เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน
เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน | |
---|---|
โทลคีนในคริสต์ทศวรรษ 1940 | |
เกิด | John Ronald Reuel Tolkien 3 มกราคม ค.ศ. 1892 บลูมฟอนเทน รัฐอิสระออเรนจ์ |
เสียชีวิต | 2 กันยายน ค.ศ. 1973 บอร์นมัท แฮมป์เชอร์ ประเทศอังกฤษ | (81 ปี)
นามปากกา | JRRT |
อาชีพ |
|
สัญชาติ | อังกฤษ |
จบจาก | Exeter College, Oxford |
แนว | |
ผลงานที่สำคัญ | |
คู่สมรส | อีดิธ แบรตต์ (สมรส 1916; 1971) |
บุตร |
|
เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน มีชื่อเต็มว่า จอห์น โรนัลด์ รูล โทลคีน (อังกฤษ: John Ronald Reuel Tolkien; นามปากกาว่า J. R. R. Tolkien; 3 มกราคม พ.ศ. 2435 – 2 กันยายน พ.ศ. 2516) เป็นกวี นักประพันธ์ นักภาษาศาสตร์ และศาสตราจารย์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในฐานะผู้ประพันธ์นิยายแฟนตาซีระดับคลาสสิก เรื่องเดอะฮอบบิท และเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์
โทลคีนเข้าศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนคิงเอดเวิดส์ เมืองเบอร์มิงแฮม และจบการศึกษาระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เข้าทำงานครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยลีดส์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 - 2468 ได้เป็นศาสตราจารย์สาขาแองโกลแซกซอน ตำแหน่ง Rawlinson and Bosworth Professor ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 - 2488 และได้เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ตำแหน่ง Merton Professor ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 - 2502 โทลคีนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งราชอาณาจักรบริเตน ระดับ Commander จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2515[1]
โทลคีนนับเป็นชาวคาทอลิกที่เคร่งครัด เป็นสมาชิกของกลุ่มที่ชุมนุมเพื่อถกเถียงด้านวรรณกรรม ชื่อ อิงคลิงส์ (Inklings) และได้รู้จักสนิทสนมกับ ซี. เอส. ลิวอิส นักเขียนนวนิยายและวรรณกรรมเยาวชน เรื่องตำนานแห่งนาร์เนีย ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งของอังกฤษ
หลังจากโทลคีนเสียชีวิต ลูกชายของเขา คริสโตเฟอร์ โทลคีน ได้นำเรื่องที่บิดาของตนแต่งค้างไว้หลายเรื่องมาเรียบเรียงและตีพิมพ์ รวมถึงเรื่องซิลมาริลลิออน งานประพันธ์ชิ้นนี้ประกอบกับเรื่องเดอะฮอบบิท และเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ รวมกันได้สร้างให้เกิดโลกจินตนาการซึ่งกอปรด้วยเรื่องเล่า ลำนำ บทกวี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาประดิษฐ์ ในโลกจินตนาการที่ชื่อว่า อาร์ดา และแผ่นดินมิดเดิลเอิร์ธ ซึ่งเป็นฐานของงานประพันธ์ปกรณัมทั้งมวลของโทลคีน
แม้ว่านิยายแฟนตาซีจะมีกำเนิดมาก่อนหน้านั้นแล้ว ทว่าความสำเร็จอย่างสูงของ เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งกระแสความนิยมของนิยายแนวนี้ขึ้นมาใหม่ และทำให้โทลคีนได้รับขนานนามว่า บิดาแห่งวรรณกรรมแฟนตาซีระดับสูงยุคใหม่ (father of the modern high fantasy genre)[2] ผลงานของโทลคีนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่งานแฟนตาซียุคหลังรวมถึงศิลปะแขนงอื่นที่เกี่ยวข้องมากมาย ในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ.2008) นิตยสารไทมส์จัดอันดับโทลคีนอยู่ในลำดับที่ 6 ใน 50 อันดับแรกของ "นักประพันธ์ชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ยุคหลังปี 1945"[3]
ประวัติ
[แก้]ต้นตระกูล
[แก้]บรรพชนของตระกูลโทลคีนส่วนใหญ่เป็นช่างไม้ มีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ในแซกโซนี ประเทศเยอรมนี แต่ได้อพยพย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 นามสกุลของโทลคีนได้เปลี่ยนมาจากภาษาเยอรมันคำว่า Tollkiehn (จากคำว่า tollkühn หมายถึง "มุทะลุ" รากศัพท์เดียวกับคำภาษาอังกฤษว่า dull-keen) มาเป็น Tolkien เพื่อให้เข้ากับภาษาอังกฤษ[4]
ส่วนตระกูลฝ่ายมารดาคือ ซัฟฟิลด์ ตากับยายของโทลคีนคือ จอห์น และ อีดิธ เจน ซัฟฟิลด์ เป็นคริสตชนแบ๊บติสต์พำนักอยู่ในเมืองเบอร์มิงแฮม เปิดร้านค้าอยู่ใจกลางเมืองเป็นอาคารชื่อว่า แลมบ์เฮ้าส์ ตระกูลซัฟฟิลด์เป็นตระกูลพ่อค้า มีกิจการค้าหลายอย่างนับแต่ยุคปู่ของตา คือวิลเลียม ซัฟฟิลด์ ที่เริ่มกิจการร้านหนังสือและเครื่องเขียนในปี ค.ศ.1812 ตาทวดและตาของโทลคีนสืบทอดกิจการมาตั้งแต่ปี 1826 รวมทั้งร้านเสื้อผ้าและเสื้อชั้นใน[5]
วัยเด็ก
[แก้]โทลคีนเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) ที่เมืองบลูมฟอนเทน เมืองหลวงของจังหวัดฟรีสเตท ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นบุตรของ อาเธอร์ รูเอล โทลคีน (พ.ศ. 2400-2439, ค.ศ. 1857–1896) นายธนาคารอังกฤษ กับภรรยา มาเบล นี ซัฟฟิลด์ (พ.ศ. 2413-2447, ค.ศ. 1870–1904) ทั้งสองต้องเดินทางไปจากอังกฤษเนื่องจากอาเธอร์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาบลูมฟอนเทน โทลคีนมีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ ฮิลารี อาเธอร์ รูเอล ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) ในวัยเด็กขณะที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ โทลคีนเคยถูกแมงมุมในสวนของเขากัด ต่อมาภายหลังเหตุการณ์นี้ได้ไปปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขาด้วย[6]
เมื่ออายุได้ 3 ปี โทลคีนได้กลับไปประเทศอังกฤษกับแม่และน้องชายเพื่อพักฟื้นรักษาตัว ระหว่างนั้นเองพ่อของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรคไข้อักเสบเรื้อรังก่อนจะทันเดินทางกลับอังกฤษมา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ครอบครัวไม่มีรายได้ แม่ของเขาจึงต้องนำตัวเขากับน้องไปอยู่อาศัยกับตายายในเมืองเบอร์มิงแฮม หลังจากนั้นโทลคีนต้องย้ายบ้านไปมาหลายครั้ง เช่นไป Sarehole ไป Warcestershire และย้ายมาชานเมืองเบอร์มิงแฮมอีกครั้ง แม่ของโทลคีนต้องการให้เด็กๆ เติบโตมาในที่ชนบทอากาศดีเนื่องจากสุขภาพของพวกเขาไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นตลอดช่วงวัยเด็กโทลคีนได้เที่ยวเล่นอยู่ในเขตชนบทอันร่มรื่น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในงานประพันธ์ของเขาในเวลาต่อมา[6]
ความที่โทลคีนมีสุขภาพไม่ดี จึงไม่สามารถเข้าโรงเรียนตามปกติ มาเบลสอนหนังสือเด็กๆ ด้วยตัวเอง แต่พี่น้องตระกูลโทลคีนนี้ฉลาดหลักแหลมมาก แม่ของพวกเขาสอนเรื่องพฤกษศาสตร์ให้แก่พวกเขา ซึ่งทำให้ทั้งสองคนทราบข้อมูลเกี่ยวกับพืชได้ดีมาก โทลคีนยังชอบวาดรูปทิวทัศน์และหมู่ไม้ และมีฝีมือวาดที่ดีด้วย แต่สิ่งที่โทลคีนสนใจที่สุดคือศาสตร์ทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาลาติน ซึ่งเขาสามารถอ่านออกได้ตั้งแต่มีอายุเพียง 4 ปี และเขียนได้หลังจากนั้นอีกไม่นาน ปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ.1900) เมื่อโทลคีนอายุได้ 8 ปี จึงได้เข้าโรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ด เนื่องจากความไม่เคร่งครัดเรื่องการหยุดเรียน แต่ค่าเล่าเรียนก็แพงมาก ปีเดียวกันนั้น แม่ของโทลคีนได้หันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่ครอบครัวของเธอเองได้คัดค้านอย่างรุนแรง และตัดขาดไม่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เธออีก โทลคีนกับน้องจึงต้องย้ายไปโรงเรียนเซนต์ฟิลลิป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่การเรียนการสอนก็ด้อยกว่ามาก ภายหลังมาเบลตัดสินใจให้โทลคีนย้ายกลับมาโรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ดอีกครั้งในปี ค.ศ.1903 โทลคีนสามารถสอบเข้าเรียนได้โดยการชิงทุน[6]
ครั้นถึง ปี ค.ศ.1904 เมื่อโทลคีนมีอายุได้ 12 ปี มาเบลก็เสียชีวิตลงด้วยโรคเบาหวาน ในยุคนั้นยังไม่มีอินซูลิน มาเบลในวัย 34 ปี จึงถือว่ามีชีวิตอยู่ได้ยาวนานมากแล้วโดยไม่มียารักษา นับแต่นั้นมาจนตลอดช่วงชีวิตของโทลคีน เขารำลึกถึงแม่ในฐานะคริสตชนผู้มีศรัทธาแรงกล้า ซึ่งส่งอิทธิพลต่อเขาในการนับถือนิกายโรมันคาทอลิกอย่างเคร่งครัด[6]
หลังจากมาเบลเสียชีวิต โทลคีนกับน้องไปอยู่ในความดูแลของบาทหลวงฟรานซิส ซาเวียร์ มอร์แกน ตามความตั้งใจของแม่ เขาเติบโตขึ้นในย่าน Edgbaston ใกล้เบอร์มิงแฮม สภาพแวดล้อมในแถบนั้นเช่น หอคอยสูงทรงวิกตอเรียของโรงประปา Edgbaston อาจเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการสร้างหอคอยทมิฬในงานเขียนของเขา หรือภาพเขียนยุคกลางของ Edward Burne-Jones หรืองานอื่นๆ ที่แสดงใน พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งเบอร์มิงแฮม ก็น่าจะมีส่วนอย่างมากต่องานเขียนของโทลคีน[6]
วัยหนุ่ม
[แก้]บาทหลวงฟรานซิส จัดให้สองพี่น้องโทลคีนอาศัยอยู่ที่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง เวลานั้นโทลคีนมีอายุได้ 16 ปี ที่บ้านเช่าแห่งนี้เขาได้พบและตกหลุมรักกับเด็กสาว ผู้แก่วัยกว่าเขา 3 ปี นามว่า เอดิธ แมรี่ แบรท (Edith Mary Bratt) บาทหลวงฟรานซิสเกรงว่าเธอจะทำให้เขาเสียการเรียน และยังวิตกกับความเป็นโปรแตสแตนท์ของเธอด้วย จึงสั่งห้ามให้เขาไปคบหาพูดคุยกับเธอจนกว่าโทลคีนจะมีอายุครบ 21 ปี ซึ่งโทลคีนก็ปฏิบัติตัวเช่นนั้นอย่างเคร่งครัด นอกจากด้วยความเคารพนับถือในตัวบาทหลวงแล้ว ยังด้วยเงื่อนไขด้านการศึกษาด้วย นั่นคือถ้าโทลคีนไม่สามารถสอบชิงทุนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนอีกเลย
ในปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) ขณะที่เรียนอยู่โรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ด เบอร์มิงแฮม โทลคีนและเพื่อนอีก 3 คน คือ รอบ กิลสัน, เจฟฟรี่ สมิธ และคริสโตเฟอร์ ไวส์แมน ได้ตั้งสมาคมลับ the T.C.B.S. ย่อมาจาก Tea Club and Barrovian Society ซึ่งมีที่มาจากการชื่นชอบดื่มน้ำชาของทั้งสี่ ในร้านบาร์โรว์ (Barrow's Stores) ระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ให้ห้องสมุดของโรงเรียน ถึงแม้จะออกจากโรงเรียนแล้วพวกเขาก็ยังติดต่อกันอยู่เหมือนเดิม และในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ทั้งสี่ก็ได้มารวมตัวประชุมกันอีกครั้งที่บ้านไวส์แมน สำหรับโทลคีนแล้ว การพบกันครั้งนี้ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างมากในการประพันธ์บทกวี[6]
ฤดูร้อนปี 1911 โทลคีนได้ไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเขาได้เขียนไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1968 (เป็นเวลาผ่านไปถึง 57 ปี) ว่า การผจญภัยของบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ ในเทือกเขามิสตี้ ในเรื่อง เดอะฮอบบิท มาจากการเดินทางของเขาในเทือกเขาแอลป์คราวนั้น และยอดเขาจุงเฟรา กับซิลเบอร์ฮอร์น ก็เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างยอดเขาซิลเวอร์ไทน์ (เคเล็บดิล) นั่นเอง[7]
ปลายปี 1911 โทลคีนสามารถสอบชิงทุนเข้าเรียนในวิทยาลัย Exeter มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้สำเร็จ เขาเลือกเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ภาษา และได้อ่านบทแปลภาษาอังกฤษของมหากาพย์ฟินแลนด์เรื่อง คาเลวาลา เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการศึกษาภาษาฟินแลนด์ ด้วยต้องการอ่าน คาเลวาลา ในภาษาต้นฉบับ โทลคีนยังเล่าเรียนแตกฉานในภาษายุคโบราณและยุคกลางอีกหลายภาษา รวมถึงงานประพันธ์ของวิลเลียม มอร์ริส เขาได้อ่านบทกวีเก่าแก่ของแองโกลแซกซอน ว่าด้วยเทพองค์หนึ่งชื่อ เออาเรนเดล (Earendel) ซึ่งประทับใจเขามาก ในปี 1914 หลังการรวมพลของสมาชิก T.C.B.S. โทลคีนแต่งบทกวีขึ้นบทหนึ่ง ตั้งชื่อว่า การผจญภัยของเออาเรนเดล ดวงดาวสายัณห์ (The Voyage of Earendel the Evening Star) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธของโทลคีน[6]
ปี พ.ศ. 2456 (ค.ศ.1913) ในคืนวันเกิดอายุ 21 ปีของโทลคีน เขาได้เขียนจดหมายถึงเอดิธ หญิงสาวที่รัก เพื่อจะขอให้แต่งงานกับเขา แต่เธอบอกกับเขาว่า ได้รับหมั้นชายคนหนึ่งไว้แล้ว เพราะคิดว่าโทลคีนลืมเธอไป ทั้งสองมาพบกันใต้สะพานรถไฟเก่าๆ และคิดจะฟื้นความสัมพันธ์กันใหม่ เอดิธจึงนำแหวนไปคืนชายคนนั้น และตัดสินใจที่จะมาแต่งงานกับโทลคีน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2456 ทั้งสองก็หมั้นกันในเมืองเบอร์มิงแฮม และเมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม ของอีก 3 ปีต่อมา ทั้งสองก็แต่งงานกันที่เมืองวอร์ริค ประเทศอังกฤษ โดยเอดิธได้หันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกตามโทลคีน[6]
ปี พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) โทลคีนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เวลานั้นอังกฤษได้ประกาศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว โทลคีนได้ไปเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษโดยเป็นนายร้อยตรีอยู่ใน Lancashire Fusiliers เข้ารับการฝึกฝนอยู่ 11 เดือน แล้วจึงย้ายไปเป็นนายทหารสื่อสาร กองพันที่ 11 ทัพหน้า ที่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1916 ปีเดียวกันกับที่แต่งงาน จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม เขาได้ล้มป่วยเป็นไข้กลับ และถูกส่งตัวกลับอังกฤษในวันที่ 8 พฤศจิกายน เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนสนิทของเขาหลายคนถูกสังหารในระหว่างสงคราม โดยเฉพาะเพื่อนสนิทชาว T.C.B.S. ผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของโทลคีนไปตลอดชีวิต ในระหว่างรอพักฟื้นอยู่ที่ Staffordshire โทลคีนได้เขียนนิยายเรื่องแรกของเขา คือ The Book of Lost Tales เริ่มต้นด้วยการล่มสลายของกอนโดลิน[6]
หน้าที่การงาน
[แก้]หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 โทลคีนได้ไปเป็นพนักงานตรวจชำระพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) เขาได้เป็นอาจารย์ ตำแหน่ง Reader (ตำแหน่งสูงกว่า อาจารย์อาวุโส แต่ต่ำกว่า ศาสตราจารย์) ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ และได้เลื่อนชั้นเป็นศาสตราจารย์ในอีก 4 ปีต่อมา เขาได้จัดทำ พจนานุกรมภาษาอังกฤษกลาง รวมถึงได้แปลวรรณกรรมอังกฤษยุคกลางเรื่อง Sir Gawain and the Green Knight ร่วมกับอาจารย์รุ่นน้องคือ อี. วี. กอร์ดอน งานทั้งสองชิ้นนี้ได้กลายเป็นงานมาตรฐานทางวิชาการต่อมาอีกหลายทศวรรษ
ปี พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) โทลคีนได้กลับไปยังออกซฟอร์ดถิ่นเก่า ในฐานะศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยเพมโบรค ระหว่างที่อยู่เพมโบรค โทลคีนได้เขียนเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ 2 ตอนแรก ที่บ้านบนถนนนอร์ธมัวร์ ในเขตออกซฟอร์ดเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีป้าย Blue Plaque ติดเอาไว้ในฐานะสถานที่สำคัญของประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ.1936 โทลคีนได้ตีพิมพ์งานวิชาการสำคัญชิ้นหนึ่ง เรื่อง "เบวูล์ฟ : บทวิเคราะห์แง่มุมของปีศาจ" (Beowulf: the Monsters and the Critics) ซึ่งเป็นงานที่ทำให้แนวทางศึกษาวรรณกรรมโบราณเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง[8] โทลคีนให้ความสำคัญกับเนื้อหาและความเป็นมาของโคลงโบราณนี้ มากกว่าแง่มุมด้านภาษาซึ่งเป็นจุดด้อยของโคลงเมื่อเทียบกับมหากาพย์เรื่องอื่น เขากล่าวว่า "เบวูล์ฟ เป็นแหล่งข้อมูลอันทรงคุณค่ายิ่งแห่งหนึ่งของข้าพเจ้า..." แนวคิดนี้ได้สะท้อนให้เห็นปรากฏอยู่มากในเรื่องลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในยุคที่โทลคีนนำเสนอแนวคิดนี้ เหล่าบัณฑิตล้วนดูถูกโคลงเบวูล์ฟว่าเป็นนิทานหลอกเด็ก ไม่มีความสมจริงในทางการยุทธ์ แต่โทลคีนโต้แย้งว่า ผู้ประพันธ์เรื่องเบวูล์ฟไม่ได้เน้นเรื่องโชคชะตาของวีรบุรุษ หรือแม้ความเป็นชนเผ่าต่างๆ ในดินแดนนั้นเลย หัวใจสำคัญของเรื่องคือเหล่าปีศาจต่างหาก
ในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โทลคีนย้ายไปประจำที่วิทยาลัยเมอร์ตัน ของออกซฟอร์ด และได้เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาและวรรณคดี จนถึงปลดเกษียนเมื่อปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959)
ตลอดชีวิตการทำงานของโทลคีน เขาสร้างผลงานวิชาการได้ค่อนข้างน้อย แต่เป็นงานที่มีคุณค่าและส่งผลกระทบต่อวงการวรรณกรรม อย่างเช่นบทวิเคราะห์เรื่อง เบวูล์ฟ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากโทลคีนใช้เวลาไปกับงานสอนค่อนข้างมาก และยังรับเป็นอาจารย์พิเศษอีกหลายแห่ง เพื่อจะได้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายภายในครอบครัว แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือ ความปราณีตพิถีพิถันของโทลคีนเอง ทำให้เขามีงานเขียนต้นฉบับที่ยังเขียนไม่เสร็จอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์
การสมาคม
[แก้]โทลคีนเป็นคนที่ชอบงานสังสรรค์และมีเพื่อนมากมาตั้งแต่เด็ก นับแต่อยู่ที่โรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ด เขาได้ก่อตั้งสมาคม T.C.B.S. ร่วมกับเพื่อนๆ เมื่อเขาไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ โทลคีนก็ก่อตั้งชมรม The Viking Club ร่วมกับอาจารย์รุ่นน้องชื่อ อี. วี. กอร์ดอน เพื่ออ่านบทลำนำสนุกๆ ของนอร์สโบราณ และแปลบทกวีเก่าแก่ให้เป็นภาษาแองโกลแซกซอน ชมรมนี้เป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ และทำให้จำนวนนักศึกษาสาขาวรรณคดีอังกฤษของลีดส์เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมากกว่าของออกซฟอร์ดในช่วงเวลาเดียวกันเสียอีก[6] ครั้นเมื่อโทลคีนย้ายมาสอนที่ออกซฟอร์ด เขาก็ก่อตั้งชมรม Coalbiters Club (หรือ Kolbitar ในภาษาไอซ์แลนด์) คือกลุ่มชมรมที่นั่งหน้าเตาไฟ เผาถ่านในเตาผิง และอ่านบทกวีไอซ์แลนด์พร้อมกับแลกเปลี่ยนทัศนะ
นอกจาก T.C.B.S. แล้ว โทลคีนไม่มีเพื่อนสนิทอีกเลย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2469 ขณะที่เขาย้ายมาเป็นศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยเพมโบรค ออกซฟอร์ด โทลคีนได้รู้จักกับอาจารย์จากวิทยาลัยมอดลินคนหนึ่ง ชื่อว่า Clive Staples Lewis หรือ ซี. เอส. ลิวอิส และได้เชิญให้เขามาร่วมใน Coalbiters Club ด้วย ทั้งสองค่อยๆ สนิทกันมากขึ้น และได้ก่อตั้งชมรมอิงคลิงส์ (Inklings) ซึ่งเป็นชมรมสำคัญอันมีส่วนสนับสนุนต่อการสร้างงานเขียนของโทลคีนในเวลาต่อมา ลิวอิสได้กลายเป็นเพื่อนสนิทของโทลคีน และมีส่วนช่วยเหลือผลักดันให้โทลคีนสร้าง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ งานเขียนชิ้นสำคัญของโทลคีนได้จนสำเร็จ[6]
ครอบครัว
[แก้]โทลคีนได้แต่งงานกับนางสาว เอดิธ แมรี่ แบรท และมีลูกด้วยกันถึง 4 คน ได้แก่ จอห์น ฟรานซิส รูเอล (17 พ.ย. พ.ศ. 2460 – 22 ม.ค. พ.ศ. 2546) ไมเคิล ฮิลารี รูเอล (ต.ค. 2463–2527) คริสโตเฟอร์ จอห์น รูเอล (2467 – ) และ พริสซิลลา แอนน์ รูเอล (2472 – ) โทลคีนเอาใจใส่กับครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ อย่างมาก เขามักอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แต่งนิทานให้ลูกอ่าน อันเป็นกำเนิดของนิทานเด็กมากมายที่ได้ตีพิมพ์ในเวลาต่อมา งานชิ้นสำคัญคือ เดอะฮอบบิท และ จดหมายจากคุณพ่อคริสต์มาส ซึ่งโทลคีนเขียนเป็นจดหมายพร้อมภาพวาดประกอบ สมมุติว่ามาจากซานตาคลอส ส่งให้เด็กๆ อ่านจนกระทั่งพวกเขาเริ่มโต
ปลดเกษียณและวัยชรา
[แก้]ในช่วงปีตั้งแต่เกษียน พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) จนถึงเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) โทลคีนมีชื่อเสียงจากนิยายของเขาอย่างมาก เขาโด่งดังไปทั่วอังกฤษและอเมริกา และได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์หนังสือเป็นจำนวนมาก จนโทลคีนเคยคิดว่าเขาน่าจะเกษียณตัวเองเร็วกว่านี้ แฟนหนังสือพากันเขียนจดหมาย โทรศัพท์ไปหา หรือแม้กระทั่งเดินทางไปยังบ้านของโทลคีน เพื่อถามรายละเอียดของเรื่องราวให้มากยิ่งขึ้น จนที่สุดโทลคีนต้องยกเลิกหมายเลขโทรศัพท์ และย้ายไปอยู่บอร์นมัทในทางใต้[9]
โทลคีนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเครือจักรภพอังกฤษ ระดับชั้น Commander จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ที่พระราชวังบัคคิงแฮม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) เมื่อเขามีอายุ 80 ปี[1]
นางเอดิธ โทลคีน ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) มีอายุได้ 82 ปี โทลคีนให้แกะสลักคำว่า ลูธิเอน (Lúthien) ซึ่งเป็นตัวละครเอลฟ์ที่ได้แนวความคิดมาจากเอดิธในเรื่องที่เขาแต่ง หลังชื่อของนางบนป้ายหลุมศพด้วย และเมื่อโทลคีนเสียชีวิตหลังจากนั้นอีก 21 เดือน ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) รวมอายุได้ 81 ปี เขาก็ได้สั่งไว้ให้ฝังตนเองในหลุมเดียวกันกับนางเอดิธ และให้เติมคำว่า เบเรน ข้างหลังชื่อเขา ดังนั้นป้ายหลุมศพจึงได้เขียนไว้ดังนี้
ทัศนคติและมุมมองของโทลคีน
[แก้]โทลคีนนับเป็นชาวคาทอลิกผู้เคร่งครัด ทัศนคติของเขาในแง่ที่เกี่ยวกับศาสนาและการเมืองเป็นแบบอนุรักษนิยม คือยึดมั่นในขนบประเพณีดั้งเดิมและไม่ใคร่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ เหตุนี้เขาจึงต่อต้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมและผลสืบเนื่องของการณ์นั้นอย่างรุนแรง ด้วยความรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเข้าคุกคามชีวิตชนบทอันสงบสุขของอังกฤษ ตลอดชั่วชีวิตของเขา โทลคีนหลีกเลี่ยงในการใช้รถยนต์ แต่นิยมใช้จักรยานมากกว่า ทัศนคติเช่นนี้ปรากฏเห็นชัดอยู่ในงานเขียนของเขา โดยเฉพาะในเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เมื่อแคว้นไชร์ถูกบีบบังคับให้ทำอุตสาหกรรม[10]
นักวิจารณ์พากันศึกษาและบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวในปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ กับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของโทลคีน เช่น เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ มักโดนวิจารณ์ว่าเป็นตัวแทนของประเทศอังกฤษในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งโทลคีนเองปฏิเสธแข็งขันในบทนำของการตีพิมพ์เอดิชันที่สองของหนังสือชุดนี้[11] ว่าเขาไม่ชอบเขียนงานประเภทสัญลักษณ์แฝงคติ แนวคิดเช่นนี้ปรากฏอีกครั้งในงานเขียนของเขา เรื่อง On Fairy-Stories ซึ่งโทลคีนเห็นว่า เทพนิยาย เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง บางครั้งยังสื่อถึงความเป็นจริงบางประการอีกด้วย เขาเห็นว่าความเชื่อของคริสเตียนก็เป็นไปในลักษณะนี้ คือสมบูรณ์ในตัวเอง และแสดงถึงความเป็นจริงภายนอก พื้นฐานความเชื่อเช่นนี้ของโทลคีนพาให้เหล่านักวิจารณ์พากันค้นหาแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ในผลงานเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ทั้งๆ ที่เนื้อเรื่องมีความเกี่ยวพันกับศาสนาคริสต์น้อยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางศาสนา หรือการสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้า
ด้านศาสนา
[แก้]ความศรัทธาอันแรงกล้าของโทลคีนต่อศาสนาคริสต์เป็นหัวข้อสนทนาสำคัญระหว่างเขากับลิวอิส ผู้ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนมานับถือพระผู้เป็นเจ้า แม้โทลคีนจะผิดหวังอยู่บ้างที่ลิวอิสเลือกเข้ารีตในนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ แทนที่จะเป็นโรมันคาทอลิก[12]
ในช่วงปีท้ายๆ ของชีวิต โทลคีนยิ่งผิดหวังมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ไซมอน โทลคีน หลานของเขาได้บันทึกไว้ว่า
ผมจำได้แม่นเมื่อครั้งไปโบสถ์ที่บอร์นมัทพร้อมกับคุณปู่ ท่านมีศรัทธาในความเป็นโรมันคาทอลิกอย่างมาก เวลานั้นทางโบสถ์ได้เปลี่ยนบทสวดจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ คุณปู่ของผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และกล่าวตอบคำสวดมนต์เป็นภาษาละตินเสียงดังลั่น ทั้งที่คนอื่นพากันกล่าวเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น ผมรู้สึกอายมาก แต่ดูเหมือนคุณปู่จะไม่สนใจอะไรเลย ท่านเพียงต้องการทำในสิ่งที่ท่านเห็นว่าถูกต้องเท่านั้นเอง[13]
— ไซมอน โทลคีน หลาน
ด้านการเมือง
[แก้]มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดการเหยียดผิวที่ปรากฏอยู่ในผลงานของโทลคีน ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากมายในหมู่นักศึกษา[14] คริสทีน ไคซม์ นักศึกษาคนหนึ่งจำแนกข้อกล่าวหานี้ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การเหยียดผิวโดยตั้งใจ การยึดยุโรปเป็นศูนย์กลางโดยไม่ตั้งใจ และการพัฒนาจากการเหยียดผิวที่แฝงในงานของโทลคีนช่วงต้นไปเป็นการปฏิเสธการเหยียดผิวในชั้นหลัง
เป็นที่รู้กันดีว่า โทลคีนดูหมิ่นพวกนาซีมากอยู่ว่าเป็นพวกล้าหลังและอันตราย เขาดูถูกอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มาก เนื่องจากเขาเห็นว่าฮิตเลอร์นั้น "ใช้จิตวิญญาณบริสุทธิ์ไปในทางที่ผิด"[15] แต่ถึงกระนั้นเขาก็ตำหนิกลุ่มต่อต้านเยอรมันที่รวมตัวกันขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งปรากฏในข้อความที่เขาเขียนไปถึงคริสโตเฟอร์ โทลคีน บุตรชาย [16] และแสดงความรังเกียจระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมากับนางาซากิอย่างมาก เขาเรียกกลุ่มผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์ว่าเป็น "นักวิทยาศาสตร์บ้า" และ "ผู้สร้างหอบาเบล"[17]
แนวคิดด้านการเมืองของโทลคีนล้วนมีพื้นฐานมาจากแนวคิดทางศาสนา เช่นเมื่อครั้งสงครามกลางเมืองในสเปน เขาออกเสียงสนับสนุนนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก เมื่อได้ทราบว่าเกิดความวุ่นวายถึงกับเผาทำลายโบสถ์คาทอลิกและสังหารพระกับแม่ชีไปเป็นจำนวนมาก เขายังแสดงความชื่นชมต่อกวีชาวแอฟริกาใต้ รอย แคมป์เบล อย่างมากมายหลังจากได้พบกันในปี ค.ศ. 1944 เนื่องจากแคมป์เบลเคยรับราชการในกองทัพสเปนมาก่อน โทลคีนนับถือว่าเขาเป็นนักรบผู้ปกป้องชาวคาทอลิก ขณะที่ ซี. เอส. ลิวอิส เขียนบทกวีล้อเลียนแคมป์เบลว่า เป็นชาวคาทอลิกจอมเผด็จการ[18]
ด้านอื่นๆ
[แก้]ความรักในตำนานปรัมปรา และความเชื่อศรัทธาอย่างแรงกล้าของโทลคีนผสมผสานกันเป็นอย่างดี จนกระทั่งโทลคีนเชื่อว่า ตำนานปรัมปราทั้งหลายเป็นสิ่งสะท้อนถึง "ความจริง" ที่เคยเกิดขึ้น[19] โทลคีนแสดงแนวคิดเช่นนี้ไว้ในบทกวีเรื่อง Mythopoeia ซึ่งตีพิมพ์พร้อมงานเขียนเรื่อง Tree and Leaf ในปี พ.ศ. 2474 แนวคิดนี้ได้กลายเป็นแกนกลางของการสังสรรค์ในชมรมอิงคลิงส์ในเวลาต่อมา และเป็นหัวใจของงานประพันธ์ชุดมิดเดิลเอิร์ธของโทลคีนด้วย
ทักษะทางภาษาและภาษาศาสตร์
[แก้]ทั้งหน้าที่การงานและงานประพันธ์วรรณกรรมของโทลคีนมีความผูกพันกับความรักในภาษาศาสตร์ของโทลคีนอย่างลึกซึ้ง นับแต่เมื่อยังศึกษาในวิทยาลัย โทลคีนชำนาญในภาษากรีกโบราณ และทำวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาโดยมีภาษานอร์สโบราณเป็นวิชาเอก เขาเริ่มทำงานครั้งแรกด้วยการชำระพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด โดยทำการศึกษาค้นคว้าในหมวดอักษร W[20] เมื่อสอนที่มหาวิทยาลัยลีดส์ เขาเป็นอาจารย์ประจำในวิชาประวัติศาสตร์อังกฤษ ภาษาอังกฤษเก่า และภาษาอังกฤษกลาง รวมถึงศาสตร์แห่งภาษาเยอรมัน ภาษากอธิค ไอซ์แลนด์โบราณ และเวลช์ยุคกลาง เมื่ออายุเพียง 33 ปี ก็ได้เป็นศาสตราจารย์ Rawlinson and Bosworth ผู้เชี่ยวชาญภาษาแองโกลแซกซอน ทั้งยังชำนาญภาษาฟินแลนด์ด้วย[21]
โทลคีนมีพรสวรรค์ทางด้านการใช้เสียงและภาษา เขาไม่เพียงเป็นนักภาษาศาสตร์ที่ศึกษาความเป็นมาของภาษา แต่เขาเป็นผู้สร้างภาษา และผู้ใช้ภาษาในฐานะของนักประพันธ์ด้วย โทลคีนให้ความสำคัญกับการเลือกใช้คำ ชั่วโมงสอนของโทลคีนจะมีนักศึกษาเข้าไปฟังมาก เพราะเขาชอบอ่านออกเสียงบทกวีหรืองานวรรณกรรม สื่อให้เห็นอารมณ์ของผู้แต่ง และอธิบายว่าทำไมผู้แต่งจึงเลือกใช้คำนั้น ซี. เอส. ลิวอิส เขียนถึงโทลคีน ในนิตยสารไทมส์ เมื่อครั้งประกาศข่าวมรณกรรมของโทลคีนว่า เขาเป็นผู้ที่ "เข้าถึงภาษาของกวี และเข้าถึงความเป็นกวีในภาษา"[22]
โทลคีนยังสร้างภาษาใหม่ขึ้นอีกหลายภาษา นับแต่วัยเด็ก เขากับน้องชายสร้างภาษาที่เป็นที่เข้าใจกันสองคน เหมือนเช่นเด็กคนอื่นๆ ซึ่งเมื่อเด็กๆ โตขึ้นก็จะลืมเลือนไป แต่โทลคีนบอกว่า "ผมไม่เคยหยุดอีกเลย"[23] เมื่อโทลคีนเริ่มงานสร้างปกรณัมของเขา เขาก็วางโครงร่างภาษาใหม่ ด้วยแรงบันดาลใจจากความไพเราะของภาษาเวลช์และภาษาฟินแลนด์ และสามารถพัฒนาโครงสร้างภาษาและไวยากรณ์จนสมบูรณ์ใช้งานได้จริงถึงสองภาษา คือภาษาเควนยา และภาษาซินดาริน ซึ่งเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมในโลกจินตนาการ มิดเดิลเอิร์ธ ของเขา ในการบรรยายครั้งหนึ่งในหัวข้อ "A Secret Vice" โทลคีนบอกกับนักศึกษาว่า "ภาษาที่เธอสร้างจะสร้างโลกของเธอ"[24] ความโด่งดังของหนังสือของโทลคีนทำให้เกิดวัฒนธรรมเล็กๆ ขึ้นอย่างหนึ่ง ซึ่งสืบทอดยาวนานมาถึงปัจจุบัน คือการสร้างภาษาเฉพาะของผู้ประพันธ์ในนิยายแฟนตาซีของตน
การสร้างวรรณกรรม
[แก้]โทลคีนเริ่มงานเขียนปกรณัมชิ้นแรกคือ The Book of Lost Tales ตอน การล่มสลายของกอนโดลิน ในปี พ.ศ. 2460 (ค.ศ.1917) ขณะที่พักรักษาตัวจากไข้กลับ โดยนำตัวละคร เออาเรนเดล จากบทกวีเดิมที่เขาแต่งไว้ การผจญภัยของเออาเรนเดล ดวงดาวสายัณห์ มาเป็นตัวละครเอกอยู่ในเรื่อง เพื่อเล่าถึงสาเหตุความเป็นมาว่า ทำไมเออาเรนเดลจึงได้เป็นดวงดาวสายัณห์ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ หลังจากนั้นโทลคีนแต่งบทกวีอีกสองเรื่องคือ ตำนานของเบเรนและลูธิเอน กับ ตำนานบุตรแห่งฮูริน
โทลคีนไม่เคยรู้สึกว่าเขา "แต่ง" เรื่องขึ้นมา เขาเพียงแต่ "เขียน" เรื่องที่มีอยู่แล้วที่ใดที่หนึ่งในวงล้อประวัติศาสตร์ เมื่อเขาอ่านงานเขียนของตนให้เพื่อนในกลุ่มอิงคลิงส์ฟัง และมีผู้โต้แย้งถึงความไม่สมเหตุสมผล ว่าทำไมจึงเกิดหรือไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเล่า โทลคีนไม่เคยบอกว่าเขาจะกลับไปแก้หรือแต่งใหม่ แต่เขาจะตอบเพื่อนว่า "ผมจะหาดูว่าความจริงเป็นอย่างไร"[6]
แรงบันดาลใจ
[แก้]หนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญยิ่งของโทลคีน คือ ผลงานของวิลเลียม มอร์ริส เรื่อง The House of the Wolfings และ The Roots of the Mountains ซึ่งทำให้เขาสร้างบึงมรณะในเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และป่าเมิร์ควู้ด[25]
โทลคีนยังกล่าวถึงนิยายของ เอช. ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด เรื่อง She ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์คราวหนึ่งว่า "เมื่อยังเป็นเด็ก She เป็นเรื่องน่าสนใจมาก เหมือนอย่างซากวัตถุโบราณของกรีกยุคอมินทัส (Amyntas หรือ Amenartas) ที่ดูเหมือนเครื่องจักรบางอย่างที่เคลื่อนที่ได้"[26] มีภาพที่เหมือนภาพถ่ายเศษโบราณวัตถุตีพิมพ์ในหนังสือของแฮกการ์ดฉบับพิมพ์ครั้งแรก บนชิ้นส่วนนั้นมีอักขระโบราณอยู่ ซึ่งเมื่อแปลออกมาแล้วทำให้ตัวละครชาวอังกฤษเดินทางไปสู่อาณาจักรโบราณของ She ได้ นักวิจารณ์บางคนเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับบันทึกของอิซิลดูร์ในเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์[27] โทลคีนเองก็เคยพยายามวาดภาพของหน้าหนังสือหน้าหนึ่งจากบันทึกแห่งมาซาร์บูล ซึ่งเป็นจารึกโบราณของบาลิน กษัตริย์คนแคระ ที่เหล่าพันธมิตรแห่งแหวนไปพบในเหมืองมอเรีย[28]
นอกเหนือจากนี้ โทลคีนได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากตำนานเก่าแก่ของเยอรมัน โดยเฉพาะวรรณกรรมแองโกลแซกซอน ซึ่งเขามีความชื่นชอบและชำนาญอย่างยิ่งยวด ในบรรดานี้แหล่งข้อมูลสำคัญคือ ตำนานเรื่องเบวูล์ฟ มหากาพย์นอร์สเรื่องโวลซุงกา และ แฮร์วาราร์ [29] บทกวีชุด Edda, Nibelungenlied และตำนานเก่าแก่อื่นๆ อีกมาก[30]
โทลคีนเองเคยระบุถึงงานประพันธ์ของโฮเมอร์ โซเฟคลีส และลำนำโบราณของฟินแลนด์เรื่อง คาเลวาลา ว่าเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างปกรณัมของเขา[31] เขายังได้แนวคิดมาจากประวัติศาสตร์และตำนานเซลติก สก๊อต และเวลช์ อีกหลายเรื่อง[32][33]
สำหรับแนวคิดด้านปรัชญา โทลคีนได้รับอิทธิพลจาก อัลเฟรดมหาราช งานแปลจากภาษาแองโกลแซกซอนของ โบธีอุส นักปรัชญาคริสเตียนในคริสต์ศตวรรษที่ 6 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ลำนำของโบธีอุส[34] ซึ่งตำนานเทววิทยาของโรมันคาทอลิกก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างโลกในจินตนาการของโทลคีน อันเนื่องมาจากศรัทธาอันแรงกล้าของเขาเอง[35]
ปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ
[แก้]หลังจากโทลคีนเขียนเรื่อง การล่มสลายของกอนโดลิน อันเป็นบทประพันธ์สืบเนื่องที่บรรยายถึงที่มาของ เออาเรนเดล ดวงดาวสายัณห์ แล้ว โทลคีนได้ประพันธ์ตำนานอีกสองเรื่อง คือ ตำนานของเบเรนและลูธิเอน กับ ตำนานบุตรแห่งฮูริน บทประพันธ์ทั้งสามนี้เป็นเรื่องเอก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงานเขียนชุดที่เรียกว่า ซิลมาริลลิออน
โทลคีนสร้างประวัติศาสตร์ของโลกอาร์ดาขึ้น โยงลำดับเหตุการณ์และบทประพันธ์เอกทั้งสามเข้าหากัน เขาพยายามเขียนซิลมาริลลิออน ถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถเขียนให้จบบริบูรณ์ลงได้ ครั้งหนึ่งโทลคีนเคยพยายามเสนอให้สำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน ตีพิมพ์ ซิลมาริลลิออน พร้อมกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ แต่สำนักพิมพ์ไม่ตกลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ช่วงหลังสงครามโลกนั้นสูงมาก แม้แต่ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เองยังต้องถูกแบ่งตีพิมพ์ออกเป็น 3 เล่ม ซิลมาริลลิออนจึงยังคงไม่ได้พิมพ์ตราบกระทั่งโทลคีนสิ้นชีวิต ซึ่งเขายังคงปรับแต่งแก้ไขรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของปกรณัมอยู่ตลอดเวลา
กล่าวได้ว่า ซิลมาริลลิออน เป็นงานเขียนแห่งชีวิตของโทลคีน เขาใช้เวลาทั้งชีวิตในการประพันธ์มหากาพย์ชุดนี้ ในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) เมื่อโทลคีนบังเอิญมีโอกาสได้ตีพิมพ์ เดอะฮอบบิท และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจนต้องเขียนภาคต่อออกมากลายเป็น เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ โทลคีนก็นำทั้งเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ มาวางลงบนโครงปกรณัมชุดใหญ่ของเขาและถักทอเข้าจนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด[23] นอกจากนี้ยังมีตำนานอีกชุดหนึ่งคือ การล่มสลายของนูเมนอร์ หรือ อคัลลาเบธ ซึ่งโทลคีนประพันธ์ขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจมาจากการล่มสลายของอาณาจักรแอตแลนติส ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในวงล้อประวัติศาสตร์ของปกรณัมชุดนี้ด้วย[23]
งานเขียนสำหรับเด็ก
[แก้]ในเวลาว่าง โทลคีนจะสนุกสนานกับการแต่งนิทานแฟนตาซีเพื่อเล่าให้ลูกๆ ของเขาฟัง (แม้แต่ เดอะฮอบบิท ก็มีที่มาจากการแต่งเรื่องให้เด็กๆ ฟัง) เขาเขียนจดหมายในวันคริสต์มาสทุกปี สมมุติว่าเป็นจดหมายจากซานตาคลอสส่งมาให้เด็กๆ จนหลายปีต่อมามันกลายเป็นชุดเรื่องสั้น เรียกชื่อว่า จดหมายจากคุณพ่อคริสต์มาส นิทานเรื่องอื่นๆ ก็เช่น Mr.Bliss, Roverandom, Smith of Wootton Major และ พระราชาชาวนา ในจำนวนนี้มีเรื่อง Roverandom และ Smith of Wootton Major ที่นำโครงเรื่องบางส่วนมาจากปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ เช่นเดียวกับเรื่องเดอะฮอบบิท
ผลงานหลังจากถึงแก่กรรม
[แก้]คริสโตเฟอร์ โทลคีน บุตรชายคนที่สามของโทลคีน ได้เป็นผู้ช่วยโทลคีนผู้พ่อในการเขียนผลงานอยู่เสมอ เขาเคยช่วยเขียนแผนที่ ช่วยพิมพ์ดีด และจัดเรียงเอกสารต่างๆ[6] เมื่อโทลคีนถึงแก่กรรม คริสโตเฟอร์กับเพื่อนของเขาคือ กาย กัฟเรียล เคย์ ได้ช่วยกันเรียบเรียงผลงานของโทลคีนขึ้น ซิลมาริลลิออน จึงได้ตีพิมพ์ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2520 หลังจากโทลคีนเสียชีวิตไปแล้วเป็นเวลา 4 ปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 คริสโตเฟอร์ได้รวบรวมงานเขียนที่กระจัดกระจายอยู่ บางส่วนยังอยู่ในระหว่างการแก้ไข และยังเขียนไม่จบ เกิดเป็นหนังสือ Unfinished Tales หรือ เกร็ดตำนานอันจารไม่จบแห่งนูเมนอร์และมิดเดิลเอิร์ธ หนังสือเหล่านี้ได้รับการตอบรับอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าผู้ประพันธ์จะเสียชีวิตไปแล้วเป็นเวลาหลายปี ดังนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2526-2539 คริสโตเฟอร์จึงได้รวบรวมผลงานในปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธของพ่อ เรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือชุดใหญ่จำนวน 12 เล่ม ได้แก่หนังสือชุดประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ ซึ่งรวบรวมต้นฉบับ ต้นร่าง แนวคิด และงานเขียนชิ้นล่าสุดในปกรณัมของโทลคีน รวมทั้งเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในต้นร่างเหล่านี้ยังมีเนื้อความที่ขัดแย้งกันอยู่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากโทลคีนยังคงแก้ไขรายละเอียดในปกรณัมของเขาอยู่ตลอดเวลา และยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดทั้งหมดให้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน[36]
ล่าสุดในปี พ.ศ. 2550 คริสโตเฟอร์ โทลคีน ได้อุตสาหะรวบรวมและเรียบเรียงงานเขียนชิ้นสำคัญออกมาอีกชิ้นหนึ่ง คือ ตำนานบุตรแห่งฮูริน อันเป็นเรื่องราวของทูริน ทูรัมบาร์ และนิเอนอร์ น้องสาวของเขา ทั้งสองเป็นบุตรของฮูริน ตัวละครชาวมนุษย์คนสำคัญที่มีบทบาทในการช่วยเหลือเหล่าเอลฟ์ในตำนานซิลมาริลลิออน โดยที่คริสโตเฟอร์เรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดมาจาก ซิลมาริลลิออน, Unfinished Tales, ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ และงานเขียนต้นร่างที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์อีกจำนวนหนึ่ง
ผลสืบเนื่องและอนุสรณ์
[แก้]การดัดแปลงผลงาน
[แก้]งานเขียนของโทลคีนส่งอิทธิพลต่อความคิดและผลงานของศิลปินจำนวนมาก บางคนก็ได้รู้จักกับโทลคีนเป็นการส่วนตัว เช่น พอลลีน เบย์นส (ผู้วาดภาพประกอบให้หนังสือ การผจญภัยของทอม บอมบาดิล และ พระราชาชาวนา ซึ่งโทลคีนชอบมาก) และโดนัลด์ สวอนน์ (ผู้ประพันธ์ทำนองให้กับบทกวี The Road Goes Ever On) สมเด็จพระบรมราชินีนาถมาเกรเธที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงวาดภาพประกอบนิยายเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1970 และทรงส่งภาพวาดฝีพระหัตถ์ไปให้แก่โทลคีน อันทำให้โทลคีนพิศวงอย่างมากมายด้วยลายเส้นของพระองค์คล้ายคลึงกับแนวการวาดภาพของโทลคีนเอง[37]
แต่สำหรับผลงานของศิลปินบางคนที่สร้างขึ้นในระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่ โทลคีนกลับไม่ค่อยชอบใจนัก และบางครั้งถึงกับวิจารณ์อย่างรุนแรง เช่นในปี พ.ศ. 2489 โทลคีนบอกปัดผลงานวาดภาพของ ฮอรัส เอนเจลส์ ที่วาดประกอบ เดอะฮอบบิท ฉบับภาษาเยอรมัน โดยบอกว่า "บิลโบจมูกย้อยเกินไป และแกนดัล์ฟก็ดูเหมือนตัวตลกดื่นดาษมากกว่าโอดินผู้พเนจรในความคิดของผม"[38] ปี พ.ศ. 2497 โทลคีนส่งต้นร่างปกนอกของ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ฉบับพิมพ์อเมริกันคืน พร้อมหมายเหตุว่า "ขอบคุณที่ส่ง 'งานชิ้นเอก' มาให้ แต่ผมขอส่งคืน ชาวอเมริกันไม่ค่อยยอมรับคำวิจารณ์และไม่ค่อยยอมแก้ไขอะไร แต่ผมเห็นว่างานชิ้นนี้แย่เกินไปจนผมไม่อาจฝืนตัวเองไปแก้ไขมัน"[39]
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2501 โทลคีนเขียนวิจารณ์บทภาพยนตร์ของ มอร์ตัน เกรดี้ ซิมเมอร์แมน ที่ดัดแปลงจากเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ แบบฉากต่อฉากทีเดียว ถึงกระนั้นเขาก็ยินดีให้มีการดัดแปลงหนังสือเป็นบทภาพยนตร์ โทลคีนขายสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ ละครเวที และสินค้าประกอบของเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ให้แก่ United Artists ในปี พ.ศ. 2511 แต่ UA ไม่เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้นมาเลย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2519 สิทธิ์ในการสร้างจึงได้ขายให้กับ Tolkien Enterprises ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งอยู่ในบริษัท Saul Zaentz หลังจากนั้นจึงได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในปี พ.ศ. 2521 เป็นภาพยนตร์การ์ตูนของราล์ฟ บัคชิ ปี พ.ศ. 2520 Rankin/Bass ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง เดอะฮอบบิท ออกฉายทางโทรทัศน์ และต่อมาได้สร้าง The Return of the King เป็นภาพยนตร์การ์ตูนออกฉายทางโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2523
ล่วงถึงปี พ.ศ. 2544-2546 นิวไลน์ ซีนีม่า ได้สร้างภาพยนตร์ไตรภาคเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ กำกับโดย ปีเตอร์ แจ็กสัน และถ่ายทำในประเทศนิวซีแลนด์ทั้งเรื่อง ภาพยนตร์ชุดนี้เป็นชุดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ปลายปี พ.ศ. 2550 นิวไลน์ ซีนีม่า ร่วมกับปีเตอร์ แจ็กสัน ได้ประกาศการสร้างภาพยนตร์ เดอะฮอบบิท แบ่งออกเป็นไตรภาค มีกำหนดออกฉายในปี พ.ศ. 2555-2557
อนุสรณ์
[แก้]หลังจากที่โทลคีนเสียชีวิต ถนนแห่งหนึ่งได้ตั้งชื่อตามนามสกุลของเขา คือ ถนนโทลคีน ในอีสต์เบอร์น ซัสเซ็กซ์ตะวันออก นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 2675 ซึ่งค้นพบในปี พ.ศ. 2525 ก็ได้ตั้งชื่อว่า ดาวเคราะห์น้อยโทลคีน[40] สำหรับ ถนนโทลคีน ในเมือง Stoke-on-Trent แคว้นสแตฟฟอร์ดไชร์ ประเทศอังกฤษ ตั้งชื่อตามบุตรชายคนโตของโทลคีน คือคุณพ่อจอห์น ฟรานซิส โทลคีน[41] ชื่อของโทลคีนยังใช้เป็นตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด คือตำแหน่ง J.R.R. Tolkien Professor ประจำภาควิชาวรรณคดีและภาษาอังกฤษ[42]
Blue plaques
[แก้]บลูพลาค หรือแผ่นป้ายโลหะสีฟ้า เป็นป้ายพิเศษที่รัฐบาลอังกฤษจัดทำติดไว้ตามสถานที่สำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 ป้ายที่ติดตั้งไว้ในสถานที่เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่โทลคีน ป้ายหนึ่งอยู่ที่ออกซฟอร์ด[43] ป้ายหนึ่งอยู่ที่แฮร์โรเกต และอีกสี่ป้ายอยู่ในเบอร์มิงแฮม[44] ติดตั้งอยู่ที่บ้านในวัยเด็กของโทลคีนก่อนที่เขาจะเข้ามหาวิทยาลัย ได้แก่ 1. ที่โรงสีแซร์โฮล 2. ที่บ้านเลขที่ 1 ดัชเชสเพลส ตำบลเลดี้วู้ด 3. ที่บ้านเลขที่ 4 ถนนไฮฟิลด์ Edgbaston และ 4. ที่ Plough and Harrow ถนนแฮกลี่ย์ เมืองเบอร์มิงแฮม ป้ายที่ออกซฟอร์ดติดไว้ที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งโทลคีนเคยอาศัยอยู่ เป็นสถานที่เขียนนิยายเรื่อง เดอะฮอบบิท และเขียนเนื้อหาส่วนใหญ่ของ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ส่วนป้ายที่แฮร์โรเกตติดตั้งไว้ที่บ้านพักซึ่งโทลคีนนอนพักฟื้นไข้หลังจากกลับมาจากการรบ และเริ่มงานปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธของเขาขึ้นเป็นครั้งแรก
สมาคมโทลคีน
[แก้]สมาคมโทลคีน (Tolkien Society) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512[45] ภาควิชาภาษาอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้สร้างรูปปั้นครึ่งตัวของโทลคีนไว้เป็นอนุสรณ์ ทุกๆ ปี เมื่อสมาคมโทลคีนจัดการประชุมทางวิชาการ จะมีการเปิดรับบทความวิชาการและการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับผลงานของโทลคีนและงานที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยมีรูปปั้นครึ่งตัวนี้ร่วมการประชุมด้วย กิจกรรมสำคัญอีกประการหนึ่งของสมาคมคือ "Tolkien Birthday Toast" ซึ่งเป็นการจัดงานวันเกิดให้โทลคีนในวันที่ 3 มกราคม ของทุกปี สมาชิกทั่วโลกจะดื่มอวยพรวันเกิดให้แก่โทลคีน และลงนามในเว็บไซต์ของสมาคม
ตำแหน่ง รางวัลและเกียรติยศ
[แก้]อ้างอิงจาก Tolkien as a writer for young adults เก็บถาวร 2008-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, tolkiensociety.org
- ตำแหน่งทางวิชาการ
- ค.ศ.1920-23 Reader in English
- ค.ศ.1924-25 Professor of the English Language, University of Leeds, Yorkshire
- ค.ศ.1925-45 Rawlinson and Bosworth Professor of Anglo-Saxon
- ค.ศ.1926-45 Fellow, Pembroke College
- ค.ศ.1934-36 Leverhulme Research Fellow
- ค.ศ.1936 Sir Israel Gollancz Memorial Lecturer, British Academy
- ค.ศ.1939 Andrew Lang Lecturer, University of St. Andrews, Fife
- ค.ศ.1945-59 Merton Professor of English Language and Literature
- ค.ศ.1953 W. P. Ker Lecturer, University of Glasgow
- ค.ศ.1955 O'Donnell Lecturer, Oxford University
- ค.ศ.1963 Honorary Fellow, Exeter College
- Emeritus Fellow, Merton College
- ค.ศ.1972-73 Honorary resident fellow of Merton College
- รางวัลวรรณกรรม
- ค.ศ.1938 New York Herald Tribune Children's Spring Book Festival award สำหรับ เดอะฮอบบิท
- ค.ศ.1957 International Fantasy award สำหรับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์
- ค.ศ.1966 Royal Society of Literature Benson Medal
- ค.ศ.1973 Foreign Book prize (ประเทศฝรั่งเศส)
- ค.ศ.1974 World Science Fiction Convention Gandalf award
- ค.ศ.1978 Hugo award
- ค.ศ.1978 Locus award for best fantasy novel สำหรับ ซิลมาริลลิออน
- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Letters)
- University College, Dublin, 1954
- University of Nottingham, 1970
- Oxford University, 1972
- University of Edinburgh, 1973.
- ศาสตราภิชาน ด้านภาษาและวรรณคดี (Dr. en Phil et Lettres)
- Liége, 1954
- รางวัลเกียรติยศ
- Fellow, Royal Society of Literature, 1957. (สมาชิกสามัญ ราชวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศอังกฤษ)
- C.B.E. (Commander, Order of the British Empire), 1972. (เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเครือจักรภพอังกฤษ ชั้น Commander)
ผลงาน
[แก้]รายชื่อนิยาย
[แก้]นิยายชุด The Lord of the ring
[แก้]- The Hobbit แปลใช้ชื่อเรื่อง เดอะฮอบบิท
- Lord of the ring : The Fellowship of the Ring แปลใช้ชื่อเรื่องโดย ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน มหันตภัยแห่งแหวน
- Lord of the ring : The Two Towers แปลใช้ชื่อเรื่องโดย ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน หอคอยคู่พิฆาต
- Lord of the ring : The Return of the King แปลใช้ชื่อเรื่องโดย ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน กษัตริย์คืนบัลลังก์
นวนิยายเดี่ยว
[แก้]- Leaf by Niggle
- The Lay of Aotrou and Itroun
- Farmer Giles of Ham แปลใช้ชื่อเรื่องโดย พระราชาชาวนา
- The Homecoming of Beorhtnoth Beorhthelm's Son
- The Adventures of Tom Bombadil
- Tree and Leaf
- The Tolkien Reader
- The Road Goes Ever On กับ Donald Swann
- Smith of Wootton Major
ผลงานวิชาการ และงานเขียนอื่นๆ
[แก้]- พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) A Middle English Vocabulary, ออกซฟอร์ด
- พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) Sir Gawain and the Green Knight งานเขียนร่วมกับ E.V. Gordon, โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
- พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) Some Contributions to Middle-English Lexicography
- พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) The Devil's Coach Horses
- พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) Ancrene Wisse and Hali Meiðhad
- พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) The Name 'Nodens'
- พ.ศ. 2475 - 2477 (ค.ศ. 1932–34) Sigelwara Land parts I and II
- พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) Chaucer as a Philologist: The Reeve's Tale
- พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) เบวูล์ฟ : บทวิเคราะห์แง่มุมของปีศาจ (Beowulf: The Monsters and the Critics)
- พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) The Reeve's Tale : ฉบับงานสัมมนาฤดูร้อน
- พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) On Fairy-Stories การแสดงปาฐกถาแอนดรูแลง 1939 (1939 Andrew Lang lecture) ที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์
- พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) Sir Orfeo (งานเรียบเรียงบทกวียุคกลาง)
- พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) On Fairy-Stories พจน์นิพนธ์ฉบับเต็มของการบรรยายเมื่อปี 1939 เป็นงานเขียนที่แสดงให้เห็นปรัชญาของโทลคีนเกี่ยวกับงานแฟนตาซี
- พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) Ofermod and Beorhtnoth's Death : พจน์นิพนธ์สองฉบับที่ตีพิมพ์พร้อมกับบทกวี The Homecoming of Beorhtnoth Beorhthelm's Son
- พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) Middle English "Losenger": Sketch of an etymological and semantic enquiry, ตีพิมพ์ใน Essais de philologie moderne: Communications présentées au Congrès International de Philologie Moderne (1951), Les Belles Lettres.
- พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) Ancrene Wisse
- พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) English and Welsh, in Angles and Britons: O'Donnell Lectures ในวารสารมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์
- พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ก่อนจะเป็น Tree and Leaf, งานเขียนแสดงรายละเอียดความเป็นมาและแนวคิดในการประพันธ์เรื่อง Leaf by Niggle และ On Fairy-Stories
- พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) ร่วมในการเรียบเรียงชำระ Jerusalem Bible
- พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) บทนำ ใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ฉบับพิมพ์เอดิชันที่สอง แสดงความเห็นเกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบรับจากนิยาย และความเห็นเกี่ยวกับสัญลักษณ์แฝงคติ (Allegory)
- พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) Tolkien on Tolkien (งานเขียนอัตชีวประวัติ)
ผลงานที่ตีพิมพ์หลังเสียชีวิต
[แก้]เรียบเรียงโดย คริสโตเฟอร์ โทลคีน ผู้ที่เป็นบุตรชายของ J.R.R.Tolkien
- Sir Gawain and the Green Knight, Pearl , Sir Orfeo
- A Tolkien Miscellany
- The Father Christmas Letters
- The Silmarillion แปลใช้ชื่อเรื่องโดย ตำนานแห่งซิลมาริล
- Unfinished Tales of Númenor and Middle-earth แปลใช้ชื่อเรื่องโดย เกร็ดตำนานที่จารมิจบ แห่งนูเมนอร์ และ มิดเดิลเอิร์ธ
- The Homecoming of Beorhtnoth Beorhthelm's Son, On Fairy-Stories, Leaf by Niggle, Farmer Giles of Ham , Smith of Wootton Major
- The Old English Exodus Text
- Finn and Hengest: The Fragment and the Episode
- Mr. Bliss
- The Monsters and the Critics
- หนังสือชุด ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ (1983 - 1996)
- The Book of Lost Tales 1 (1983)
- The Book of Lost Tales 2 (1984)
- The Lays of Beleriand (1985)
- The Shaping of Middle-earth (1986)
- The Lost Road and Other Writings (1987)
- The Return of the Shadow : The History of The Lord of the Rings Book 1 (1988)
- The Treason of Isengard : The History of The Lord of the Rings Book 2 (1989)
- The War of the Ring : The History of The Lord of the Rings Book 3 (1990)
- Sauron Defeated : The History of The Lord of the Rings Book 4 (1992)
- Morgoth's Ring (1993)
- The War of the Jewels (1994)
- The Peoples of Middle-earth (1996)
- Finn and Hengest
- The Children of Hurin แปลใช้ชื่อเรื่องโดย ตำนานบุตรแห่งฮูริน
- The Legend of Sigurd and Gudrún
- Baren and Luthien แปลใช้ชื่อเรื่องโดย เบเรนกับลูธิเอน
- The fall of Gondolin แปลใช้ชื่อเรื่องโดย การล่มสลายของกอนโดลิน
งานบันทึกเสียง
[แก้]- พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) บทกวีและลำนำแห่งมิดเดิลเอิร์ธ (Poems and Songs of Middle-earth)
- พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) JRR Tolkien Reads and Sings his The Hobbit & The Lord of the Rings (บันทึกเสียงอ่านเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ โดย เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน)
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Commander of the British Empire
- ↑ Mitchell, Christopher. J. R. R. Tolkien: Father of Modern Fantasy Literature เก็บถาวร 2006-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Google Video). "Let There Be Light" series. University of California Television.
- ↑ "The 50 greatest British writers since 1945" เก็บถาวร 2011-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก timesonline.co.uk
- ↑ จดหมายของเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 165
- ↑ Image of John Suffield's shop before demolition with caption เก็บถาวร 2008-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - Birmingham.gov.uk
- ↑ 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์ (1977). JRR Tolkien: A Biography. สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์. Paperback Edition 2002. ISBN 0-00-713284-0.
- ↑ จดหมายของเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 306
- ↑ Ramey, Bill (30 มีนาคม ค.ศ. 1998). The Unity of Beowulf: Tolkien and the Critics เก็บถาวร 2006-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Wisdom's Children.
- ↑ David Doughan. J. R. R. Tolkien: A Biographical Sketch เก็บถาวร 2006-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก Tolkiensociety.org
- ↑ (2002). J. R. R. Tolkien – Creator Of Middle Earth (DVD). New Line Cinema.
- ↑ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (1991), The Lord of the Rings, สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์, ISBN 0-261-10238-9
- ↑ ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์ (1978). The Inklings. สำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน
- ↑ "Simon Tolkien - My Grandfather". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-22. สืบค้นเมื่อ 2008-03-18.
- ↑ Was Tolkien a racist? Were his works? from the Tolkien Meta-FAQ by Steuard Jensen.
- ↑ จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 45
- ↑ จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 81
- ↑ จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 102
- ↑ จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 83
- ↑ Wood, Ralph C., Biography of J. R. R. Tolkien
- ↑ Gilliver, Peter (2006). The Ring of Words: Tolkien and the OED. OUP.
- ↑ ดาเนียล กรอตตา (2001) J.R.R. Tolkien Architect of Middle Earth. Running Press Book Publishers. ISBN 0762409568
- ↑ OBITUARY Professor J. R. R. Tolkien เก็บถาวร 2007-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Times : Monday, September 3, 1973
- ↑ 23.0 23.1 23.2 จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 131
- ↑ Tolkien's Not-So-Secret Vice
- ↑ แอนเดอร์สัน The Annotated Hobbit 1988
- ↑ Resnick, Henry (1967). "An Interview with Tolkien". Niekas: 37–47.
- ↑ Nelson, Dale J. (2006). Haggard's She: Burke's Sublime in a popular romance, Mythlore (Winter-Spring)
- ↑ Flieger, Verlyn (2005). Interrupted Music: The Making Of Tolkien's Mythology, Kent State University Press
- ↑ จากถ้อยคำของคริสโตเฟอร์ โทลคีน ในการบรรยายเรื่อง Hervarar Saga ok Heidreks Konung (วิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด) ประมาณปี ค.ศ. 1953-4 และ The Battle of the Goths and the Huns ใน Saga-Book (University College, London, งานวิจัยตำนานแผ่นดินเหนือของสมาคมไวกิ้ง ค.ศ. 1955–6) [1] เก็บถาวร 2005-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เดวิด เดย์ (1 กุมภาพันธ์ 2002) Tolkien's Ring นิวยอร์ก, สำนักพิมพ์บาร์นส์แอนด์โนเบิล ISBN 1-58663-527-1
- ↑ ไบรอัน แฮนด์เวิร์ค (1 มีนาคม 2004) Lord of the Rings Inspired by an Ancient Epic National Geographic News
- ↑ [2] Fimi,Dimitra, "Mad" Elves and "elusive beauty": some Celtic strands of Tolkien's mythology,Folklore, Volume 117, ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2006 , หน้า 156 - 170
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2022-05-15.
- ↑ จอห์น การ์ดเนอร์ (23 ตุลาคม 1977) The World of Tolkien นิวยอร์กไทมส์
- ↑ เจสัน บอฟเฟตติ (พฤศจิกายน 2001) Tolkien's Catholic Imagination เก็บถาวร 2006-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Crisis Magazine
- ↑ ไมเคิล มาร์ติเนซ (7 ธันวาคม 2004). Middle-earth Revised, Again. เก็บถาวร 2008-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก Merp.com.
- ↑ Thygesen, Peter (Autumn, 1999), Queen Margrethe II: Denmark's monarch for a modern age เก็บถาวร 2008-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก Scandinavian Review
- ↑ จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 107
- ↑ จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 144
- ↑ J. R. R. Tolkien ใน nndb.com
- ↑ People of Stoke-on-Trent
- ↑ Schedule of Statutory Professorships เก็บถาวร 2012-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in Statutes and Regulations of the University of Oxford ออนไลน์บน ox.ac.uk/statutes
- ↑ Oxfordshire Blue Plaques Board. J. R. R. Tolkien Philologist and Author เก็บถาวร 2005-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Plaques Awarded.
- ↑ The Birmingham Civic Society. Blue Plaques Photograph Gallery Index เก็บถาวร 2008-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. birminghamnet.co.uk
- ↑ "About The Tolkien Society". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-12. สืบค้นเมื่อ 2008-03-30.
บรรณานุกรม
[แก้]- จากชีวประวัติ: ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์ (1977). Tolkien: A Biography. นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์บัลเลนไทน์บุ๊คส์. ISBN 0-04-928037-6.
- จากจดหมายของโทลคีน: ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์ และ คริสโตเฟอร์ โทลคีน (บรรณาธิการ) (1981). The Letters of J. R. R. Tolkien. ลอนดอน: สำนักพิมพ์จอร์จ อัลเลนแอนด์อันวิน. ISBN 0-04-826005-3.
ข้อมูล
[แก้]- Carpenter, Humphrey (1977). Tolkien: A Biography. New York: Ballantine Books. ISBN 978-0-04-928037-3.
- Garth, John (2003). Tolkien and the Great War. Harper-Collins. ISBN 978-0-00-711953-0.
- Grotta, Daniel (2002). J. R. R. Tolkien: Architect of Middle Earth: A Biography. Running Press. ISBN 978-0-7624-1337-9.
- Lee, Stuart D., บ.ก. (2020) [2014]. A Companion to J. R. R. Tolkien. Wiley Blackwell. ISBN 978-1119656029.
- Shippey, Tom (2005) [1982]. The Road to Middle-earth (Third ed.). Houghton Mifflin Company. ISBN 978-0-618-25760-7.
- Carpenter, Humphrey; Tolkien, Christopher, บ.ก. (1981). The Letters of J. R. R. Tolkien. London: George Allen & Unwin. ISBN 978-0-04-826005-5.
อ่านเพิ่ม
[แก้]ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับโทลคีนและผลงานของเขา:
- Anderson, Douglas A.; Drout, Michael D. C.; Flieger, Verlyn, บ.ก. (2004). Tolkien Studies, An Annual Scholarly Review. Vol. I. West Virginia University Press. ISBN 978-0-937058-87-9.
- Carpenter, Humphrey (1979). The Inklings: C. S. Lewis, J. R. R. Tolkien, Charles Williams and Their Friends. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 978-0-395-27628-0.
- Chance, Jane, บ.ก. (2003). Tolkien the Medievalist. London, New York: Routledge. ISBN 978-0-415-28944-3.
- ———, บ.ก. (2004). Tolkien and the Invention of Myth, a Reader. Louisville: University Press of Kentucky. ISBN 978-0-8131-2301-1.
- Cilli, Oronzo; Shippey, Tom (2019). Tolkien's Library: An Annotated Checklist. Edinburgh: Luna Press. ISBN 978-1-911143-67-3. OCLC 1099568978.
- ———; Smith, Arden R.; Wynne, Patrick H.; Garth, John (2017). J. R. R. Tolkien the Esperantist: Before the Arrival of Bilbo Baggins. Barletta: Cafagna. ISBN 978-88-96906-33-0. OCLC 1020852373.
- Costabile, Giovanni Carmine (2018). "Bilbo Baggins and the Forty Thieves The Reworking of Folktale Motifs in The Hobbit (and The Lord of the Rings )". Mythlore. 36 (2 (132)): 89–104. ISSN 0146-9339. OCLC 8513422873.
- Croft, Janet Brennan (2004). War and the Works of J. R. R. Tolkien. Westport: Praegar Publishers. ISBN 0-313-32592-8.
- Curry, Patrick (2004). Defending Middle-earth: Tolkien, Myth and Modernity. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 978-0-618-47885-9.
- Drout, Michael D. C., บ.ก. (2006). The J. R. R. Tolkien Encyclopedia: Scholarship and Critical Assessment. New York City: Routledge. ISBN 978-0-415-96942-0.
- Duriez, Colin; Porter, David (2001). The Inklings Handbook: The Lives, Thought and Writings of C. S. Lewis, J. R. R. Tolkien, Charles Williams, Owen Barfield, and Their Friends. London: Azure. ISBN 978-1-902694-13-9.
- Duriez, Colin (2003). Tolkien and C. S. Lewis: The Gift of Friendship. Mahwah, New Jersey: HiddenSpring. ISBN 978-1-58768-026-7.
- Flieger, Verlyn (2002). Splintered Light: Logos and Language in Tolkien's World. Kent State University Press. ISBN 978-0-87338-744-6.
- ———; Hostetter, Carl F., บ.ก. (2000). Tolkien's Legendarium: Essays on The History of Middle-earth. Westport, CT: Greenwood Press. ISBN 978-0-313-30530-6. DDC 823.912 LC PR6039.
- Fonstad, Karen Wynn (1991). The Atlas of Middle-earth. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 978-0-618-12699-6.
- Foster, Robert (2001). The Complete Guide to Middle-earth. Del Rey. ISBN 978-0-345-44976-4.
- Fredrick, Candice; McBride, Sam (2001). Woman among the Inklings: Gender, C.S. Lewis, J. R. R. Tolkien, and Charles Williams. Greenwood Press. ISBN 978-0-313-31245-8.
- Gilliver, Peter; Marshall, Jeremy; Weiner, Edmund (2006). The Ring of Words. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-861069-4.
- Glyer, Diana Pavlac (2007). The Company They Keep: C. S. Lewis and J. R. R. Tolkien as Writers in Community. Kent, Ohio: Kent State University Press. ISBN 978-0-87338-890-0.
- Haber, Karen (2001). Meditations on Middle-earth: New Writing on the Worlds of J. R. R. Tolkien. St. Martin's Press. ISBN 978-0-312-27536-5.
- Harrington, Patrick, บ.ก. (2003). Tolkien and Politics. London, England: Third Way Publications. ISBN 978-0-9544788-2-7.
- Lee, Stuart D.; Solopova, Elizabeth (2005). The Keys of Middle-earth: Discovering Medieval Literature through the Fiction of J. R. R. Tolkien. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-4039-4671-3.
- Pearce, Joseph (1998). Tolkien: Man and Myth. London: HarperCollins. ISBN 978-0-00-274018-0.
- Perry, Michael (2006). Untangling Tolkien: A Chronology and Commentary for The Lord of the Rings. Seattle: Inkling Books. ISBN 978-1-58742-019-1.
- Shippey, Tom (2000). J. R. R. Tolkien: Author of the Century. Boston, New York: Houghton Mifflin Company. ISBN 978-0-618-12764-1.
- Ready, William (1968). Understanding Tolkien and the Lord of the Rings. New York: Paperback Library.
- Rorabeck, Robert (2008). Tolkien's Heroic Quest. Crescent Moon. ISBN 978-1-86171-239-4.
- Strachey, Barbara (1981). Journeys of Frodo: an Atlas of The Lord of the Rings. London, Boston: Allen & Unwin. ISBN 978-0-04-912016-7.
- Tolkien, John & Priscilla (1992). The Tolkien Family Album. London: HarperCollins. ISBN 978-0-261-10239-2.
- Tyler, J. E. A. (1976). The Tolkien Companion. New York: Gramercy. ISBN 978-0-517-14648-4.
- White, Michael (2003). Tolkien: A Biography. New American Library. ISBN 978-0-451-21242-9.
- Zaleski, Philip; Zaleski, Carol (2016). The Fellowship: The Literary Lives of the Inklings: J. R. R. Tolkien, C. S. Lewis, Owen Barfield, Charles Williams. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-53625-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- The Tolkien Estate Website
- Journal of Inklings Studies peer-reviewed journal on Tolkien and his literary circle, based at Oxford
- HarperCollins Tolkien Website
- ชีวประวัติที่ the Tolkien Society
- Archival material at Leeds University Library
- Tolkien: Maker of Middle-earth เก็บถาวร 2022-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน exhibition at the Bodleian Libraries, University of Oxford
- แม่แบบ:IBList
- เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ที่ ฐานข้อมูลจินตนิยายทางอินเทอร์เน็ต (ISFDB)
- J. R. R. Tolkien เก็บถาวร 2016-01-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at the Encyclopedia of Fantasy
- J. R. R. Tolkien at the Science Fiction Encyclopedia
- Additional Resources for J. R. R. Tolkien compiled by the Marion E. Wade Center
- BBC film (1968) featuring Tolkien
- Audio recording of Tolkien from 1929 on a language learning gramophone disc
- ผลงานของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ที่โครงการกูเทินแบร์ค
- ผลงานเกี่ยวกับ/โดย เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ที่อินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์
- ผลงานโดย เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน บนเว็บ LibriVox (หนังสือเสียง ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ)
- หนังสือ J.R.R. Tolkien (เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน) ที่พิมพ์ในประเทศไทย
- บทความคัดสรร
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2435
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2516
- นักเขียนชาวอังกฤษ
- บุคคลจากบลูมฟอนเทน
- บุคคลจากบอร์นมัท
- งานเขียนของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน
- นักภาษาศาสตร์
- คริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกชาวอังกฤษ
- ผู้คิดค้นระบบการเขียน
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยลีดส์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซีบีอี