหว่างการโต้แย้ง มาร์ก โอครนด์ ผู้เป็นคนออกแบบภาษาคลิงงอนคนเดิมแสดงถึงความแคลงใจว่าการอ้างความเป็นเจ้าของของภาษาของพาราเมาต์พิกเจอส์สมเหตุสมผลหรือไม่[20][21]

เดวิด เจ. ปีเตอร์สัน (David J. Peterson) เป็นนักภาษาศาสตร์ที่ประดิษฐ์ภาษาที่มีชื่อเสียงหลายภาษาเช่นภาษาวาลีเรียนและภาษาเดอธราคี เขาได้กล่าวสนับสนุนแนวความคิดเดียวกันว่า "ในทางทฤษฎีแล้ว ใครก็สามารถเผยแพร่อะไรก็ได้ที่ใช้ภาษาที่ผมสร้าง และในความคิดผม ไม่ว่าจะเป็นผมหรือใครก็ตามก็ไม่ควรจะสามารถไปทำอะไรก็ตามกับสิ่งนั้นได้"[e][22]

อย่างไรก็ตามปีเตอร์สันก็ได้แสดงความกังวลว่าผู้ถือสิทธิของภาษาหนึ่งเป็นไปได้ที่จะฟ้องร้องบุคคลที่เผยแพร่ผลงานในภาษานั้นไม่ว่าความเป็นเจ้าของสิทธิที่อ้างนั้นถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ประพันธ์อาจได้กำไรจากผลงานนั้น

นอกจากนี้ วัสดุการเรียนอย่างครอบคลุมสำหรับภาษาประดิษฐ์เช่นภาษาวาลีเรียนสูงหรือภาษาคลิงงอนก็ได้ถูกเผยแพร่และสามารถเข้าถึงได้โดยไร้ค่าใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มการเรียนภาษาชื่อดิวโอลิงโก แต่หลักสูตรเรียนภาษาเหล่านั้นก็ได้รับอนุญาตจากผู้ถือลิขสิทธิ์แล้วตามลำดับ[22] ฉันทามติทางกฏหมายเรื่องกรรมสิทธิในภาษาประดิษฐ์ยังคงไม่แน่นอนเพราะยังไม่เกิดข้อพิพาทในเรื่องนี้มากเท่าไหร่นัก

องค์กรภาษาประดิษฐ์สมัยใหม่

[แก้]

หนังสือทำมือ (zine) เกี่ยวกับภาษาประดิษฐ์หลายฉบับถูกเผยแพร่ระหว่างคริสตทศวรรษที่ 1970 ถึง 1990 เช่น Glossopoeic Quarterly, Taboo Jadoo, และ The Journal of Planned Languages[23] บัญชีจ่าหน้าภาษาประดิษฐ์ (The Conlang Mailing List) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 และในภายหลังได้มีการแยกออกมาเป็นบัญชีจ่าหน้า AUXLANG ซึ่งมีมุ่งความสนใจไปที่ภาษาช่วยสื่อสารนานาชาติ ในช่วงต้นถึงกลางคริสตทศวรรษที่ 1990 หนังสือทำมือที่เกี่ยวกับภาษาประดิษฐ์บางฉบับถูกเผยแพร่ออกมาในรูปแบบของอีเมล์หรือเว็บไซต์เช่น Vortpunoj[24] และ Model Languages บัญชีจ่าหน้าภาษาประดิษฐ์ได้พัฒนาประชาคมของนักประดิษฐ์ภาษาที่มีธรรมเนียมปฏิบัติของตัวเองเช่นการท้าแปลภาษา (translation challenge) และการผลัดกันแปล (Telephone (game))[25] และศัพท์เฉพาะทางของตัวเอง ซาราห์ ฮิกลีย์ (Sarah Higley) รายงานผลการสำรวจของเธอว่าประชากรของบัญชีจ่าหน้าภาษาประดิษฐ์ส่วนใหญ่เป็นชายจาดทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก และมีคนจากโอเชียเนีย เอเชีย ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ในจำนวนที่น้อย มีพิสัยอายุตั้งแต่ 13 จนถึง 60 กว่าปี ส่วนจำนวนผู้หญิงที่มีส่วนร่วมก็มีจำนวนมากขึ้นตามเวลา การสำรวจในปี ค.ศ. 2001 โดย แพทริก จาร์เร็ตต์ (Patrick Jarrett) แสดงอายุเฉลี่ยของนักประดิษฐ์ภาษาเป็นอายุ 30.65 ปีและอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มประดิษฐ์ภาษาเป็นอายุ 11.83 ปี[26]

ประชาคมออนไลน์ที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานมานี้เช่นกระดานข่าวเว็บไซต์ Zompist.com (ZBB ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001) และกระดานข่าวนักประดิษฐ์ภาษา (Conlanger bulletin board) การสนทนาในลานประชาคมเหล่านี้เกี่ยวกับการนำเสนอภาษาประดิษฐ์ของสมาชิกและการติชมจากสมาชิกคนอื่น เกี่ยวกับภาษาธรรมชาติว่าลักษณะหนึ่งของภาษาประดิษฐ์มีอยู่ก่อนแล้วในภาษาธรรมชาติหรือไม่และวิธีการที่สามารถนำลักษณะที่น่าสนใจของภาษาธรรมชาติมาใช้กับภาษาประดิษฐ์ได้ การโพสต์ข้อความสั้น ๆ ที่น่าสนใจเป็นการท้าแปลภาษา และการสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาของการประดิษฐ์ภาษา หน้าที่ของนักประดิษฐ์ภาษา และคำถามว่าการประดิษฐ์ภาษาเป็นศิลปะหรืองานอดิเรก[5] เธรดหนึงบน ZBB แสดงให้เห็นว่านักประดิษฐ์ภาษาหลายคนใช้เวลากับภาษาประดิษฐ์ภาษาหนึ่งในปริมาณที่น้อยและมักเปลี่ยนภาษาที่ประดิษฐ์อยู่ไปเรื่อย ๆ และมีคนหนึ่งในสามของทั้งหมดที่พัฒนาภาษาประดิษฐ์ภาษาเดิมเป็นเวลาหลายปี[27]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. "C'est abus dire que ayons langaige naturel; les langaiges sont par institution arbitraires et convenances des peuples: les voix, comme disent les dialecticiens, ne signifient naturellement, mais à plaisir."
  2. "a piece of their own voice... to the thing"
  3. "introduced a peculiar vocabulary, referring to a rooster as a "dawn-crier," a barber as a "mortal-shaver," a drachma as "worked silver"...and a herald as an aputēs [from ēputa "loud-voiced"].
  4. "He once wrote something... to the public authorities in Casandreia...As for what this letter says, in my opinion not even the Pythian god could make sense of it."
  5. "Theoretically, anyone can publish anything using any language I created, and, in my opinion, neither I nor anyone else should be able to do anything about it."

อ้างอิง

[แก้]
  1. Adrian Morgan (20 November 2006). "Conlanging and phonetics". The Outer Hoard. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) "The colours represent creative energy, and the layers of the tower imply that a conlang is built piece by piece, never completed. The tower itself also alludes to the Tower of Babel, as it has long been a tradition to demonstrate a constructed language by translating the Babel legend. The Conlang flag was decided on by a vote between many competing designs, and one of my own contributions to the conlanging world is that I was the person who facilitated this election. The winning design was drawn by Christian Thalmann, who introduced the layers. The idea of including the Tower of Babel on the flag had been introduced by Jan van Steenbergen, and the idea of placing the sun on the horizon behind it by Leland Paul. The idea of having the rising sun on the flag had been introduced by David Peterson, who saw it as representing the rise of conlanging from obscurity to popularity and notoriety."
    (แปล:สีต่าง ๆ แทนพลังสร้างสรรค์ และชั้นแต่ละชั้นของหอคอยบอกเป็นนัยว่าภาษาประดิษฐ์ถูกสร้างขึ้นทีละส่วนและไม่มีวันเสร็จสมบูรณ์ ตัวหอคอยเองก็พาดพิงถึงหอคอยบาเบลเพราะเป็นธรรมเนียมที่มีมานานแล้วที่จะแปลตำนานบาเบลเพื่อสาธิตภาษาประดิษฐ์ ธง Conlang ถูกเลือกมาด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกการออกแบบหลายแบบ ผมได้มีส่วนร่วมในชุมชนประดิษฐ์ภาษาโดยเป็นคนช่วยอำนวยความสะดวกการลงคะแนนครั้งนี้ แบบที่ชนะถูกวาดโดย Christian Thalmann ซึ่งเป็นคนที่เสนอเรื่องชั้น แนวคิดที่จะใส่หอคอยบาเบลลงในธงถูกเสนอโดย Jan van Steenbergen และคนที่เสนอให้ใส่พระอาทิตย์ขึ้นไว้บนเส้นขอบฟ้าด้านหลังคือ Leland Paul คนที่เสนอให้ใส่พระอาทิตย์ขึ้นไว้บนธงคือ David Peterson เพื่อเป็นตัวแทนของการเลื่อนสถานะของการประดิษฐ์ภาษาจากการไม่เป็นที่รู้จักจนโด่งดังและมีชื่อเสียง)
  2. ภาษาประดิษฐ์เรียกย่อ ๆ ในภาษาอังกฤษว่า conlang ซึ่งมาจากคำว่า constructed language การศึกษาภาษาประดิษฐ์และเรื่องที่เกี่ยวข้องเรียกว่าอันตรภาษาศาสตร์
  3. "Ishtar for Belgium to Belgrade". European Broadcasting Union. สืบค้นเมื่อ 19 May 2013.
  4. Klaus Schubert, Designed Languages for Communicative Needs within and between Language Communities, in: Planned languages and language planning เก็บถาวร 2023-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF), Austrian National Library, 2019
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Sarah L. Higley: Hildegard of Bingen's Unknown Language. Palgrave Macmillan, 2007.
  6. "Hungarian Central Statistical Office". www.ksh.hu. สืบค้นเมื่อ 2019-08-18.
  7. "18. Demográfiai adatok – Központi Statisztikai Hivatal". www.nepszamlalas2001.hu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-17. สืบค้นเมื่อ 2013-03-10.
  8. "Kiom da esperantistoj en Ruslando? Ne malpli ol 992 - La Ondo de Esperanto". Dec 18, 2011.
  9. François Rabelais, Œvres complètes, III, 19 (Paris: Seuil, 1973). Also cited in Claude Piron, Le Defi des Langues (L'Harmattan, 1994) ISBN 2-7384-2432-5.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Peterson, David (2015). The Art of Language Invention (1st ed.). Penguin Books. pp. 21–22. ISBN 978-0143126461.
  11. The "Conlang Triangle" by Raymond Brown. Accessed 8 August 2008
  12. Derian, James Der (Aug 1, 1999). "Hollywood at War: The Sequel" – โดยทาง www.wired.com.
  13. Hybridity versus Revivability: Multiple Causation, Forms and Patterns, Ghil'ad Zuckermann, Journal of Language Contact, Varia 2, pp. 40-67 (2009).
  14. Let my people know! เก็บถาวร 2011-09-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Ghil'ad Zuckermann, Jerusalem Post, May 18, 2009.
  15. Fundamenta Krestomatio, ed. L. L. Zamenhof, 1903; 18th edition with footnotes by Gaston Waringhien, UEA 1992.
  16. 16.0 16.1 16.2 Joshua Foer, "John Quijada and Ithkuil, the Language He Invented", The New Yorker, Dec. 24, 2012.
  17. Glatzer, Jenna (2007). "Interview With Suzette Haden Elgin". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-12. สืบค้นเมื่อ 2007-03-20. My hypothesis was that if I constructed a language designed specifically to provide a more adequate mechanism for expressing women's perceptions, women would (a) embrace it and begin using it, or (b) embrace the idea but not the language, say "Elgin, you've got it all wrong!" and construct some other "women's language" to replace it.
    (แปล:ฉันมีสมมติฐานว่าถ้าฉันประดิษฐ์ภาษาที่ออกแบบมาเพื่อจัดเตรียมกลไกที่เพียงพอสำหรับการแสดงออกมุมมองของผู้หญิงได้โดยเฉพาะ ผู้หญิงก็จะ (a) ยอมรับมาและเริ่มใช้มัน หรือ (b) ยอมรับแนวคิดแต่ไม่ได้รับภาษามาใช้และบอกฉันว่า "เอลกิน ภาษาที่เธอทำมามันใช้ไม่ได้เลย!" และผู้หญิงเหล่านั้นก็จะประดิษฐ์ "ภาษาของผู้หญิง" ภาษาอื่น ๆ ขึ้นมาเพื่อแทนภาษาที่ฉันประดิษฐ์)
  18. "Logopandecteision". uchicago.edu.
  19. เลโอพ็อลท์ ไอน์สไตน์ (Leopold Einstein), "Al la historio de la Provoj de Lingvoj Tutmondaj de Leibnitz ĝis la Nuna Tempo", 1884. ตีพิมพ์ใหม่ใน Fundamenta Krestomatio, UEA 1992 [1903].
  20. Bhana,Yusuf, Can you copyright a language? Translate Media, June 6 2019
  21. Gardner, Eriq, Crowdfunded 'Star Trek' Movie Draws Lawsuit from Paramount, CBS Hollywood Reporter, December 30 2015
  22. 22.0 22.1 Owen, Becky,Can you copyright a fictional language? Copyright Licensing Agency, 26 September 2019
  23. "How did you find out that there were other conlangers?" Conlang list posting by And Rosta, 14 October 2007
  24. Archives of Vortpunoj at Steve Brewer's website
  25. Audience, Uglossia, and Conlang: Inventing Languages on the Internet by Sarah L. Higley. M/C: A Journal of Media and Culture 3.1 (2000). (เก็บถาวร มิถุนายน 16, 2005 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, media-culture.org.au site sometimes has problems.)
  26. "Update mailing list statistics—FINAL", Conlang list posting by Patrick Jarrett, 13 September 2001
  27. "Average life of a conlang" เก็บถาวร 2011-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thread on Zompist Bulletin Board, 15 August 2008; accessed 26 August 2008.
    "Average life of a conlang" thread on Conlang mailing list, 27 August 2008 (should be archived more persistently than the ZBB thread)

งานที่อ้างอิง

[แก้]
Eco, Umberto (1995). The search for the perfect language. Oxford: Blackwell. ISBN 0-631-17465-6.
Comrie, Bernard (1990). The World's Major Languages. Oxford [Oxfordshire]: Oxford University Press. ISBN 0-19-506511-5.
Couturat, Louis (1907). Les nouvelles langues internationales. Paris: Hachette. With Léopold Leau.

เผยแพร่ซ้ำ 2001, Olms.

Couturat, Louis (1910). Étude sur la dérivation dans la langue internationales. Paris: Delagrave. 100 p.
Libert, Alan (2000). A priori artificial languages (Languages of the world). Lincom Europa. ISBN 3-89586-667-9.
Okrent, Arika (2009). In the Land of Invented Languages: Esperanto Rock Stars, Klingon Poets, Loglan Lovers, and the Mad Dreamers Who Tried to Build A Perfect Language. Spiegel & Grau. pp. 352. ISBN 978-0-385-52788-0.
Peterson, David (2015). The Art of Language Invention (1st ed.). Penguin Books. p. 22. ISBN 978-0143126461.
"Babel's modern architects", by Amber Dance. The Los Angeles Times, 24 สิงหาคม 2007 (เผยแพร่ครั้งแรกในชื่อ "In their own words -- literally")

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]